ครบรอบ 4 ปี คนลำเซบายยืนหยัดไม่เอาโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

ครบรอบ 4 ปี คนลำเซบายยืนหยัดไม่เอาโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง จัดเวทีเสวนา ครบรอบ 4 ปี “กระบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล” และร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเผาหุ่น เผาพริก เผาเกลือ ตามความเชื่อ เพื่อยืนยันไม่เอาอุตสาหกรรมในพื้นที่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

นายสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 41 ปี ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง กล่าวว่า ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ครบรอบ 4 ปี กับกระบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งทางชาวบ้านได้ร่วมกันคัดค้านตั้งแต่กระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อนเลย ถึงแม้ว่าปัจจุบันโรงงานได้สร้างเสร็จแล้วและเริ่มดำเนินการมาได้ประมาณ 2 ปี จากการเก็บข้อมูลสะท้อนให้ถึงเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ ด้านเสียง ด้านกลิ่น ด้านฝุ่น ด้านการจราจร ซึ่งทางกลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำเซบายยังยืนยันคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล และต่อไปข้างหน้าจะร่วมกับทางคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน) เพื่อเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.ปี 58 ประเด็นเรื่องการดำเนินการของโคงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

นางมะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน และให้ประเมินยุทธศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วม “หยุดนโยบายคุกคามแผ่นดินอีสาน หยุดนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล”

พร้อมระบุว่า เป็นเวลา 4 ปีแล้ว ที่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็งได้ยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก ในขณะที่โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีมวลได้ดำเนินการมาปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งชาวบ้านบอกว่ารับรู้ได้ถึงมลภาวะที่เกิดจากเสียงดังรบกวนวิถีชีวิตปกติสุขของชุมชน การจราจร และกลิ่น เป็นต้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเพื่อคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งมีจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องวิถีชีวิตบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากร แต่รัฐบาลไม่เคยที่จะฟังเสียงของชาวบ้าน ในทางกลับกันยังเปิดช่องทางเอื้อให้กับทุน  ตลอดจนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศในครั้งนี้ซึ่งจะทำให้ภาคอีสานมีนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ มีกลุ่มโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายประเภทภายในพื้นที่เดียวกันในพื้นที่ 13 จังหวัดของภาคอีสาน

โดย ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ยุติดำเนินนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน และให้ประเมินยุทธศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วม หลังจากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันเผาหุ่น และเผาพริกเผาเกลือ เพื่อสาปแช่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ตามความเชื่อ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ