หมู่บ้านไร้เเสงในยุค 4.0

หมู่บ้านไร้เเสงในยุค 4.0

ช่วนปรับทิศและคิดต่อ กับพลังทางเลือกที่จะเป็นทางรอด หากจะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนแม่ศึก

ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่เเจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งหมด 17 หมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการรับรองการแต่งตั้งถูกต้องจากกระทรวงมหาดไทยทุกคน

ตำบลแม่ศึก มีสภาพเป็นป่าและภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร การเดินทางไม่สะดวก ใช้เวลาเดินทางจากตัว อำเเม่เเจ่ม ราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง และพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเกือบทั้งหมด

นี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถที่จะส่งเสริมให้เกิดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า ประปา ร่วมถึงถนนหนทาง ที่ครอบคลุมเข้าถึงหมู่บ้าน

แม้ว่าในช่วงปี 2548-2549 มีนโยบายของรัฐ  ที่ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสในการรับรู้ข่าวสารและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการ “ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์” ให้กับชาวบ้าน

ตำบลแม่ศึกเป็นหนึ่งในพื้นที่นั้นที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายนี้  ทั้ง10 หย่อมบ้าน คือ บ้านพะเเอดู หมู่4 ,บ้านสะมอจาบน หมู่4, บ้านสะมอจอล่าง หมู่4 ,บ้านเเม่ออ หมู่8 ,บ้านแม่จุมสามใต้ หมู่14 ,บ้านแม่จุมสามใต้ หมู่14 ,บ้านขุนแม่นาย หมู่ 14 ,บ้านแม่นิงกลาง หมู่15 , บ้านแม่นิงใน หมู่15 และบ้านแม่ครองหมู่ 16 รวมมากกว่า 600 หลังคาเรือน

แต่สถานการณ์ตอนนี้ บ้านหลายหลังเจอปัญหาอุปกรณ์เสื่อมสภาพเร็ว ทั้งอินเวอเตอร์ แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งชาวบ้านที่ได้รับอุปกรณ์ ไม่มีความรู้ในการซ่อมแซม และเมื่อชาวบ้าน ทำเรื่องร้องเรียนมายังหน่วยงานท้องถิ่น (อบต.) กลับไม่สามารถช่วยเหลือได้ เนื่องจากผิดระเบียบราชการ

นายสันติชาติ ยิ่งสินสุวัฒน์ นายก อบต. แม่ศึก เล่าว่า ที่ผ่านมาทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก ได้มีความพยายามจะเเก้ปัญหาให้ชาวบ้านในระยะยาว คือ ประสานขอการไฟฟ้า นำสายส่งเข้ามาจ่ายไฟฟ้าให้ชาวบ้าน แต่ด้วยอุปสรรค์เรื่องพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวน คือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A  ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ หากจะดำเนินการ จะต้องมีการศึกษาผลกระทบ EIA ก่อน ตามมติ ครม. เรื่องการขอใช้พื้นที่ ซึ่งกระบวนการนี้ก็จะใช้เวลาไปอย่างน้อย 1ปี บวกกับงบประมาณในการศึกษาผลกระทบที่สูง ข้อเสนออีกทางของพื้นที่คือ พยายามศึกษาเรื่องพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานไฟฟ้าจากน้ำที่ไหลผ่านชุมชน และระบบโซล่าฟาร์ม ซึ่งอยู่ระหว่างการสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ซึ่งยังพอความหวัง

นายพะดึงวา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 15 บ้านแม่นิงใน ตำบลแม่ศึก บ้านของเขาเป็นหนึ่งใน 54 หลังคาเรือนของหมู่บ้านที่ได้รับการ “ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์” จากหน่วยงานรัฐ เมื่อปี 2548 ซึ่งตั้งแต่นั้นมา เขาและคนในครอบครัวให้แสงจากหลอดไฟเพียงหนึ่งหลอด ในการใช้ชีวิตยามค่ำคืน จนกระทังเมื่อปลายปี 2560 แสงนั้นได้หายไป เนื่องจากอุปกรณ์ได้เสื่อมสภาพ และไม่รู้ว่าจะซ่อมแซมอย่างไร และส่งซ่อมแซมที่ไหน เขาเล่าว่า จากครอบครัวเขา ยังมีอีก 50 ครอบครัวในย่อมบ้านนี้ที่เจอกับปัญหาอุปกรณ์เสื่อมสภาพเช่นเดียวกัน โดยทุกวันนี้เขาใช้แสงสว่างจากไฟฉาย ที่ฝากลูกชายนำไปชาร์ทแบตที่โรงเรียนของชุมชน ที่มีแหล่งจ่ายไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์อยู่ ซึ่งแต่ละคืนสามารถให้แสงสว่างได้ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

ด้าน นายศุภลักษณ์ ศรีตา อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐมีนโยบายเอาอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ มาติดตั้งให้กับชาวบ้าน วัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้ชีวิตตามวิถีประจำวันได้ เช่น ให้แสงสว่างย้ามค่ำคืน หรือ ชาร์ทแบตโทรศัพท์ โดยอุปกรณ์ที่นำมาติดตั้งนั้นมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน เช่น ตัวแผงมีอายุยาวสุดคือ 25 ปี แต่อุปกรณ์อื่นก็เสื่อมสภาพลงและมีอายุการใช้งานตามการบำรุงรักษา เช่น อินเวอเตอร์ชาร์เจอ แบตเตอรี่ หากชาวบ้านรู้และเข้าใจในการบำรุงรักษาเขาก็สามารถที่จะดูแลเองได้ หรือบางบ้านที่พอมีกำลังก็สามารถซื้อเปลี่ยนเองได้ แต่ที่สำคัญที่สุด คือการให้ความรู้ชุดการบำรุงรักษา พร้อมกับการหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นในชุมชน อย่างพลังงานน้ำ เข้ามาเสริมด้วย

การรอคอยที่จะมีไฟฟ้าใช้ของคนในหมู่ห่างไกล ไม่ใช่ว่าพวกเขาต้องการความสะดวกสบายอะไรใดๆ แต่เป็นการรอโอกาสที่พวกเขาควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม แสงสว่างในการอ่านหนังสือยามค่ำคืนของเด็กๆ แสงสว่างในการทำหัตถกรรมของกลุ่มแม่บ้านที่จะเป็นรายได้เสริมเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งแสงสว่างจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น

คุณผู้อ่านสามารถติดตามเรื่องราวการพูดคุยฉบับเต็ม ได้ในรายการ ThailandLive ฟังเสียงประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 20 พฤษภาคม 2561 เวลา 21.10 น. ทาง ThaiPBS ทีวีดิจิทัลหมายเลย 3

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ