อยู่แบบไหนถึง ไร้ไฟ ไร้ฝัน? 5 ความจริงในหุบเขา ภาคต่อพิมรี่พาย …

อยู่แบบไหนถึง ไร้ไฟ ไร้ฝัน? 5 ความจริงในหุบเขา ภาคต่อพิมรี่พาย …

แม้คลิป “บนดอยไร้แสงไฟ” ที่ยูทูปเบอร์ชื่อดัง พิมรี่พาย ปล่อยออกมาจนสร้างความไวรัลสั่นสะเทือนสังคมหลายแง่มุม   แต่ด้วยความยาวคลิปเพียง 10 นาที กับคอนเซ็ปต์เนื้อหาที่มีเป้าหมายเล่าถึงการมอบของขวัญให้กับเด็ก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้า และซื้อทีวีจอยักษ์ให้เด็กได้ดูเพื่อเรียนรู้อาชีพนอกหุบเขาและมีความฝัน ย่อมไม่อาจอุ้มความเป็นจริงที่คนบนพื้นที่สูงเป็นอยู่และเผชิญได้ทั้งหมด 

อย่างไรเสีย เจตนาของเธอและความปังของคลิปก็มีคุณูปการคือการเปิดความสนใจใคร่รู้ ชีวิตความเป็นอยู่บนดอยสูง

อยู่แบบไหน คนจำนวนหนึ่งบนดอยสูงถึงต้องไร้ไฟ ไร้ความฝัน? อะไรตรึงพวกเขาเหล่านั้นไว้ และความฝันที่เขาอยากผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนคืออะไร TheCitizenPlus สรุป 5 ความจริงเพื่อเราเข้าใจทั้งพื้นที่ และสถานการณ์ในหุบเขามาตามนี้

1.ที่สุดที่อมก๋อย

พิกัดที่ พิมรี่พายขึ้นไปคือ บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ นอกจากจะกลายเป็นเรื่องที่ดราม่าที่สุดในตอนนี้แล้ว ที่นี่ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นที่สุด

อมก๋อยเป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ห่างไกลจากตัวเมืองกว่า 300 กม. และห่างจาก กทม.เกือบ 900 กม.  เรื่องความสูงเสียดฟ้าที่นี่เป็นที่สุดไม่เป็นรองใคร พื้นที่กว่าร้อยละ 80 เป็นเขาสูง เป็นที่รู้กันดีของนักนิยมธรรมชาติว่า การไปตามหากวางผา และกุหลาบพันปีที่ดอยม่อนจองซึ่งสูงกว่า 1,929 เมตรจากน้ำทะเลที่อมก๋อยคือสุดยอดความฟิน 

ที่นี่ยังมีชุมชนลัวะโบราณ และหมู่บ้านในหุบเขาของพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่คงวิถีชีวิตดั้งเดิมด้วยการทำไร่หมุนเวียนมากที่สุดในประเทศไทย ที่นี่ยังเป็นที่สุดของการทำนาขั้นบันไดและใช้ช้างไถนาเพียงแห่งเดียวในโลก อมก๋อยยังเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟมากที่สุดของชียงใหม่ก็เป็นอีกสุดยอดกาแฟพรีเมียมที่คอกาแฟปรารถนา และที่สำคัญปีที่ผ่านมา ที่นี่ยังเป็นที่สุดของความร้อนแรงของการต่อสู้คัดค้านการเปิดเหมืองแร่ถ่านหิน เชื่อว่าภาพของผู้เฒ่าผู้แก่ชนเผ่าและเยาวชนจากบ้านกะเบอะดิน เดินขบวนคัดค้านเหมืองและติดตามอย่างเกาะติด ยังติดตาใครหลาย ๆ คน และอีกที่สุดที่อมก๋อยที่กำลังคุกรุ่นในพื้นที่ คือ ไกลเช่นนั้น ที่นี่ยังอยู่ในแนวการก่อสร้างโครงการ อุโมงค์ผันน้ำจากน้ำยวมแม่ฮ่องสอนผ่านอมก๋อยเพื่อไปสู่เขื่อนภูมิพล   

2. หมู่บ้านตามหาแสงยังมีอีกเยอะ

แสงสว่างจากโซลาร์เซลล์ ในลักษณะที่พิมรี่พายมอบให้บ้านแม่เกิบ คือ ทางออกของการมีพลังงานไฟฟ้าของหมู่บ้านบนดอยสูงและห่างไกลอีกหลายๆหมู่บ้าน ต้องไม่ปฏิเสธว่ายุค 4.0 แต่บ้านที่ไร้แสงไฟยังมีอยู่จริง การขยายเขตไฟฟ้าเข้าไปในที่สูงและเขตป่า เต็มไปด้วยเงื่อนไขทั้งด้านกฏหมาย และแง่มุมด้านคุ้มค่าการลงทุน 

นอกจากบ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อยแล้ว ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่แทรกตัวอยู่ในหุบเขาและมีลักษณะไม่ต่างกัน เช่นที่บ้านแม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  ปี 2561 ชาวบ้านกว่า 12,000 คนใน 12 หมู่บ้าน จาก 17 หมู่บ้านใน ต.แม่ศึก มีแสงสว่างที่บ้านอย่างริบหรี่จากแผงโซลาร์เซลล์ที่ได้รับติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2548 แต่อุปกรณ์ชำรุดไปนานแล้ว และอีกหลายบ้านที่ไม่มีแสงไฟ ในช่วงปีเดียวกัน มีข้อมูลว่าอีก 291 แห่งทั่วประเทศที่การขยายเขตไฟฟ้ายังไปไม่ถึงต้องใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์ โดยอยู่ในภาคเหนือ 247 หมู่บ้าน  ภาคใต้ 38 หมู่บ้าน ภาคอิสาน 3 หมู่บ้าน ภาคกลาง 3 หมู่บ้าน  และหมู่บ้านที่ไม่มีทั้งไฟฟ้าสักระบบเลยมี 2 หมู่บ้านใน จ.กาญจนบุรี

ชวนดูคลิป ตามหาเเสงที่เเม่ศึก https://www.facebook.com/watch/?v=2017538715240498

อันที่จริง การใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์ คือพลังงานสะอาดที่อาจสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ หากทั่วถึงและต่อเนื่อง เมื่อปี 2548 “แผงโซลาร์เซลล์”ได้เคยถูกนำมาติดตั้งในครัวเรือนของหมู่บ้านลักษณะนี้ตามนโยบายรัฐบาลยุคนั้น แต่ 15 ปีผ่านมา เกิดปัญหาอุปกรณ์เสื่อมสภาพ เก็บไฟไม่ได้ และส่งมอบให้ อบต.ดูแล แต่เมื่อจะต้องซ่อมแซมก็เป็นราคาที่ต้องจ่ายซึ่งค่อนข้างสูงกับรายได้และสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  เช่น แบตเตอรี่ที่มีอายุ 2-4 ปี เมื่อจะต้องเปลี่ยนก็ต้องควักเงินส่วนตัวราคาประมาณ 3,000 บาท อุปกรณ์บางตัวที่หากต้องอาศัยช่างมาซ่อมแซมจะคิดราคาสูง  และแม้ผู้นำชุมชน หรือ อบต.จะทำเรื่องใช้งบประมาณของท้องถิ่นเข้าจัดการซ่อมแซมบางส่วนก็ถูกติงว่าผิดระเบียบและไม่ใช่อำนาจหน้าที่ เพราะมีหน่วยงานพลังงานจังหวัดอยู่แล้ว  ชาวบ้านจำนวนหนึ่งต้องอยู่กับสภาพแสงริบหรี่ หรือมีก็เหมือนไม่มีเป็นเวลานาน ยังดีที่หากเป็นพื้นที่อาคารหน่วยราชการ โรงเรียน โรงพยาบาลในจุดที่ไม่ไฟฟ้ามาตามสาย  ก็จะมีแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ ที่กรมพลังงานพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานไปติดตั้งบ้าง  มหาวิทยาลัย วิทยาลัยเข้าไปสนับสนุนติดตั้งลักษณะงานวิจัยบ้าง ภาพที่ชาวบ้านจะมาชาร์จแบตไฟฉาย ชาร์จโทรศัพท์ หรือดูทีวีเป็นกลุ่มในโรงเรียน หรือหน่วยราชการ ก่อนที่จะกลับบ้านเมื่อแสงตะวันลับฟ้า เป็นเรื่องชินตาและชาชิน 

ชวนอ่านเพิ่มเติม “หมู่บ้านไร้เเสงในยุค 4.0

3.พื้นที่หวง (ห้าม) สาธารณูปโภคเข้า ?

“ไม่สามารถขยายเขตไฟเส้นให้ได้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่หวงห้าม”

ปี 2563 ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระบุว่าสามารถให้บริการไฟฟ้าประชาชน 74 จังหวัดทั่วประเทศคิดเป็น 99.98 % ของหมู่บ้านในปัจจุบัน แต่ยังมีหมู่บ้านที่ไม่สามารถขยายเขตระบบจำหน่ายไฟได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่หวงห้าม เช่น ไม่มีเอกสารสิทธิ  อยู่ในเขตป่าสงวน เขตอุทยานแห่งชาติ เขตทหาร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตลุ่มน้ำที่จะต้องทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ซึ่งเจ้าของหน่วยงานต้องอนุญาตก่อน และจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคมเข้าถึงสะดวกทุกฤดูกาล  ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้กับพื้นที่บนป่าเขาดอยสูงจำนวนมาก ที่ฤดูฝนแทบจะถูกตัดขาดและต้องใช้โซ่พันล้อจึงจะดั้นด้นเข้าถึง นอกจากนั้นการจะลงทุนสร้างสิ่งเหล่านี้ หน่วยงานจะมีวงเงินลงทุนที่กำหนดไว้  (ตัวเลขอ้างอิงอยู่ 50,000 ถึง 75,000บาทต่อครัวเรือน) ซึ่งหากครัวเรือนน้อย พื้นที่ห่างไกล  มีผลต่อการตัดสินใจในเชิงความคุ้มค่าของการลงทุน  

นี่คือเหตุผลที่ไม่ใช่เพียงแค่การปักเสาลากสายไฟฟ้าเข้าไปเท่านั้น สาธารณูปโภคอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นประปา  แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การจัดสรรทรัพยากรหลาย ๆ ลักษณะ ที่ไม่อาจเข้าถึงคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ (หวงห้าม) ลักษณะนี้ ซึ่งส่งผลต่อโอกาสของชีวิตอีกหลายกรณีตามมา  

 4.ไร้ไฟ ไร้ฝัน แล้วทำไมจะอยู่ที่นั่น ?

ไร้ไฟฟ้า (ปักเสา ลากสายเข้าถึง) หรือไร้ฝันเดียวกันกับคนพื้นราบ แต่ใช่ว่าคนบนดอยสูงจะไม่มีไฟ หรือฝันที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิในผืนดินและทรัพยากรดั้งเดิม 

พื้นที่ชุมชนบนยอดดอยสูงทางภาคเหนือ และชุมชนในเกาะต่าง ๆ ในภาคใต้จำนวนไม่น้อยที่ถูกระบุว่าประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ เขตอุทยานแห่งชาติ แต่ชาวบ้านยืนยันว่าอยู่มานานนับร้อยปี ซึ่งการประกาศดังกล่าวได้กลายเป็นการประกาศเขตอุทยานฯ ทับพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยของที่ชาวบ้านที่อยู่ดั้งเดิม รอการพิสูจน์ 

ขั้นตอนของการพิสูจน์สิทธิที่ยาวนาน บ้างแพ้คดี ส่งผลต่อการถูกไล่รื้อ และยิ่งเมื่อมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ยิ่งเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประชาชนก็ต้องการยืนยันในสิทธิ์การทำกินของชุมชนดั้งเดิม หลายครั้งเดินขบวนไปเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาลให้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย และ 5 ปีที่ผ่านมามีการรวบรวมคดีเกี่ยวกับทวงคืนผืนป่าถึง 46,000 คดี

ปัจจุบันพื้นที่ป่าของไทยมี102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่รัฐบาลมีนโยบายให้ประเทศไทยมีป่าร้อยละ 40 โดยให้เป็นป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 หรือคิดเป็น 80 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไปได้ประมาณ 71 ล้านไร่ เหลืออีก 9 ล้านไร่ที่รอการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติประมาณ 21 แห่ง ทั้งหมดมีชาวบ้านครอบครองทำกินอยู่ในพื้นที่ และถ้านับจำนวนประชาชนที่อยู่ในเขตป่าก็ราว 10 ล้านคน ที่ยังมีไฟฝัน ยืนยันจะอยู่ในแผ่นดินดั้งเดิมที่ทำกินเดิม       

5.รอวันมีสัญชาติ 

ถ้ายังจำได้เมื่อ 3 ปีก่อน กรณีสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี รอดชีวิตออกจากติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย พึ่งได้รับสัญชาติเพราะรัฐบาลพิจารณาให้

ปัญหาการยังไม่มีสัญชาติและสถานะทางทะเบียนของคนบนพื้นที่สูงเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น บางพื้นที่เป็นกลุ่มที่อพยพมาอยู่อาศัยในไทยนานกว่า 100 กว่าปีมาแล้ว บางพื้นที่ตกสำรวจเพราะพื้นที่ห่างไกล ไม่มีเอกสารทางกฎหมายใดๆ เพื่อใช้ระบุตัวตน ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ สถิติเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 พบว่าจำนวนบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล มี  479,943 คน

ไม่มีสัญชาติอยู่ในประเทศนี้ยากอย่างไร?

แน่นอนว่าการขาดหรือไม่ชัดเจนในสถานะทางทะเบียน นำมาซึ่งการขาดโอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิหลายอย่าง  เช่น สิทธิที่จะเข้าถึงการศึกษา  หรือกรณีการเดินทางออกนอกจังหวัดเพื่อเรียนต่อหรือทำงาน ต้องขออนุญาตเป็นรายครั้ง และในการทำงาน ก็น้อยมากที่สถานประกอบการจะจ้างคนที่ไม่มีบัตรประชาชน   ตลอดจนด้านการเข้าถึงระบบสุขภาพก็การรักษาพยาบาล ยิ่งในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ ไม่นับว่าที่อยู่อาศัยจะไกลและเดินทางลำบากด้วย

เหล่านี้ คือสถานการณ์ที่กลุ่มคนบนพื้นที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศต่างยังเผชิญหน้าอยู่กับโจทย์ใหญ่ในชึวิต ทั้งในเรื่องความเหลื่อมล้ำของการดำรงชีวิต เรื่องที่ดิน สิทธิในสัญชาติ การเข้าถึงระบบการศึกษาที่ ปัญหาการสูญหายของอัตลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรม สาเหตุล้วนมาจากกฎหมายและนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต

แต่พวกเขายังมี มีไฟ  และมีฝัน

ชนเผ่าพื้นเมือง 17 กลุ่มชาติพันธุ์จากทุกภูมิภาคได้มีการรวมตัวกันเป็น  “เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.)” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 รณรงค์ให้รัฐและสาธารณชนยอมรับและเคารพสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มาอย่างต่อเนื่อง และเปลื่ยนเป็นสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา กำลังอยู่ระหว่างการเขาชื่อยกร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ.

เพื่อหวังและฝันว่า เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ชนเผ่าพื้นเมืองเผชิญ และสนับสนุนผลักดันให้รัฐสามารถจัดทำนโยบาย ถอดสลักและวางแผนงานที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองอย่างแท้จริง เพื่อไปให้ถึงคุณภาพชีวิตที่ไม่เหลื่อมล้ำ และเป็นธรรมกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

การมอบเงิน สิ่งของ ช่วยเหลือกัน ย่อมเป็นสิทธ์ของแต่ละบุคคล มากหรือน้อยอยู่ที่กำลังและเจตนา ขณะที่การร่วมกันหนุนเสริมให้เกิดกติกาทางสังคมที่เหมาะสมและสอดคล้องลดความเหลื่อมล้ำ ก็เป็นอีกวิธีการเติมไฟ เติมฝันให้กัน ..

//////////////////////////

เชิญอ่าน

ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ…. (ฉบับเต็ม)

ผู้สนใจร่วมลงรายชื่อให้ได้ 15,000 รายชื่อ เพื่อร่วมเสนอร่างกม. ได้โดยเข้าชื่อตามเอกสารนี้

เอกสารเข้าชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ