ชาวเมียนมาในไทยเกาะติดสถานการณ์หลังกองทัพยึดอำนาจ

ชาวเมียนมาในไทยเกาะติดสถานการณ์หลังกองทัพยึดอำนาจ

จากกรณีกองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย เข้าควบคุมอำนาจรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เมื่อช่วงเช้ามึดวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.ก่อนเปิดประชุมสภา พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ 1 ปีนั้น

มีรายงานจากเครือข่ายสื่อพลเมืองในประเทศเมียนมาว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัวนักการเมืองบุคคลสำคัญของพรรค NLD  ศิลปินจำนวนหนึ่ง ในเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมืองสำคัญอีกหลายเมือง มีการตัดสัญญานเผยแพร่โทรทัศน์ โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต ทำให้ประชาชนไม่สามารถติดต่อกันได้ โดยสัญญานโทรศัพท์เพิ่งกลับมาใช้ได้ในช่วงเที่ยงวัน แต่ยังติดขัดอยู่มาก   

ตั้งแต่เช้าถึงบ่ายนี้มีการปิดเมืองใหญ่ ๆ ไม่ให้เข้าออก อย่างเช่นเชียงตุง ท่าขี้เหล็ก ไม่ให้รถสัญจรเข้าออก ธนาคารปิดให้บริการ บุคคลสำคัญที่ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองเนปิดอว์ เพราะไปรวมตัวกันที่นั่น เนื่องจากวันนี้มีกำหนดเปิดประชุมสภาวันแรกหลังเลือกตั้ง

อ.คืนใส ใจเย็น ผู้อำนวยการสถาบันปีดองซูเพื่อสันติภาพและการเจรจาให้สัมภาษณ์ The Citizen ว่า กองทัพเมียนมาบอกว่านี่ไม่ใช่การรัฐประหาร แต่เข้าควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินตามรัฐธรรนูญมาตรา 417 ที่กำหนดไว้  และขณะนี้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบคุมอำนาจ 1 ปี  และเรื่องที่สำคัญที่ได้ประกาศมี 4 ข้อคือ1.จะสะสางแก้ไขเรื่องไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย.2563  2.ควบคุมและรักษาการระบาดโรคโควิด 19 ให้หายให้ได้  3.ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ  4.ยังคงเดินหน้ากระบวนการสันติภาพต่อไป

ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายไทยอาจต้องประเมินว่าจะวางท่าทีอย่างไร  เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น ได้เคยเกิดมาแล้วเมื่อปี 1988  และขณะนี้ทางกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านการใช้อาวุธและร่วมลงนามเจรจาสันติภาพ 10 กลุ่มได้เรียกประชุมฉุกเฉินว่าจะวางท่าทีอย่างไรอยู่เช่นกัน  ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีประกาศท่าทีใดใดออกมา ยังรอดูสถานการณ์ และฝ่ายกองทัพพม่าไม่ได้เน้นควบคุมหรือมีท่าทีต่อกลุ่มชาติพันธุ์  แต่เน้นที่การควบคุมพรรค NLD เป็นหลัก                      

ขณะที่แรงงานจากเมียนมาที่อยู่ในฝั่งไทย  มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันถึงว่า หวั่นเกรงสถานการณ์ในบ้านเกิดจะกลับมาเหมือนเดิมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร เพราะแม้จะมีการเจรจาหยุดยิงมาก่อนหน้านี้มากว่า 10 ปี แต่เหมือนยังไม่มีความคืบหน้า และกับกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มก็ยังมีสงครามกันอยู่  แต่ในช่วงเวลานี้เกิดโควิด 19 แรงงานจำนวนหนึ่งอยากจะกลับบ้าน แต่ยังรอให้โควิดคลี่คลาย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ ก็กังวลว่าจะแย่กว่าเดิม กำลังรอดูสถานการณ์ และติดตามประกาศที่ทะยอยออกมาอยู่

นายแสงเมือง มังกร นายกสมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ กล่าวว่า ตอนนี้พี่น้องแรงงานชาวเมียนมาไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเมืองไทยยังคงใช้ชีวิตตามปกติ โดยพยายามติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านเกิดของตัวเอง แต่เนื่องจากช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ถูกปิดกั้น ทำให้ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารจากพื้นที่ได้โดยตรง ส่วนใหญ่ก็จะติดตามสถานการณ์ทั่วไปที่ถูกนำเสนอผ่านทางสื่อไทยและต่างประเทศรายงาน และยังรอคอยรายละเอียดจากทางการเมียนมาเพิ่มเติม

“เบื้องต้นตนทราบว่าวันนี้พี่น้องแรงงานชาวเมียนมาและเครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ได้นัดหมายรวมตัวเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านการทำยึดอำนาจและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี”

ส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตัวแรงงาน และนโยบายต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้ภายหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2008 นั้น ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีคำสั่ง มีประกาศ หรือการออกมาตรการใดใด ซึ่งตนคาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ต่อจากนี้จะเห็นความชัดเจนมากขึ้น จากนั้นมีองค์กร เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องชาวเมียนมาการจัดเวทีเพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ต่อไป

สำหรับการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานนั้น มีส่วนทำให้แรงงานที่คิดจะกลับบ้านนั้นต้องชะลอแผนการต่อไปอีกระยะ เพราะภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เมื่อกลับไปแล้วอาจทำให้การเดินทางกลับเข้ามาทำงานในไทยอีกครั้งเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น และอาจยังต้องเจอกับสถานการณ์ที่ข้าวปลาอาหารอาจมีราคาสูงขึ้น จากการกักตุนสินค้าหรือได้รับผลกระทบจากการดำรงชีวิต จากการกดดันจากนานาประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่แรงงานต้องจ่ายเพื่อขึ้นทะเบียนนั้นมีอัตราสูง สวนทางกับรายได้ของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงาน ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้อยู่ดี

นายกสมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ กล่าวย้ำ

โกนาย แรงงานเมียนมาในไทยที่สมุทรสาคร สวมเสื้อสัญลักษณ์พรรค NLD กล่าวว่า รู้สึกห่วงใย และติดตามข่าวมาตั้งแต่เมื่อคืน ได้โทรกลับไปหาคนที่บ้านด้วย ช่วงนี้เกิดสถานการณ์โควิด แรงงานส่วนใหญ่ที่นี่อยากกลับบ้าน เพราะไม่มีงานทำ แต่สถานการณ์ในประเทศเมียนมาเป็นแบบนี้ก็คิดกันหนักว่าจะกลับบ้านอย่างไร จะมีการแก้กฎหมายอะไร จะมีการเลือกตั้งใหม่ไหม

นอกจากนายโกนาย แล้วที่ตลาดกลางกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาครแล้ว เช้านี้มีการเเจ้งใบรับรองการกักตัวให้เเรงงานที่อยู่ภายในตลาดกุ้งและใบรับรองผลการตรวจ เเรงงานหลายคนก็แสดงออก ต่อเหตุการเช้านี้ ด้วยการสวมเสื้อรูปนางอองซานซูจีและสัญลักษณ์พรรค NLD และบอกว่าเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้านผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ เมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ 1 ปี คงมีการปิดประเทศ ซึ่งด่านชายแดนนั้นปิดอยู่แล้วจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ที่ต้องจับตาต่อคือสถานการณ์ในประเทศว่าจะไปต่ออย่างไร

ตอนนี้อำนาจการบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ อยู่ในมือผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในส่วนกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ อาจทำหน้าที่ตามปกติ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจก็ถูกจับและขังอยู่ มุขมนตรีเกือบทุกรัฐถูกจับและขังอยู่ รวมทั้งประธานาธิบดีอู วิน มินต์ ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้ามึดที่ผ่านมามีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลสำคัญถึง 32 คน ที่ถูกจับกุมคุมขัง และอาจมีเพิ่มอีก ดังนั้นการบริหารจัดการประเทศในขณะนี้น่าจะรันโดยใช้ระบบราชการ แต่ยังไม่แน่ใจว่าการรันโดยระบบราชการนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร 

ส่วนสถานการณ์แรงงานที่ก่อนหน้านี้มีการประสานส่งกลับ ผศ.ดร.นฤมล ให้ความเห็นว่า แรงงานบางส่วนอาจไม่อยากเดินทางกลับ และอาจไม่มีแนวโน้มในการส่งกลับแรงงานโดยง่ายในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศ กองทัพอาจมีการเจรจา เป็นการคุยกันระหว่าง Military brotherhood กันไป สำหรับเรื่องแรงงาน ในเมียนมาคงมีการจัดการปัญหาภายในก่อน มากกว่าที่จะจัดการปัญหานอกประเทศ หรือปัญหาคนเมียนมาที่อยู่นอกประเทศ

ต่อคำถามว่าอะไรทำให้ทหารกดดันจนต้องมีการยึดอำนาจ ผศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า สถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน มีการพูดออกมาแล้วว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิยุติธรรม เพราะเป็นช่วงโควิด-19 พรรคฝ่ายค้านหาเสียงไม่ได้ มีรัฐบาลที่เป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจต่อรองมากกว่า พรรครัฐบาลสามารถหาเสียงอย่างไม่เป็นทางการได้มากกว่า

หลังเลือกตั้งผู้นำกองทัพก็ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ระบุว่ามีประมาณ 8 ล้าน จากกว่า 10 ล้านเสียง ที่คิดว่ามีปัญหาในการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมในเรื่องคะแนน หลังจากนั้นก็มีการต่อรองจากทางกองทัพเมียนมาที่อยากให้มีการเปิดประชุมนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิยุติธรรม ซึ่งอีกฝั่งก็บอกให้ กกต.เป็นคนจัดการ  ไม่มีการเปิดประชุม

ส่วนในวันนี้เป็นวันแรกที่จะมีการเปิดประชุมรัฐสภาเมียนมา ซึ่งวาระแรกคือเรื่องการรับรองผลการเลือกตั้ง กองทัพคงคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว กดดันด้วยวิธีอื่น NLD ก็ไม่ยอม ก่อนหน้านี้ NLD อาจจะยอม แต่ว่าด้วยคะแนนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ได้เยอะมาก จนอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องยอม กองทัพจึงเลือกใช้วิธีการนอกสภาฯ แทน

นอกจากนั้น พลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย จะเกษียณปีนี้ ดังนั้นหากต้องการอยู่ในอำนาจต่อก็อาจต้องมีการจัดการบางอย่าง แต่ด้วยคะแนนความนิยมที่ย่ำแย่ ตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 1 ก็อาจไม่ได้ และอาจตกเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 2 จึงตัดสินใจเข้ากุมอำนาจ 

“คงต้องรอดู เพราะเขาบอกเขาขอเวลา 1 ปี แต่ตอนนี้เขาปิดแบงค์ชั่วคราวเพราะคงกลัวว่าคนจะแห่ไปถอนเงิน แล้วก็ปิดสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณโทรมือถือ เพียงแต่ยังไม่ได้ปิดไวไฟ เพราะฉะนั้นการสื่อสารก็ผ่านไวไฟ ถ้าปิดอินเตอร์เน็ต ปิดอินเตอร์เน็ตที่เป็น local providers นั่นจะเป็นสิ่งที่น่าคิดมากขึ้น ตอนนี้ทีวีก็ปิด เหลือแต่ช่องทหารช่องเดียว ต้องรอดูว่าเขาจะมีการจัดการอย่างไรในศตวรรษที่ 21”

ผศ.ดร.นฤมลกล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้

สำหรับการรับมือสถานการณ์ของไทย ผศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ไทยอาจบอกว่า ไทยเข้าใจสถานการณ์ของมิตรประเทศ เราจะไม่เข้าแทรกแทรงกิจการภายใน และจะดูแลแรงงานตามหลักมนุษยธรรม แต่เราจะปิดพรมแดนเพื่อไม่ให้มีสถานการณ์ทะลักของแรงงาน ซึ่งก็ปิดอยู่แล้วเนื่องจากสถานการณ์โควิด การส่งกลับอาจชะลอไว้ก่อน ส่วน MOU ที่เพิ่งหมดไปก็อาจมีการต่ออัตโนมัติจากปัญหาสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน

สิ่งที่ต้องจับตาเพิ่ม คือ 1.เรื่องรูปแบบการลงทุน ว่าธุรกิจไทยไปลงทุนในรูปแบบและพื้นที่ไหนในประเทศพม่าบ้าง และมีการเตรียมการอะไรไหมในการรับมือ 2.สถานเอกอัครราชทูตไทย ในเมียนมา ก่อนหน้านั้นมีการออกแถลงการณ์มา 1 ฉบับ สถานการณ์ตอนนี้ยังนิ่ง ๆ เพราะความสนใจมุ่งไปที่กรุงเนปิดอว์ แต่สถานเอกอัครราชทูตไทยอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง

ล่าสุด ในช่วงเย็นวันนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีพี่น้องเพื่อนพม่าได้รวมตัวกันที่บริเวณกุงสุลพม่า ประจำจังหวัดเชียงใหม่ แสดงกิจกรรมเชิญสัญลักษณ์ เรียกร้องให้ยุติการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนและขอให้มีการปล่อยตัวนักการเมืองเมียนมา

พี่น้องพม่าร่วมเรียกร้องยุติการรัฐประหาร

รณรงค์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักการเมืองพม่า

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ