ชีวิตนอกกรุง : จากทุ่งนาถึงหน้าร้าน ผู้ประกอบการเมล็ดข้าวจาก อ.กุดชุม จ.ยโสธร

ชีวิตนอกกรุง : จากทุ่งนาถึงหน้าร้าน ผู้ประกอบการเมล็ดข้าวจาก อ.กุดชุม จ.ยโสธร

ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  เมื่อชาวนาต้องปรับตัวมาเป็นผู้ประกอบการ  สินค้าที่มีชื่ออาจไม่คุ้นหู  เช่น  ข้าวเกรียบอินทรีย์  และตูเล่ย์หมาบก  คือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแปรรูปของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโนนยาง  ตำบลกำแมด  อำเภอกุดชุม  จังหวัดยโสธร  วิสาหกิจชุมชนโนนยาง นับเป็นความก้าวหน้าของวิถีชุมชนยุคใหม่  ที่มีการปรับเปลี่ยนวิถีเพื่อปรับตัวกับสังคมที่เปลี่ยนไป  เป็นการปรับตัวที่เกิดจากการขบคิด  พูดคุย  และตกผลึกแล้วว่าการทำเกษตรยั่งยืนต้องทำไปพร้อมกับการเป็นผู้ประกอบการที่มองเรื่องการตลาด  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตที่มีคุณค่าอย่างข้าวอินทรีย์หลากหลายสายพันธุ์ที่สมาชิกกลุ่มช่วยกันผลิต 

          “หลังจากแยกออกมามาจากกลุ่มชุมชนบ้านนาโส่ประมาณปี 2551 เพื่อจะมากระจายพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินตามนโยบายของหน่วยงานรัฐ  ซึ่งปัจจุบันเรามีกลุ่มสมาชิกประมาณ 138 คน ที่กระจายกันอยู่ในหลายอำเภอ  ไม่ว่าจะเป็น  อ.กุดชุม  ป่าติ้ว  เลิงนกทา  และ  อ.เมือง จ.ยโสธร”  พ่อบุญส่ง  มาตขาว  ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโนนยาง  เล่าให้ฟังถึงที่มาของการก่อตั้งกลุ่ม  ที่เมื่อก่อนเคยเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกกลุ่มนาโส่ที่ทำเรื่องข้าวอินทรีย์มาก่อนหน้านี้  และต่อมาได้แยกออกมาบริหารจัดการเองและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการทำเกษตรทางเลือกร่วมกัน  

(ด้านซ้าย) พ่อบุญส่ง มาตขาว

ความโดดเด่น นอกจากจะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ทำข้าวอินทรีย์ที่เข้มแข็งแล้ว  การทำการตลาด  การจัดการข้อมูล  และที่สำคัญการแปรรูปถือเป็นจุดแข็งของที่นี่  ซึ่งไม่ได้เน้นการทำข้าวอินทรีย์  เพื่อขายข้าวเปลือก  แต่คือการทำข้าวสาร  ที่มีแพ๊กเก๊จสวยงาม  พร้อมมีโลโก้การันตีให้มีความน่าเชื่อถือ  ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้อง  ข้าวซ้อมมือ  และข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์อื่นๆ  ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ดอกข้าว” ทั้งหมดนี้คือสินค้าที่พร้อมนำส่ง ซึ่งพ่อบุญส่งเล่าให้ฟังว่า  กระบวนการทำงานต้องมีความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน  เริ่มตั้งแต่การปลูก  การเก็บเกี่ยว  การเก็บหรือสต๊อกข้าว  การแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร  และการแปรรูปจากข้าวสารเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า  ซึ่งเหล่านี้ถือว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนโนนบางมีความโดเด่นมากๆ

          นอกจากจะมีข้าวสารที่แพ็กเก๊จพร้อมขายแล้ว  ที่เห็นขนมแผ่นวงกลม  และชาวบ้านกำลังตาก  พร้อมนำมาวางเรียงราย  นี่คือขนม “ข้าวเกรียบว่าว” ที่ทำจากข้าวอินทรีย์  และสินค้าแปรรูปอีกหนึ่งชนิดที่สำคัญของกลุ่มคือ “ตูเล่ย์หมากบก” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตผลอันเกิดจากการแปรรูปข้าวให้กลายเป็นขนมที่น่ารับประทาน  โดยขนมชนิดนี้มีส่วนผสมหลักจากแป้งข้าวเหนียว และเม็ดกระบก  ซึ่งชาวบ้านให้ฉายาว่าเป็นอัลมอนด์อีสาน เนื่องจากกระบกเป็นพืชท้องถิ่นมีรสชาติคล้ายถั่วอัลมอนต์ โดยมีขั้นตอนในการทำคือ  บดข้าวให้ละเอียด  จากนั้นนำข้าวที่ละเอียดเหลวมาทำเป็นแผ่นวงกลมเล็กๆ  แล้วนำลูกกระบกมาหยอดลงตรงกลางแผ่นขนม  และนำไปอบในตู้อบที่มีอุณภูมิพอเหมาะ  จากนั้นก็นำมาบรรจุภัณฑ์เพื่อเตรียมส่ง  ซึ่งปัจจุบันกลุ่มได้ทำการตลาดจนสามารถนำขนมชนิดนี้ไปอยู่ในร้านกาแฟหรูหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดยโสธรและพื้นที่ใกล้เคียง “เริ่มแรกมันไม่ใช่ตูเล่ย์หมากบก แต่มันคือขนมตูเลย์ธรรมดาที่เราดัดแปลงมาจากขนมเบื้องของฝรั่งเศส  โดยมีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาส่งเสริมให้รู้วิธีการแปรรูป  จนต่อมาเราพัฒนาสินค้าให้มีความเป็นเฉพาะในพื้นที่อีสาน  และคิดได้ว่าเรามี “หมากกระบก”  หรือ  กระบก  ซึ่งเป็นผลไม้ที่อยู่ตามป่าในภาคอีสานและมีรสชาติคล้ายอัลมอล  เราจึงคิดว่ามันอาจเป็นจุดขาย  ดังนั้น  เราจึงลองเอาเม็ดกระบกมายอดใส่ตรงกลางแผ่นขนม  ปรากฎว่ามันพอไปได้ก็เลยกลายเป็นขนมตูเลย์หมากบกที่เป็นอีกหนึ่งชนิดสินค้าของกลุ่มเรา”  ต่อง  หรือ  สุประวีณ์  มาตขาว  แกนนำหลักในการแปรรูปและทำการตลาดขนมตูเล่ย์หมากบกเล่าให้ฟังถึงที่มาของสินค้าชนิดนี้  

(ซ้ายมือ) ต่อง หรือ สุประวีณ์ มาตขาว

สิ่งที่ดูเหมือนจะขาดไม่ได้ของสินค้าแต่ละอย่างของที่นี่  คือการทำแบรนด์ของสินค้าแต่ละชนิด  ซึ่งสังเกตว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญอย่างมาก  ที่เรามองว่าเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ผู้ประกอบการอย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโนนยางมีความโดดเด่น  เพราะอย่าลืมว่าภาพลักษณ์หรือแบรนด์คือภาพจำที่ทำให้คนอื่นเข้าถึงได้ง่าย  และนี่ก็เป็นความจำเป็นของชาวนาหรือผู้ผลิตยุคใหม่ที่ควรให้ความสำคัญ  เพราะที่ผ่านมาแม้เราจะเห็นการรวมกลุ่มในหลายแห่ง  แต่ก็เป็นลักษณะการรวมกลุ่มแบบบ้านๆ  ที่ไม่ได้เข้าใจเทรนด์ของการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์       ดังนั้น  จึงไม่แปลกที่สินค้าจากกลุ่มทั้ง 3 อย่าง  จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนยางจะมีแบรนด์ที่โดดเด่น  ซึ่งก็พ่วงมาพร้อมกับการทำการตลาด  และตลาดที่สำคัญของกลุ่มคือตลาดออนไลน์  โดยมีเพจเป็นหน้าร้าน

แน่นอนครับว่า  ความเป็นอุดมการณ์ชาวนานั้นยังไงก็ไม่หลุดหาย แต่การเป็นผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  เหมือนอย่างวิสาหกิจชุมชนโนนยาง  จากจุดเริ่มต้นที่ทำเกษตรอินทรีย์  จนวันนี้มาเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ   ซึ่งเป็นการเอาความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน มาปรับใช้ในการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ จนเกิดเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งเหล่านี้คือทางออกอันจะทำให้เกิดความร่วมสมัยและอยู่รอดในท่ามกลางยุคสมัยเช่นปัจจุบัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ