กลุ่มบ้านไร้เสียง ร่วมกับสมาชิกบ้านพอเพียง บ้านชั่วคราว กลุ่มเตรียมบ้านมั่นคง ปี 63/64 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม “เปิดบ้านไร้เสียง” ณ ชุมชนหาดสวนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อนำเสนอปัญหาคุณภาพชีวิตของคนยากไร้ รูปธรรมของความเหลื่อมล้ำ สาเหตุของปัญหา เพื่อแลกเปลี่ยนและกำหนดแนวทางการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงการแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยของคนยากไร้ พร้อมทั้งยื่นรายชื่อผู้ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
ภายในงานมีการนำเสนอปัญหารูปธรรมชัดเจนของความเหลื่อมล้ำ ปฐมเหตุของความยากไร้ ผ่าน VDO ARTS และสารคดี ชุด “เสียงที่หายไป” โดยชาวบ้านช่วยกันจัดนิทรรศการภาพถ่าย “บ้านไร้เสียง ผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก” เพื่อแสดงถึงร่องรอย รูปทรง เรื่องราว ร่องหลืบของความเหลื่อมล้ำ ผ่านรูปภาพเกี่ยวกับ บ้าน คน สิ่งแวดล้อม ความผุพัง คร่ำคร่า เปื่อยเน่า อ่อนแอ ความฮึดสู้ดิ้นรนของคนยากไร้ เพื่อชี้ถึงประเด็นเรื่อง “ที่ดินคือชีวิต บ้านคือความฝัน” โดยตัวแทนชุมชนย้ำว่า “ผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก” พร้อมแสดงให้เห็นถึงความมีอยู่ของคนจนเมือง ความเกี่ยวพัน คนจน ที่ดินและนายทุน พร้อมทั้งนำเสนอผลการดำเนินงานของบ้านชั่วคราว บ้านพอเพียง ซึ่งเป็นก้าวแรกของการเป็นบ้านมั่นคง
“คนมีก็มีเอา … และมีเอา ส่วนคนไม่มีก็ไร้แม้แต่เงา จะหาบ้านซุกหัวนอนสักหลังก็ไม่มี และที่แย่กว่านั้นคือที่ดินซึ่งควรจะเป็นทรัพยากรร่วมที่ทุกคนควรได้ ก็ไม่มีให้สำหรับทุกคน ทั้งที่พวกเขาควรจะได้…” นายกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ซึ่งทำงานและติดตามสื่อสารสถานการณ์ร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ความมั่นคงของชาวบ้านเรื่องที่อยู่อาศัยในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี
คนมีก็มีเอา … และมีเอา ส่วนคนไม่มีก็ไร้แม้แต่เงา จะหาบ้านซุกหัวนอนสักหลังก็ไม่มี
“ชุมชนหาดสวนสุข ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ เป็นชุมชนริมแม่น้ำมูล ที่ผู้คนอาศัยมาตั้งแต่เมืองอุบลอยู่ในยุคก่อร่างสร้างตัว ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าบรรพบุรุษพวกเขาอพยพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2411 ซึ่งถ้าเป็นจริงดังว่ามันก็นานมาก นานพอที่รัฐจะมอบเอกสารสิทธิ์ใด ๆ ในอันที่ชาวบ้านผู้ถือครองที่ดินควรได้ แต่กับที่นี่ไม่ใช่อย่างนั้น แม้พวกเขาจะได้ชื่อว่าเป็นชุมชนทำอิฐที่เก่าแก่และอยู่คู่เมืองอุบล แม้ในสมัยเกิดภัยไฟไหม้ใหญ่เมืองอุบลและมีการฟื้นฟูได้รวดเร็วก็ด้วยมือดำ ๆ เล็บแตก ๆ ของพวกเขานี่แหละที่ช่วยสร้าง และถ้าบอกว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ทำไมไปอยู่ใต้สะพานแม่น้ำมูล แต่อย่าลืมว่าสะพานเพิ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ.2479 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่หลังการอพยพของชาวบ้านหลายสิบปี
“บ้านไร้เสียง” แม้พวกเขาจะตะโกนให้ดังแค่ไหน แต่เสียงก็ยังไปไม่ไกลเนื่องจากผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ยอมรับฟัง
ความจริงที่สุด กระทั่งวันนี้ พวกเขาก็ยังเป็นชุมชน “บ้านไร้เสียง” แม้พวกเขาจะตะโกนให้ดังแค่ไหนแต่เสียงก็ยังไปไม่ไกลเนื่องจากผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ยอมรับฟัง หรือแม้จะได้ยินแต่ก็ทำเป็นหูทวนลม ในขณะที่โรงแรมหรู ห้างสรรพสินค้า และอาคารพาณิชย์ ต่างทยอยเกิดขึ้นมากมายจนทับถมพื้นที่เดิม และทำให้น้ำท่วมหนักเพิ่มขึ้นทุกปี คำถามคือกิจการเหล่านั้นเกิดได้อย่างไรมากมาย แต่กับชาวบ้านผู้บุกเบิกป่าดงในแถบนี้ ทำไมกลับยังไร้เสียง และไร้วี่แววแห่งความมั่นคงในที่ดิน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่มีกระจิตกระใจจะหาเงินมาสร้างบ้าน เพราะจะโดนไล่รื้อเมื่อไหร่ก็ไม่แน่
นี่จึงเป็นที่มาของการนิยาม “บ้านไร้เสียง” ที่วันนี้ มีความจำเป็นต้องส่งเสียงให้ดังและไกล เพื่อให้เรื่องที่อยู่อาศัยของคนไม่ใช่เรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะในขณะที่คนบางกลุ่มมีคฤหาสน์หรูหลายหลัง แต่อย่าลืมว่ามีคนอีกหลายล้านที่ไม่มีบ้านสักหลัง และไม่มีแม้ความมั่นคงในที่ดิน อันเป็นที่ซึ่งพวกเขาควรได้ตามสิทธิ์ที่พึงเป็น” นายกมล หอมกลิ่น แลกเปลี่ยนถึงที่มาของกิจกรรมและตั้งข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชุมชนโดยรอบและชุมชนเมืองอุบลราชธานี
นอกจากนี้ ภายในงานยังมี เวทีเสวนา เสียงแห่งความหวัง “แนวทางการแก้ปัญหาที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” ซึ่งร่วมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกับตัวแทนชุมชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกเทศมนตรีเมืองวารินชำราบ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนองค์การมหาชน (พอช.) เพื่อสื่อสารสู่สาธารณะและร่วมกันหาทางออกในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม