ประสิทธิ์ จันทะชารี เกษตรกรบ้านห้วยสุ ต.ม่วงใหญ่ อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี มีแนวคิดว่าเกษตรกรส่วนใหญ่คิดแต่เรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสุขภาพไม่บันทึกการทำงานให้ละเอียดจึงคำนวนกำไรขาดทุนผิดพลาด
ขณะที่ตนเองได้แนวคิดในการทำเกษตรที่คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม คือการทำแบบอินทรีย์จาก อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร และมีแนวความคิดนำเอารูปแบบเกษตรอินทรีย์มาปรับใช้ในพื้นที่ตนเอง เพราะทุนเดิมที่มีในช่วงนั้นคือเลี้ยง วัว ควาย และนำมูลสัตว์ที่เลี้ยงไว้ หรือปุ๋ยคอก มาใส่ในนาข้าว และพืชผักสวนครัว โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี
พ่อประสิทธิ์เล่าให้ทีมงานอยู่ดีมีแฮงฟังว่า “คนเราถ้าจะทำเกษตรตามยุคสมัยไปเรื่อย ๆ โดยเร่งสารเคมีอยากได้ผลผลิตเยอะ ๆ โดยไม่คำนึงสภาพความเป็นอยู่ หรือของที่บริโภคเข้าไปว่าจะมีภัยอะไรตามมา ส่วนมากเกษตรกรจะไม่คำนึงถึงในจุดนี้ เพราะส่วนมากเกษตรกรที่เป็นชาวไร่ ชาวนา ความรู้ก็ไม่ค่อยมี ไม่ค่อยได้เรียนสูง และปัญหาอีกอย่างก็คือต้องหาเงินมาจุนเจือครอบครัว และส่งเสียให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือเพราะสภาวะรอบตัวที่จำเป็นจะต้องใช้เงิน ก็เลยต้องมุ่งแต่หาเงิน โดยที่ไม่คำนึงว่าสภาพความเป็นอยู่หรือผลกระทบที่ตามมา เพราะการใช้สารเคมีที่มากจนเกินไป นอกจากกส่งผลกระทบทางสุขภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอน และผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมา”
หลังจากเห็นแบบอย่างของการทำเกษตรอินทรีย์ที่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร จึงได้กลับมาเริ่มทำแบบอินทรีย์โดยใช้พื้นที่ประมาณ 1 งานกว่า ๆ ข้างบ้าน ปลูกผักหอม ผักชี คะน้า กวางตุ้ง แตงกว่า กล้วยหอม หลากหลายชนิดในแบบผสมผสาน ปลูกกินในครัวเรือน และแบ่งขายให้กับเพื่อนบ้านที่มาขอซื้อ เพราะเพื่อนบ้านเห็นวิธีการปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี จึงต้องการผักที่ปลอดสารไว้กินเช่นกัน
“ถังสูบน้ำพญาแร้ง”สูบน้ำได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่ใช้ไฟฟ้า
เกษตรกรอำเภอโพธิ์ไทรท่านนี้ยังเป็นแบบอย่าง ของการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ลดโลกร้อนหนุนเสริมให้เกิดการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยใช้ฝีมือทางด้านช่างและศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ทำเครื่องมือที่ชื่อว่า “พญาแร้ง” สามารถสูบน้ำจากสระโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมัน อาศัยพลังงานธรรมชาติ จากแรงดันน้ำ ช่วยส่งไปรดต้นไม้ พืชผักสวนครัวได้
เป็นการนำน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ มาใช้ โดยใช้หลักการของธรรมชาติ แรงโน้มถ่วง หรือที่เรารู้จักกันในนาม กาลักน้ำ หรือ พญาแร้งให้น้ำ เป็นระบบปั๊มน้ำด้วยระบบสุญญากาศจากภูมิปัญญาชาวบ้าน สามารถสูบน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าแม้แต่บาทเดียว
“หลักการทำงานถังสูบน้ำพญาแร้ง”
พ่อประสิทธิ์เล่าให้ทีมงานอยู่ดีมีแฮงฟังว่า “เริ่มแรกจะมีท่อใช้สำหรับสูบน้ำและท่อส่งน้ำ นำมาประกอบกับถัง 200 ลิตร น้ำที่ดึงขึ้นมาและน้ำที่ไหลออกจะต้องสมดุลกัน ปล่อยออกเยอะก็ไม่ได้ เพราะอากาศจะย้อนเข้าตามท่อน้ำ ระหว่างสูบน้ำขึ้นและปล่อยน้ำออกให้เท่ากัน หรือปล่อยน้ำออกน้อยกว่ายิ่งดี จะทำให้ไม่มีอากาศเข้าไปในถังน้ำ ขั้นตอนแรกเติมน้ำให้เต็มถัง พอน้ำในถังลดระดับลง ในถังก็จะเกิดช่องว่าง หรือสุญญากาศ สุญญากาศที่เกิดขึ้นจะดึงน้ำจากบ่อขึ้นมา สามารถนำเอามาใช้ในสวนผักได้”
ปัญหา อุปสรรค เครื่องสูบน้ำพญาแร้ง
“ถ้าคนที่มีน้ำอยู่ในพื้นที่สูง แล้วจะเอาน้ำลงไปใช้ในพื้นที่ต่ำก็สามารถทำได้ แต่ปัญหาคือ การนำน้ำในระดับเดียวกัน จะเอาน้ำขึ้นไปที่สูงกว่าไม่ได้ ช่วงแรก ๆ ที่มีน้ำเต็มบ่อ สามารถนำน้ำขึ้นมารดพืชผักได้ตามปกติ พอน้ำในบ่อลดระดับลงไปเรื่อย ๆ น้ำก็จะหยุดไหลไปเอง”
“พื้นที่ส่วนใหญ่ตามที่ได้ศึกษาและได้ทดลองทำมา จะเหมาะกับการใช้งานในระบบน้ำหยด เพราะน้ำจะออกไม่เยอะ ใช้กับระบบน้ำหยดจะได้ผลดี แต่ว่าจะเพิ่มปริมาณในการใช้น้ำให้มีแรงดันที่มากขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามที่ได้ศึกษามา แต่ยังไม่ได้ทดลองทำคือการเพิ่มจำนวนถังให้มากขึ้น แล้วรวมท่อเข้าด้วยกัน จะทำให้มีแรงสูบน้ำเพิ่มมากยิ่งขึ้น ”
ลดต้นทุน พึ่งพาตนเอง
ในการผลิตพืชผลทางการเกษตรในแต่ละครั้ง เกษตรกรจะต้องลงทุนทั้งการซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และอื่น ๆ และหัวใจสำคัญของการทำเกษตรก็คือเรื่องน้ำ การวางระบบน้ำเป็นเรื่องที่จำเป็นและทุกสวนจะต้องมี แต่การที่จะวางระบบน้ำสำหรับเกษตรที่มีรายได้น้อยแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถังสูบน้ำพญาแร้ง คืออีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรที่จะเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องความประหยัดทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าน้ำมัน และพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานธรรมชาติ ช่วยลดรายจ่ายของเกษตรกรลงได้
การลดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอีกอย่างคือ การไม่ตัดต้นไม้ในขณะที่รอบ ๆ ล้วนตัดไปเพื่อปลูกยางพารา มันสำปะหลัง พืชเศรษฐกิจที่ทำเงิน แต่พ่อประสิทธิ์คิดว่านั่นคือการทำลายตัวเอง การมีต้นไม้ไว้จะช่วยให้อากาศไม่ร้อน มีร่มเงา ช่วยให้สัตว์ต่าง ๆ ได้มีที่อยู่อาศัยและยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ให้กับตนเองและเพื่อนบ้านได้พึ่งพาอาศัยอีกด้วย