“จิ้งหรีด” โอกาสพี่น้องไทอีสาน สู่อาหารแห่งอนาคต

“จิ้งหรีด” โอกาสพี่น้องไทอีสาน สู่อาหารแห่งอนาคต

ในวันที่โลกของเรายังหมุนไปเรื่อย ๆ วันเวลาที่ผ่านไปก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย รวมถึงจำนวนประชากรของโลกเองก็เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนอยากจะเล่าเรื่องของอาหารที่ในอนาคตมันอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์

ThaiPBS Media Stock

อาหาร เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากขาดอาหารนั่นก็คงแสดงถึงหายนะของมวลมนุษยชาติเป็นแน่แท้ และก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าอาหารนั้น เป็นที่โปรดปรานของใครหลายคนรวมทั้งตัวผู้เขียนเองด้วย เพราะในทุกช่วงเวลาของชีวิตเรา เรื่องราว และความทรงจำ ก็มักจะมีอาหารเข้ามาเกี่ยวข้อง และในยุคปัจจุบัน เรื่องของอาหารนั้นถูกพูดถึงมากในหลายเวที หลายวงคุย ไม่ว่าจะเวทีประชุมทางวิชาการ หรือแม้แต่การสนทนากันกับกลุ่มเพื่อน ทั้งเรื่องอาหารที่ไหนอร่อย อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารทางเลือก และอาหารแห่งอนาคต

ThaiPBS Media Stock

จากข้อมูลของฝ่ายเศรษฐกิจและกิจการสังคมขององค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2050 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 9 พันล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางการเกษตร และอาจส่งผลถึงการขาดแคลนอาหารเช่นกัน โดยปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ทำการวิจัย ค้นคว้า และพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อหาแหล่งอาหารที่จะมาทดแทนแหล่งอาหารเดิมที่หายไป โดยเฉพาะแหล่งโปรตีนที่เป็นสารอาหารหลักอีกประเภทที่มนุษย์ต้องการ รองจากคาร์โบไฮเดรตและไขมัน แต่ส่วนใหญ่โปรตีนที่มนุษย์บริโภคก็มาจากเนื้อสัตว์เช่น วัว หมู ไก่ ซึ่งเป็นการทำปศุสัตว์ที่ต้องใช้พื้นที่เยอะและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ดังนั้น แหล่งโปรตีนอีกประเภทที่กำลังถูกพูดถึงมากนั่นก็คือ แมลง  

แมลง นับว่าเป็นอีกทางออกหนึ่งที่น่าสนใจในการที่จะใช้แหล่งโปรตีนทดแทนโปรตีนที่มาจากสัตว์ใหญ่ ที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในยุคที่ทรัพยาการขาดแคลน ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตเราจะเห็นว่าคนอีสานนั้นมีการบริโภคแมลงมายาวนาน เนื่องจากมีภูมิประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ชาวอีสานมักจะมีอาชีพทำเกษตรและหาอาหารตามป่าเขา เมื่อเจอแมลงที่มีหลายชนิดตามแต่ฤดูกาลก็มักจะนำมาประกอบอาหารกิน รวมถึงวัฒนธรรมการกินของคนอีสานในอดีตจะไม่นิยมบริโภคสัตว์ใหญ่ด้วย เพราะส่วนมากจะเลี้ยงไว้ใช้แรงงาน ดังนั้นคนอีสานจึงมีความคุ้นเคยการกินแมลงเป็นอย่างดี

จิ้งหรีด เป็นแมลงอีกหนึ่งชนิดที่ระยะหลังมีการเลี้ยงและเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายมากขึ้นในภาคอีสานของไทย และเมื่อไม่นานมานี้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ยกให้จิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน เพราะในปริมาณที่เท่ากัน จิ้งหรีดสามารถให้โปรตีนมากกว่า วัว หมู และไก่ ถึง 68 % ทำให้การบริโภคจิ้งหรีดแพร่หลายมากขึ้น รวมทั้งในต่างประเทศ จึงทำให้เกิดอาชีพการเลี้ยงแมลง และอุตสาหกรรมการแปรรูปแมลง ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้

ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.เกษม นันทชัย อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้พูดคุยถึงโอกาสของเกษตรกรผู้เลี้ยงแมลง ที่จะขยายตลาดการส่งออกไปในระดับโลก

“ตอนนี้ จำนวนฟาร์มมีมากกว่า 20,000 ฟาร์มทั่วประเทศ ที่เลี้ยงจิ้งหรีดกัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสานเยอะ แต่ทีนี้ฟาร์มของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศในปัจจุบันนี้ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วมีแค่ 36 ฟาร์ม อยู่ในขอนแก่นประมาณ 21 ฟาร์ม จาก 2 หมื่นกว่าฟาร์ม” ดร.เกษม นันทชัย ย้ำถึงสัดส่วนการผลิตที่ได้มาตรฐานในเมืองหมอแคน จ.ขอนแก่น

“ถ้ามองภาพกว้าง ๆ การเลี้ยงแมลงนั้นใช้ทรัพยากรน้อย และก็มีประสิทธิภาพดีกว่าการเลี้ยงสัตว์หลาย ๆ ประเภท เพราะฉะนั้นโอกาสที่เกษตรกรายย่อยที่จะเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดก็ไม่ใช่เรื่องอะไรที่ยากมาก แต่ในขณะเดียวกันการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเหมือนกัน จำเป็นต้องเอาใจใส่และดูแลอย่างดี เพราะฉะนั้นการเลี้ยงจิ้งหรีด ผมเชื่อว่า เกษตรกรในไทยเราสามารถทำได้ดี และถ้าลงมือ ลงแรง ตั้งใจจริง ๆ จะสามารถพัฒนาได้ไกล แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ ก็คงจะต้องดูเรื่องความต้องการของตลาดเขาด้วย อีกเรื่องที่สำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องการส่งออกอาหาร ก็คือเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย GAP ”

แม้แมลงอย่างจิ้งหรีด จะเป็นที่ยอมรับและพูดถึงกันมากในระดับโลก ในรูปแบบของโปรตีนทดแทนในอนาคต จนทำให้อาชีพเลี้ยงจิ้งหรีด และอุตสาหกรรมการแปรรูปแมลงมีมากขึ้นตามความต้องการบริโภคของมนุษย์ แต่การผลิตให้ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมอาหารนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จะช่วยสร้างความยกระดับศักยภาพผู้ผลิตและความมั่นใจของผู้บริโภค

รุจิรา ล่านสกุล ประกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฅนค้นแมลง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่ได้รับมาตรฐาน GAP อธิบายถึงความสำคัญและโอกาสในการเลี้ยงจิ้งหรีด “ที่จริงแล้วการทำมาตรฐาน GAP มันก็ไม่ได้ยาก จริง ๆ ถ้าทำตามขั้นตอนที่ผู้ตรวจแนะนำมามันก็ไม่ยากค่ะ แต่วันนี้บางฟาร์มในฐานะเกษตรกรที่ยังไม่สามารถทำได้ครบทั้งหมด อาจจะเป็นปัจจัยเรื่องเงินทุนที่จะปรับปรุงให้ผ่านมาตรฐานฟาร์ม ยกตัวอย่าง อย่างฟาร์มในกลุ่มวิสาหกิจเราก็ยังมีปัญหา แต่เราก็พยายามหาแหล่งเงินทุน หรือหางบประมาณจากแหล่งอื่นเพื่อที่จะมาช่วยให้มันผ่านมาตรฐาน GAP หลัก ๆ แล้วส่วนมากที่เจอปัญหาก็จะเป็นเรื่องการปรับปรุงที่จะต้องเงินทุนเข้ามา”

จากความคุ้นเคยในการบริโภค “แมลง” ตามวิถีอีสานบ้านเฮา สู่การยกระดับร่วมกับงานวิชาการ นั่นกลายเป็นโอกาสสำคัญของพี่น้องไทอีสานที่จะเลี้ยง แปรรูป และจำหน่าย “จิ้งหรีด” อาหารบ้าน ๆ ตามท้องทุ่ง มุ่งสู่สากล และเป็นอาหารในอนาคตของประชากรโลก ในขณะที่พื้นที่เลี้ยงวัวตามทุ่งกว้างหดหายไป และภูผาป่าไม้ตามชุมชนก็ลดน้อยลง “จิ้งหรีด” อาจจะเป็นทัพหน้าพาแมลงสู่ครัวโลก และไม่แน่ ต่อไปในอนาคต แมลงจีนูน จีโป่ม จีซอน และจีหลีด ทั้ง 4 จี จากอีสานอาจจะได้โกอินเตอร์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ