เปิดแนวทางแก้ปัญหากระเหรี่ยงบางกลอยเดินเท้ากลับใจแผ่นดิน แนะใช้แนวนโยบายพร้อมยึดหลักสากล -ไม่ยึดแค่กฏหมายอุทยาน ตั้งเป็นโครงการภายใต้กระบวนการจัดการร่วม ให้สิทธิชุมชนคนอยู่ป่าตามหลักรัฐธรรมนูญ และมติครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เชื่อเป็นหลักการยูเนสโกยอมรับเข้าเงื่อนไขประกาศเป็นมรดกโลกได้ เสนอเร่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ใช้ความรุนแรงเข้าจับกุม
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษาและการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส จัดเสวนาออนไลน์ (ละเมิด) สิทธิชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงใจแผ่นดิน ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงกรณีข้อพิพาทในพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี และปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมามีรายงานว่าชาวบ้านประมาณ 100 คน เดินเท้ากลับไปยังถิ่นฐานเดิมที่บ้านบางกลอยบน ใจแผ่นดิน ซึ่งเคยถูกรื้อไล่ รื้อเผาบ้านโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2553 และเกิดกระแส #saveบางกลอย หลังจากปรากฎรายงานว่าเจ้าหน้าที่จัดกำลังเพื่อติดตามนำชาวบ้านกลับลงมา
นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า ตอนนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ลงมาปี 2539 ก็มีบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ทำกิน จึงได้กลับขึ้นไปที่พื้นที่ดั้งเดิมที่บ้านบางกลอยบน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพยายามขอให้พี่น้องของชาวบ้านขึ้นไปข้างบน ชักชวนให้กลับลงมาคุยเรื่องการแก้ปัญหากันก่อน แต่ยังไม่ได้รับปากว่าจะให้ได้พื้นที่ทำกิน
“วันนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ขึ้นไปบางกลอยบน เกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านลงมา มีทั้งเจ้าหน้าที่ที่เป็นไทยและพี่น้องกะเหรี่ยงในพื้นที่ด้วย ผมถามเจ้าหน้าที่ทั้งหัวหน้าอุทยานฯ หรือรองอธิบดี พวกเขาก็บอกว่าจะไม่ยอมไปพูดคุยโดยเด็ดขาด แต่จะให้ลงมาพูดคุยที่บางกลอยล่าง ผมก็เป็นห่วงว่าถ้าชาวบ้านไม่ลงมา อาจจะเกิดความรุนแรงอะไรหรือเปล่าจากคำว่ากฎหมาย”
ทนายความชี้ต้องพาชาวบ้านกลับหมู่บ้านไม่ใช่พากลับลงมา
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐต้องนำชาวบ้านกลับยังถิ่นฐานเดิมของเขาและสร้างบ้านกลับคืน ศาลปกครองสูงสุดก็ตัดสินแล้วว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันน่าเป็นห่วง นอกจากจะไม่เยียวยาเขาแล้ว ยังนั่งเฮลิคอปเตอร์เข้าไป ให้ข่าวว่าชาวบ้านผิดกฎหมาย ฉะนั้นกรมอุทยานฯ ต้องรีบดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ยุติการจับกุมดำเนินคดี และคืนสิทธิให้เขา
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีชาวบ้านกว่า 400 คน หรือร้อยหลังคาเรือนที่ต้องการกลับไป ยังไปไม่ถึงร้อยหน่วยงานต้องพาเขาไปให้หมด และสร้างบ้านคืนให้เข้า ปล่อยให้ชาวบ้านไปอยู่ที่เดิม ทำไร่หมุนเวียนเหมือนเดิม ครอบครัวหนึ่งเขาใช้ไม่เกิน 2-3 ไร่ ที่ผ่านมาเขาพิสูจน์ชัดเจนแล้วมาหลายร้อยปีว่าชาวบ้านรักษาป่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นอุทยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จะประกาศเป็นมรดกโลก ก็เพราะมีป่าที่ชาวบ้านเขารักษาไว้
“ชาวบ้านเขารู้ว่าตรงไหนถิ่นเสือ ถิ่นช้าง เขาไม่ไปยุ่ง ชาวบ้านอยู่กับจระเข้น้ำจืดมาเป็นร้อยๆ ปี เขาก็อยู่จนเป็นระบบนิเวศน์หนึ่งของที่นั่นไปแล้ว การที่อุทยานให้ข่าวว่าเจอช้าง จระเข้ บอกว่าอย่าไปรบกวน แต่พอเจอคน กลับจะไม่ให้เขาอยู่ คนเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านั้น เรามีจิตวิญญาณ เรามีความเชื่อ และที่สำคัญคือเราเป็นคนไทยเหมือนกัน รัฐต้องเข้ามาดูแลจัดการตามกฎหมาย ที่ผ่านมาการไปเผาบ้าน ไล่รื้อเขา ผิดกฎหมายทั้งนั้น”
ย้อนปมข้อพิพาท 2518 แผนการจัดตั้งหมู่บ้านป่าไม้
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่าจุดเริ่มต้นปัญหาทั้งหมดเริ่มเมื่อมีโครงการอพยพคนบริเวณนั้นลงมาตั้งแต่ปี 2539 มีการอ้างถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งข้อเท็จจริงคำว่า “อันเนื่อง”ไม่ใช่โครงการของพระองค์โดยตรง แต่เป็นโครงการที่หน่วยราชการตีความและนำไปสู่การทำโครงการ แต่เวลาอ้างถึงจะมีนัยที่คนเข้าใจไปต่าง ๆ นานา ซึ่งหัวหน้าอุทยานฯ คนปัจจุบันก็อ้างเรื่องนี้ว่าการอพยพเป็นโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ประวัติศาสตร์เริ่มต้นเมื่อปี 2518 เป็นแผนการจัดตั้งหมู่บ้านป่าไม้ โยงกับขบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากในสมัยนั้นอยู่ในยุคสงครามเย็น เป็นแนวคิดที่จะเอาพี่น้องออกมาอยู่ในจุดที่ปลอดภัย
แนวคิดเรื่องการตั้งหมู่บ้านป่าไม้ที่บางกลอยล่าง เกิดแนวคิดอพยพพี่น้องลงมาจากข้างบน โครงการนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ โครงการนี้เกี่ยวข้องกับพี่น้องบางกลอย อ้างพระราชดำรัสเกี่ยวกับต้นน้ำเพชร มาจัดทำเป็นโครงการโดยกองอุทยานฯ ก็มีโครงการนี้ขึ้นมาอ้างเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการบุกรุกทำลายป่า หน่วยงานรับผิดชอบคือกระทรวงทรัพยากรฯ รวมทั้งสภาความมั่นคง มีประเด็นความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวตรงนั้นด้วยเพราะติดชายแดน
“มีคนเคยพูดว่า 35 วันนรกบางกลอย พรรคคอมมิวนิสต์รบกับรัฐไทยครั้งสุดท้ายที่นั่นเมื่อปี 2536 ลักษณะของโครงการคือ ราษฎรที่นั่นจะได้รับผลประโยชน์ แนวคิดคือการตั้งหมู่บ้านป่าไม้ ผลการดำเนินการหลังจากนั้น ก็มีเรื่องการอพยพคนออกมาและจัดที่ดินให้ 7-8 ไร่ แต่ความสำเร็จของโครงการนี้ต้องย้อนกลับไปถามว่ามันสำเร็จจริงหรือไม่ กระบวนการดำเนินโครงการมันเป็นไปตามเป้าหมายไหม ถ้าสำเร็จจริงมันคงไม่มีปัญหาในปัจจุบัน”
นายสุมิตรชัย ขยายความว่า ในปี 2554 มีการอ้างโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านโป่งลึกบางกลอยตามพระราชดำริ เสนอของบปี 2553 แต่เราไม่เห็นโครงการ เราเห็นแต่ยุทธการตะนาวศรีที่มาจากไหนไม่รู้ แต่พูดถึงการผลักดัน อพยพ จับกุม เขียนในโครงการชัดเจน มีความย้อนแย้งพอสมควรว่าตกลงแล้วโครงการที่เขาจะทำต่อ กระบวนการที่จะพัฒนาพี่น้องบางกลอยที่ลงมาข้างล่างแล้ว การแก้ไขปัญหาของเขากลับกลายเป็นยุทธการตัวนี้
“ที่เขากลับขึ้นไป เพราะไม่ได้รับการจัดสรรตามว่า คำถามคือ ถ้าเราไม่ย้อนไปมองอดีตว่ามีกระบวนการอะไรที่รัฐทำ ไม่ทำ หรือไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถอยู่ได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องกลับไปมองหาสิ่งเหล่านี้ด้วย”
จุดเริ่มต้นเพื่อแก้ไขปัญหา ยึดกฎหมายอุทยานอย่างเดียวไม่ได้ ต้องยึดหลักสากลและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เสนอว่า จุดสำคัญคือหลักการเหตุผลของพ.ร.บ.อุทยานฯ คิดว่าแก้ไขแล้ว ซึ่งได้โยงกับสิทธิชุมชนด้วย เรื่องการจัดการพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน มีเรื่องความสอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ดังนั้นไม่ใช่แค่กฎหมายล้วน ๆ ต้องโยง และมีความเป็นพหุนิยมทางกฎหมายมากขึ้น หลักการเหล่านั้นที่เกี่ยวข้องก็พูดถึง UNESCO และ IUCN ที่เขายอมรับเรื่องชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หลักการสากลปัจจุบันยอมรับหมดแล้ว ไม่สามารถจัดการป่าอนุรักษ์ได้โดยไม่มีส่วนร่วมของชุมชน
แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมเห็นด้วยเรื่องมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ส่วนกฎหมายอุทยาน ทางกรมอุทยานฯ ก็ยืนยันว่าจะใช้กฎหมายนี้ แต่มาตรา 64 บทเฉพาะกาล มีมิติที่ยอมรับว่ามีชุมชนท้องถิ่นอยู่ในอุทยานฯ ทั่วประเทศ ประมาณ 4 พันกว่าหมู่บ้าน ในนั้นมีพี่น้องกะเหรี่ยงเยอะแยะ แม่ฮ่องสอนเกือบทั้งจังหวัด เป็นพี่น้องกะเหรี่ยงอยู่ที่นั่น แต่คำถามคือว่ากฎหมายอุทยานฯ มาตรา 64 จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง มีการพูดถึงโครงการในอุทยานฯ แน่นอนคำว่าการอนุรักษ์โยงกับหลักการสากล โยงเรื่องสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ การจัดการ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืนได้รับการรับรองแล้ว มันไม่สามารถมาตีลอย ๆ ว่าจะดูแลแค่ต้นไม้กับสัตว์ป่า มันต้องพูดถึงชุมชนด้วย
คำถามง่ายๆ แล้วกระบวนการจะทำอย่างไร ตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 กฎหมายเขียนว่าต้องสำรวจการครอบครองการทำประโยชน์ ต้องมีร่องรอยก่อนปี 2545 ซึ่งบ้านบางกลอยอยู่ก่อนแน่นอน ถ้าตามเกณฑ์นี้ ไม่ต้องพูดถึงคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เลย ตอนที่มีมติ ครม. เขาพูดถึงการพิสูจน์สิทธิ แต่ที่นี่ถูกตัดโอกาสในการพิสูจน์สิทธิไปตั้งแต่ต้น สิทธิตรงส่วนนี้มันไม่ได้รับการพิสูจน์เลย ส่วนมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง ได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาอย่างครบถ้วนเป็นการตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหาทุกมิติ เอากฎหมายหลายๆ อย่างมาใช้ในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ใช้กฎหมายอุทยานฯ อย่างเดียว เขาเขียนว่าโครงการนี้ต้องไปสู่การประกาศเป็นเขตการช่วยเหลือทางกฎหมาย ออกเป็น พ.ร.ฎ. ทำเป็นโครงการขึ้นมา ถ้าตีความมาตราให้เป็นประโยชน์หรือเป็นคุณ
“สามารถทำโครงการขอมรดกโลกก็ได้ แล้วใส่ชุมชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก มันวิน-วินทุกฝ่าย ชาวบ้านสามารถฟื้นฟูวิถีชีวิตตัวเองได้ มันจะสมบูรณ์มาก สามารถให้ทุกฝ่ายเข้าไปร่วมกัน ไม่ใช่แค่อุทยานฯ ฝ่ายเดียว เข้าไปทำให้วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงบางกลอยสามารถมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีโอกาสในการดำรงวิถีวัฒนธรรมของตัวเองได้”
อยากให้เห็นมาตราหนึ่งของกฎหมายรัฐธรรมนูญ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยก็เป็นภาคี ไปรับปากเขาหลายเรื่องในเวที เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องสำคัญมากในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ยอมรับเรื่องชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมด้วย เขียนไว้ในอนุสัญญาชัดเจน แต่ที่อุทยานแก่งกระจานเสนอคือ เขาเสนอว่ามันปลอดคน คณะกรรมการของ UNESCO จึงถามกลับมาหลายครั้งมากว่าสรุปยังไง รัฐธรรมนูญ 2560 มันมีมาตราที่ตั้งหลักได้ รัฐไทยสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้ คือมาตรา 70 เรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ให้สามารถดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ตามความสมัครใจ สงบสุข ไม่ถูกรบกวน โดยหลักการคือคุ้มครองวิถีชีวิต ให้เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตดั้งเดิมได้ รัฐต้องมีนโยบายเรื่องนี้ อยู่ในหมวดนโยบายพื้นฐานของรัฐ ใช้คำว่า “รัฐพึง” แต่มันมีนโยบายตั้งแต่ปี 2553 ก็คือมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 สวมกับมาตรา 70 นี้พอดี
ศาลปกครองพูดอยู่ประโยคหนึ่ง ถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปดำเนินการให้เกิดความรุนแรงที่ว่า คือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องของมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานฯ ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ศาลปกครองตัดสินปี 2561 แสดงว่ามติ ครม. เป็นนโยบายที่รับต้องปฏิบัติ อย่างน้อยคำนี้มันยืนยันว่ามติ ครม. นี้คือนโยบายที่รัฐต้องทำ ขณะนี้มีกระบวนการที่จะยกระดับมติ ครม. ให้มีระดับทางกฎหมายให้สูงขึ้น อยู่ระหว่างการดำเนินการ
นายสุมิตรชัย กล่าวจข้อเสนอทิ้งท้ายว่า กรมอุทยานฯ อย่าใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียว เพราะขัดมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 แน่นอน การคุ้มครองพี่น้องข้างบนเป็นหน้าที่ ส่วนกระบวนการแก้ไขปัญหาก็มาหาทางออกร่วมกัน อย่าใช้มาตรการทางกฎหมายแบบเดิม ด้วยเงื่อนไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการถูกละเมิด รัฐต้องยอมรับตรงนี้ก่อน ให้เห็นว่าอดีตที่ผ่านมามันไม่มีประสิทธิภาพให้พี่น้องมีความสุขที่นั่น ถ้าจะเดินหน้าได้ ต้องยอมรับให้ได้ก่อน เราเสนอให้ใช้มาตรการทางนโยบาย ถ้าใช้แต่กฎหมายอุทยานฯ ประเทศไทยจะประกาศมรดกโลกไม่ได้แน่นอน
สอดคล้องกับผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าการเป็นมรดกโลกไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเอาคนออกจากป่า การเป็นมรดกโลกต้องเป็นการบริหารจัดการที่ดี ฉะนั้นการที่คุณพยายามเสนอพื้นที่นี้เป็นมรดกโลก แต่ไปไล่เผาบ้าน จะทำให้รัฐไทยไม่สามารถเสนอพื้นที่นี้ให้เป็นมรดกโลกได้ ถ้าคุณอยากเป็นมรดกโลกจริงๆ ต้องบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีธรรมาภิบาล ข้อที่ควรระวังคือ ต้องไม่ใช่การเอาพื้นที่นี้ไปให้คนนอก และแปลงเป็นของนายทุน ต้องเป็นของชาวบ้านใจแผ่นดิน สองคือ ความเป็นอยู่ อัตลักษณ์ การอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ หลักการอีกข้อที่สำคัญคือ สิทธิในที่ดิน
ใจแผ่นดิน คือ พื้นที่แผ่นดินแม่ มติครม. 3 ส.ค. 53 เปิดใจฟื้นฟู
ผศ.ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร กล่าวว่าเรื่องกะเหรี่ยงใจแผ่นดินเป็นเรื่องที่ยืดยาวมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปีนี้ปี 2564 ก็ 10 ปีแล้ว เข้าใจว่าช่วงปี 2554 ที่ถูกเผา ไล่รื้อลงมา พวกเราที่อยู่ภาคเหนือก็ตกใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะภาพที่ปรากฏออกมาเป็นภาพการเผาบ้านชาวบ้านที่อยู่ที่บริเวณใจแผ่นดิน เราก็มีความรู้สึกไม่เข้าใจว่ายุค พ.ศ. ที่ประเทศไทยก็ก้าวหน้ามาเยอะแล้ว เราเรียกร้องประชาธิปไตยมาจนถึงปี 2554 เราก็เรียกร้องการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่ในปี พ.ศ. 2554 มีประชาชนชาวไทยกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในป่าลึกเข้าไป ที่ถูกเรียกว่าเป็นคนกะหร่าง ประชาชนก็ตกใจ ไม่รู้ว่าเขาคือใคร จนตอนหลังเราก็ได้รู้ว่าคำเรียกที่ปกาเกอะญอทางผืนป่าเพชรบุรีถูกคนข้างนอกเรียก
ตอนนั้นมีการจัดเวทีพูดถึงมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เหตุการณ์มันเกิดใกล้ๆ กัน ช่วงนั้นเราเรียกร้องว่าควรจะใช้มติ ครม. แต่มันก็ดันไม่ออกเพราะว่ากระทรวงทรัยพฯ ไม่ยอมรับ คำว่า “ป่าอนุรักษ์” หรือ “ป่าอุทยาน” เป็นที่ราชการเรียกขึ้นมา สำหรับชาวบ้านมีแต่ “ป่าเดปอ” ป่าจิตวิญญาน แต่คำว่าป่าอนุรักษ์ ป่าอุทยาน มันมาพร้อมกับกฎหมายฉบับต่างๆ และมาพร้อมกันกับอำนาจชุดหนึ่งที่เข้ามาควบคุมพื้นที่ให้พื้นที่นี้บริสุทธิ์ในความหมายว่าไม่มีคนอยู่ ก่อนหน้านี้เคยมีการอพยพชาวบ้านผาช่อมาอยู่ที่จังหวัดลำปาง เคยไปเยี่ยมหมู่บ้านนี้ครั้งหนึ่ง แม้จะถูกอพยพมาอยู่ใกล้ถนนหนทาง มีแท็งก์น้ำสูงก็คิดว่ามีระบบน้ำอย่างดี แต่ปรากฏไม่มีน้ำ ผู้หญิงส่วนหนึ่งต้องไปมีอาชีพพิเศษ คนแก่ฆ่าตัวตาย
สำหรับที่บ้านบางกลอย ถูกอพยพลงมาบนพื้นทีดิน 7 ไร่ แต่ไม่พูดถึงคุณภาพของที่ดิน มีการออกข่าวว่าพวกเขาเป็นกะหร่าง เป็นหน่วยส่งเสบียงให้ทหารพม่า มียา พร้า และปืน แต่การสร้างวาทกรรมมันทำไม่ได้ในยุคนี้ แต่เขาคิดว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ คนที่รู้ว่ามีคนคิดว่าคนอยู่กับป่าไม้ได้คือบิลลี่ แต่บิลลี่ก็ถูกทำให้หายไป
“พื้นที่ใจแผ่นดินคือพื้นที่แผ่นดินแม่ ภาพเป็นการพยายามต่อสู้ เป็นการพยายามที่จะยืนยันสิทธิของคนที่อยู่กับป่า คนที่ใช้ทรัพยากรนั้น กับที่คนมีอำนาจ มีการทำงานกันเป็นเครือข่าย มันเป็นเครือข่ายที่ผนึกกำลังกันอย่างดี ถ้าพวกเราไม่วิเคราะห์สถานการณ์นี้อย่างดี เครือข่ายอำนาจนี้จะดีใจมากและทำให้เราสูญเสียสิทธิในการดูแลทรัพยากรของเรา”
ทางเลือกที่พอจะมีตอนนี้คือมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 หรือถ้าอยากจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา อะไรก็ได้ที่เร็วที่สุดและสามารถแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าผมยืนยันว่าเขามีสิทธิในการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ผมไปดูแลเรื่องชาวกะเหรี่ยงและชาติพันธุ์ต่างๆ ในเรื่องการจัดการที่ดิน เนื่องจากชุมชนมีเรื่องที่ร้องมาในกสม. เยอะมาก คำว่าชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นเรื่องที่เราทำให้เห็นมิติเรื่องวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น ปัญหาที่สังคมไทยและรัฐ ยังไม่เข้าใจและยอมรับเรื่องชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เพราะสังคมยังยังไม่รับแนวคิดหลายเชื้อชาติ ก็จะมีอคติที่ไปเชื่อมเรื่องปัญหาความมั่นคง อย่างเช่น กะเหรี่ยง ม้ง จะถูกมองในแง่ของยาเสพติด การบุกรุกและการก่อการร้าย ซึ่งตรงนี้เราจะเข้าใจในเรื่องสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่จะใช้ประโยชน์ในป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ เราต้องเข้าใจเรื่องความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์
รัฐมองกฎหมายในเชิงอำนาจ ไม่ได้มองเรื่องความเป็นธรรมหรือความถูกต้อง ไม่ใช้หลักนิติรัฐ ในรัฐธรรมนูญ 2540 ต้องการให้เกิดนิติธรรม แต่ที่ผ่านมามันเป็นิติอธรรมมากกว่า ที่เป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เป็นธรรม กระทรวงทรัพยากรฯ ใช้มิติการมองคนที่อยู่กับป่าว่าเป็นคนที่ตัดไม้ทำลายป่า ยืนยันใน พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานฯ การประกาศเป็นเขตป่าอุทยานที่บริเวณใจแผ่นดินเพิ่งประกาศเมื่อปี 2524 แต่ชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ใจแผ่นดินอยู่ในพื้นที่มาร่วม 100 ปี หลักฐานคือปู่คออี้ที่เสียชีวิตไป เกิดปี 2454 หมายความมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 และมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ก็ยอมรับว่าการอยู่ก่อนประกาศเขตป่าต้องมีสิทธิในการทำกิน รัฐก็มีนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิต ถ้าเรายอมรับในความเป็นอัตลักษณ์หรือชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายแล้ว รัฐต้องไปเพิกถอนป่า ต้องยุติการจับกุม และตั้งกรรมการกำหนดพื้นที่ต่างๆ แต่ปรากษว่าหน่วยงานไม่ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติ กลับไปยึดถือ พ.ร.บ.ป่าไม้และ พ.ร.บ.อุทยานฯ ที่มาทีหลังชาวบ้าน
การที่หน่วยงานของรัฐพยายามผลักดันชาวบ้านที่บางกลอยบนและใจแผ่นดินลงมาอยู่ที่บางกลอยล่าง การผลักดัน ขับไล่ ทำลายทรัพย์สินเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์และทำมาหากิน ผิดกฎหมายนะครับ ถ้าว่าตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่บท ตอนนี้พอเกิดสถานการณ์โควิด ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ที่บางกลอยล่าง ตอนที่ผมไปปี 2554 และปี 2557 ก็ส่งคณะทำงานลงไปหาข้อมูลละเอียดในพื้นที่ เราก็พบว่าบริเวณที่ถูกโยกย้ายจากใจแผ่นดินลงมา จริงอยู่ที่มีโครงการพระราชดำริ มีการอุดหนุนเรื่องการเกษตร แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาอยู่ได้ เพราะพื้นที่ที่บางกลอยล่างมันทับซ้อนเรื่องพื้นที่ทำกิน ดินไม่เหมาะกับการเกษตร จึงมีชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งที่ต้องไปทำมาหากินขายแรงงาน แต่พอเกิดโควิดท่านคิดดูสิครับว่าแรงงานที่ตกงานมันมีเป็นล้าน คนที่นั่นก็ต้องตกงาน
เหตุผลที่เขายืนยันว่าทำไมต้องไปบางกลอยบน ปู่คออี้บอกว่าเขามีข้าวกิน ปลูกพริกขายบ้าง ถึงจะน้อยแต่อยู่ได้ อยู่ข้างล่างมีเงินจริงแต่มันไม่พอใช้ ท่านลองคิดว่าสถานการณ์โควิดมันทำให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อคนด้อยโอกาสและเปราะบาง คนที่นั่นลำบากกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า เป็นเหตุผลง่ายๆ เลยครับที่เขาต้องกลับไปเพื่อความมั่นใจ
จากการตรวจสอบของ กสม. รายงานออกปี 2557 สรุปว่าชาวบ้านมีสิทธิในฐานะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม การกระทำของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ต้องเข้าไปตรวจสอบ เยียวยา ฟื้นฟู จัดหาที่ทำกิน เพื่อให้เขามีวิถีชีวิตอยู่ได้ เขาอยู่ที่ใจแผ่นดิน เงินเขาอาจจะน้อย แต่เขาอยู่ได้ แต่พอลงมาข้างล่างเขาอดตายเลยครับ ผมอยากยืนยันเรื่องสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน
“ทบทวนสิทธิชุมชน สิทธิชาติพันธุ์”
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ กล่าวว่าปัญหาที่เรามาคุยกันวันนี้มีปัญหาหลักอยู่ 2 ประเด็น คือประเด็นเรื่อง “สิทธิชุมชน” กับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางความคิดเรื่อง “คนอยู่กับป่า” โดยฝ่ายหนึ่งมองเห็นป่าเป็นสิ่งที่ปราศจากคน ส่วนอีกฝ่ายมองเห็นว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคนที่บางกลอยเท่านั้น แต่พี่น้องในภาคส่วนอื่น ๆ หรือชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ ก็ล้วนเผชิญกับความขัดแย้งของความคิดนี้เหมือนกัน
ที่ผ่านมาทางฝ่ายของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจในการอธิบายความสัมพันธ์ของคนที่อยู่กับป่าได้น้อยกว่าฝ่ายที่ถืออำนาจตามกฎหมายและอำนาจทางวิชาการซึ่งสามารถสถาปนาอำนาจในการอธิบายความสัมพันธ์ได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นทั้งสองประเด็นนี้จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งกรณีของบางกลอยนั้นสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
หลายท่านอาจจะพอทราบว่าความสนใจของทางด้านวิชาการและความสนใจของภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงทรัพยากรและการจัดการทรัพยากรมีมาตั้งแต่เริ่มทศวรรษ 2500 แต่ในระยะแรกนั้นความคิดเรื่องทรัพยากรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงทางการเมือง และมองเห็นว่าพื้นที่ที่อยู่บนพื้นที่สูงโดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ เป็นพื้นที่ที่จะต้องมีวิธีการในการจัดการหลังจากที่รัฐให้การสัมปทานป่าไม้ในระยะเวลาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ก่อนปี 2500 รัฐบาลสยามให้มีการสัมปทานป่าไม้กับบริษัทเอกชนต่างชาติ บริษัททำไม้อังกฤษ บริษัทบอมเบย์เบอร์มาก็เข้ามา และต่อมาก็อนุญาตให้มีการสัมปทานโดยบริษัทเอกชนภายในประเทศ
แนวคิดตอนนั้นก็มองว่าป่าไม้เป็นทรัพยากรที่จะทำประโยชน์ทางด้านรายได้ขึ้นมาได้ ไม่ได้คิดว่าเป็นทุนทางธรรมชาติที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อทำให้เกิดความสมดุลในการพัฒนา ต่อมาก็ในปี 2500 กว่าก็มีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาในภาคเหนือที่นอกเหนือจากการสัมปทานป่าไม้ และมีความพยายามในการเปลี่ยนพื้นที่บนพื้นที่สูงและพื้นที่ป่าไม้ให้เป็นพื้นที่เพื่อการผลิตพืชเศรษฐกิจ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งถูกมองว่าเป็นพืชเสพติดที่มีความอันตรายเป็นภัยต่อความมั่นคง สิ่งนี้ก็มีส่วนสำคัญของการทำให้เกิดความขัดแย้งของพี่น้องม้งที่มาร่วมเวทีในวันนี้ด้วย
จุดเริ่มต้นของการปราบปรามยาเสพติดหรือการเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่มีวิถีชีวิตแบบที่พึ่งพาอยู่ร่วมกับป่าอย่างที่ไม่ได้ทำลายล้าง ถูกกีดกันออกไปจากพื้นที่ผ่านการออกกฎหมายฉบับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ป่าสงวนฯ หรือพ.ร.บ.อุทยานฯ ก็ทำให้พื้นที่ป่าเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ที่รัฐเข้ามาครอบครอง ความคิดที่จะมองเห็นว่าคนอยู่กับป่าและมีสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากร ในตอนนั้นจึงไม่ได้รับการยอมรับขึ้นมาก
เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งปี 2520 กว่าก็เริ่มมีการทบทวน ศึกษาดูว่าการทำการเกษตรบนพื้นที่สูงซึ่งถูกมองว่าเป็นการทำการเกษตรแบบโค่นและเผานี้ มันไม่ได้มีวิธีการอธิบายแค่วิธีการเดียว
อาจารย์นักมานุษยวิทยาที่เข้ามาอธิบายเรื่องนี้ได้มีการทำการศึกษาไร่หมุนเวียนที่บ้านลัวะตั้งแต่ก่อน 2520 กว่า ที่บ้านลัวะป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง และได้อธิบายถึงรูปแบบของการทำไร่หมุนเวียนที่แตกต่างจากการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ก่อนปี 2520 เป็นต้นมา ในหนังสือเล่มนั้นก็มีเนื้อหาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ทำให้เราได้นำความคิดเรื่องไร่หมุนเวียนมาทำการศึกษาต่อ แล้วตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมาเราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะของทางกรมป่าไม้ที่จะขยายพื้นที่จากเขตป่าสงวนให้เป็นเขตป่าอุทยานขึ้นมา โดยที่ไม่มองถึงรูปแบบการทำการเกษตรแบบที่ชาวบ้านได้ทำมา ทำให้ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับไร่หมุนเวียน และมองว่าวิธีการทำไร่ที่ทำหนึ่งปีแล้วหยุดพักไประยะหนึ่ง 5-10 ปี ก็ยังเป็นการทำการเกษตรแบบโค่นและเผา มองว่าไม่ใช่วิธีการที่จะทำเกษตรบนพื้นที่สูงที่จะเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากร และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา รวมทั้งไม่เป็นการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้นในช่วงหลังปี 2530 เราเริ่มเห็นความขัดแย้งของกลุ่มพี่น้องที่เคยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าเพื่อการดำเนินชีวิต โดยที่ไม่ได้เป็นการทำการเกษตรแบบโค่นและเผาอย่างที่มีการอธิบายอย่างนั้นขึ้นมา ทำให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มทำการวิจัย เพื่อที่จะศึกษา “รูปแบบการจัดการทรัพยากรโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ท้องถิ่น”
พี่น้องที่อยู่บนพื้นที่สูงมีความรู้ในการจัดการทรัพยากร ที่ควรจะหยิบยกเอามาชี้ให้เห็นว่ามีความแตกต่างจากการจัดการทรัพยากรแบบใหม่ที่รับอิทธิพลมาจากโรงเรียนป่าไม้ในตะวันตก จึงทำให้เกิดการค้นคว้าวิจัย ศึกษาถึงความรู้พื้นบ้าน ความรู้ท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร กฎระเบียบที่ชุมชนได้ใช้กำหนดถึงวิธีการในการจัดการไฟ การทำแนวกันไฟ รวมถึงสิทธิของผู้ที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพื่อการทำไร่หมุนเวียน
ตั้งแต่ 2530-2540 เราจึงมีความพยายามที่จะอธิบายให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้ท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร” ซึ่งในช่วงปี 2539-2540 แนวคิดนี้ก็ตกผลึกขึ้นมานำมาสู่ข้อเสนอเรื่อง “สิทธิชุมชน” สิทธิของชาวบ้านหรือของประชาชนในการจัดการในการใช้ทรัพยากรบนฐานของความรู้ท้องถิ่นและกฎจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมา
พวกเราหลายคนที่นี่ก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันความรู้ดังกล่าวขึ้นมา และสิทธิชุมชน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับบนฐานที่กว้างขวางขึ้น เราก็มีส่วนในการที่จะนำเสนอแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนนี้ในการเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ ในการรณรงค์เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 แต่ว่าการนำเสนอแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนนี้ ถึงแม้จะมีการยอมรับและบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็ได้รับการต่อต้านหรือคัดค้านจากกลุ่ม รวมทั้งนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมาก
ผมจำได้ว่าทางผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชนก็คือพ่อกำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือง นำเอาร่างพ.ร.บ. ป่าชุมชน พร้อมทั้งรายชื่อจำนวนหนึ่งเข้าไปนำเสนอในรัฐสภา แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก รัฐสภาไม่ยอมให้พ่อกำนันอนันต์ ดวงแก้วเรืองนำเสนอร่างพ.ร.บ. ป่าชุมชนในรัฐสภา โดยอ้างว่ารัฐสภาไม่มีช่องที่จะให้ประชาชนเข้ามาเป็นผู้เสนอร่างกฎหมาย ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น เพราะฉะนั้นความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับของภาคประชาชน ซึ่งตั้งใจจะให้เป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะแรกขึ้นมา
ในขณะเดียวกันก็มีการร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนโดยพรรคการเมืองและโดยกรมป่าไม้เข้าไปร่วม และนำเอาร่างนี้ไปเสนอในรัฐสภา และหลังจากนั้นประชาชนก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับนี้ ฉะนั้นพ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งนำไปเสนอในรัฐสภาจึงไม่ได้ออกมาในลักษณะที่เป็นความต้องการ หรือไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความต้องการของภาคประชาชน อย่างที่เคยเป็นมาเลย
ในระยะหลังจึงทำให้ฝ่ายภาคประชาสังคมมองเห็นว่าถ้าจะผลักดันแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนโดยผ่านพ.ร.บ. ป่าชุมชน คงจะมีอุปสรรคอย่างมาก จึงเปลี่ยนวิธีการนำเสนอว่า ถ้าอย่างนั้นแทนที่จะไปต่อสู้ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ป่าชุมชน ก็เสนอเป็นแนวคิดเรื่อง “โฉนดชุมชน” ขึ้นมา ซึ่งแนวคิดนี้ทางรัฐบาลก็ยอมที่จะออกเป็นระเบียบสำนักนายกที่จะอนุญาตให้ชุมชนที่มีข้อตกลงร่วมกันในการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรในเรื่องของที่ดิน ที่เป็นโฉนดใช้ร่วมกัน ซึ่งรูปแบบของโฉนดชุมชนนี้ก็คือประชาชนเป็นเจ้าของในการจัดการทรัพยากรได้ แต่ไม่สามารถที่จะนำเอาผืนที่ดินนี้ไปจำหน่ายในฐานะที่เป็นสินค้า หรือเป็นสิทธิให้กับคนอื่นได้ แต่สามารถจะสืบทอดการใช้ประโยชน์หรือสืบทอดสิทธิในการใช้โฉนดชุมชนโดยลูกหลานของชุมชนนั้นเองได้
ที่ผ่านมาความพยายามในการเสนอให้ออกโฉนดชุมชนสามารถทำได้แค่เพียง 5-6 พื้นที่เท่านั้น ถึงแม้ว่าชุมชนหลายชุมชนได้มีการเตรียมข้อมูลและมีความพร้อมที่จะเสนอพื้นที่ของตนให้ประกาศเป็นโฉนดชุมชน แต่ทางราชการก็ยังไม่ได้เอื้ออำนวยให้แนวคิดเรื่องของโฉนดชุมชนนำไปสู่ความเป็นจริงได้อย่างที่ต้องการ
ทั้งสองอย่าง พ.ร.บ.ชุมชนก็ยังไม่ไปถึงไหน ถึงแม้จะมีการผ่านกฎหมายฉบับนี้มาแล้ว แต่ก็ยังมีการระบุว่าไม่สามารถจะเอาไปใช้ในเขตป่าอนุรักษ์ได้ พ.ร.บ.ระเบียบว่าด้วยเรื่องโฉนดชุมชนก็มีการต่อรองจนกระทั่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็ทำได้เพียงไม่กี่พื้นที่เท่านั้น
ถ้าความเข้าใจของผมนะครับ ในปี 2555 หลังจากที่มีการต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิชุมชนผ่านการเสนอร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนมาแล้ว จึงมีความพยายามในการหาวิธีการที่จะให้มีการยอมรับสิทธิของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยทางกระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอต่อครม. ออกมาเป็น มติ ครม. 3 สิงหา 2553 ว่าด้วย “เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ”
ในความเข้าใจของผม มติ ครม. ไม่ได้เขียนว่ายอมรับสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรอย่างตรงไปตรงมา แต่หมายความว่า มติ ครม.จะคุ้มครองให้ชุมชน ให้เป็นการระบุว่าเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ชุมชนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองในการจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมของตนเองขึ้นมา เพราะฉะนั้นมติ ครม. 3 สิงหา 2553 จึงมีพื้นฐานความคิดของเรื่องของสิทธิชุมชน อาจจะไม่ใช่อธิบายอย่างชัดเจนเหมือนกับพ.ร.บ.ป่าชุมชนอย่างที่ประชาชนเคยเสนออันนี้ขึ้นมาตั้งแต่ในปี 2540 แต่ว่ามติ ครม. เป็นความพยายามของทางรัฐที่จะประนีประนอมทำให้ชุมชนสามารถที่จะมีสิทธิในการอนุรักษ์จัดการประเพณี วัฒนธรรม ทรัพยากรของเขาได้บ้างนะครับ
ที่ใช้คำว่า “ได้บ้าง” เพราะว่ามันก็ไม่ได้เขียนเป็นกฎหมายที่ชัดเจนขึ้นมา เพียงแต่บอกว่ารัฐยอมรับที่จะคุ้มครองการปฏิบัติวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเอง กลุ่มกะเหรี่ยงขึ้นมา แล้วก็มีการประกาศพื้นที่เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ มีสองพื้นที่ ที่อยู่ในภาคเหนือคือที่หินลาดในแล้วก็มอวาคี ส่วนอีกสองพื้นที่ที่หนึ่งก็อยู่ที่กาญจนบุรีแล้วอีกที่หนึ่งก็อยู่ที่อุทัยธานี
แต่หลังจากมีการประกาศ มติ ครม.2553 มานานถึง 10 ปี ทางรัฐก็ไม่ได้มีการยอมรับหรือประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีที่บางพื้นที่ที่องค์กรพัฒนาเอกชนได้ประกาศขึ้นมาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของทางกลุ่มกะเหรี่ยงที่บ้านแม่หยอดก็ดี แล้วก็บ้านกลาง อันนี้เป็นพื้นที่ที่ทางมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สกน. ร่วมกับพีมูฟได้ประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษขึ้นมาเพิ่มเติมอีก ซึ่งเป็นความร่วมมือกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้แก่พื้นที่ บ้านกลาง แล้วก็ล่าสุดนี่ก็คือที่ป่าแป๋ และภูเหม็น อุทัยธานี
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษนี้ ถึงแม้ว่าจะมีนัยยะของการยอมรับสิทธิชุมชนนะ แต่ว่ามันก็ไม่ได้มีการอธิบายให้ชัดเจนว่าประชาชนจะมีสิทธิอย่างไร ในการที่จะออกกฎระเบียบที่เป็นที่ยอมรับของทางหน่วยงานที่เป็นอย่างไร ก็ไม่มีความชัดเจน บางทีกลายเป็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของทางกระทรวงวัฒนธรรมกลับพยายามจะไปมองหาลักษณะพิเศษของทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะวัฒนธรรมในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เต้นรำ หรือวัฒนธรรมพิเศษอื่น ๆ ขึ้นมา
กลายเป็นถูกตีความไปว่า เป็นการมองหาจุดเด่นทางวัฒนธรรมเพื่อที่จะให้ประชาชนในพื้นที่อนุรักษ์และดูแลไว้ไม่ให้สูญหาย ให้เกิดเป็นอัตลักษณ์พิเศษขึ้นมา และในบางกรณีก็ถูกตีความไปว่ากลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้น ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ
ผมก็ได้คุยกับผู้ร่วมงานทาง NGO ว่าสิ่งที่เรียกว่าอะไรที่เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษเนี่ย เราควรจะมองอะไร มองหาสิ่งใดที่เป็นความเป็นพิเศษขึ้นมา คงไม่ใช่ความพิเศษทางวัฒนธรรม แต่น่าจะเป็นการยอมรับถึงหรือการตระหนักถึงลักษณะที่ที่เป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การนำเอาวัฒนธรรมมาใช้เป็นกลไกในการอนุรักษ์ทรัพยากร หรือทำให้เห็นความสำคัญว่าวิถีปฏิบัติของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ทำให้เข้าใจพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเอง เพราะกลุ่มปกาเกอะญอนี้มีวิธีคิดและวิธีปฏิบัติเฉพาะที่นำไปสู่กับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นมิตร และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่พวกเราพยายามที่จะผลักดันทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นกรณีของตัวอย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ในพื้นที่ต่าง ๆ เราจึงพยายามที่จะเรียกร้องให้เกิดการทบทวนถึง อาจจะเรียกเป็นคุณค่าและวิถีปฏิบัติของคนในพื้นที่ที่อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตรขึ้นมา
ตัวอย่างของพี่น้องปกาเกอะญอที่บางกลอย ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ว่า ที่ผ่านมาเราก็รู้ว่าเขาเคยอยู่ในบ้านบางกลอยบน ที่เป็นป่าลักษณะค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ แต่ว่าวิถีชีวิตของคนที่บางกลอยบนไม่ได้เป็นวิถีชีวิตที่ทำลายล้าง เขาอยู่ด้วยความเคารพธรรมชาติและใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่ได้เป็นการเบียดเบียนธรรมชาติขึ้นมา อยู่ได้อย่างพอเพียง มีข้าว ถ้าใช้วิถีชีวิตแบบเขา เขาจะมีข้าวเพียงพอและขณะเดียวกันก็สามารถจะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน กาแฟ เพื่อหาเป็นรายได้ขึ้นมา เป็นรูปแบบของการอยู่กับธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง ที่ควรจะมีการยอมรับแล้วก็ อาจจะเรียกว่าให้ความคุ้มครอง แล้วก็ถือว่านี่เป็นรูปแบบของการของวิถีชีวิตที่ไม่ควรจะไปถูกเบียดขับหรือว่าปิดกั้นขึ้นมา ต้องควรจะยอมรับให้กลุ่มพี่น้องเหล่านี้สามารถจะเลือกปฏิบัติวัฒนธรรมของเขาได้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่เราเห็นว่าชาวบ้านที่บางกลอยถูกอพยพจากบางกลอยบนลงมาอยู่บางกลอยล่างมาอยู่ในพื้นที่ที่เขาไม่สามารถจะปรับตัวได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่เอื้ออำนวยให้เขานำเอาวิถีชีวิตแบบเดิมมาใช้ได้ จึงเป็นโศกนาฏกรรมที่เรามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง แล้วก็หวังว่าในเวทีวันนี้ก็คงจะมีการอธิบาย พูดคุย ปรึกษา แล้วก็นำเอาข้อมูลมาแบ่งปัน เพื่อวิเคราะห์ให้เราเข้าใจว่าสิทธิชุมชนของพี่น้องกะเหรี่ยงที่บางกลอยถูกละเมิดอย่างไร แล้ววิถีดังกล่าวนี้มันจะนำไปสู่ปัญหาอะไร หวังว่าเราจะมีโอกาสที่ได้ทำความเข้าใจกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในเชิงความคิดของทางผู้ที่มีบทบาทในการจัดการทรัพยากรที่มีความขัดแย้งและไม่ลงตัวกับชาวบ้าน