คุยกับสภาลมหายใจพะเยา : นับหนึ่งเป้าหมายลดมลพิษอากาศเมืองกว๊าน

คุยกับสภาลมหายใจพะเยา : นับหนึ่งเป้าหมายลดมลพิษอากาศเมืองกว๊าน

สายๆของวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 WEVO : สื่ออาสา นัดหมายพูดคุยกับตัวแทนสภาลมหายใจพะเยาที่สำนักงานหอการค้าจังหวัดพะเยาวงสนทนาเล็กๆที่น่าสนใจเพราะตัวแทน 4 ท่านที่มาร่วมสนทนามาได้แก่ คือ นายวิชิต ถิ่นวัฒนากุล ที่ปรึกษามูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา พ่อหลวงตู่ ประดิษฐ์ เลี้ยงอยู่ เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา สองท่านแรกจากภาคประชาสังคมทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านรู้ปัญหาล่างสุดและอีกสองท่านจากภาคธุรกิจเอกชน คือ นายณรงค์ชัย สุทธิกุลบุตร ประธานหอการค้าคนปัจจุบัน และนายจรัส สุทธิกุลบุตร อดีตประธานหอการค้าภาคเหนือตอนบนผู้มีตำแหน่งหน้าที่มากมายโดยเฉพาะการทำงานร่วมกับภาครัฐ

ทั้งสี่ท่านช่วยกันเล่าให้ฟังว่า ชาวจังหวัดพะเยาได้รวมตัวกันตั้ง สภาลมหายใจพะเยา โดยได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาในระหว่างงาน “สมัชชาสร้างบ้านแปงเมืองเพื่อลมหายใจคนพะเยา” จัดขึ้นที่หอประชุมเฉลิมหล้าจอมราชัน โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ พะเยา อ.ภูกามยาว จ.พะเยา จากนั้นสภาลมหายใจพะเยาก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์วันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ25 ธันวาคม 2563 แสดงบทบาทและตัวตนของภาคประชาชนในกิจกรรมของจังหวัดเป็นครั้งแรก  

บทสนทนาทำให้เราได้รู้ว่า ชาวพะเยาตื่นตัวกับปัญหามลพิษอากาศมานานแล้ว และยังเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดที่ริเริ่มจากพื้นที่ภาคเหนือ

จรัส สุทธิกุลบุตร อดีตประธานหอการค้าพะเยาและประธานหอการค้าภาคเหนือตอนบน เล่าว่า ปัญหามลพิษอากาศป่าฝุ่นละอองนั้นไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพหรือปัญหาสังคมเท่านั้น มันยังกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมภาคเอกชนในหอการค้าจังหวัดภาคเหนือจึงตื่นตัวกัน ประกอบกับได้รับการผลักดันผ่านส.ว.ยงยุทธ สาระสมบัติ ซึ่งมีกิจการและบ้านพักที่จังหวัดเชียงรายรู้จักมักคุ้นกับนักธุรกิจในพื้นที่หลายคน จึงเกิดการรวมตัวเพื่อผลักดันร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับหอการค้าขึ้นมาดังเป็นที่ทราบกันว่าปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการบรรจุในขั้นตอนรอการพิจารณาแล้ว เครือข่ายภาคเอกชนในภาคเหนือตื่นตัวกับปัญหานี้ดังจะเห็นว่ามีตัวแทนหอการค้าในหลายจังหวัดเข้าร่วมกลุ่มชมรมกับภาคประชาสังคมเพื่อผลักดันการแก้ปัญหา ที่พะเยาก็เช่นกัน

การเกิดขึ้นของสภาลมหายใจพะเยา เริ่มอย่างจริงจังเมื่อบุคคลของแต่ละภาคส่วนทั้งภาคนักพัฒนา เช่นเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยาที่รวมกลุ่มกันอยู่เดิมกับ ภาคธุรกิจเอกชนเห็นพ้องว่าต้องรวมกลุ่มกันผลักดันการแก้ปัญหา การประชุมนัดแรกเกิดเมื่อราวๆ เดือนสิงหาคม 2563 เกิดที่หอการค้าพะเยา ในครั้งนั้นมีตัวแทนจากสภาลมหายใจเชียงใหม่ คือ คุณชัชวาล ทองดีเลิศมาร่วมแลกเปลี่ยนนำเสนอประสบการณ์ของเชียงใหม่ จึงมีการตกลงที่จะใช้ชื่อ สภาลมหายใจพะเยา เพื่อให้สอดคล้องเป็นเอกภาพในระดับภาค

จังหวัดพะเยา ที่มีลักษณะเป็นแอ่ง ปกติการเผาในจังหวัดมีน้อยกว่าจังหวัดอื่น แต่ด้วยทิศทางลมพัดมาจากจังหวัดเพื่อนบ้านที่มีการเผาไร่ข้าวโพดและการเผาอื่นๆ ทำให้เป็นพื้นที่รับควันมือสอง โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมที่คุณภาพอากาศจะแย่สุดโดยตลอดทุกปี นอกจากนั้นยังมีปัญหาว่าด้วยอาชีพส่วนใหญ่ของเกษตรกรทำนาข้าว ยังมีการเผาตอซังอยู่โดยเฉพาะในฤดูนาปรัง

วงสนทนาเล่าถึงสภาพปัญหาของจังหวัดพะเยา ที่มีลักษณะเป็นแอ่ง ปกติการเผาในจังหวัดมีน้อยกว่าจังหวัดอื่น แต่ด้วยทิศทางลมพัดมาจากจังหวัดเพื่อนบ้านที่มีการเผาไร่ข้าวโพดและการเผาอื่นๆ ทำให้เป็นพื้นที่รับควันมือสอง โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมที่คุณภาพอากาศจะแย่สุดโดยตลอดทุกปี นอกจากนั้นยังมีปัญหาว่าด้วยอาชีพส่วนใหญ่ของเกษตรกรทำนาข้าว ยังมีการเผาตอซังอยู่โดยเฉพาะในฤดูนาปรัง น่าจะหาวิธีการแบบวิน-วินเพื่อดึงให้ชาวนาเปลี่ยนวิธีการที่ได้ประโยชน์มากกว่าเช่นอัดฟางข้าวขาย เป็นต้น

ณรงค์ชัย สุทธิกุลบุตร ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ เจ้าของกิจการเครื่องใช้คอมพิวเตอร์ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ม.ช. สนใจในการให้ความรู้และทำอย่างไรจะให้ประชาชนเกิดความตระหนักต่อปัญหาผลกระทบ โดยขณะนี้เริ่มให้ความสนใจเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กชนิดเครือข่ายสถาบันการศึกษา เช่น เครือข่าย dustboy ที่ราคาไม่สูงเกินไป เขาได้ตั้งคำถามว่า หากติดตั้งเครื่องในพื้นที่แล้วทำอย่างไรจะให้ประชาชนได้เรียนรู้ไปด้วย ไม่ใช่แค่การติดตั้งเฉยๆ โดยจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมสภาลมหายใจพะเยาครั้งต่อไป

เมื่อถามว่า ในการประชุมมีใครเป็นประธาน กำหนดวาระกันอย่างไร ประธานหอการค้าพะเยาบอกว่า “การประชุมของสภาลมหายใจพะเยาเราเป็นลักษณะของเครือข่าย ไม่มีการจัดตั้งองค์กรแบบต้องมีตำแหน่งแห่งที่เป็นการรวมตัวหลวมๆ เอาเป้าหมายงานเป็นที่ตั้ง ใครช่วยอะไรได้ก็ทำ ซึ่งการที่ภาคเอกชนมารวมกับภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ นักพัฒนา ในครั้งนี้ ก็เพราะเรื่องมลพิษฝุ่นควันเป็นวาระร่วมของหอการค้าทั้งหมด เมื่อเราได้มาเจอสภาลมหายใจฯ  เป็นภาคประชาสังคมมีวัตถุประสงค์เดียวกัน จึงจับมือกันได้”

วิชิต ถิ่นวัฒนากูล เป็นนักพัฒนาทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านมายาวนานกว่า 20 ปีบอกว่า “คนพะเยาไม่ได้ดื้อนะ ตอนที่ราชการประกาศห้ามเผาชาวบ้านก็ไม่เผากัน แล้วทำไมปัญหาฝุ่นควันยังหนักหนาสาหัส มองป้ายจราจรยังแทบไม่เห็น เราต้องหามาตรการที่แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบไม่ใช่แค่ห้ามเผา 2 เดือน เพราะมันยังมีช่องให้ลอด ไปเผาช่วงอื่นฝุ่นควันมลพิษช่วงนั้นก็สูงอีกเพราะพะเยาเป็นแอ่ง เผาแล้วควันไม่ไปไหน ต้นเหตุของปัญหาจึงไม่ใช่แค่ภาคการเกษตรในจังหวัด ต้นเหตุใหญ่กว่านั้น ตอนนี้ไม่ใช่แค่ภาคเหนือที่มีพืชเชิงเดี่ยว มันลามไปหมดถึงภาคเหนือตอนล่าง ไปภาคอื่น และข้ามไปถึงลาวพม่า ดังนั้นการจะแก้ได้ต้องรวมตัวกันและเข้าใจถึงปัญหาในภาพรวม

ประดิษฐ์ เลี้ยงอยู่ เล่าว่า ในระหว่างนี้สมาชิกของสภาลมหายใจพะเยาส่วนหนึ่งก็เริ่มลงพื้นที่ จะเริ่มเลือกพื้นที่รูปธรรมในการทำงานผลักดันการแก้ปัญหาระดับพื้นที่จริงจังควบคู่กับการผลักดันการแก้ปัญหาด้านอื่น โดยจากนี้จะมีการหารือกันในการประชุมครั้งที่กำลังจะถึง และคาดว่าจะเห็นเนื้อหาสาระของการทำงานผลักดันของสภาลมหายใจพะเยาจริงจังต่อไป

ขณะที่ จรัส สุทธิกุลบุตร ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับภาครัฐในฐานะอดีตประธานหอการค้ามองว่า การทำงานร่วมกับภาครัฐเป็นเรื่องจำเป็น เพราะรัฐมีงบประมาณ มีกำลังที่จะทำ สภาลมหายใจพะเยาจะเสนอสิ่งที่รัฐควรจะทำเข้าไป วิธีการนี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กำลังคิดทำ

จากนี้ไปเราจะได้เห็นบทบาทการร่วมแรงฟื้นคืนอากาศสะอาดของชาวเมืองกว๊านดินแดนแอ่งภูเขาที่แม้จะเกิดไฟป่าไม่มากเท่ากับจังหวัดเพื่อนบ้านแต่เกิดค่ามลพิษอากาศในระดับสูงเป็นประจำทุกปีว่าจะคิดทำและผลักดันอะไรต่อไปก้าวที่หนึ่งของสภาลมหายใจพะเยาได้เริ่มต้นแล้ว.

การประชุมหารือของสมาชิกสภาลมหายใจพะเยา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ