เปิดรับเสนอประเด็นเพื่อร่วมโครงการผลิตสื่อกับรายการ Localist ชีวิตนอกกรุง ปี 2564
รายการ Localist ชีวิตนอกกรุง สารคดีสะท้อนชีวิตคนนอกกรุง ซึ่งทำหน้าที่เป็นคู่มือคนต่างจังหวัดในศตวรรษที่ 21 ขอเชิญชวนเครือข่ายผู้ผลิตสื่อพลเมืองที่สนใจยื่นเสนอ“ประเด็น” เพื่อคัดเลือกเป็นทีมผลิตฯ ที่จะร่วมผลิตเนื้อหาในรูปแบบที่หลากหลาย เผยแพร่ออกอากาศทางไทยพีบีเอส และแพลตฟอร์มที่เกี่ยวเนื่อง ในไตรมาส 1-2 /2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.คุณสมบัติผู้ยื่นเสนอประเด็นเพื่อร่วมผลิต
1.1 เป็นผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการผลิตสื่อกับสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ หรือหน่วยงานอื่นของไทยพีบีเอส
1.2 มีทักษะและประสบการณ์ผลิตสื่อวิดีโอ และออกแบบสื่อสารอื่นได้หลายลักษณะ เช่น งานวิดีโอ คลิป CL อินโฟกราฟิก งานเขียน หรือการสื่อสารรูปแบบอื่นที่หลากหลาย มีทักษะ ติดตามสถานการณ์ทางสังคม สามารถหาข้อมูลและเคสที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ถ่ายภาพ ตัดต่อ เล่าเรื่องได้
1.3 มีประเด็นหรือไอเดียเนื้อหาเกี่ยวกับ “Localist ชีวิตนอกกรุง” ที่อยากนำเสนอ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเข้าใจคอนเซ็ปต์รายการ รูปแบบ วิธีการนำเสนอ และ Mood&tone ของรายการ “Localist ชีวิตนอกกรุง” อย่างชัดเจน (โดยศึกษาตัวอย่างรายการที่ออกอากาศไปแล้ว)
1.5 แสดงถึงความพร้อมของทีมงานและอุปกรณ์ผลิตงานสื่อ เช่น กล้องระบบ HD คอมพิวเตอร์ และโปรแกรมตัดต่อหรือโปรแกรมออกแบบที่เกี่ยวข้อง
1.6 มีความพร้อมในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นร่วมกับหน่วยงาน เครือข่าย และองค์กรต่างๆ โดยสามารถเข้าร่วมประชุมออกแบบการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ทีมสำนักฯ และลงพื้นที่ผลิตงานตามแผนงานที่ตกลงกัน
2. เงื่อนไขการพิจารณา
2.1 ผู้ยื่นเสนอประเด็น เข้ารับฟังการประกาศคอนเซ็ปต์รายการ ประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อน และ
แนวทางการทำงานของโครงการผลิตสื่อรายการ Localist ชีวิตนอกกรุง ในวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. 2564 เวลา 13.30 – 16.00 น. เพื่อรับทราบเป้าหมายและกรอบประเด็นที่จะนำเสนอ
2.2 การคัดเลือกทีม พิจารณาจากความเข้าใจในคอนเซ็ปต์รายการและข้อมูลประเด็นที่เสนอ โดยสงวนสิทธิ์การตัดสินของทีมสำนักฯ และที่ปรึกษา ถือเป็นที่สิ้นสุด
2.3 เครือข่ายผู้ผลิตสื่อฯ ที่ผ่านการคัดเลือก สามารถทำสัญญาได้เพียง 1 สัญญาในแต่ละรอบเท่านั้น ไม่สามารถทำสัญญาในแพลตฟอร์มอื่น
3. Positioning “Localist ชีวิตนอกกรุง” ทำหน้าที่ผลิตสื่อที่สะท้อนให้ผู้ชม (วัย 25-40 ปี) ที่เป็นคนท้องถิ่นส่วนใหญ่ของประเทศได้เห็นถึงเห็นถึง “พลวัต” ของคนและสังคมนอกเมืองหลวงของไทย แล้วเข้าใจสถานการณ์จริง เห็นทางออก มีทางเลือก โดยมุ่งหวังให้เป็นคู่มือในการใช้ชีวิตของคนต่างจังหวัดในศตวรรษที่ 21 ด้วยรูปแบบสารคดีที่ลุ่มลึกถึงโครงสร้างด้วยกลิ่นอายที่ไม่ใช่เมืองหลวง
ทั้งนี้จะมีกระบวนการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาคที่ขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นวาระของสังคม และออกแบบสื่อสารในหลากหลายแพลทฟอร์ม เพื่อขับเคลื่อนเนื้อหา โดยมี ผลผลิตสื่อแบบ Transmedia ประกอบด้วย
- รายการด้วยรูปแบบสารคดี เผยแพร่โทรทัศน์ ความยาวตอนละ 25 นาที พร้อม สปอต 30 วินาที
- สื่อ Online ลักษณะ Clip CL หรือชุดภาพ จำนวน 1 ชุด เผยแพร่ทางเพจ Localist ชีวิตนอกกรุง
- บทความ เรื่องเล่า หรือบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องกับตอน พร้อมภาพประกอบ เผยแพร่ทางเว็บ The Citizen Plus
- ปักหมุดพิกัดพร้อมภาพและเรื่องเล่า ในประเด็นที่นำเสนอทาง C-Site Report
- On Ground ขับเคลื่อนประเด็นร่วมกับเครือข่ายฯ ตามแผนงาน เช่น จัดเวทีในพื้นที่ FB LIVE ขยายบางประเด็น
4. กรอบประเด็นเพื่อผลิตรายการ 2564
– กลุ่มประเด็นที่เป็น New Normal New Local วิถีใหม่ของต่างจังหวัด ในแง่ของปากท้อง เศรษฐกิจ การจัดการตนเองหรือมิติต่างๆที่จะเป็นทางรอดของคนต่างจังหวัด ที่พยายาม “ปรับตัว” เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ และสังคมอยู่ได้
– กลุ่มประเด็นที่เป็นผลพวงจากโควิด-19 ซึ่งทำให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและวิกฤติปากท้องของคนต่างจังหวัดชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทโครงสร้างใหญ่ อย่างเช่น รัฐรวมศูนย์ ทุนข้ามชาติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นต้น มีเรื่องราวไหนของคนต่างจังหวัดที่สังคมควรรับรู้ผ่านรายการ
ทั้งนี้ คอนเซ็ปท์เนื้อหา ไม่ใช่แค่เพียงการบอกเล่าถึง “ปัญหา” หรือ “ปรากฏการณ์” แต่นำเสนอให้เห็นถึง Solution หรือแนวทางที่เราจะรอดไปด้วยกัน ทั้งการถอดบทเรียนความพยายาม ความสำเร็จ ความล้มเหลว ผ่านปฏิบัติการหรือรูปธรรมจริงของคนในพื้นที่
5. กรอบประเด็นที่จะผลิตไตรมาส 1-2 / 2564
5.1 การท่องเที่ยวและการบริการ เป็นภาคส่วนที่ยึดโยงชีวิตเศรษฐกิจปากท้องคนต่างจังหวัดหลายพื้นที่ ทั้งที่อยู่ในภาคกระแสหลัก และภาคชุมชนทางเลือก จะอยู่อย่างไรเมื่อโควิดพลิกโฉมหน้าพฤติกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก มีโมเดลแบบไหน มีสิ่งใดควรทำ ทำได้ ทำไม่ได้ คนในแวดวงท่องเที่ยวควรปรับตัว re-skill / up-skill สู่อนาคตอย่างไร การพัฒนาองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายที่จะจับมือกันได้ต่อแม้โควิดผ่านไป
5.2 เศรษฐกิจฐานราก กลไกการเชื่อมโยงหรือตลาดภายใน คือคำสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในทุกเซกเตอร์ คือการรับประกันความเสี่ยงเมื่อเกิดเหตุวิกฤตอย่างภัยพิบัติหรือโควิด หากสามารถพึ่งพาการซื้อขายกับกลุ่มใกล้เคียงได้ จะช่วยให้สามารถดำเนินกิจการของตัวเองต่อไปได้ และอาจตีความได้หลายระดับ เช่น ตลาด/การเชื่อมโยงในชุมชนใกล้เคียงกันเอง ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ มีเคสหรือแพลตฟอร์มไหนที่เป็นตัวอย่าง มีเคสไหนที่กำลังต้องเผชิญปัญหาและพยายามฝ่าฟัน
5.3 หนุ่มสาวเติมพลังให้ท้องถิ่น หนุ่มสาวที่อยู่และเติบโตในบ้านเกิด หรือจะต้องจากบ้านไปเรียน หรือทำงาน ซึ่ง ณ ขณะนี้อาจตกงานต้องกลับบ้าน จำนวนไม่น้อยที่กำลังยืนงงในดงโควิด จะเข้าเมืองหางานก็ไม่ได้ จะอยู่บ้านหาเลี้ยงชีพก็ไม่เห็นหนทาง หรือหนุ่มสาวที่กลับบ้านพร้อมทักษะบางอย่าง หรืออยู่พื้นที่และมีไอเดีย มีแนวทางสร้างหรือลงมือทำเพื่อให้ท้องถิ่นรอดไปด้วยกัน
5.4 วิชาการรับใช้ชุมชน มีสถาบันการศึกษา และหน่วยของการสร้างความรู้ที่อยู่ในพื้นที่ไหน ที่ใช้บทบาทของตนเอง เชื่อม หนุน สร้างชุมชนให้เคลื่อนผ่านสถานการณ์ปัญหาปากท้องในครั้งนี้ นอกจากนั้น ขณะนี้มีปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ภายใต้งบโควิด หรือโครงการแก้จนของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ทำอยู่แล้ว จะมีเคส หรือโมเดลไหน ที่สามารถพัฒนา/เดินต่อได้หลังโควิด มีปฏิบัติการและเคลื่อนไปพร้อมกับชุมชนและเห็น solution อะไร ได้บ้าง
5.ทักษะแห่งโลกอนาคต วิธีคิด วิธีจัดการ วิธีเชื่อมโยง นวัตกรรมใหม่ ความรู้ด้านเทคโนโลยีหรือทักษะแบบไหนที่จะสร้างการเรียนรู้ได้จริง เช่น ในขณะที่ทุกคน ทุกพื้นที่กระโจนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ จะสร้างการ เรียนรู้อย่างเป็นระบบ เข้มข้น ใช้ได้จริง ให้กับชาวบ้านชุมชนต่างๆ ได้อย่างไร หรือมีทักษะแบบไหนที่จะต้องมีเพื่อตอบโจทย์อนาคต
6. ผู้สนใจจะต้องเข้ารับฟังการประกาศคอนเซ็ปต์รายการ ประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อน และแนวทางการทำงานของโครงการผลิตสื่อรายการ Localist ชีวิตนอกกรุง ในวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. 2564 เวลา 13.30 – 16.00 น. เพื่อรับทราบเป้าหมายและกรอบประเด็นที่จะนำเสนอ โดยให้แจ้ง ชื่อ และ ID Facebook มาที่ อีเมล์ localist.tpbs@gmail.com ภายในวันพฤหัสบดีที่ 4 ก.พ. 3564 จัดส่งรหัส Zoom เข้ารับฟังได้
จากนั้น ให้จัดส่งประเด็นและเอกสารประกอบการสมัครเป็นทีมเพื่อร่วมผลิตรายการ ประกอบด้วย
6.1 ประวัติส่วนตัว และประสบการณ์ผลิตงานเพื่อแสดงความพร้อมในการทำงานร่วม และข้อมูลยืนยันการเคยเข้าฝึกอบรมพัฒนาทักษะการผลิตสื่อกับสำนักฯ หรือหน่วยงานอื่นของไทยพีบีเอส
6.2 ข้อมูลประเด็นที่สอดคล้องกับคอบเซ็ปต์รายการ โดยจะเสนอ 1 ตอน หรือเป็นชุดรายการก็ได้
โดย ส่งมาที่ localist.tpbs@gmail.com ภายในอังคารที่ 16 ก.พ. 2564
7. สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดเลือกทีม ร่วมผลิต โดยพิจารณาจากประเด็นที่สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์และการแสดงความพร้อมในการร่วมปฏิบัติงาน โดยการตัดสินของคณะกรรมการและที่ปรึกษาถือเป็นที่สิ้นสุด โดยแจ้งผลการพิจารณาวันอาทิตย์ ที่ 21 ก.พ.2564 ทางเพจ Localist https://www.facebook.com/LocalistThaiPBS
สอบถามเพิ่มเติม : 02-790-2634 หรือ 092-489-8252(วิชุดา) 084-486-8654(ธันวา)
ดาวน์โหลดรายละเอียดและแบบนำเสนอประเด็นได้ตามลิงก์ https://drive.google.com/drive/folders/12kLCHhDUIvyl3JYixN2jQ_euafE7zl_l?usp=sharing