เพาะชำต้น(ความ)กล้าในหัวใจ ณ บ้านพูนสุข ศูนย์พักตั้งหลักชีวิต

เพาะชำต้น(ความ)กล้าในหัวใจ ณ บ้านพูนสุข ศูนย์พักตั้งหลักชีวิต

ชุมชนเล็ก ๆ บนพื้นที่ 2 ไร่ พร้อมสมาชิกในบ้านกว่า 50 คน ที่นี่ คือ “บ้านพูนสุข” จ.ปทุมธานี  ศูนย์สร้างโอกาสและตั้งหลักชีวิตของ “คนไร้บ้าน” ซึ่งแม้ยังเปิดอย่างไม่เป็นทางการ แต่ที่นี่ก็มีสมาชิกเข้ามาตั้งหลักแล้วกว่า 4 เดือน

“ปัจจุบันมีสมาชิก 54 คน รวมทุกเพศทุกวัยแล้ว  ศูนย์นี้เปิดให้พี่น้องเข้ามาพักตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ได้ 4 เดือนเข้าสู่เดือนที่ 5 ซึ่งยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ แต่เราก็ได้ให้พี่น้องเครือข่ายคนไร้บ้านเข้ามาพักเลย ซึ่งห้องที่เรารองรับมีเป้าหมาย 100 คน และเกณฑ์เข้าพักอาศัยที่นี่มี 3 ระดับ คือ ชั่วคราว ประจำ และมั่นคง โดยถ้าเป็นชั่วคราวเราจะมีห้องโถงใหญ่ 1 ห้อง  ส่วนห้องประจำจะมีทั้งหมด 30 ห้อง แล้วก็มีห้องมั่นคง 8 ห้อง” สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย แนะนำสถานที่ก่อนจะพาเดินชมโดยรอบ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างปรับเตรียมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของสมาชิก

“ร้านค้ามือสอง ของเก่าโบราณ” ที่แขวนโชว์เสื้อผ้ามือสองอย่างง่ายในเต้นท์ผ้าใบขนาดใหญ่พอให้ได้หลบแดดฝน นี่คือห้องเสื้อมือสองและหน้าร้านจำหน่ายข้าวของเครื่องใช้ของสมาชิกในศูนย์แห่งนี้ มีทั้งเสื้อยืดสีสันสดใส เสื้อกันหนาวพอให้อุ่นกาย พรมเช็ดเท้าทำมือ หรือกางเกงหลากสไตล์ สินค้าเหล่านี้คืออีกช่องทางในการสร้างรายได้ของพวกเขา ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนด้านหน้าสุดของศูนย์เพื่อให้ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาเห็นได้ชัดเจน เผื่อจะมีใครสนใจอุดหนุน หรือหากมี “เพื่อนคนไร้บ้าน” ต้องการอยากได้เสื้อตัวใหม่และจำเป็นต้องใช้ก็สามารถนำเสื้อตัวเดิมมาถอดเปลี่ยนได้เลย โดยเฉพาะเสื้อกันหนาวที่ยังจำเป็นสำหรับคนไร้บ้าน ถ้าอากาศบ้านเราจะยังเดี๋ยวร้อน-เดี๋ยวเย็นหลงฤดูแบบนี้

ถัดมาจากร้านค้า คือ แปลงเพาะชำกล้าไม้ ซึ่งหลังจากที่มีการปลดล็อคกฎหมายไม้หวงห้าม ทำให้ทั้ง พยุง ยางนา สัก มะค่า และไม้ยืนต้นอีกหลายชนิดได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของเกษตรกร นั่นจึงเป็นอีกโอกาสในการเพาะชำกล้าไม้จำหน่ายของสมาชิก งานเหล่านี้จะเหมาะกับกลุ่มผู้สูงวัยที่จะค่อย ๆ กรอกดินใส่ในถุงเพาะชำ หยอดเมล็ดลงปลูก และย้ายต้นกล้าเปลี่ยนถุงเพาะชำเมื่อกล้าไม้มีขนาดใหญ่ขึ้น

“แนวทางการทำศูนย์พักขึ้นมา เราคิดเรื่องการที่จะให้เขามีพื้นที่ตั้งหลักชีวิต อย่างน้อยถ้าเขาไม่มีที่ไป มันยังมีที่ให้เขามาพักก่อนเพื่อที่จะดูว่าพรุ่งนี้เขาต้องไปเผชิญอะไร เป้าหมายของเราจึงอยู่ที่ว่าศูนย์พักจะเป็นที่หนึ่งให้เขาได้มาทบทวนตัวเองว่าจะไปอย่างไรต่อในอนาคต เป้าหมายของศูนย์จึงเป็นเรื่องนี้ แน่นอนว่าคนที่จะมาอยู่ก็ต้องคิดถึงอนาคต และจะไม่รอขอความช่วยเหลือจากข้างนอกแน่ ๆ เราต้องสร้างจากตัวเขาเอง นี่คือสิ่งที่เราคิดร่วมกับพี่น้อง

“ถ้าคุณอ่อนแอข้างในเรามาช่วยเติมเต็มให้มันแข็งแรง คุณขาดเหลืออะไร เราช่วยเหลือกัน…”

ซึ่งคนที่จะก้าวเข้ามาที่ศูนย์พักนี้ เขาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองจะรอแค่คนอื่น รอหน่วยงานมาช่วยเหลือ อันนั้นไม่ใช่ ตอนนี้เรามาช่วยกัน ถ้าคุณอ่อนแอข้างในเรามาช่วยเติมเต็มข้างในใจให้มันแข็งแรง คุณขาดเหลืออะไร เราช่วยเหลือกัน ถ้าเราช่วยไม่ได้เราก็จะดึงเอาหน่วยงาน ดึงเอาคนที่มีศักยภาพมาช่วยเหลือเพื่อให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังไว้กับศูนย์พักที่เราตั้งขึ้นมา”

นอกจากกล้าไม้ที่กำลังเติบโตท้าแดดลมใต้ร่มเรือนเพาะชำ ซึ่งต้องอาศัย ดิน น้ำ ปุ๋ย แสงแดด และการดูแลใส่ใจเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโต สมาชิกที่นี่นับครึ่งร้อยก็อยู่ในสภาวะเดียวกันทุกคนต้องการความเชื่อมั่น โอกาส และความวางใจในการตั้งหลัก ก่อนที่พวกเขาจะย้ายต้นกล้าของหัวใจที่รอวันแข็งแกร่งแต่ไม่รู้อีกนานเท่าไร ก่อนจะออกไปสู่โลกภายนอกอีกครั้ง

“ถ้าดูจากช่วงหลัง ๆ ตั้งแต่โควิด-19 รอบแรก ถามว่ามีคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นไหม ผมว่ามีทุกปีแม้จะไม่เกี่ยวกับโรคระบาดนะ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ความเปราะบางทางสังคม ทางครอบครัว ทำให้คนเหล่านี้ไม่รู้จะไปไหนจึงออกมาใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ

โควิด-19 รอบแรกทำให้เราเห็นว่า เมื่อก่อนคนที่จะออกมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่จะเป็นผู้สูงอายุกับคนที่เลยวัยทำงานไป แต่หลัง ๆ พอมีสถานการณ์โควิด เจอโรคระบาดทำให้มีคนไร้บ้านหน้าใหม่ ทั้ง วัยทำงาน และคนสูงอายุ ยิ่งมาช่วงหลัง ๆ โควิดระลอกใหม่ เราคิดว่ามันยิ่งจะเพิ่มขึ้น คือ จากสภาวะการตกงานอะไรแบบนี้ คือ มันไม่รู้จะไปไหน สิ่งเดียวคือเขาต้องดันตัวเองเออกมาเพราะจะไปเช่าห้องอยู่ก็ไม่มีเงินไปจ่าย

ผมคิดว่านี่คือสภาวะที่ทำให้เราเห็นการเพิ่มขึ้น แต่อาจจะยังบอกไม่ได้ทันทีว่าเพิ่มขึ้นเท่าไร กี่เปอร์เซ็นต์ แต่จากที่เราคาดการณ์จากการสำรวจเมื่อปี 2562 กรุงเทพฯ มีคนไร้บ้านประมาณ 1,200 คน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ทำให้เห็นว่ามีประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ จากที่เราสำรวจน่าจะประมาณนี้”

แปลงปลูกผักขนาดราว ๆ 1.5  x 3 เมตร ที่ก้อนดินในแปลงปลูก ดูแล้วยังไม่เหมาะกับการหยอดเมล็ดพันธุ์และคงต้องใช้เวลาปรับคุณภาพดินอีกสักระยะหนึ่ง นับเป็นอีกรูปธรรมการมีส่วนร่วมตั้งหลักดูแลกันให้เกิดพื้นที่ทำงานและสร้างโอกาสในศูนย์พักของสมาชิกทุกวันอาทิตย์ เพราะหลายคนที่ว่างจากการทำงานและเสร็จสิ้นภารกิจส่วนตัวแล้วได้มาช่วยกันปรับหน้าดิน เตรียมอุปกรณ์ทำโรงเรือนเพื่อให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นแปลงผักของทุกคน รวมถึงยังมีการทำความสะอาดอาคารพื้นที่ส่วนกลาง ที่นอกเหนือจากห้องพักแต่ละคน ช่วยกันเก็บขยะโดยรอบบริเวณเพื่อดูแลศูนย์พักอย่างมีส่วนร่วม เสมือนการซ้อมมือเตรียมความพร้อมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ฝึกปรือเรื่องความรับผิดชอบ หนุนเสริม และเอื้อเฟื้อกันตามศักยภาพของแต่ละคน

“ไม่ใช่แค่เรื่องของโรคระบาด แต่ยังมีเรื่องภาวะสังคม ภาวะเศรษฐกิจ ที่ไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร ซึ่งจะทำให้มีกลุ่มเปราะบางหลุดออกมาแน่ ๆ ถ้าเราจะหนุนเสริมอย่างน้อย คือ การเห็นอกเห็นใจกัน ไม่ว่าร้ายโทษกันคนนี้ผิด คนนี้ถูก และมองคนให้เท่าเทียมกัน การให้โอกาสเป็นเรื่องที่ช่วยเหลือกันได้ ถ้าสังคมตั้งรับแบบนี้ได้ ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ หรือไม่ว่าเราจะเจอสถานการณ์โลกแบบไหนเราก็เอื้อเฟื้อกันได้

เปรียบเทียบที่เราทำงานกับคนไร้บ้านเมื่อก่อน สังคมไม่ได้มองคนกลุ่มนี้ในทิศทางที่บวก มองแค่ว่า จะต้องขี้เกียจทำมาหากิน เป็นมิจฉาชีพ แต่พอสังคมเริ่มเข้าใจ ทัศนคติเปลี่ยน มันช่วยเกื้อหนุนเขา อย่างถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน พอสังคมเข้าใจสังคมให้โอกาสคนกลุ่มนี้ เวลามีงานที่คนกลุ่มนี้มีศักยภาพเขาก็จ้าง เมื่อมีคนมาจ้างงานทำให้เขามีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งถึงแม้เขาจะเป็นวัยที่ปลดระวางเรื่องงาน แต่ถ้ามีคนมาจ้างเขาก็พร้อมที่จะไป นี่คือสังคมการให้โอกาสกัน ให้เขาออกไปใช้ศักยภาพของตนเอง นี่คือสิ่งที่ถ้าสังคมมาหนุนเสริมกลุ่มผู้ด้อยโอกาสแบบนี้ มันจะไปได้

“ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นคนไร้บ้าน”  ถ้าเจอสภาวะความเปราะบางทางอารมณ์ ทางครอบครัวของตัวเอง

เคยมีคนบอกว่า “ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นคนไร้บ้าน”  ถ้าเจอสภาวะความเปราะบางทางอารมณ์ ทางครอบครัวของตัวเอง การที่เราเห็นอกเห็นใจคนอื่น เช่น เมื่อคนอื่นมีปัญหาแล้วเราพร้อมที่จะให้โอกาส ถ้าเราเป็นแบบนี้เหมือนกลุ่มคนเปราะบางแล้วเราได้รับโอกาสการกลับมาสู่สังคม การกลับมาตั้งหลักมันจะสามารถไปได้ ถ้าเรามีโอกาสช่วยเหลือ แล้วเราหยิบยื่นโอกาสให้ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนที่ไม่มีโอกาส แล้วเขาได้ลุกขึ้นมาและสามารถยืนอยู่ได้ ผมคิดว่ามันจะเป็นการช่วยกันทางอ้อมก็ได้ มันจะทำให้สังคมอยู่รอด มีความสุขได้ แต่ถ้าเราเมินเฉย แล้วต่างดิ้นรนเอาตัวรอด สภาวะแบบนี้มันจะทำให้สังคมอยู่ยาก”

“บ้านพูนสุข” ศูนย์ตั้งหลักชีวิตบนพื้นที่กว่า 2 ไร่ เมื่อมองด้วยสายตาจะเห็นลักษณะทางกายภาพ ที่มีด้านหน้าติดถนน ด้านหลังติดลำคลอง มีอาคารที่มั่นคงแข็งแรง 2 หลัง กับหนึ่งห้องแถวชั้นเดียว มีไม้ผลอย่างมะม่วง และมะขามจากเจ้าของที่ดินเดิมได้ปลูกเอาไว้คอยให้ร่มเงาอยู่บ้าง ก็ให้ความรู้สึกมั่นคงและโปร่งสบายในขณะเดียวกัน แต่อีกมุมหนึ่งในเรือนเพาะชำยังมีต้นไม้เล็ก ๆ ทั้งกล้าไม้ยืนต้นที่ในอนาคตอาจได้มีโอกาสเติบโตหยั่งรากบนพื้นดินกว้างใหญ่ และไม้ประดับขนาดจิ๋วก็สร้างชีวิตชีวาให้กับคนรักต้นไม้และผู้พบเห็นไม่น้อย ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งที่งอกงามไปพร้อม ๆ กัน พร้อมความเข้าใจและโอกาสของสมาชิกในศูนย์พัก “บ้านพูนสุข”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ