ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในต้นปี 2563 ทุกคนทุกพื้นที่ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เมื่อการเดินทางถูกล็อค โรงเรียน โรงงาน สถานที่คนอยู่กันหนาแน่นถูกปิด เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ถือว่าสาหัสกับระบบเศรษฐกิจสร้างปัญหาปากท้องผู้คนเป็นอย่างมาก แต่ในสถานการณ์วิกฤตนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นพร้อมกัน คนขายของของไลน์ได้มากขึ้น อาชีพส่งของเกิดขึ้นทุกจังหวัด คนกลับบ้านมาสร้างการประกอบการใหม่ ๆ และที่ ต.ดงลาน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ก็เป็นอีกพื้นที่ที่จังหวะนี้ ทำให้เกิดการประกอบการท่องเที่ยวชุมชน
โควิด-19 ทำให้เกิดการท่องเที่ยวได้อย่างไร ? อันที่จริงก็ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการทำการท่องเที่ยวซะทีเดียว การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนรุ่นใหม่ได้กลับบ้าน มาเห็นความงาม เห็นศักยภาพของบริบทพื้นที่บ้านเกิด ว่าสามารถพัฒนาเชิงท่องเที่ยวได้ จนได้รวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ มาใช้ศักยภาพร่วมกันจัดการท่องเที่ยว โดยใช้ชื่อว่า “เที่ยววิถีสีชมพู” ซึ่งตอนนี้เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการท่องเที่ยวสายธรรมชาติ จ.ขอนแก่น เรามาดูกันว่าลูกหลานชุมชนที่นี่เขาทำแหล่งท่องเที่ยวโนเนม จนกลายเป็นที่รู้จักได้อย่างไร
ที่ อ.สีชมพู เคยมีความพยายามจัดการท่องเที่ยวอยู่แล้วจากหน่วยงานรัฐ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าไหร่ ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้เริ่มกลับมาทำการท่องเที่ยวอีกครั้งจากพลังของคนรุ่นใหม่ ที่ได้กลับบ้านมาเจอกันโดย สัญญา มัครินทร์ หรือครูสอญอ ครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้ชวนเพื่อน ๆ คนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน มาทำการท่องเที่ยวด้วยกัน
ช่วงโควิดเป็นช่วงที่เราได้กลับมาอยู่บ้านนาน เมื่อกลับมาอยู่บ้านนาน ๆ เป็นคนที่หลงไหลในบ้านตัวเองอยู่แล้ว ขี่จักรยานถ่ายรูปมันสวยเวลาที่เห็น แล้วก็เห็นว่าต้นทุนอะไรหลายอย่างก็น่าสนใจ และตัวเองหนีจากบ้านไปอยู่ในเมือง 20 กว่าปี เราก็ยังไม่รู้จักบ้านตัวเอง เลยเริ่มสำรวจ เริ่มชวนเพื่อนมาดูว่ามันสวยแค่ไหน
ขั้นตอนแรกคือรวมกลุ่มเพื่อน พี่ น้อง ที่อยู่ในชุมชน หลายคนหลากอาชีพมาร่วมทีม พูดคุยความฝันร่วมกัน ซึ่งแต่ละคนก็อยากทำงานเพื่อบ้านเกิดอยู่แล้ว และเห็นตรงกันว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่สามารถพัฒนาชุมชนได้ ขั้นตอนต่อมาจึงเรียนรู้ทดลองเที่ยวไปด้วยกัน เริ่มจากชวนเพื่อนมาเที่ยวบ้าน สำรวจต้นทุนในชุมชนที่น่าสนใจ เพื่อพัฒนาต่อเป็นการประกอบการท่องเที่ยว
เรามองเรื่องการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มันจะพัฒนาชุมชนได้ เราก็ไม่ได้คาดหวังว่านักท่องเที่ยวต้องมาเที่ยวเยอะ ๆ มาเสพแล้วก็ไป เราอยากทำแบบเล็ก ๆ ค่อย ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาคุยกับเรา อยากเห็นความงาม เห็นวิถีที่เป็นแบบเราจริง ๆ
เมื่อท่องเที่ยวและสำรวจในชุมชน ก็พบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายที่พร้อม และอยากทำแหล่งท่องเที่ยวด้วย กลุ่มคนรุ่นใหม่จึงได้เชื่อมต่อกัน ชวนเข้ามาร่วมสร้างเส้นทางการท่องเที่ยว อย่างที่ไร่ของคุณอีฟ และไร่คุณต้น เกษตรกรคนรุ่นใหม่ก็อยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยว ไร่คุณอีฟ มีความพร้อมด้านสถานที่ ทั้งสวนมะละกอ บ้านรับรอง จึงเป็นที่รองรับดูแลอาหารเที่ยง ที่นำวัตถุดิบจากชุมชนมาทำอาหารท้องถิ่นเสิร์ฟนักท่องเที่ยว ส่วนไร่คุณต้นที่ทำเกษตรพอเพียง เปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม พร้อมทานอาหารเช้าจากผลผลิตในสวน เป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการที่หลากหลาย
คุณต้น ธนวัฒน์ เดชขันธ์ เจ้าของสวนเกษตรพอเพียง คุณอีฟ วรรณศิริ สีนามบุรี เกษตรกรคนรุ่นใหม่ อาหารท้องถิ่นไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวพักกินอาหารท้องถิ่น
นอกจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และกินอาหารท้องถิ่น ไฮไลต์ของที่สีชมพูคือความอลังการของวิว ป่า เขา ทุ่งนา ที่สวยไม่แพ้ที่ใด โดยจากการสำรวจต้นทุนด้านทรัพยากรของทีมคนรุ่นใหม่ ทำให้พบแหล่งท่องเที่ยวได้หลากหลาย ออกแบบเส้นทางตามสไตล์นักท่องเที่ยว ถ้าสายชิว ก็ไปถ่ายรูปกับวิวทิวทัศน์ ทุ่งหญ้า น้ำตก สายลุย ก็ไปเดินป่าสำรวจธรรมชาติบนภูเขาและถ้ำ หรือมากับครอบครัวก็พักผ่อนที่น้ำตก จิบกาแฟจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ ได้ ซึ่งการเที่ยวในที่ดังกล่าวนี้ จะมีคนในชุมชนขับรถอีแต๋นและพานำเที่ยว เป็นอีกอาชีพเสริมให้ชาวบ้านในช่วงว่างจากไร่นาด้วย
“เป้าหมายแรกๆเราคิดว่าอยากให้คนในชุมชนมีรายได้ อยากให้หมู่บ้านตำบลอำเภอนี้เป็นที่รู้จักแต่ว่าไม่ได้คิดเรื่องเงินว่าเราจะได้ หรือกลุ่มจะได้ คิดว่ามันเกิดประโยชน์มันได้ขายของชาวบ้านก็ได้เงิน กลุ่มรถอีแต๋นเอาไว้นำเที่ยวก็จะมีน้องแมนเป็นเจ้าของรถอีแต๋น ปกติว่างจากฤดูทำนารถไม่ได้ใช้มันก็จอดไว้เฉย ๆ เราก็ดึงเขาเข้ามา ในช่วงที่แดดไม่ร้อนเราก็ใช้รถอีแต๋น คุยราคาว่าไหวมั้ย ค่าน้ำมันค่าเสียเวลา เป็นเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในชุมชน“
จากการพูดคุยกับคุณนุ อนุวัฒน์ บับภาวะตา หัวหน้ากลุ่มคนรุ่นใหม่จัดการท่องเที่ยววิถีสีชมพู ทำให้เห็นว่าเป้าหมายของพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น สิ่งที่ร่วมกันทำมาต้องส่งเสริมชุมชนด้วย ทั้งในเรื่องของรายได้ และการพัฒนาพื้นที่ ทำความสะอาดจุดท่องเที่ยว อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำที่พักโฮมสเตย์แบบบ้าน ๆ สำหรับค้างคืน ซึ่งบ้านของคุณยายตาก็ได้ต่อเติม ปรับแต่งเพิ่มให้พร้อมรับการท่องเที่ยว
จากก้าวแรกในเดือนพฤษภาคม 2563 ระยะเวลากว่า 5 เดือน กลุ่มท่องเที่ยววิถีสีชมพูมีคนรู้จักมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดและในจังหวัดเดินทางมาต่อเนื่อง ปัจจัยที่ทำให้คนรู้จักที่นี่คือการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยแฟนเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มที่ชื่อว่าเที่ยววิถีสีชมพู สมาชิกก็ช่วยกันสื่อสารกับเพื่อน ๆ ด้วย เป็นการบอกต่อในโลกออนไลน์ และมีเครือข่ายผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวส่งต่อลูกค้า ทำให้ที่นี่เริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่างได้เร็ว สเต็ปต่อไปที่จะให้สิ่งที่ทำมาเกิดความยั่งยืน ก็ต้องไปเชื่อมต่อกับหน่วยงานรัฐเจ้าของพื้นที่ เพื่อเติมแรงสนันสนุนกัน
การประสานงานกับท้องถิ่นท้องที่เราก็เข้าไปแจ้งเขาขออนุญาติใช้พื้นที่ร่วม และขอความช่วยเหลือจากเขามีวงสนทนาเล็กสามครั้งแล้วท่านก็ตกลงพร้อมเดินไปด้วยกันและพร้อมที่จะไปปรับพื้นที่ให้ ตรงไหนที่มันไม่ดี เขาก็จะถามว่าทำไหม อันนี้เอาไหม พวกคุณว่ามันดีไหมถ้าเราจะปรับตรงนี้มันเป็นการคุยกันซึ่งมันรู้สึกดีมากับหน่วยงานของรัฐ อย่าง อบต.ท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เขาดีด้วย
ความฝันของหลายคนคือการกลับบ้าน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ ต.ดงลาน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ก็เช่นกัน ที่ตอนนี้ทำตามความฝันได้มากกว่าครึ่งทางแล้ว สามารถอยู่ได้ด้วยอาชีพหลักที่แต่ละคนมี และสร้างการประกอบการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกลุ่ม เพราะอยากพัฒนาเครือข่ายให้กว้างขึ้น คนมีส่วนร่วมในการประกอบการมากขึ้น ซึ่งครูสอญอมองว่า การประกอบการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือชุมชนได้ และช่วยเติมพลังแก่คนในกลุ่มคนกลับบ้านด้วย
“การมีงานมาทำด้วยกันก็จะกลายเป็นกลุ่มที่รักตัวเอง รักเพื่อนมันก็จะนำไปสู่การรักบ้านตัวเอง และอันที่สองเรามองว่าถ้าเรารวมกลุ่มกันเรามีกำลังพอ เราก็น่าจะเปลี่ยนแปลงชุมชนเราได้ ซึ่งเราก็มองพื้นที่ของการเรียนรู้ พื้นที่ของการอนุรักษ์ พื้นที่ของการดึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ให้หลงไหลในบ้านตัวเองให้หวงแหนในบ้านตัวเอง ถ้ามันรักตัวเองได้มันน่าจะสร้างสรรค์ให้มันเกิดพื้นที่ใหม่ ๆ ได้ และก็เกิดรายได้ “
นอกจากต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม ที่นี่ยังมีต้นทุนทางสังคมที่ดี จากลูกหลานที่มีใจรักบ้านเกิด ร่วมกันพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนภายนอกรู้จัก ซึ่งจากที่สอบถามนักท่องเที่ยว พบว่าสิ่งที่ทำให้ประทับใจไม่แพ้ธรรมชาติที่งดงาม คือการต้อนรับจากคนในชุมชน ที่เสมือนมาเยี่ยมญาติ และได้รับพลังบวกจากคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักบ้านเกิดด้วย ถือเป็นอีกตัวอย่างที่คนรุ่นใหม่ ที่ใช้ศักภาพพัฒนาบ้านเกิดได้อย่างน่าสนใจ