อยู่ดีมีแฮง : ลูกอีสานกลับบ้าน เปลี่ยน “สาด” เป็นกระเป๋าแบรนด์เนม

อยู่ดีมีแฮง : ลูกอีสานกลับบ้าน เปลี่ยน “สาด” เป็นกระเป๋าแบรนด์เนม

“อยู่ดีมีแฮง” ชวนพูดคุยกับ ตั้ม จิรวัฒน์ มหาสาร ในวัย 33 ปี ลูกอีสานขนานแท้ในดินแดนที่ราบสูง บ้านยาง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เจ้าของกระเป๋าเสื่อกกแบรนด์จักรสาน ที่นำเอาเสื่อกกที่เคยเป็นเสื่อปูพื้นมาปรับเปลี่ยนตัดเย็บเป็นกระเป๋าหลากหลายรูปแบบ ตามลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเสื่อกก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีในพื้นถิ่นอีสานสร้างรายได้หลักล้านบาทต่อเดือน

“ขายกระเป๋าทำจากเสื่อกกใบละ 9,000 บาท ตอนขายได้บอกทุกคน เขาก็ไม่มีใครอยากเชื่อว่าจะขายได้ใครจะมาซื้อ ราคากระเป๋าเท่ากันกับราคาลูกวัว” เริ่มต้นประโยคพูดคุยกับ ตั้ม จิรวัฒน์ มหาสาร เราพูดคุยกันในบริเวณบ้านหลังใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นบ้านปูนสวยและทันสมัยภายในชุมชนบ้านยาง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณตั้ม ซึ่งบริเวณรอบบ้านก็จะมีกองฟาง รถอีแต๋น และต้นกกที่ถูกปลูกเอาไว้รอบบ้าน คุณตั้มเล่าให้ฟังถึงความสำเร็จในครั้งแรกที่สามารถทำกระเป๋าจากเสื่อกกและขายได้ในราคาที่เรียกว่าได้มูลค่าที่สูงถ้าเปรียบกับราคาเสื่อทอมือธรรมดา ที่พ่อแม่ป้าน้าอาที่บ้านนั้นเคยทอแล้วขายในราคาหลักร้อยบาท

ลูกอีสานเรียนจบต้องเข้ากรุง

คุณตั้มเล่าถึงวัยเด็กเมื่อย้อนไปในช่วงหลายปีก่อน ลูกอีสานที่ถือกำเนิดขึ้นในบ้านนอกคอกนา เกิดมาพร้อมกับกองขี้ควาย หาอยู่หากินช่วยพ่อแม่ตามหัวไร่ปลายนานั้นเป็นบรรยากาศที่ยังหวนคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลา ด้วยความที่บ้านเกิดนั้นถือได้ว่าตัวเองเป็นเด็กบ้านนอก ช่วงมัธยมมีโอกาสเข้าไปเรียนในตัวเมืองของจังหวัด ความรู้สึกของตัวเองที่เป็นเด็กขณะนั้นก็ปรากฏว่า “ทำไมเราบ้านนอกจังเลย ทำไมเราไม่มีเหมือนเด็กในเมืองที่เขามีกัน อยากได้อะไรก็ได้”  แต่ด้วยความที่เข้าใจตัวเองว่ามีไม่เท่าเพื่อนทำให้ในเวลานั้นต้องขยันขันแข็งมากกว่า ในช่วงเรียนอยู่ก็ทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน ถือได้ว่าเป็นเด็กกิจกรรม เรียนรู้ทุกอย่างทั้ง เย็บ ปัก ถัก ร้อย เพื่อเรียนรู้ซึ่งมันก็ส่งผลมาถึงทุกวันนี้จริง ๆ พอถึงในระดับมหาวิทยาลัยก็เข้าไปศึกษาจนจบในสาขาภาษาอังกฤษ เส้นทางชีวิตก็เริ่มตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“อย่างเดียวที่เราคิดได้คือต้องเข้าเมืองกรุง เพราะที่บ้านเรามันไม่มีงานอะไรทำ มันรู้สึกว่าถ้าจะหาเงิน ถ้าจะต่อยอดชีวิตตัวเอง และเลี้ยงดูชีวิตของตัวเองรอดได้มันต้องเข้าไปในเมืองใหญ่ก็เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่”  จากลูกอีสานเดินทางสู้งานในเมืองใหญ่ คุณตั้มเล่าว่าตัวเองมีความรู้ในด้านที่เรียนมาคือภาษาอังกฤษ จึงทำงานที่แรกคือ บริษัทโลจิสติกส์แห่งหนึ่งที่เป็นบริษัทด้านขนส่งระหว่างประเทศ ก่อนที่หลังจากนั้นต้องเปลี่ยนงานมาสู่การทำงานใน สถานทูตแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่ก็ค้นพบว่างานเหล่านี้ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเขา “ในเมืองใหญ่ มันจะมีวิถีชีวิตอีกแบบ รู้สึกเกิดความเครียดเมื่อเกิดความเครียดในการทำงานก็รู้สึกอยากหาทางออก ทางออกที่ดีที่สุดคือ การกลับบ้าน”

บ้านคือความสุข แต่บ้านยังมีหนี้

“ทุกครั้งที่กลับมาบ้านมาพูดคุยกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง จะสัมผัสได้ตลอดเลยว่าเขายังมีหนี้อยู่ตลอดเวลา ทำนาทั้งปีทั้งชาติก็จะพูดตลอดว่า เอาเงินไปใช้หนี้เงินกู้ มันเลยมีความคิดติดอยู่ในใจเราเสมอว่า หากเขาไม่ต้องกังวลเรื่องในแต่ละวันต้องหาเงินไปใช้หนี้ มันจะดีแค่ไหน”  คุณตั้มเล่าในท่าทีที่จริงจังในทุกคำพูดถึงความจริงที่ทุกครั้งเมื่อเขาเดินทางกลับบ้านจากความเครียดที่ได้รับจากแรงกดดันในเมืองใหญ่ แต่ก็ต้องมาพบกับปัญหาที่ยังไม่มีทางแก้ไขของคนทางบ้าน ที่ต้องยอมรับว่าทำเกษตรกรรมเพื่อใช้หนี้สิน นี่จึงเป็นจุดที่คุณตั้มเริ่มวางแผนการกลับบ้านอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก และเป็นการกลับอย่างมีความหมายและอยู่รอดได้ทั้งตัวเอง ครอบครัว และชุมชน

ค้นพบตัวเอง ได้แรงบันดาลใจจากการพบเจอและความชอบ

“จำได้ว่าไปเดินงานทุ่งศรีเมืองที่ จ.อุดรธานี ไปเจอแม่ค้าขายเสื่อเป็นเสื่อลายหมี่ขิด สวยมากๆ สวยแบบไม่เคยเห็นเสื่อที่ไหนสวยเท่านี้มาก่อน เป็นเสื่อลายหมี่ขิด ลายไทย สีน้ำเงิน จึงมาบอกแม่ว่าอยากทอเสื่อให้แม่สอนให้ได้ไหม แม่ก็บอกว่าจะมาทอเสื่อทำไม ทำไมไม่ไปทำงานในกรุงเทพฯ เหมือนเดิม ก็อธิบายให้แม่เข้าใจว่า เราอยากทำกระเป๋าจากเสื่อกก แม่ก็เลยตอบตกลง ลองดู” จุดเริ่มต้นของการสร้างกระเป๋าเสื่อกก จากความชอบส่วนตัวและการพิสูจน์ตัวตนในการลงมือทำ แต่ด้วยความโชคดีเพราะมีคุณแม่เป็นครูคอยสอนการทอเสื่อกก เนื่องจากที่บ้านก็ทอเสื่อกกอยู่แล้ว และในชุมชนก็มีหลายคนที่ทำอาชีพเดียวกัน

กระเป๋าเสื่อกกใบแรก จากเงินเก็บ 10,000 บาทต่อยอดอาชีพ

“การทำกระเป๋าจะเริ่มจากการทอเสื่อ ซึ่งการทอเสื่อก็มีหลายกรรมวิธีตั้งแต่ไปเก็บต้นกก นำมาผ่าและทำให้เล็กลง แล้วนำไปตากแห้งพอไปตากแห้ง จากนั้นก็มาย้อมสีแล้วนำมาทอ การทอเสื่อก็แล้วแต่ลาย พอเราได้เสื่อออกมา 1 ผืน ขั้นตอนต่อไปคือการออกแบบ ซึ่งก็เป็นคนออกแบบด้วยตัวเอง คือใช้ความคิดจินตนาการวาดออกมา เป็นกระเป๋าแฟชั่นผู้หญิงส่วนใหญ่ นำเสื่อกกที่ทอมาตัดเย็บกับหนังวัว” เราพูดคุยถึงวิธีการเกิดขึ้นของกระเป๋าจากเสื่อกก ตั้งแต่ขั้นตอนเก็บต้นกกมาทำเสื่อไปสู่กระเป๋า แต่ด้วยความที่คุณตั้มไม่มีประสบการณ์ด้านงานแฟชั่นดีไซน์มาก่อนหน้าเลยทำให้เกิดปัญหาในการสร้าง รูปแบบโครงสร้างกระเป๋า เมื่อรู้ตัวว่าไม่มีความรู้จึงตกลงเรียนรู้เรื่องการทำกระเป๋าหนังที่กรุงเทพฯ โดยใช้เงินเก็บที่มีไปเรียนต่อยอด หลังจากนั้นได้เดินทางศึกษาการออกแบบเพิ่มเติมที่ต่างประเทศ ทั้งการเขียนแบบ การออกแบบ การขายในตลาดออนไลน์ การสร้างแบรนด์ในแหล่งต่าง ๆ อีกหลายแห่งซึ่งเป็นข้อดีจากต้นทุนพื้นฐานภาษาอังกฤษและได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์มาก่อนหน้านี้ ทำให้รู้จักคนมากหน้าหลายตามากขึ้น โอกาสจึงเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

รายได้หลักแสนบาทถึงหลักล้านบาทต่อเดือนที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย

“ตั้งราคาไปใบแรกคือ 9,900 บาท ทำมาในช่วงแรกประมาณ 5-10 ใบ ขายหมดเกลี้ยง ตอนที่ขายได้บอกทุกคน ก็ไม่มีใครอยากเชื่อว่าขายได้ ใครจะซื้อราคาเทียบเท่ากับลูกวัว แต่มันก็ขายได้ รายได้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 500,000-1,000,0000 บาทต่อเดือน ยังไม่หักค่าใช้จ่าย”  ด้วยความมั่นใจของคุณตั้มที่เชื่อว่าสินค้าจากชุมชนอย่างเสื่อกก สามารถสร้างรายได้หลักพันถึงหลักหมื่นต่อกระเป๋า 1 ใบนั้นสามารถทำได้จริง เพราะเกิดจากการมองหากลุ่มตลาดและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันลูกค้าก็มีทั้งในประเทศไทยและคนไทยในต่างประเทศที่นิยมซื้อหากระเป๋าเสื่อกกไปใช้ โดยส่วนมากก็เป็นผู้ที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว

เมื่อยืนได้แล้วชุมชนต้องไปต่อได้ด้วย

“จากงานอดิเรกทอเสื่อไว้ปูนั่ง ตอนนี้ชาวบ้านก็มีรายได้หลักหมื่นบาทต่อเดือน สิ่งที่มันมีในชุมชนนั้นแต่ละคนแต่ละชุมชนมีทักษะ มีวิชาชีพ มีความรู้ ของดีที่ที่อื่นไม่มี สิ่งนี้แหละที่เป็นเหมือนเพชรฝังอยู่ในแต่ละชุมชนขึ้นอยู่กับว่าคนรุ่นใหม่อย่างเราจะมองเห็นเพชรตรงนั้นไหม จะสามารถขุดมันขึ้นมาเจียระไนให้มันเป็นเพชรเม็ดงามในสังคมได้ไหม”  ปัจจุบันมีชาวบ้านจาก จ.อุบลราชธานี จ.มหาสารคาม และ จ.อุดรธานี ที่ทอเสื่อกกเพื่อส่งทำกระเป๋าเสื่อกกเป็นประจำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการต่อยอดจากงานฝีมือในชุมชนที่มีอยู่แล้วให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นโดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์งานจากสิ่งที่มีในท้องถิ่นอย่างเสื่อกกที่เกิดจากเสื่อธรรมดาสู่กระเป๋าที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชนและชาวบ้าน

พาความสุขกลับบ้าน ลูกอีสานคืนถิ่น

“ถ้าไม่ได้เติบโตมากับกองขี้ควาย ทุกวันนี้เติบโตมาก็จะไม่ได้เป็นคนมีความคิดและความสุขแบบนี้ ความสุขที่มีได้ทุกวันนี้ไม่ใช่ความสุขจากการที่ได้ไปอยู่ที่เมืองใหญ่ มันมีมาจากเบื้องลึกในจิตใจที่เวลาเรากลับบ้านมาเรามาอยู่ที่บ้านของเรารู้สึกว่ามีความสุข ภูมิใจที่มีแผ่นดินที่ให้เราอยู่ที่เรารู้สึกว่ามันเป็นบ้านจริง ๆ คืออีสานนี่แหละที่เป็นบ้านจริงๆ” ถึงแม้ยังไม่ได้กลับบ้านแบบจริงจัง เพราะต้องเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพและมหาสารคามอยู่บ่อยครั้งแต่ คุณตั้มก็รู้สึกได้ว่าในไม่ช้านี้เขาจะกลับบ้าน เพราะทุกครั้งไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็โหยหา “บ้านนอก” ซึ่งเป็นบ้านเกิดและรากเหง้าของลูกอีสานเพราะแผ่นดินนี้ทำให้เขาเข้มแข็งและเรียนรู้ที่จะแบ่งปันช่วยเหลือ และหลีกหนีจากความ “ไม่มี” ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของลูกอีสานในบ้านเกิด อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ