การมาของโรคระบาดที่ถูกเรียกว่า โควิด-19 ระลอกใหม่นี้ เป็นอีกปัจจัยที่เร่งเร้าให้ระบบเศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะไม่ต่างจากอาการป่วยที่เกิดจากโรคระบาด สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ การเลิกจ้างงานในภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการเลิกจ้างงานในภาคอื่น ๆ แน่นอนครับว่า การเลิกจ้างงานย่อมส่งผลโดยตรงกับแรงงานซึ่งส่วนใหญ่ มาจากต่างจังหวัด เมื่องานที่เคยทำไม่มีแล้วเป้าหมายต่อไปของกลุ่มแรงงานเหล่านี้คือการ กลับบ้าน คำถามที่ตามมาคือ กลับบ้านแล้วจะไปทำอะไร มีงานรองรับไหม หรือจะประกอบอาชีพอะไร นี่เป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบได้ แต่ที่เราเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลับแรงงานหลาย ๆ คนที่กลับบ้าน คือ การมีทุนสักก้อนมาลงทุนประกอบธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการในบ้านเกิด
อีกเช่นเคยครับ วันนี้ ชีวิตนอกกรุง ได้นำเอาอีกหนึ่งโมเดลการเป็นผู้ประกอบการในเมืองภูมิภาคมาเป็นทางเลือกในการดำเนินธุรกิจของคนตัวเล็ก ๆ ทุนน้อย ๆ สายป่านไม่ยาว แต่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไรมาฝาก วันนี้เป็นเรื่องของชุมชนที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันระหว่างเพื่อน ๆ ที่มีความชื่นชอบงานทำมือ จนเกิดเป็นหมู่บ้านคราฟต์ขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่และได้รับการตอบรับจากกลุ่มลุกค้าคนรุ่นใหม่ หรือคนที่สนใจในงานศิลปะ งานสินค้าจากฝีมือและธรรมชาติ ในชื่อที่หลายคนอาจจะรู้จักว่า Columbo Craft Village ชุมชนคนคราฟต์ ที่ตั้งอยู่บนถนนโคลัมโบ ด้านหลังมหาวิทยาลัยขอนแก่น
แรกๆ เลยเรามีกลุ่มแก๊งกันทำงานคราฟต์อยู่แล้ว งานศิลปะแล้วก็ออกไปขายตามงานอีเวนท์งานที่เชียงใหม่ ที่กรุงเทพฯ ต่างจังหวัดเราจะออกเดินสายไปด้วยกัน 4 – 5 คน ช่วงนั้น ไปบ่อย ๆ มันรู้สึกว่าสนุก แล้วเรากลับมามองที่ขอนแก่นว่ามันยังไม่มีชุมชนอะไรแบบนี้เกิดขึ้นแบบจริง ๆ จัง ๆ ก็เลยชวนกัน เรามาทำร้านไหม เช่าที่แล้วก็ทำเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขึ้นมา
นี่คือคำอธิบายที่มาของชุมชนคราฟต์แห่งนี้จากการพูดคุยกับ พี่เบ๊ะ ชาญณรงค์ เหลวกูล สมาชิกโคลัมโบคราฟต์วิลเลจ ที่เริ่มต้นเล่าให้ทีมงานชีวิตนอกกรุงฟัง ซึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันนั้นเพราะก่อนหน้านี้สมาชิกแต่ละคนก็จะมีหน้าร้านอยู่คนละที่ จ่ายค่าเช่ากันในราคาที่สูง 7,000-8,000 บาท ต่อเดือน และกำลังจะย้ายร้านกัน จึงชักชวนกันมารวมกันทำชุมชนนี้ขึ้น ด้วยความคิดเริ่มต้นที่อยากจะให้การประกอบการของกลุ่มเพื่อน ๆ มีต้นทุนที่ต่ำ รุ่นน้อง เพื่อนหลาย ๆ คนอยากมีร้านใหญ่ ๆ เลย เปิดร้านกาแฟ ทำเต็มที่ลงทุนเป็นล้าน อยู่ได้ 3 เดือนไม่มีลูกค้า มีเงินลงทุนจริงอยู่ แต่มันจะเครียดถ้าสายป่านยาวโอเครอยู่ได้ แต่ถ้าสายป่านไม่ยาวนี่ลำบากแน่นอน
“พวกเราสายป่านไม่ยาว แต่เรารู้ว่าเราทำอะไรได้ เราก็ต้องหาพื้นที่ที่สามารถซับพอร์ตตัวเราได้ เราจะรู้ตัวเองว่าเราทำอะไรได้”
อันดับแรกคือต้นทุนให้มันถูกก่อน อย่าไปบีบคั้นตัวเองด้วยการใช้พื้นที่ที่มันแพง ๆ แล้วเราก็จะหมดแรงกับการปั่นเงินมาจ่ายค่าเช่า หมดแรงไป ผลงานหรือสินค้า เมื่อก่อนอาจจะทำเองขายเอง ตอนนี้ไม่ทันแล้วก็จะไปรับมาขาย กลายเป็นรับมาขายไป ตัวตนที่คุณจะเป็น Artist คุณจะเป็นคนทำคราฟต์มันก็จะค่อย ๆ ถอยไป ระบบทุนนิยมมันก็จะกลืนเราไปจริง ๆ เลยคราวนี้
ชุมชนคราฟต์แห่งนี้ นอกจากเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันเพื่อให้ได้ต้นทุนในการประกอบการที่ต่ำแล้ว ความหลากหลายของร้าน และความหลากหลายของความคิด คืออีกหนึ่งผลลัพธ์ที่นำมาซึ่งความสำเร็จของชุมชนคราฟต์แห่งนี้ครับ
ชุมชนในที่นี้ผมไม่ได้อยากให้ หมายถึง แค่เรื่องพื้นที่ที่เราเหยียบอยู่นะครับ มันหมายถึงชุมชนทางความคิดด้วย เพราะว่าบ้านเราอาจจะมีพื้นที่อันจำกัด แล้วมันก็แพงเกินกำลังของใครหลาย ๆ คนที่อยากจะเริ่มต้นอะไรบางอย่าง
เป็นเสียงที่ถูกส่งมาจากโต๊ะไม้เล็ก ๆ ที่มีฉากด้านหลังเป็นร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่มีต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่นของ พิชิต ชัยสิทธิ์ ชื่อเล่นไนซ์ เจ้าของร้านหนังสือเล็ก ๆ ของชุมชนคราฟต์ ได้กล่าวกับชีวิตนอกกรุง เพื่อเสริมวิธีคิดของกลุ่มให้ชัดเจนขึ้นในวงสนทนา ด้วยพื้นที่จำกัดครับ หนังสือมันก็จะเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่จำกัดก็อยากให้มันเป็นห้องเล็ก ๆ ดูอบอุ่น ๆ น่ารัก ๆ ครับ ด้วยความที่ตัวเองเคยไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วก็ได้ Inspiration บางอย่าง ให้มันดูเรียบง่ายจากการใช้พื้นที่ที่มีจำกัดแต่ว่าใช้ประโยชน์ให้มันได้มากที่สุด
“พยายามทำเองหมดเพื่อลดต้นทุน อย่างนี้ก็ซื้อไม้เองแล้วก็ทำเองเลย หนังสือหลัก ๆ ก็จะเป็นหนังสือวรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมแปล แล้วก็ทฤษฎีและการเมืองอยู่บ้างเล็กน้อยแล้วก็จะมีงานที่ Soft หน่อย อย่างเช่นงานการ์ตูนงานวาดพยายามที่จะเอาความอาร์ตความเป็นศิลปะความ เบา ๆ นุ่ม ๆ Soft power บางอย่างเข้ามาแทรกด้วย”
พิชิต ชัยสิทธิ์ ชื่อเล่นไนซ์ เจ้าของร้านหนังสือ
ขณะที่ร้านเซรามิกของสองสาวดูโอ้ ก็มีวีการอีกรูปแบบครับ โดยเน้นที่การมีส่วนร่วมของลูกค้าเป็นหลักเพื่อสร้างประสบการร่วมให้เกิดความภาคภูมิใจในฝีมือของตัวเองครับ “ส่วนใหญ่จะเน้นเวิร์คช็อปเหมือนเปิดให้เห็นกระบวนการ มันทำให้เขารู้สึกดีกับสิ่งที่เขาทำเหมือนเห็นค่ามันมากขึ้น เราก็ดีใจเหมือนกันเพราะว่าเวลาเราทำงานอาร์ต แบบนี้มันก็มีหลายครั้งที่ทำแล้วก็ทิ้ง” บทสนทนาสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างชีวิตนอกกรุงกับ นพมาส จุลกิจถาวร เจ้าของร้านเซรามิกในชุมชนคราฟต์แห่งนี้ครับ
ในพื้นที่ราว 1 งานเศษ ของโคลัมโบคราฟต์วิลเลจแห่งนี้ ประกอบไปด้วยร้านกาแฟ ร้านเซรามิก ร้านปักผ้า ร้านงานไม้ ร้านขนมหวาน ที่พักสำหรับผู้มาเยือนและศิลปินที่เข้ามาแวะเวียนอีก 1หลัง ซึ่งพวกเขาเรียกว่า บ้านหอยทาก โดยแต่ละร้านก็จะมีวิธีการดำเนินงานที่แตกต่างกันตามสไตร์ของตัวเอง แต่คงไว้เรื่องแนวคิดและเรื่องความเป็นงานฝีมือ ที่สำคัญคือต้นทุนที่ต่ำครับ การอยู่รวมกันของร้านประกอบการที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละร้านมีรูปแบบ สินค้า บริการที่ไม่เหมือนกัน ผู้ประกอบการของชุมชนคนคราฟต์แห่งนี้ พวกเขาไม่ได้มองว่าเป็นการแข่งขัน แต่เป็นรูปแบบที่คอยส่งเสริมให้กันและกันมากกว่าและช่วยให้มีลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้นครับ
: ไม่มองเพื่อน ๆ ว่าเป็นคู่แข่ง แต่เป็นคู่คิด คู่ค้าที่หนุนเสริมกัน
พี่เบ๊ะ : มากินกาแฟก็มีงานอาร์ตดู มีงานไม้ดู อาจจะไม่อยากได้หรอกแต่พอมาเจอปุ๊ปมันมาอยู่ในบริบทที่มันคลิกมันพอดี ก็อาจจะได้ขายงานไม้ด้วย อาจจะได้แก้วสักใบกับไปด้วย นอกจากจะได้กาแฟ อย่างผมได้งานเซรามิคมาก็โยนให้น้อง น้องจะทำเฟอร์นิเจอร์ จะตกแต่งบ้านด้วยก็โยนมาให้ผม กลายเป็นแบบว่าเกื้อกูลกัน
พี่ไนซ์ : ความหลากหลายมันทำให้เกิดสิ่งใหม่เสมอครับถ้าเราอยู่โดดๆคนเดียวมันจะรู้สึกว่ามันเป็นรูปแบบเดิมในเชิงธุรกิจเดิม แต่ธุรกิจในรูปแบบใหม่เราก็ต้องพยายามมองว่ามันเอื้อต่อกันเสียมากกว่า ซับพอร์ตกันได้
:มองโอกาส วิเคราะห์ตลาดของตัวเองให้ได้
พี่เบ๊ะ : ผมคิดว่าถ้าคนมีความคิดอยากจะทำผมว่ามีไอเดียแน่นอนมีความคิดมีความพร้อมทุกอย่าง คือเงินด้วยแต่สายป่านใครมันยาวไม่เท่ากัน ถ้าเราไปลดต้นทุนเรื่องค่าเช่าผมว่าค่าใช้จ่ายให้มันถูกก่อน อาจจะไม่ต้องมาเช่าอย่างก็ได้ไปอยู่บ้านตัวเองก็ได้แต่คุณต้อองทำให้มันเยอะขึ้นไปอีกเพราะมันอยู่ไกลคน เราก็ต้องทำพยายามโปรโมท ทั้งทางช่องทางโซเชียลมีเดียทั้งเจอพบปะผู้คนต้องทำ ถ้าเรายิ่งอยู่ไกลพื้นที่ความเจริญมากเราต้องรีบโปรโมทตัวเองให้มากขึ้นแล้วก็ลดต้นทุนก่อนอันดับแรก
“คนจะรู้ว่าถ้าเราจะหางานประมาณนี้ อยากทำงานเวิร์กช็อปก็ต้องไปโคลัมโบ มีสอนทำเวิร์กช็อป เรียน เสาร์อาทิตย์สอนเด็ก สอนดนตรี ผมว่าตอนนี้มันกลายเป็น Life style ของคนขอนแก่นไปแล้วว่าว่าง ๆ ไม่ไปเดินห้างแล้วก็ต้องไปเวิร์กช็อปไปกินกาแฟในโคลัมโบไปซื้องานศิลปะไปเสพศิลปะ ผมว่ามันตอบโจทย์ได้ เมื่อก่อนไม่มีนะครับขอนแก่นค่อนข้างที่จะเงียบเหงาอยู่”
การเปลี่ยนแปลงจากสังคมแบบเก่าสู่การเป็นผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันนั้น ความสำคัญคือการสร้างเครือข่ายภายใน หรือเครือข่ายที่เป็นกลุ่มที่รักในสิ่งเดียวกัน ซึ่งจะเป็นทั้งกำลังใจ สร้างรายได้ และช่วยกันประคับประคองกิจการของทุกคน ขอส่งแรงใจไปถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทั่วทุกจังหวัดที่เพิ่งกลับบ้าน หรือกำลังเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้นะครับ