“คอมโควิด IHRI” เตรียมความพร้อม 93 ชุมชน ใน กทม.รับมือโควิดรอบใหม่

“คอมโควิด IHRI” เตรียมความพร้อม 93 ชุมชน ใน กทม.รับมือโควิดรอบใหม่

18 ม.ค. 2565 – จากการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน จัดตั้ง Community Isolation (CI) หรือการดูแลตนเองในระบบชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ในชุมชน 23 แห่ง เมื่อปี 2564 ล่าสุด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับโควิด -19 ระลอกล่าสุด ในปี 2565 จึงมีการทำความร่วมมือกับชุมชน 93 ชุมชน ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มเติม โดยมีการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้กับอาสาสมัครและผู้นำชุมชน เพื่อรับมือกับวิกฤติขาดแคลนเตียงที่อาจเกิดขึ้นได้

นิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษามูลนิธิเข้าถึงเอดส์ หนึ่งในทีมคอมโควิด IHRI (Community COVID Team) กล่าวว่า บทเรียนจากโควิดหลายละรอกที่ผ่านมา ทำให้ทีมงานอาสาสมัครมีความรู้และข้อมูลมากขึ้นในการเตรียมรับมือสถานการณ์ รวมไปถึงการวางแผนการทำงาน มีศูนย์บริการสาธารณสุขเข้ามาร่วมในการให้บริการประชาชนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในการประสานงานยังพบความสับสน ไม่เข้าใจกันในการทำงานอยู่ ซึ่งก็ยังคงต้องเรียนรู้และร่วมผลักดันกันต่อไป

ที่มาภาพ : https://www.hfocus.org/

ส่วนการเตรียมรับมือโควิด-19 ในระดับชุมชน ขณะนี้มีกระบวนการเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน 93 ชุมชน ในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ สร้างระบบการจัดการและอาสาสมัครในชุมชน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถดูแลตัวเองอยู่ในชุมชนได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ข้อมูลเรื่องการควบคุมโรคค่อนข้างชัดเจนขึ้น คือให้ผู้ติดเชื้อรักษาและมอนิเตอร์อาการ 10 วัน จากเดิม 14 วัน และให้มีการติดตามข้อมูลต่อเนื่องจนครบ 1 เดือน เพื่อดูว่าจะไม่มีลองโควิด (Long COVID) ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ติดเชื้อ 80-90 เปอร์เซ็นต์ไม่มีปัญหานี้ แต่หากมีอาการก็จะมีการติดตาม เพื่อส่งข้อมูลให้ สปสช.ต่อ

นิมิตร์ ให้ความเห็นว่า ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้การแพร่กระจายของโควิด-19 ยังอยู่ในภาวะควบคุมดูแลได้ เนื่องจากประชาชนต่างตระหนักในการดูแลและป้องกันตัวเอง ตอนนี้ไปเดินบนท้องถนนแทบไม่เจอใครที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวัน ถือว่าการประชาสัมพันธ์ที่บอกว่าหน้ากากอนามัยเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคนั้นได้ผล แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขกางแผนรับมือโควิดระลอกโอมิครอน โดยเปลี่ยนแนวทางรักษาใหม่มาเป็นการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) และรักษาตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) เป็นอันดับแรก เนื่องจากการระบาดของโรคในปัจจุบันยังไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา และเป็นการลดภาระการรองรับทางสาธารณสุขในประเทศ แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะทั้ง HI และ CI ต้องมีการเตรียมการ

นิมิตร์ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้จะใช้บริการของ Hospitel เพราะสะดวก และโรงแรมหลายแห่งเต็มใจให้บริการ เนื่องจากช่วยให้มีรายได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยว แต่หากเกิดภาวะวิกฤติเหมือนที่ผ่านมาจากเตรียมรับมือไม่ทันกาล การเตรียมความพร้อมล่วงหน้าทั้งความรู้ ความเข้าใจ และการใช้เครื่องมือต่าง ๆ จึงมีความสำคัญ

“สิ่งที่พวกเราพยายามทำ คือการบอกว่าบ้านแบบไหนก็ตามสามารถทำ HI ได้ แต่ต้องเข้าใจโรค และมีการสนับสนุนข้อมูลที่ดี ตอนนี้ชุมชนที่มีศักยภาพขยับทำ CI ทำเตียงไว้จำนวนหนึ่งไว้รองรับ ตรงนี้จะไปต่อได้หากมีการปรับองค์ความรู้ ให้ข้อมูล” ที่ปรึกษามูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

“พูดให้ตรงกัน ไม่สร้างความตื่นตระหนก CI HI เกิดขึ้นได้” นิมิตร์ ให้ความเห็น

ที่มาภาพ : https://www.hfocus.org/

ด้าน นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่าชุมชนได้เตรียมการทำ “CI ชุมชน” โดยใช้พื้นที่ศูนย์ประชุมที่ชาวบ้านทำกิจกรรมร่วมกันมาปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย หรือจะเรียกว่าเป็น HI ก็ได้ เป็นบ้านหลังใหญ่หน่อย เพราะ CI ในแบบของรัฐมีหลักเกณฑ์เยอะ ต้องติดต่อหน่วยงาน ใช้งบประมาณเยอะ ซึ่งชุมชนไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า HI หรือ CI ชุมชนต้องจับคู่กับสถานพยาบาล ที่จะมาช่วยในการดูแลรักษาและต้องอาศัยงบประมาณ ซึ่งจากการทำงานในปีที่ผ่านมา พบว่าสถานบริการทางการแพทย์บางแห่ง อย่างพริบตาคลินิกที่ดูแลคนไม่มีบัตรรับรองสถานะและแรงงานข้ามชาติ ยังติดปัญหาเบิกจ่ายล่าช้าในส่วนของงบประมาณจากกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลในส่วนนี้

นพพรรณให้ความเห็นว่าเรื่องกระบวนการเบิกจ่ายนี้น่าจะมีการเตรียมการได้เร็วขึ้น เพื่อการรับมือในภาวะวิกฤติ

“ตอนนี้ไม่ประเมินแล้ว เราใช้มาตรการเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด” นพพรรณ กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ