อยู่ดีมีแฮง : คน-โขง-ดิน วิถีหาอยู่หากินเกษตรแปลงใหญ่ริมโขง ณ บุ่งคล้า

อยู่ดีมีแฮง : คน-โขง-ดิน วิถีหาอยู่หากินเกษตรแปลงใหญ่ริมโขง ณ บุ่งคล้า

เดชา  คำเบ้าเมือง  เขียน

มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ  ภาพ

ท้องฟ้าสีครามยามเช้าตัดกับมวลเมฆเป็นยองใยที่กำลังเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ เพื่อบดบังยอดภูเขาสูงฝั่ง สปป.ลาว ขณะที่สายน้ำสีปูนไหลระเรื่อยเหมือนดั่งมิเคยได้พักผ่อนหลับนอนสักครา แต่กลับแลดูสงบเยือกเย็นยิ่งนัก ชั่วครู่เวลาต้มน้ำเดือดกลุ่มหมอกก็เริ่มจางหาย กลายเป็นแสงพระอาทิตย์อ่อน ๆ เข้าชิงพื้นที่และกระจายตัวสร้างความอบอุ่น เสียงเรือหางยาวของชาวประมงพื้นบ้านกำลังแล่นแหวกทวนน้ำดังแว่วมาแต่ไกล

“หมานบ่ ๆ” สำเนียงท้องถิ่นของชายที่ยืนอยู่ริมฝั่งตะโกนถามเมื่อเรือเข้ามาใกล้ว่าได้ปลาไหม ? ขณะกำลังไล่ต้อนฝูงควายลงไปกินหญ้า ไม่ไกลกันนักได้มีหญิงสูงวัยผิวขาวร่างเล็ก กำลังเร่งมือถอนต้นถั่วลิสงเพื่อเก็บผลผลิตก่อนที่ฝนจะมาตามฤดูกาล เธอชื่อ เพชรา  ลาภากิจ เป็นชาวบ้านบุ่งคล้า หมู่ 1 ต.บุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ทำกิจการร้านอาหาร และที่พักสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว และกรุ๊ปทัวร์ต่าง ๆ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจการทำให้ต้องปิดชั่วคราว ขณะพักก็ได้มีเวลามาทำการเพาะปลูก และดูแลพืชผัก ในพื้นที่ที่ทางการจัดสรรให้

“สมัยแต่ก่อนมันไม่ได้เป็นหาดแบบนี้นะลูก มันไม่มีดินยื่นออกมามากขนาดนี้” แม่เพชรา เล่าถึงนิเวศแถบนี้ให้เราฟัง ด้วยแววตาเป็นประกาย ขณะที่สองมือกำลังถอนฝักถั่วลิสงขึ้นจากใต้ดินอย่างคล่องแคล่ว “ถ้าเราจะทำแปลงผักก็ต้องทำแบบขั้นบันได กระทั่งหลายปีต่อมาพื้นดินมันก็ค่อย ๆ ยื่นออกไปมากขึ้น จนกลายเป็นพื้นที่แปลงใหญ่อย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ หลังจากนั้น คือปี 2558 ผู้นำชุมชนทั้ง 3 หมู่บ้าน คือ บ้านบุ่งคล้า หมู่ 1 บ้านบุ่งคล้าทุ่ง หมู่ 2 และบ้านบุ่งคล้าเหนือ หมู่ 3 ร่วมกับหน่วยงาน อบต. จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดสรรพื้นที่ดินให้ชาวบ้านเพาะปลูก” แม่เพชรากล่าว

การจัดสรรพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ริมโขง

แม่น้ำโขงช่วง จ.บึงกาฬ จะอยู่ตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว มีลักษณะเป็นเวิ้งน้ำกว้าง มีแก่งหินขนาดใหญ่ด้านล่าง น้ำไหลเชี่ยวแรง นอกจากนี้บางจุดมีความลึกมากกว่า 200 เมตร โดยเฉพาะฤดูน้ำหลากบริเวณ แก่งอาฮง ณ วัดอาฮงศิลาวาส ต.หอคำ เขต อ.เมืองบึงกาฬ กระแสน้ำจะไหลเชี่ยววนจนเป็นหลุมรูปกรวยขนาดใหญ่ ก่อตัวกันขึ้นสลับไปมา จนถูกเรียกขานว่า “สะดือแม่น้ำโขง” ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของระบบนิเวศแม่น้ำโขงแห่งนี้

อ.บุ่งคล้า เป็นอำเภอเล็ก มี 3 ตำบล ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา คือภูวัวของประเทศไทย และภูงู ของ สปป.ลาว โดยมีแม่น้ำโขงไหลกั้น และที่สำคัญฝั่ง สปป.ลาว ยังมีแม่น้ำ ชื่อ “แม่น้ำปากกระดิ่ง” ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงจุดเยื้องกับบ้านบุ่งคล้า และเมื่อไหลลงสู่แม่น้ำโขงตรงบริเวณที่มาบรรจบกันจะทำให้เกิดเป็นแม่น้ำสองสี และได้พัดพาเอาตะกอนดินมาทับถม จนกลายเป็นที่มาของพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่

เราได้คุยกับ ชนะ พรหมอารักษ์ ปลัด อบต.บุ่งคล้า จึงได้ทราบข้อมูลรายละเอียดว่า เดิมทีหาดตรงนี้มันไม่มี เพราะแม่น้ำโขงบริเวณนี้มีลักษณะภูมินิเวศเป็นมุมโค้ง และจะมีน้ำที่ไหลลงมาสู่แม่น้ำโขงก็คือห้วยแม่น้ำปากกระดิ่งในฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งแม่น้ำปากกระดิ่งนี้ เวลาหน้าฝน มันก็เหมือนน้ำจากภูเขาที่ไหลลงมาจากที่สูงมาสู่แม่น้ำโขง จึงเกิดกระแสน้ำพัดแรง และกัดเซาะฝั่งบุ่งคล้า ดังนั้นก็เลยมีการสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งโซนพื้นที่หมู่ 1 หมู่ 2 และ หมู่ 3

เวลาต่อมาฝั่ง สปป.ลาว มีการสร้างเขื่อน คือ เขื่อนน้ำเทิน 2-3 แห่ง จึงมีการกักน้ำในลำห้วยสาขาของแม่น้ำโขง และทำให้เกิดการเบี่ยงของน้ำโขงลดแรงลง จากน้ำที่เคยไหลแบบรุนแรงลงมาจากภูเขาฝั่ง สปป.ลาว พอมีเขื่อนกักน้ำไว้ การไหลของน้ำโขงที่ไหลมาช่วงบุ่งคล้าจึงลดลง และเกิดการตกตะกอนของชั้นดิน รวมทั้งตัวหาดก็มีการเคลื่อนตัวตามกระแสน้ำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นพื้นที่ดินงอกขนาดใหญ่เนื้อที่ประมาณ 175 ไร่

“ด้วยการไหลของแม่น้ำโขงที่พัดพาเอาตะกอนดินทำให้หาดทรายผสมดินที่ตกตะกอนจากน้ำโขงมันสะสมมากขึ้นจนกลายเป็นหาดและมีพื้นที่ขนาดใหญ่ พอเห็นดังนั้นเราก็เกิดแนวคิดในการจัดสรรพื้นที่แปลงนี้ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นจากการมีส่วนร่วมและจัดประชุม ชุมชนทั้ง 3 หมู่บ้าน จนได้ข้อสรุปและลงความเห็นร่วมกันว่า ให้มีการแบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้านสามารถลงไปใช้ประโยชน์ปลูกพืชผักเพื่อทำมาหากินสร้างรายได้” ปลัด อบต.บุ่งคล้า กล่าว

พื้นที่ 2 งาน ปลูกพืชปลอดสารเคมี สร้างรายได้

จากมติในที่ประชุม พื้นที่ 175 ไร่ ถูกจัดสรรเฉลี่ยแล้วตกครอบครัวละ 2 งาน พร้อมมีกติกากำชับไว้ว่า ห้ามมิให้มีการนำไปซื้อขายและห้ามรุกล้ำพื้นที่ผู้อื่น โดยให้ทำการเกษตรปลูกพืชผักปลอดสารเคมีเพื่อสร้างรายได้เท่านั้น หากว่าใครไม่ทำตามระเบียบกติกาก็จะถูกยึดคืนและให้คนอื่นทำต่อ

“ตอนแรกมันรก เพราะจะมีวัชพืช ต้นอ้อ และหญ้าขึ้นเต็มไปหมด แม่ก็เลยลองเอารถไถมาไถหญ้าออก แล้วก็ทดลองปลูกข้าวโพด” แม่เพชราเล่าต่อ “ก่อนหน้านี้แม่ปลูกหอมแดง และกระเทียม ซึ่งทั้งหมดจะปลอดสารเคมี เมื่อพอเก็บผลผลิตเราก็จะนำไปแปรรูป ตากแห้ง และทำเป็นกระเทียมดองขาย”

ดินบริเวณนี้มีลักษณะเป็นทรายปนกับตะกอนจากแม่น้ำโขง ซึ่งพืชหัวจะชอบและเจริญเติบโตได้ดี โดยส่วนใหญ่คนที่นี่เขาจะมักปลูกมันเทศและถั่วลิสง “เราไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีอะไรเลย เพราะดินที่นี่มันดีอยู่แล้ว” แม่เพชรา การันตี พร้อมกับเอาเสียมขุดช้อนดินขึ้นมาให้เราดู ซึ่งจากการเดินสำรวจแปลงเราก็พบว่าชาวบ้านมีการปลูกพืชผักที่หลากหลายผสมผสานและหมุนเวียนกันไป นอกจากมันเทศ ถั่วลิสง ข้าวโพด หอมแดง กระเทียมแล้ว ก็ยังมีฟักทอง พริก มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ เป็นต้น เนื่องจากการลงไปใช้ประโยชน์ในที่ดินริมโขงจะทำการเพาะปลูกจนถึงเก็บผลผลิต คือประมาณช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ดังนั้นพืชที่ปลูกจึงมีช่วงอายุไม่เกิน 3 เดือน หรืออย่างมากก็ 6 เดือน เพราะหลังจากนั้นน้ำโขงจะขึ้นไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้

“พืชผักที่ปลูกริมโขงเหล่านี้ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างไร?” ผู้เขียนถาม

“ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปขายอย่างไร” แม่เพชราตอบ และอธิบายต่อ “วันหนึ่งมีกรุ๊ปทัวร์มาเที่ยว แม่ก็บอกชาวบ้านว่าจะมีนักท่องเที่ยวมานะพรุ่งนี้ ให้พากันเอามันเทศและผลผลิตอื่น ๆ มาขาย บางคนก็ต้มถั่วลิสงมา และเอาที่ยังไม่ต้มมาด้วย ปรากฏว่าได้ขาย คนมาเที่ยวต่างก็ซื้อ ๆ จนไม่พอขายเลยวันนั้น แม่ก็เลยคิดว่ามันน่าจะสร้างรายได้ หลังจากนั้นแต่ละคนก็ปลูกของตนเองแล้วเอามาขาย”

ทว่าช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าขายพืชผักผลผลิตของชาวบ้านที่นี่ด้วยเช่นกัน แต่เป้าหมายการตลาดก็คือคนในชุมชนกันเอง ขณะเดียวกันก็กำลังมองเรื่องการทำตลาดออนไลน์ “ช่วงโควิด ไม่มีนักท่องเที่ยว เราก็เอาขายในหมู่บ้าน ขายที่ตลาดบ้านเรา หรือเอาผลผลิตขึ้นมาเก็บไว้ บางทีก็มีคนมาซื้อไปฝากลูกฝากหลาน อย่างเช่นปีนี้แม่เก็บหอมแดงและกระเทียมเอาไปตากและทำกระเทียมดองก็ได้เงิน 60,000 – 70,000 บาท อยู่นะ ในส่วนของตลาดออนไลน์เราก็สนใจ แต่ยังขาดความรู้และทักษะ คงต้องอาศัยลูกหลานมาช่วย” แม่เพชราเล่าให้เห็นถึงการปรับตัวต่อสถานการณ์

แต่ในวิกฤติก็เป็นโอกาส เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชาวบ้านที่นี่ได้มีเวลาหันกลับมาพัฒนาผลผลิต และสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ผู้เขียนถามว่า “ชาวบ้านที่นี่มองอนาคตและความยั่งยืนของการทำเกษตรริมโขงอย่างไรครับ?”

“ตอนนี้พวกแม่กำลังรวมกลุ่มและมีแผนที่จะจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและพัฒนาเป็นผักปลอดสารเคมีที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน โดยได้ปรึกษากับทางสำนักงานเกษตรอำเภอและพัฒนาชุมชนให้เข้ามาช่วยแนะนำให้ความรู้”  แม่เพชรากล่าว

ปัจจุบันชาวบ้านบุ่งคล้า ทำเกษตรแบบปลอดสารเคมีโดยการรับรองและเชื่อใจกันเองระหว่างผู้ปลูกขายและคนซื้อ ในอนาคตจึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเพื่อให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP หรือ Good Agriculture Practices ซึ่งหมายถึง แนวทางในการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุนและกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรและผู้บริโภค เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการนี้ได้รับการกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 ลูกหลานคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความรู้เรื่องโซเชียลมีเดียและการสื่อสาร ได้กลับบ้านคืนถิ่น จึงเป็นโอกาสหนึ่งที่จะเกิดการร่วมไม้ร่วมมือกันผลักดันช่องทางการตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้และเศรษฐกิจชุมชนให้คนได้รู้จักพืชผักปลอดสารเคมีจากริมโขง อ.บุ่งคล้า ได้

ความสัมพันธ์ของคนบุ่งคล้ากับแม่น้ำโขง

แม่เพชรา เกิดและโตอยู่ที่นี่ ซึ่งบรรพบุรุษเคยสั่งสอนว่า ถ้าจะไปตั้งรกรากหรือบ้านเรือนให้เลือกดูสภาพพื้นที่ที่มีหนองน้ำ หรือวังเวิน ที่มันกว้างใหญ่ จึงมาตั้งที่บ้านบุ่งคล้า และได้พึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ฉะนั้นความสำคัญของแม่น้ำโขงก็คือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ซึ่งนอกจากการทำประมงหาปลา เป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้แล้ว คนบุ่งคล้าก็ได้ใช้ทรัพยากรน้ำจากแหล่งนี้สำหรับทำการเกษตรและบริโภคอีกด้วย

ผู้เขียนถามว่า “ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงอย่างไรครับ?”

“ก็ได้ใช้สูบขึ้นมาปลูกพืชผักของเรานี่ล่ะลูก และอีกอย่างคนมาจากบ้านอื่นเมืองอื่นก็ได้มาเห็น ต่างก็ชมว่าแม่น้ำโขงว่ามีความงดงาม และมันก็อุดมสมบูรณ์อีก แม่ไม่ได้พูดเกินความจริงนะ ชาวบ้านที่นี่ไม่ได้อดอยาก หรือหาอยู่หากินลำบากเลย เมื่อวันก่อนปลาขึ้นน้ำคนหาปลาก็มาหาได้ไปเต็มลำเรือ” แม่เพชราเล่าอย่างมีความสุข

“แล้วที่ผ่านมาแม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในแม่น้ำโขงบ้างครับ?” ผู้เขียนถามต่อ

แม่เพชราหยุดคิดใคร่ครวญ และมีสีหน้าแปรเปลี่ยนไปเล็กน้อยก่อนจะตอบ “เมื่อก่อนน้ำโขงจะขุ่นและใสเป็นไปตามฤดู แต่ทุกวันนี้น้ำโขงใส ใสจนน่ากลัวและเปลี่ยนสีอยู่ตลอด น้ำขึ้นเร็วลงเร็ววูบวาบ บางครั้งก็ดูนิ่ง ๆ เหมือนน้ำไม่ไหล แต่มีปลาขึ้นมาตายและสาหร่ายลอยเต็มไปหมด ก็เห็นแต่เขาว่าเป็นเพราะเขื่อน มันก็น่าจะใช่สังเกตดูว่ามันผิดปรกติไปหมด”  

ดูเหมือนว่าการสนทนาของเราจะต้องยุติลงโดยปริยาย เมื่อครึ้มฟ้าครึ้มฝนจากกลุ่มเมฆที่กำลังก่อตัวขึ้นทางฝั่งภูงู ประกอบกับลมจากฟากแม่น้ำปากกระดิ่งฝั่ง สปป.ลาว พัดหอบเอาละอองน้ำข้ามโขงเข้าหาเราให้เย็นกาย แม่เพชรา ทยอยเก็บขนอุปกรณ์การเกษตร และถั่วลิสง 2 เข่งใหญ่เร่งรุดขึ้นฝั่ง พร้อมกับทิ้งโจทย์ไว้ให้เราขบคิดกันต่อ

คน – โขง – โรคระบาด และฐานทรัพยากร ดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน คนต้องปรับเปลี่ยน เพราะน้ำโขงไม่เหมือน โรคระบาดที่ไม่อาจคาดเดาว่าจะจบลงเมื่อไร ทำให้ฐานทรัพยากรที่ดูจะเป็นที่พึ่งพิงได้ในยามยากนี้ ให้ความหวังริบหรี่ และลดลง นี่คือหนึ่งในห้วงคำนึงของทีมงานที่เฝ้าติดตามและสื่อสารวิถีคนริมโขง ตั้งแต่เมื่อครั้งน้ำโขงแห้งฉับพลันหลังมีการทดลองผลิตไฟฟ้า ณ เขื่อนไซยะบุรี ราวกลางปี 2562 ที่ภาวนาเพียงว่า อย่าให้มากกว่านี้เลย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ