อยู่ดีมีแฮง : “โขงสีคราม” ความกังวลคนริมโขง จ.นครพนม

อยู่ดีมีแฮง : “โขงสีคราม” ความกังวลคนริมโขง จ.นครพนม

หลังจากมีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นในแม่น้ำโขง สายน้ำที่มีตำนานเล่าขานทางความเชื่อมาอย่างยาวนาน เป็นสายน้ำแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงผู้คนริมฝั่งโขง ทั้ง ด้านการเกษตรกรรม การประมง และขนบธรรมเนียมประเพณี ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย กาลเวลาเปลี่ยนผ่านล่วงเลยมาสำหรับผู้เขียนเองก็ได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ของเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นลูกแม่น้ำโขง ความทรงจำในวัยเด็กยังจดจำเสี้ยววินาทีที่ลงเล่นน้ำในแม่น้ำโขงที่ หาดจอมมณี จ.หนองคาย ซึ่งตอนนี้ไม่มีแล้วนั้น ตลอดทั้งพิธีกรรมทางศาสนาอย่างการ “ลอยอังคาร” เถ้ากระดูกที่ถูกเผาแล้วก็นำมาคืนสู่สายน้ำแห่งนี้ ตำนานพญานาคที่เราได้รับรู้และศรัทธาต่อแม่น้ำโขง เหตุใดวันนี้ถึงไกลห่างจากเราออกไป ภาพทรงจำเดิมเริ่มเลือนหายไปพร้อมกับสภาพจริงของแม่น้ำโขง

วันนี้ผู้เขียนในนาม อยู่ดีมีแฮงออนไลน์ ขออาสาพาทุกท่านออกเดินทางลัดเลาะแม่น้ำโขงไปยังพื้นที่ บ้านนาทาม ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ดินแดนธรรมเกษตรที่ยังคงวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำโขงให้ได้พบเจอเสมอเมื่อไปเยือน เพื่อไปเรียนรู้การลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องทรัพยากรชุมชนและสายน้ำที่พวกเขาผูกพันมาอย่างยาวนาน พร้อมกับการปรับตัวในการดำรงวิถีชีวิตของพวกเขาในวันที่แม่น้ำโขงเปลี่ยนไป

อยู่ดีแฮงออนไลน์ เดินทางไปพบกับ อำนาจ ไตรจักร์ ประธานสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง จ.นครพนม ที่บ้านนาทาม หมู่ที่ 6 ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงของวิถีเกษตรริมโขงในช่วงที่มีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นในแม่น้ำโขง เราพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงบริบทชุมชนและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงจากการผันผวนขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งในตำบาลพระกลางทุ่งมีทั้งหมด 16 ชุมชนมี 10 ชุมชนที่ติดริมแม่น้ำโขงและ 1 ในนั้นคือ บ้านนาทามที่นี่

โขงสีปูน มูลสีคราม ปีแรกที่น้ำเป็นสีครามชาวบ้านแตกตื่นไปดูกันว่า แม่น้ำโขงเป็นสีทะเลแต่หารู้ไม่ว่านั่นคือหายนะที่กำลังเกิดขึ้น 2-3 ปีมาแล้ว

บ้านนาทาม ในอดีตเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตหาอยู่กินริมแม่น้ำโขง พื้นที่โดยรอบชุมชนนั้นเป็นลักษณะป่าบุ่งป่าทาม มีน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลากสลับกับการขึ้นลงของน้ำจนเรียกว่า นาทาม ชาวบ้านทำเกษตรกรรมปลูกข้าว ทำนา ทำการประมงและเลี้ยงวัว ควาย กันเป็นจำนวนมาก แม่น้ำโขงมีสันดอนทรายสามารถเดินไปมาหาสู่กับประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นวิถีคนเลี้ยงวัว เลี้ยงควายต่างก็ลดน้อยลงจนไม่มีให้พบเจอ หลายคนเข้าตัวเมืองทำงานรับจ้างก่อสร้าง หลายคนเข้ากรุงเทพฯเพื่อหางานทำ ทิ้งไว้เพียงผู้เฒ่าและเด็กน้อยที่เห็นได้ทุกวันนี้

“เรื่องแม่น้ำโขงมันเป็นเรื่องไกลตัวเรา เขาสร้างเขื่อนไกลเป็น 1,000 กว่ากิโลเมตร จะเกี่ยวอะไรกัน แต่ผลกระทบมันเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นสภาพผืนดินเปลี่ยนไป สภาพการประมง สภาพการเกษตรเปลี่ยนไป เมื่อก่อนแม่น้ำโขงไหลตามธรรมชาติ วิถีชีวิตของชาวบ้านก็อาศัยแม่น้ำโขงอุปโภค บริโภค”

อำนาจ ไตรจักร์ เล่าถึงทัศนะของตัวเองเมื่อเริ่มได้ทราบข่าวการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงก่อนจะเริ่มสังเกต เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพการเกษตรกรรมที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้ง ระดับปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรรมริมแม่น้ำโขงไม่สามารถทำอย่างเคยได้ คนหาปลาเริ่มสังเกตได้ว่าหาปลาได้น้อยลง ทำให้พ่ออำนาจต้องค้นหาความจริงและสาเหตุของปัญหาเหล่านี้

“งานวิจัยไทบ้าน เกิดคำถามแรกว่า เราจะตั้งรับปรับตัวกับเรื่องแม่น้ำโขงอย่างไร เราหนีไม่ได้ เราจึงอยากเห็นว่าที่แม่น้ำโขงเป็นแบบนี้ เกิดขึ้นจากอะไร งานวิจัยไทบ้านก็ไปแบบไทบ้านไปเก็บข้อมูลว่า ปลามีกี่ชนิด พืชมีกี่ชนิด ไส้เดือนและดินริมแม่น้ำโขงเป็นอย่างไร ทำไมถึงเกิดแบบนี้ขึ้น ไปสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ถามถึงสภาพเดิม ๆที่เคยเป็นมาและมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในปัจจุบันที่มันเป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร”

พ่ออำนาจเล่าในวงสนทนาพร้อมกับสมาชิกในชุมชนอีก 4 ท่านว่า มีความจำเป็นต้องทำงานวิจัยไทบ้านในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชาวบ้าน แรกเริ่มไม่รู้จักคำว่างานวิจัยมองว่าเป็นการทำเอกสารรูปเล่มและมีความยุ่งยากทำให้ตัวเองไม่อยากที่จะทำแต่ด้วยมีการเข้ามาช่วยกันในการทำงานทั้งจากภาคงานวิชาการ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย นักวิจัยลุ่มน้ำโขงทำให้การทำงานเป็นไปโดยราบรื่น สภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขงถือได้ว่าเป็นการรวมตัวของภาคประชาชนและประชาสังคมที่สร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างพื้นที่กันทำให้เกิดชุดข้อมูลที่มาที่ไปของการเกิดวิกฤตแม่น้ำโขง การลงพื้นที่ก็ใช้วิธีการจดบันทึกและการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ผ่านสมาร์ทโฟน และการหาทางออกร่วมกันในชุมชนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

“เกษตรริมโขงเวลาน้ำมาน้ำจะท่วมเกือบถึงถนนริมโขงเลย ตะกอนดินมันก็มาเต็มไปหมด พอน้ำลดลงความอุดมสมบูรณ์ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีเขื่อน แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครปลูกพืชเหมือนเดิมอีกแล้วริมโขง เพราะปลูกก็ไม่มีผล อย่างที่หลายคนรู้จักดีว่า อ.ธาตุพนม มีมันแกว ปลูกได้อยู่แต่หัวมันจะไม่กลม มันจะแหลมลงดินไปเพราะดินมันไม่ความอุดมสมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน ปรับตัวกันใหญ่ อย่างการปลูกพืชแบบเดิมก็ไม่ปลูก ปลูกแค่หญ้าไว้เลี้ยงวัว ถ้าปลูกก็ขยับขึ้นที่สูงพืชที่ปลูกก็ระยะสั้นขึ้น”

ปัญหาที่พบเจอจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในบ้านนาทามพบว่า จากการขึ้นลงของแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทำให้สภาพดินบริเวณทำการเกษตรของชุมชนริมแม่น้ำโขงนั้นไม่อุดมสมบูรณ์อย่างที่เคย โดยอาศัยเรื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำจากโครงการงานวิจัยลุ่มแม่น้ำโขงเข้ามาเก็บข้อมูล และการลงพื้นที่เชิงรุกไปดูการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรปลูกมันแกว ที่มีน้อยลงจากเดิมเนื่องจากสภาพดินที่ไม่เอื้อต่อการปลูกทำให้ผลผลิตเสียหายและไม่ได้คุณภาพตามที่คาดหวังไว้ ทำให้หลายคนหันมาปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงวัว และบางรายต้องขยับขึ้นที่สูงเพื่อหลีกหนีปัญหาน้ำขึ้นลงผิดปกติ บางส่วนก็ใช้วิธีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่มีระยะเก็บเกี่ยวสั้นขึ้น เช่น มะเขือเทศ

“ปลูกมะเขือเทศทุกปี มะเขือเทศส้มตำ สูบดึงน้ำแม่น้ำโขงขึ้นมารดน้ำ แถวนี้ทั้งหมดอาศัยน้ำจากแม่น้ำโขงเป็นหลักเลย แม่น้ำโขงคือแม่น้ำโขงคือชีวิตของเรา

เกษตรกรปลูกมะเขือเทศเล่าให้ฟังในขณะที่กำลังเก็บผลผลิตลงในลังเพื่อรอพ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่สวน เกษตรกรเล่าให้ฟังว่าสวนมะเขือเทศริมแม่น้ำโขงแห่งนี้ปลูกมะเขือเทศเพียง 3 งานไม่ถึง 1 ไร่ ใช้น้ำจากแม่น้ำโขงโดยการใช้เครื่องสูบดึงน้ำขึ้นมารดสวน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เดิมทีบริเวณปลูกจะอยู่ด้านล่างริมแม่น้ำโขงเลยปัจจุบันต้องขยับขึ้นมาสูงขึ้น การเก็บเกี่ยวจะเก็บ 2-3 วันต่อ 1 ครั้ง จะมีพ่อค้ามารอรับซื้อโดยจะนำลังเปล่ามาไว้รอรับซื้อ ในราคา 200 บาทต่อ 1 ลัง หรือประมาณ 30 กิโลกรัม ถ้าเฉลี่ยราคาก็อยู่ราว ๆ 8 บาทต่อกิโลกรัม ส่งไปขายที่ตลาดในตัวเมือง จ.อุดรธานี สกลนคร และขอนแก่น ก็สร้างรายได้เฉลี่ย 20,000 – 30,000 บาทต่อเดือน

“มะเขือเทศเมื่อก่อนเก็บได้ครั้งละ 20-30 ลัง ปัจจุบันเก็บได้ครั้งละ 5-10 ลังก็ยังยากเลย เพราะดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน เราพยายามทะนุถนอมแล้วแต่ผลผลิตมันได้ไม่เหมือนเดิม”

พ่ออำนาจเล่าถึงการเก็บเกี่ยวมะเขือเทศในสวนในปัจจุบันหลังต้องขยับพื้นที่จากบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำโขงขึ้นมาอยู่ที่สูงขึ้นเพื่อหนีการผันผวนขึ้นลงของแม่น้ำโขง แต่ต้องประสบกับข้อท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นคือดินที่ไม่เหมือนเดิมต้องอาศัยตัวช่วยทั้งการดึงน้ำขึ้นมารดบ่อยขึ้นจากเดิมที่แทบไม่ต้องรดน้ำ ใส่ปุ๋ยคอกที่ต้องมีการปรับหน้าดินและเพิ่มธาตุอาหารลงในดิน การขึงเชือกและไม้หลักต้นมะเขือเทศเพื่อพยุงต้นและผลให้หนีน้ำที่ต้องปล่อยใส่สวนเพื่อให้ดินชุ่มชื้นตลอดซึ่งป้องกันผลเน่าเสียจากการแช่น้ำนั่นเอง ถึงแม้จะมีรายได้สามารถใช้จ่ายในครอบครัวได้โดยไม่เดือดร้อน แต่พ่ออำนาจบอกว่าเป็นการเพิ่มภาระให้เกษตรกรในการปรับตัว ต้นทุนเวลา แรงงานและเงินก็เพิ่มขึ้น

“โขงสีปูน มูลสีคราม แต่ตอนนี้โขงเป็นสีคราม น้ำสีครามมีแต่น้ำทะเลที่เราเคยเห็น ปีแรกที่น้ำเป็นสีครามชาวบ้านแตกตื่นไปดูกันว่า แม่น้ำโขงเป็นสีทะเลแต่หารู้ไม่ว่านั่นคือหายนะที่กำลังเกิดขึ้น 2-3 ปีมาแล้วที่น้ำเป็นสีฟ้าไม่มีตะกอนเลย น้ำใส พอถูกแสงแดดส่องลงมาน้ำก็เห็นเป็นสีฟ้า”

พ่ออำนาจชวนเราลงไปดูแม่น้ำโขงสีครามที่ยังพอให้เห็นได้ด้วยสายตา ที่เปลี่ยนความเชื่อว่าโขงสีปูน นั้นได้หายไปแล้ว สภาพน้ำที่เคยเป็นในเมื่อก่อนได้เปลี่ยนไป หาด สันดอนทรายที่เคยมีนั้นหายไป เกิดหาดสันทรายใหม่เกิดขึ้น กระแสน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนทางกินพื้นที่ริมฝั่งเข้ามาพื้นที่การเกษตรก็หายไป หาดทรายทอง ซึ่งเป็นหาดทรายแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนที่ห่างออกไปจากบ้านนาทามไม่กี่กิโลเมตรก็หายไป ประเพณีการแข่งเรือหางยาวในแม่น้ำโขงที่เคยมีก็ไม่ได้จัดมา 2 ปีแล้วจากสภาพที่เป็นนี้ ทุกอย่างต้องปรับเพื่อเอาตัวรอดให้ได้

“เรื่องปลาที่มันสูญพันธุ์ไปเพราะมันขึ้นมาไม่ได้ ทางใต้ก็สร้างเขื่อนดอนสะโฮง ทางเหนือก็เขื่อนไชยบุรี ที่นี่คือตรงกลางปลาตัวใหญ่ก็ขึ้นมาไม่ได้ แล้วมันไม่ได้สงผลกระทบเพียงแม่น้ำโขงเท่านั้น แม่น้ำสาขาอย่าง แม่น้ำสงคราม ลำน่ำก่ำ ซึ่งเป็นลำน้ำสายใหญ่สาขาหลักต่างก็ได้รับผลกระทบด้วยโดยเฉพาะเรื่อง ปลาแม่น้ำโขง เราจึงมาคุยหารือกันว่าเราจะทำเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา แต่บริเวณแม่น้ำโขงบ้านนาทามนี้ดูจากสภาพการผันผวนของแม่น้ำโขงแล้วทำไม่ได้ ไม่เหมาะ จึงคิดเห็นว่าเรามีวัดอยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่แล้ว หนองน้ำก็มีเยอะ เอาวัดเป็นต้นแบบ ใช้เป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาแม่น้ำโขง เป็นที่หลบภัยปลา”

นอกจากการเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบแล้วนั้นการประมง และสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงต่างก็เป็นปัญหาของชาวบ้านในการหาปลาที่พบปลาน้อยลงมาก เกิดปัญหากับการวางไข่ของปลาในแม่น้ำโขง พ่ออำนาจจึงชวนเราไปดูพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาของชุมชนนาทาม หนองน้ำขนาดใหญ่ใกล้แม่น้ำโขงถูกกั้นด้วยถนนเส้นทาง นครพนม-อ.ธาตุพนม เป็นหนองน้ำในบริเวณวัดบ้านนาทาม พ่ออำนาจบอกว่าเหตุผลที่ใช้แหล่งน้ำในวัดเพราะเป็นที่หลบภัยปลาที่ดี เป็นเขตอภัยทาน และเรามีหนองน้ำเยอะมากควรแก่การนำพันธุ์ปลาน้ำโขงมาอนุรักษ์เอาไว้ โดยการขอซื้อจากชาวบ้านที่หาปลาในแม่น้ำโขง หากใครจับได้ปลาที่มีไข่ หรือปลาตัวผู้ที่พร้อมผสมพันธุ์ให้นำมาขายให้ทีมสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง จ.นครพนม ซึ่งให้ราคาที่สูงกว่าตลาด 10 บาทต่อกิโลกรัม ขอซื้อบ้างและขอรับบริจาคบ้างโดยการประชาสัมพันธ์ในชุมชน หากมีผู้ใจบุญอยากทำทานในวันสำคัญ เช่น วันเกิดก็นำปูปลา มาปล่อยไว้ให้เติบโตขยายสายพันธุ์และปล่อยคืนสู่แม่น้ำโขงส่วนหนึ่ง และขยายพันธุ์ให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยงส่วนหนึ่ง เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนริมฝั่งโขงในวันที่แม่น้ำโขงเปลี่ยนไป

แม่น้ำโขง เป็นสายน้ำแห่งชีวิตของพวกเรา ตั้งแต่ผมเกิดมาก็เห็นแม่น้ำโขงตลอดเวลา เราจะหนีไปทางอื่นไม่ได้แล้ว ถ้าเราไม่ทำเป็นต้นแบบให้ลูกหลานใครจะสืบต่อ

“ถึงแม้เราจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ก็ตามแต่มันก็ดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย แม่น้ำโขงถือว่าเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของพวกเรา ตั้งแต่ผมเกิดมาก็เห็นแม่น้ำโขงตลอดเวลา เราจะหนีไปทางอื่นไม่ได้แล้ว รุ่นผมมาก็ครึ่งชีวิตแล้ว ถ้าเราไม่ทำเป็นต้นแบบให้ลูกหลาน ใครจะสืบต่อ ถ้าต่อไปสภาพน้ำโขงเป็นแบบนี้ เหมือนวัวควายเมื่อก่อนบ้านนาทาม เลี้ยงวัว ควาย กันเยอะมากทุกวันนี้แทบจะได้เขียนภาพไว้ให้ลูกหลานดู ปลาก็เช่นกัน ต่อไปลูกหลานเราจะอยู่แบบไหน จะกินอย่างไร ไม่ใช่จะหนีลงไปกรุงเทพฯ หมดนั่นไม่ควรเป็นแบบนั้น ทำให้เขาเห็นทำให้เขารักหวงแหน โดยเราเป็นแบบอย่างให้เขา”

ผลกระทบที่เกิดต่อชุมชนไม่เพียงในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น คำพูดจากพ่ออำนาจ ไตรจักร์ ในวัย 60 ปี ที่ถือได้ว่าเป็นคนที่อยู่กับแม่น้ำโขงมามากกว่าครึ่งชีวิตยังสะท้อนโครงสร้างทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป การถูกผลักให้ไกลบ้านจากความมั่นคงทางทรัพยากร การล่มสลายของประวัติศาสตร์ความเชื่อในชุมชนต้องถูกกอดรัดเอาไว้ด้วยอ้อมกอดของพ่อแม่พี่น้องบ้านเรา เพียงเพื่อหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนผ่านสังคมและศรัทธานั้นไปยังคนรุ่นใหม่ให้ได้ อยู่ดีกินดีในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองและสืบสานเอาไว้ชั่วลูกชั่วหลาน “อยู่ดีมีแฮงครับ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ