สืบชะตาแม่น้ำพร้อมแถลงการณ์เร่งให้รัฐแก้ปัญหาเขื่อนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

สืบชะตาแม่น้ำพร้อมแถลงการณ์เร่งให้รัฐแก้ปัญหาเขื่อนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

ภาพ : เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง

พิธีสืบชะตาแม่น้ำชี และอ่านแถลงการณ์กลางแม่น้ำชีของตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร เป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยันถึงเจตนาในการปกป้องทรัพยากรแหล่งน้ำของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีผืนป้ายผ้าขนาดใหญ่พร้อมข้อความ “เร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนลุ่มน้ำชีตอนล่าง  หยุดผันน้ำโขง เลย ชี มูล คืนอำนาจการจัดการน้ำ รัฐอย่ารวมศูนย์” ณ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำชี บ้านอีโก่ม ตำบลเทอดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 64 ที่ผ่านมา

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ได้มีข้อเสนอต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบดังนี้ คือ

1.หยุดสร้างวาทกรรมผ่านโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง และให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำ โขง เลย ชี มูลและโครงการอื่น ๆ ทันที เพราะจะเกิดผลกระทบมากมายและไม่มีความคุ้มค่า นอกจากจะสร้างผลประโยชน์และสร้างกำไรให้กับธุรกิจสร้างเขื่อน แล้วผลักภาระผลกระทบให้ชุมชนท้องถิ่น

2.เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในโครงการ โขง ชี มูล เดิมให้แล้วเสร็จ

3.จัดให้มีการศึกษาผลกระทบทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม

โดยนายจันทรา จันทาทอง อายุ 46 ปี กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ได้อ่านแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาดังนี้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าปัญหาของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายโครงการโขง ชี มูล เดิม นั้น ได้ทำให้เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลากว่า 11 ปีแล้ว โดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ที่ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาแต่ยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

ในขณะที่หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจะดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อย่างเช่นการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล และการขุดลอกแหล่งน้ำ

ฉะนั้น บทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมาและการต่อสู้ของคนในลุ่มชีสะท้อนให้เห็นแล้วว่าการจัดการน้ำขนาดใหญ่โดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำนั้นไม่ใช่คำตอบการแก้ไขปัญหาแต่เป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม และโครงการโขง ชี มูล คือ การสร้างเขื่อนนั้นไม่ใช่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ในทางกลับกันโครงการเหล่านี้กลับสร้างผลกระทบตามมา ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่กลับพบว่าการจัดการน้ำในรูปแบบแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับชุมชนท้องถิ่น จะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับระบบนิเวศและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ