จะดีสักแค่ไหนหากเราได้ทำงานที่อยากทำ เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ดี และได้ทำมาหากินในอ้อมกอดของครอบครัว ณ บ้านเกิดของตัวเอง อีกทั้งมีรายได้สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ในเวลาเดียวกัน คงเป็นภาพฝันที่หลายคนต้องการเป็นอย่างนั้นในยามที่บ้านเมืองอยู่บนสภาวะเศรษฐกิจที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บอย่าง โควิด-19 ที่หลายคนต้องฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง
ผู้เขียนในนาม “อยู่ดีมีแฮงออนไลน์” วันนี้มีโอกาสเดินทางไปพูดคุยกับพ่อแม่พี่น้องริมฝั่งโขงที่ บ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย พื้นที่หมู่บ้านขนาดเล็กที่มีที่ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำโขง ซึ่งตลอดเส้นทางถนนเต็มไปด้วยพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านคกเว้า อาทิ นาข้าว ต้นยางพารา แปลงปลูกผัก รวมถึงพืชที่หลายคนสัญจรไปมาจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนทั้ง 2 ฝั่งข้างทางนั้นก็คือ ต้นกล้วย เหตุใดที่หมู่บ้านคกเว้าถึงได้ปลูกต้นกล้วยมากมายขนาดนี้วันนี้เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนเกษตรกรตัวจริงเสียงจริงที่ปลูกต้นกล้วยริมแม่น้ำโขงกันครับ
รู้ได้อย่างไรว่าปลูกกล้วยขายใบตองจะได้ขายและได้เงิน ?
“ค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็ราบรื่น เพราะใบตองหาได้ทุกวัน ตัดวันนี้ก็ขายได้เงินวันนี้ ได้เงินเยอะ” เริ่มต้นบทสนทนากับ คุณโสริญา นาวาสิทธิ์ หรือ พี่หญิง เกษตรกรบ้านคกเว้าในวัย 33 ปี ในขณะที่กำลังเลาะใบตองออกจากก้าน หลังจากลงสวนกล้วยไปตัดใบตองมาเพื่อรอมัดแล้วนำไปส่งขาย พื้นที่ทำงานเป็นหลังบ้านของเธอที่มีโรงจอดรถเป็นเพิงขนาดใหญ่ ด้านซ้ายมีรถยนต์ส่วนตัวและรถมอเตอร์ไซค์ที่ถูกผ้าคลุมรถปกปิดเอาไว้ พื้นที่ด้านขวาคือ ใบตองที่ถูกมัดไว้เรียงรายกว่า 100 มัดที่พร้อมส่ง พี่หญิงเธอเล่าเรื่องของเธอพร้อมกับท่าทีเขินอายเพราะไม่เคยมีสื่อไหนมาขอสัมภาษณ์เธอมาก่อนหน้านี้ว่า เธอเป็นเกษตรกรตั้งแต่เมื่อช่วง 14 ปีก่อน เมื่อตกลงปรงใจแต่งงานกับสามีซึ่งก็เป็นเกษตรกรด้วยกันทุกวันนี้ เธอก็พลอยได้เป็นเกษตรกรไปด้วย อาชีพที่ยึดหลักแท้จริงคือมีสวนยาพารา กรีดยาง หยอดน้ำกรด ในสวนยางแทบทุกวัน ก็มีรายได้จากการขายยางพาราเป็นส่วนหนึ่ง ถึงแม้บางช่วงที่ราคายางตกต่ำแต่เธอและสามีก็ไม่ได้ลำบากมากเพราะด้วยมีพื้นที่ทำกินสวนยางพาราเป็นของตัวเองจึงพอมีโชคอยู่บ้าง
แล้วทำไมได้ปลูกกล้วยขายใบตอง
“เคยไปทำงานในโรงงาน ไปรับจ้างเขามันต้องอดทนมาก เงินเดือนไม่พอใช้ เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำเกษตร แต่ถ้าทำแค่สวนยางพาราคงไม่พอกิน จึงตัดสินใจปลูกกล้วยป่าตามพ่อแม่สามีในพื้นที่สวนของตัวเอง เพราะปลูกง่าย ขายง่าย ที่ขายคือขายใบตองไม่ได้ขายผลกล้วย” พี่หญิงตอบคำถามถึงการเลือกปลูกกล้วยนอกบทสัมภาษณ์ในขณะที่กำลังเดินเข้าไปในสวนกล้วยบนพื้นที่ 5 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่ไร่ที่ติดกับถนนเส้นทางอำเภอสังคม – อำเภอปากชม ที่เมื่อเดินเข้าไปภายในสวนกล้วยจะเต็มไปด้วยความเขียวขจีจากสีของใบกล้วยที่มีความงามของลักษณะใบตองกล้วยป่า ปลูกไว้มากกว่า 1,000 ต้นเป็นอย่างน้อย แต่จะไม่สามารถเห็นผลของกล้วยเลยสักต้น เพราะเนื่องจากเหตุผลของการปลูกเพื่อนำส่วนที่เป็นใบตองไปขาย จึงจำเป็นต้องตัดใจไม่เอาผลนั่นเอง
กล้วยที่ปลูกเป็นกล้วยสายพันธุ์อะไรทำไมไม่มีผลกล้วยให้เห็นเลยสักต้น
“เป็นกล้วยป่าสายพันธุ์ก้านอ่อนบ้าง ผสมกันมากมายเลย แต่เป็นกล้วยจากป่าจริง ๆ นำหน่อกล้วยจากบนภูเขาลงมาปลูกในไร่เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวไม่ต้องเดินขึ้นภูเขาให้ลำบากเหมือนเมื่อก่อน” พลนิวัฒน์ สอนพล หรือพี่ดี้ สามีพี่หญิงเป็นคนเล่าเรื่องที่มาของกล้วยป่าที่ปลูกกันทั่วชุมชนบ้านคกเว้า ที่ถูกเปลี่ยนจากกล้วยที่อยู่ในป่ามาสู่กล้วยที่เป็นพืชเศรษฐกิจชุมชนว่า ปัจจุบันชาวบ้านต่างปลูกกล้วยกันมากขึ้นเพราะตลาดความต้องการใบตองสูงมาก “แทบปลูกไม่ทัน” เพราะอุตสาหกรรมด้านอาหารกำลังมองหาวัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างใบตอง และการปลูกก็ง่ายดายเพียงขุดหลุม นำหน่อกล้วยลงไปปลูก และ “ขึ้นน้ำ”(รดน้ำ) บ้าง ประมาณ 1 ปี ต้นกล้วยก็เติบโตพร้อมที่จะตัดก้านเพื่อขายใบตองได้เลย ส่วนใหญ่จะขายใบตองจะไม่รอเอาผลกล้วยเพราะขายได้น้อยความเสี่ยงสูงที่จะได้ราคา แต่ใบตองเก็บขายได้ทุกวัน เพียงแค่มีอุปกรณ์ในการเก็บคือเคียวเกี่ยวข้าว นำไปต่อเติมไม้ให้ยาวขึ้นก็สามารถนำมาตัดก้านใบตองได้แล้ว
เก็บเกี่ยวและขายอย่างไร
“เราจะตัดใบตองตอนเช้า ถ้าเย็นต้องหลังบ่าย 4 โมงเย็นไปเลย เพราะตอนเช้าใบตองจะชุ่มชื่น หากเราเก็บไม่เป็นเวลา ตัดตอนใบตองเฉาใบตองเหี่ยวจะขายไม่ได้ เพราะเราต้องส่งไปขายต่อหลายทอด ถึงคนซื้อก็ไม่น่าซื้อ ตอนตัดหากก้านใบตองมีในสวนมีเยอะใน 1 ต้น เราจะเหลือไว้แค่ 1 ก้าน ถ้าใบตองมีไม่มากจะเหลือ 2 ก้านต่อ 1 ต้น เพราะเมื่อเราให้น้ำเขาจะเกิดขึ้นใหม่ ยิ่งตัดก็ยิ่งงาม” พี่หญิงเล่าเทคนิคการตัดใบกล้วยในไร่ ซึ่งใน 1 วัน จะต้องตัดวันละประมาณ 1,100-1,200 ก้าน ก่อนที่จะนำมาเลาะใบตองออกจากก้านเพื่อมัดขาย ซึ่งใน 1 มัดจะต้องใช้ใบตองทั้งสิ้นประมาณ 12 ก้าน ราคา 1 มัดอยู่ที่มัดละ 10 บาท ใน 1 วันจะต้องส่งขายที่ร้านผู้รับซื้อซึ่งก็เป็นญาติพี่น้องกันในชุมชนวันละ 50-100 มัดเป็นอย่างน้อย รายได้จึงอยู่ที่ประมาณวันละ 500-1,000 บาท ก่อนจะมีพ่อค้านำรถมารับซื้อถึงที่ในชุมชน
กล้วยป่า คือ กล้วยตานี ปลูกดีไม่เกิดปลูกตามมีตามเกิดจะดี
“อาชีพหลักของชาวบ้านจริง ๆ คือปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง รองลงมาก็ใบกล้วยขายตอง กล้วยเป็นกล้วยป่า หรือเรียกกันว่า กล้วยตานี เคยปลูกกล้วยน้ำว้ากันแต่พอจะเก็บผลผลิตก็เป็นโรค เลยปลูกกล้วยตานีเพราะขายใบ ใบสวย บาง เหนียว ไม่กรอบเปราะเหมือนใบกล้วยน้ำว้า โบราณก็บอกกันมาว่าปลูกทิ้งๆขว้างๆ กล้วยงามดี แต่พอดูแลดีมันจะมีอันเป็นไปจริงไม่จริงไม่รู้นะ แต่ลองแล้ว…” เรื่องเล่าจากคุณตาบุ เพ็งคำ วัย 78 ปี ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนคกเว้าที่เห็นการเปลี่ยนแปลงมาตามยุคตามสมัยในบ้านเกิดที่นี่ในสีหน้ายิ้มแย้มแกมหัวเราะร่า พร้อมเล่าให้ฟังต่อว่าชุมชนคกเว้า เมื่อก่อนมาจากชื่อว่า “คกเบ้า” มาจากเรื่องเล่าในอดีตมีผู้คนเมื่อก่อนทำเพิงดินลักษณะคล้ายเตาเผาถ่านกันเยอะ จึงเรียกเพี้ยนกันมาเป็น คกเว้า ในปัจจุบัน การทำมาหากินของผู้คนก็ทำไร่ทำนา ทำสวน และขายใบตองกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่เมื่อก่อนต้องไปตัดบนภูเขาในป่าเพื่อนำมาขาย ในราคามัดละ 5 บาท ต้องใช้ถึง 25 ก้านต่อ 1 มัด จนทุกวันนี้กลายเป็นอาชีพของคนในชุมชนและมีรายได้ดี เพราะใบตองได้ราคาดี หลายบ้านก็นำมาปลูกไว้ในพื้นที่บ้าน และไร่ของตัวเอง
การทำมาหากินของชุมชนเปลี่ยนไปเยอะไหม
“เมื่อก่อนชาวบ้านพอถึงหน้าแล้งก็จะจับจองทำเกษตร ปลูกนั่นปลูกนี่ริมแม่น้ำโขงนี่แหละ พอมีเขื่อนขึ้นมาน้ำขึ้นน้ำลงเร็วไป หาดดอนทรายที่เคยมีก็หายไปหมด ก็ไม่ได้ทำเกษตรริมโขงกันดีที่มีใบตองยังพอมีรายได้” คุณตาบุเล่าให้ฟังต่อเนื่องในขณะที่ให้สัมภาษณ์ริมฝั่งโขงพร้อมชี้นี้มือไปทางทิศเหนือต้นทางของการไหลมาของแม่น้ำโขง พร้อมสลับมือชี้ไปด้านหลังของคุณตาว่าจุดนี้มีข่าวความพยายามสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งตนเองและชาวบ้านก็กังวลใจว่าหากเกิดขึ้นจริงก็ไม่พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง เพราะผูกพันกับที่นี่ “ให้ย้ายไปไหนไม่ได้แล้ว แก่แล้ว”
โชคดีที่มีต้นกล้วย พืชเศรษฐกิจชุมชนคกเว้า อ.ปากชม จ.เลย
“ภูมิใจมากเลย ดีใจที่มีรายได้เสริมให้ครอบครัว มีค่าให้ลูกไปโรงเรียน อยากได้อะไรก็ซื้อได้ทำมาหากินใช้จ่ายในครอบครัวก็ราบรื่น มีรายได้ทุกวัน ได้เงินเยอะ ถือได้ว่าเป็นรายได้ชุมชนที่นี่เลยก็ว่าได้”
ทิ้งท้ายด้วยประโยคเด็ดของพี่หญิงที่เล่าสู่กันฟังในสวนกล้วยที่ปกคลุมไปด้วยใบตองสีเขียวต่อความรู้สึกของเกษตรกรคนหนึ่งในบ้านเกิดของตัวเอง ที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้จากการทำสวนยางพารา และปลูกกล้วยขายใบตองที่นำมาซึ่งความสุขที่ได้อยู่บ้านมีครอบครัว และทำงานบนผืนดินบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันหมู่บ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย เป็นที่รู้จักของพ่อค้ารับซื้อใบตอง เป็นแหล่งกระจายใบตองไปทั่วอีสานตอนบน ทั้งหนองคาย ขอนแก่น สกลนคร และอุดรธานี ถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชนคนริมแม่น้ำโขงที่แข็งแรงอีกชนิดหนึ่ง อย่างเช่นใบตองบ้านคกเว้านี้ก็ว่าได้ครับ