ที่วัดโนนชัยวนาราม ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จะมีกลุ่ม ส.ว. หรือผู้สูงวัย ทั้งชายและหญิง ออกมาร่วมกันทำกิจกรรมทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยกิจกรรมส่วนใหญ่คือการนำขยะมารีไซเคิล ซึ่งเป็นการช่วยจัดการปัญหาขยะในชุมชนที่ได้ร่วมกันดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว
“แต่ละคนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในวัยนี้แล้ว ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรมากมาย ก็คิดว่าทำอย่างไรให้เราจะมีสุขภาพดี จิตใจดี ทำอย่างไรให้อยู่แบบมีความสุขในวัยเกษียณ เราจึงมาร่วมกันลงมือทำ” พรรณา อรรคฮาต รักษาการประธานชุมชนโนนชัย 1 เริ่มบทสนทนากับทีมอยู่ดีมีแฮง
เนื่องจากที่นี่เป็นชุมชนเมือง ปัญหาขยะจึงเป็นปัญหาสำคัญ และบางครั้งก็นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งตามมา แม่พรรณา เล่าย้อนให้ฟังว่า เมื่อก่อนชุมชนไม่รู้จักการคัดแยกขยะแต่ละประเภท พอเทศบาลนำถังขยะมาตั้งไว้ให้ต่างคนก็ต่างทิ้ง ทั้งขยะพลาสติก เศษอาหาร ขยะเปียก ขยะแห้ง รวมถึงขยะอันตรายถูกทิ้งรวมในถังเดียวกัน
“ในระยะเริ่มแรกไม่มีการจัดการขยะแต่ต้นทาง มีอะไรก็รวมหมด ทุกสิ่งทุกอย่างรวมกันหมด มีน้ำก็เทในถุงพลาสติก แล้วก็ทิ้งลงถัง เพราะถือว่าตนเองไม่ได้เป็นคนเก็บ คิดว่าจะทิ้งก็ทิ้ง คนเก็บก็เก็บไป ไม่มีการจัดการขยะที่ต้นทาง ก็เกิดการหมักหม่นของขยะ และส่งกลิ่นเหม็น มีปัญหาการร้องเรียนเกิดขึ้นตามมา”
ชุมชนในความดูแลของเทศบาลนครขอนแก่นมีด้วยกันทั้งหมด 95 ชุมชน โดยชุมชนโนนชัย 1 เป็น 1 ใน 65 ชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะกับทางเทศบาลฯ
จากข้อมูลสถิติจากกรมควบคุมมลพิษ ปีพ.ศ.2564 ระบุว่า จังหวัดขอนแก่น มีขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นเฉลี่ยมากถึง 1,289 ตันต่อวัน โดยมีขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 395 ตันต่อวัน และแน่นอนขยะส่วนหนึ่งที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ก็คือที่ชุมชนแห่งนี้
แม่พรรณา อธิบายว่า ชุมชนจะมีการนำเอาขยะ ซึ่งเป็นขยะรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม มาทำการประดิษฐ์ รีไซเคิลเป็นไม้กวาด ทำเป็นโมบายแขวนประดับ และลอตเตอรี่เก่าซึ่งเป็นขยะทั่วไป ก็เอามาประยุกต์ มาดัดแปลงใช้ โดยการทำเป็นดอกไม้จันทน์ เป็นพวงหรีด เป็นเหรียญโปรยทาน ใช้ในงานศพได้ นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องกองทุนฌาปนกิจเปลี่ยนขยะเป็นบุญ คือการเอาขยะรีไซเคิลมาขาย ซึ่งเป็นการเข้าร่วมโครงการกับทางเทศบาลนครขอนแก่น
“ชุมชนโนนชัยมีทั้งหมด 94 ครัวเรือน เข้าร่วมกองทุนฌาปนกิจเปลี่ยนขยะเป็นบุญ 73 ครัวเรือน คือเราจะมีกิจกรรมนำขยะมาขายกับร้านรับซื้อที่เข้าร่วมโครงการกับทางเทศบาลฯ เดือนละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นสมาชิกก็จะนำเอาใบเสร็จจากการขายขยะ และน้ำหนักของขยะแต่ละประเภทมาส่ง เพื่อให้แม่ลงบันทึกในสมุดฝากเข้ากองทุนฌาปนกิจฯ เมื่อสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต ก็จะได้รับสวัสดิการศพละ 21,000 บาท” ประทุมมา โคตรทุม ผู้รับผิดชอบกองทุนฌาปนกิจเปลี่ยนขยะเป็นบุญ ของชุมชนโนนชัย 1 กล่าวชี้แจง พร้อมนำหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาแสดง
เพิ่มมูลค่าให้ขยะ สร้างรายได้ให้ผู้สูงวัย ลดรายจ่ายให้ชุมชน
รักษาการประธานชุมชนโนนชัย 1 อธิบายต่อว่า ถ้าเราเอาขวดพลาสติกมาขายโดยตรง ก็คือว่าขวดจำนวน 16 ใบ สามารถขายได้เงิน 10 กว่าบาท แต่ถ้าเรามาทำเป็นไม้กวาดราคาอย่างต่ำก็ 80 บาท อันนี้คือการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ มันก็สามารถทำให้แกนนำของเรามีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับชุมชนได้
ด้านบุญศรี ภูมิบ้านค้อ พ่อเฒ่าผมสีดอกเลา ในวัยไม่น้อยกว่า 70 ปี ขณะสองมือกำลังทำไม้กวาดจากขวดพลาสติกอย่างคล่องแคล่วด้วยความชำนาญ ได้บอกกับเราว่า เฉลี่ยเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ตนสามารถทำไม้กวาดสำเร็จ 1 อัน โดยใช้ขวดน้ำอัดลมขนาด 1.5 ลิตร จำนวน 16 ขวด ซึ่งทุกส่วนของขวดนำมาใช้ได้หมด เช่น ก้นขวดก็สามารถนำมาเป็นจานรองถ้วยได้ ตรงคอขวดก็เอามาทำที่ล็อคด้านไม้กวาด เป็นต้น
“อันนี้คือไม้กวาดพลาสติก รู้สึกว่าใช้แล้วมันทนทานกวาดต้อนใบไม้และขยะได้ดี ของที่เราใช้แล้ว สามารถเอามารีไซเคิลทำให้มันเกิดประโยชน์กับตัวเรา กับสังคม และสิ่งแวดล้อมขึ้นมาได้”
พ่อใหญ่บุญศรี ทำไม้กวาดเสร็จพอดี จึงยกขึ้นโชว์อย่างภาคภูมิใจ
เมื่อชุมชนเห็นร่วมกันว่าปัญหาขยะถูกแก้ไขได้ 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว จึงมาแก้ไขปัญหาขยะภายในวัด คือทำให้เกิดกฎกติกาเพื่อปฏิบัติร่วมกัน เช่น เวลามีงานบุญประเพณีต่างๆ หรืองานศพ ให้ใช้ดอกไม้แห้ง หรือวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ไม่ใช้โฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหาร แต่จะใช้ถ้วยชามของทางวัด โดยมีการเวียนใช้ และชุมชนจะมีอาสามาล้างถ้วยชามให้ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าภาพ และเจ้าภาพสามารถทำบุญต่อให้กับชุมชน กับโรงเรียน
“งานศพเราจะปลอดดอกไม้สด พวงหรีดก็จะเป็นดอกไม้แห้ง ซึ่งในงานศพแต่ละครั้งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าภาพมากถึง 15,000 – 20,000 บาท ส่วนพวงหรีดจะขอเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเจ้าภาพสามารถทำบุญต่อให้กับโรงเรียน รพ.สต. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือว่ากับหน่วยงานต่างๆ ตรงนี้มันก็เป็นส่วนบุญที่ได้รับอีกอันหนึ่ง อีกอย่างเราเรียกว่า ขยะสู่สุคติ คือ ดอกไม้จันทน์ พวกหรีด เป็นขยะตายไปกับคนตาย ไปกับงานศพ ไม่สร้างปัญหาให้กับชุมชน หรือเป็นขยะฐานเศรษฐกิจ” แม่พรรณา กล่าว
เรื่องขยะมันเป็นปัญหาระดับประเทศ และระดับโลกเลยทีเดียว ถ้าเราสามารถจัดการได้ปัญหาก็จะไม่เกิด ตอนนี้ชุมชนสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเทศบาลได้มากถึง 40,000 – 50,000 บาทต่อเดือน และเทศบาลก็สามารถลดงบประมาณในส่วนที่จะนำมาจัดการกับปัญหาขยะของชุมชนได้ด้วย
ความสุขใจของวัยเกษียณ
การที่เข้ามาเป็นประธานชุมชน เป็นการคัดกรองคนไปด้วย เพราะจะได้รู้ใครไปกับเราได้ ใครไปกับเราไม่ได้ ถ้าคิดไม่เหมือนกัน ก็ไปด้วยกันไม่ได้ ซึ่งตอนแรกก็ทำกันอยู่ 2 -3 คน ต่อมามีคนเข้ามาช่วย มีแกนนำเพิ่มขึ้น แล้วมีคนเห็นว่าเราทำจริง เป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนของตนเอง เลยเข้ามาช่วยเพิ่มขึ้น
คนที่มาทำงานกับเรา ทุกคนเขาทำไปโดยไม่ยึดถือเงินเป็นที่ตั้ง ไม่คำนึงถึงรายได้ ไม่เคยคิดว่าจะได้กี่บาท ขอได้มากินข้าวด้วยกันมาทำงานด้วยกันก็มีความสุข หัวเราะกันมีความสุขในแต่ละมื้อ ในวัยไม้ใกล้ฝั่งแล้วสิ่งไหนทำได้ก็ทำ สิ่งไหนทำไม่ได้ก็ให้ลูกๆ หลานๆ เขามาทำ เข้ามามีส่วนร่วม
“ถ้าจะจนมันก็จนแล้ว หรือถ้าจะรวยมันก็รวยแล้ว ในวัยนี้แล้ว มันเป็นวัยที่เลยวัยกลางคน ก็คิดว่าทำอย่างไรให้เราจะมีสุขภาพดี จิตใจดี ทำอย่างไรให้อยู่แบบมีความสุขในวัยเกษียณ” แม่พรรณา กล่าว
เมื่อก่อนชุมชนโนนชัย 1 จะมีจำนวนขยะมูลฝอยมากถึง 1,350 กิโลกรัมต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 269 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของชุมชนแห่งนี้ที่ได้ร่วมไม้ร่วมมือกันจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังสามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการศึกษาดูงานให้กับชุมชนอื่น และที่สำคัญก็คือบุคลากร หรือแกนนำที่ร่วมกันขับเคลื่อนนั้นทั้งหมดคือผู้สูงวัย ซึ่งเป็น “ความสุขใจของวัยเกษียณ”
“ผู้สูงวัยจะต้องมีการขยับตัว ถ้านั่งดูแต่ทีวีไม่มีการออกกำลังกาย มันไม่ได้ การทำไม้กวาด ทำกิจกรรมต่างๆ และออกกำลังกายได้ประโยชน์กับสุขภาพตนเอง ได้ประโยชน์กับสุขภาพใจด้วย จิตใจเบิกบานได้มาเห็นเพื่อนๆ ก็ดีใจ ถ้าอยู่คนเดียวจิตใจจะเศร้าหมอง มันจะเป็นอัลไซเมอร์” พ่อใหญ่บุญศรี กล่าวจบก็หัวเราะร่า