เว้าสู่กันฟัง เป็นจั่งได๋ ถ้า…เรียนออนไลน์อีกรอบ พร้อมไป่น้อ ?

เว้าสู่กันฟัง เป็นจั่งได๋ ถ้า…เรียนออนไลน์อีกรอบ พร้อมไป่น้อ ?

โคโรน่าไวรัส 2019 หรือ ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมาตั้งแต่เมื่อปลายปี 2562  นับว่าเป็นอีกครั้งของการเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนในทุกระดับเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้หลายคนต้องดำเนินชีวิตด้วยความหนักหน่วงมาเกือบตลอดปี และการกลับมาระบาดอีกครั้งเมื่อช่วงปลายปี 2563 จึงเหมือนเป็นการซ้ำรอยแผลเดิมของหลายคนที่ประสบปัญหาจากการระบาดในรอบแรก หนึ่งในกลุ่มที่พบปัญหาอย่างชัดเจนก็คือกลุ่ม นักเรียน นักศึกษา ที่จะต้องปรับตัวกลับมาเรียนออนไลน์อีกครั้ง

ที่มาภาพ : ThaiPBS Media Stock

ถึงแม้จะผ่านการเรียนออนไลน์มาแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการศึกษาไทยกับการเรียนออนไลน์อย่างจริงจังทุกพื้นที่ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนพบปัญหาหลายอย่าง ทั้งประสิทธิภาพในการรับรู้เนื้อหา ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการเรียนออนไลน์อาจจะไม่ตอบโจทย์การศึกษาของผู้เรียนและผู้สอน ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นในสังคมหลายแง่มุม และจากการระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด หลายพื้นที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งจึงต้องปิดเรียน และปรับแผนการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์อีกครั้ง น่าสนใจว่า “พร้อมหรือไม่หากต้องกลับมาเรียนออนไลน์อีกครั้ง”

หลังจากหยุดยาวช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา สถานศึกษาหลายแห่งเริ่มประกาศให้นักเรียน นักศึกษา หยุดเรียน และเรียนออนไลน์แทน รวมถึงในพื้นที่ภาคอีสาน แม้จะอยู่ในพื้นที่ควบคุมสีเหลือง เช่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งในบางคณะที่มีนิสิต นักศึกษาจำนวนมาก ก็มีการปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ อย่างในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่จะมีสอบกลางภาค ประจำภาคเรียนที่ 2 ในช่วงวันที่ 4-16 มกราคมนี้ แต่ต้องปรับงดและเลื่อนการสอบออกไป โดยให้มีการเรียนการสอนออนไลน์แทน เนื่องจากนักศึกษาหลายคนเดินทางกลับบ้านในช่วงปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 64 นักข่าวพลเมือง C-site คุณสรายุทธ ดวงตา ปักหมุดรายงานมา เล่าว่า “เรียนออนไลน์วันเเรก ม.อุบล เลื่อนสอบกลางภาค เพิ่มมาตรการคุมเข้มเฝ้าระวังการระบาดโรคโควิด-19”  ทีมข่าวพลเมือง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ จึงประสานสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยคุณสรายุทธเล่าถึงความพร้อมของนักศึกษาที่มีประสบการณ์การเรียนออนไลน์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

บรรยากาศการเรียนออนไลน์วันแรกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักศึกษาหลายคนมีความพร้อมในการเรียนมากกว่าครั้งที่แล้ว เพราะผ่านการเรียนออนไลน์มาแล้วในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รอบแรก

“นักศึกษาหลายคนยังเชื่อว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนนั้นได้ประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากบางรายวิชามีการเรียนปฏิบัติด้วย การได้ลงมือทำจริงจะเป็นการเรียนรู้ที่ได้ประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร สำหรับการเรียนออนไลน์ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักศึกษา”

เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เริ่มพูดคุยเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนแบบออนไลน์ แม้จะยังไม่มีการประกาศหยุดเรียน แต่ก็ยังมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอเผื่อกรณีเร่งด่วน ทีมข่าวพลเมือง ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร. อนุชา โสมาบุตร รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเตรียมความพร้อมของการเรียนออนไลน์ครั้งต่อไปซึ่งครั้งก่อนหน้านี้ ในการหยุดล็อกดาวน์และเรียนออนไลน์ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ก็ได้วางระบบและเตรียมอุปกรณ์สำหรับนักศึกษาที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี โดยมีการถอดบทเรียนจากครั้งที่แล้วว่าการเรียนออนไลน์แม้จะสะดวกต่อการเรียนรู้ แต่ก็ไม่ได้ตรงตามเป้าหมายถึง 100% เพราะผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นไประหว่างเรียน อาจเกิดการเสียสมาธิได้  ส่วนอีกเรื่องของผู้สอนเองก็เตรียมแผนการสอนแบบออนไลน์ไม่ตรงเป้าหมายเท่าที่ควร ทำให้ผู้เรียนอาจเรียนรู้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

“ต้องบอกว่าเราเองเปิดให้นักศึกษาเรียนออนไลน์มานานแล้วครับ เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้เรียน คนภายนอกอาจไม่ค่อยรู้ แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดครั้งที่แล้ว เราก็เตรียมตัวได้เร็วพอสมควร แต่พอมาถอดบทเรียนดูแล้วมันก็อาจไม่ได้ผล 100% เพราะเด็ก ๆ เขาเรียนไปด้วยอยู่หอทำกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วย อีกอย่างการเรียนแบบออนไลน์ค่อนข้างแปลกใหม่และไม่ใช่ธรรมชาติของผู้เรียนที่นั่งอยู่ในห้องเรียน ครั้งนี้เราเลยเตรียมเพิ่มให้ความรู้เป็นที่ปรึกษาผู้เรียนแบบตลอดเวลา และ ให้ผู้สอนปรับแผนหลักสูตรที่เข้ากับออนไลน์มากยิ่งขึ้น”

ด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร แม้จะยังไม่ประกาศหยุดเรียน และปรับรูปแบบเรียนออนไลน์ แต่ก็เตรียมตัวรับมือหากเกิดการประกาศล็อกดาวน์กระทันหัน โดยก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยได้นำโมเดล “อาสาสอน” ที่ออกแบบมาให้นักศึกษาที่หยุดอยู่บ้านช่วงล็อกดาวน์ ได้ใช้องค์ความรู้เป็นพี่เลี้ยงช่วยสอนเด็ก ๆ ในชุมชนระหว่างเรียนออนไลน์ไปด้วย ครั้งนี้จึงมีการประกาศรับสมัครอาสาสอนอีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายมีคนเข้าโครงการอย่างน้อย 20 คน ในพื้นที่ต่าง ๆ

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า “พร้อมหรือไม่หากต้องกลับมาเรียนออนไลน์อีกครั้ง” ถึงแม้จะส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับชาวไทย ยังเป็นอีกช่วงเวลาที่ทำให้หลายคนได้เรียนรู้วิถีชีวิตใหม่ และหาแนวทางร่วมกันในการรับมือต่อภัยพิบัติและโรคระบาด เช่นเดียวกับการเรียนออนไลน์ ที่ไม่ใช่วิถีปกติที่ผู้เรียนและผู้สอนหลายคนคุ้นชิน แต่เป็นการเรียนรู้ใหม่และปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ