เรื่องเล่าจากหัวใจพลเมืองนักสื่อสารในสถานการณ์โควิด

เรื่องเล่าจากหัวใจพลเมืองนักสื่อสารในสถานการณ์โควิด

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ตรงไหนเมื่อโควิด-19 เข้ามา พลเมืองลุกขึ้นมาสื่อสารใช่ไหม? เราจับมือกันสู้ หาทางออกไปด้วยกันอย่างไร?

กิจกรรมหนึ่งที่ทีมงานสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส ชวนเพื่อนพลเมืองนักสื่อสาร นักข่าวพลเมือง ถอดประสบการณ์​ จากทั่วประเทศ ทวนความคิดแล้วแบ่งปันเรื่องเล่า พร้อมภาพเท่ห์ ๆ ถึงการทำงาน การสื่อสาร บทเรียนและแนวทางการสื่อสารในสถานการณ์วิกฤตรวบรวมอยู่บน C-Site

แผนที่รวบรวมความเคลื่อนไหว #ชุมชนสู้โควิด ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
  1. คุณคือใคร ทำไมถึงต้อง “สื่อสาร” ในสถานการณ์โควิด?
  2. เรื่องหรือประเด็นสำคัญที่คุณลุกขึ้นมาสื่อสารคืออะไร ตอนนั้นทำอะไร สื่อสารผ่านช่องทางไหน?
  3. คุณได้เรียนรู้อะไร? และการลุกขึ้นมาสื่อสาร ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างไหม อย่างไร?
  4. พลเมืองนักสื่อสาร​ควรทำอะไรต่ออีกบ้าง?

จากข้อเขียนที่พลเมืองนักสื่อสาร ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราว กองบรรณาธิการรวบรวม #พลังสื่อมือสมัครใจ มาแบ่งปัน

 “นักผจญเพลิง ถิ่นภูธร”  กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม นักกู้ชีพ-กู้ภัย จ.ร้อยเอ็ด

ผมเป็นประชาชนจิตอาสาที่ทั้งทำงานราชการเกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณภัยและงานด้านกู้ชีพ-กู้ภัย ภาคเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ดครับ หากจะถามว่าทำไมต้อง “สื่อสาร“ ในสถานการณ์โควิด ผมต้องบอกอีกครั้งนะครับว่าผมเป็น นักกู้ชีพ-กู้ภัย ในจังหวัดร้อยเอ็ด และช่วงที่มีการระบาดหนัก ๆ ที่ผ่านมา มีประชาชนได้มาขอความช่วยเหลือ ให้ช่วยไปรับญาติพี่น้อง ที่ติดเชื้อ COVID-19 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ไม่มีโรงพยาบาลรักษา ผมจึงก็ได้เดินทางไปรับคนป่วยตามที่ประชาชนร้องขอมาเป็นเที่ยวแรก และรับกลับมารักษาที่ร้อยเอ็ดจำนวน 2 คน ทำให้ผมได้พบว่ายังมีพี่น้องคนจังหวัดร้อยเอ็ดอีกมาก ที่ต้องการความช่วยเหลือผมจึงต้อง “สื่อสาร“ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้พี่น้องคนร้อยเอ็ดที่ทำงานอยู่ต่างบ้านต่างเมืองได้รู้ว่า จังหวัดร้อยเอ็ดเรายินดีต้อนรับทุกท่านกลับมารักษาตัวที่บ้านเราครับ

สำหรับประเด็นสำคัญที่ผมลุกขึ้นมาสื่อสารคือโครงการ “พาคนร้อยเอ็ดกลับบ้าน” ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ผมทำขึ้นมาเพื่อที่จะรับคนร้อยเอ็ดที่ติดเชื้อ COVID-19 กลับมารักษาตัวที่จังหวัดร้อยเอ็ด “ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย“ เนื่องจากในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เตียงและสถานพยาบาลมีไม่เพียงพอในการรักษา  และตอนนั้นเองผมจึงได้เริ่มโครงการและได้เดินทางไปรับคนร้อยเอ็ด กลับมารักษาได้วันละประมาณ 20-30 คนโดยการขับรถพยาบาล จากจังหวัดร้อยเอ็ดเข้ามารับผู้ป่วยในกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งไปและกลับทุกวัน ซึ่งมีระยะทางทั้งขาไปและขากลับมากว่า 1,300 กิโลเมตรต่อเที่ยวครับ 

ต่อมาทางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยสาธารณสุขจังหวัดได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้และช่วยค่าใช้จ่ายในโครงการ ส่วนหนึ่งพร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่เป็น “เมือบ้าน101“ จึงทำให้ผมสามารถนำผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่เป็นคนร้อยเอ็ดกลับมารักษาตัวที่บ้านเราได้มากถึงวันละ 230 คนต่อวันโดยใช้รถบัส จนสิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 รวมแล้วผมสามารถรับคนกลับมารักษาตัวที่จังหวัดร้อยเอ็ดได้ถึง 5,100 คนครับ 

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการลุกขึ้นมาสื่อสารในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้ได้รู้ว่าคนร้อยเอ็ดไม่ทิ้งกัน อีกทั้งคนร้อยเอ็ดที่ทราบข่าวยังคอยช่วยสมทบทุนในการทำโครงการ และเป็นกระบอกเสียงให้คนป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือได้รู้ช่องทางการติดต่อกับผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อจะได้เร่งเข้าให้การช่วยเหลือเค้าเหล่านั้นอย่างรวดเร็วครับ หากถามเพิ่มเติมว่าการสื่อสารในครั้งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างนั้น บอกได้คำเดียวครับว่า “เปลี่ยนแปลงมาก” เปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนที่มองว่าไม่มีใครคอยช่วยเหลือให้ได้รู้ว่าท่านยังมีเรา และยังเปลี่ยนแปลงมุมมองว่า “สังคมทุกวันนี้ต่างคนต่างอยู่“ ให้รู้ว่าพวกเราอยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย หากมีวิกฤตหรือภัยพิบัติเกิดขึ้น ทุกคนพร้อมออกมามีบทบาทช่วยเหลือซึ่งกันและกันทุกเมื่อ

พลเมืองนักสื่อสารควรทำอะไรต่ออีกบ้าง? จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผมได้รู้ว่า การเป็นพลเมืองนักสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งเป็นหนึ่งอย่างที่จะให้ให้ประชาชนได้รู้ข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วเพื่อเป็นการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ และยังได้ทราบถึงช่องทางการขอความช่วยเหลือเมื่อตนเองต้องการความช่วยเหลือในภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อครับ

“พลเมืองนักสื่อสาร“ ควรที่จะหมั่นในการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว จะได้เตรียมรับมือหรือยื่นมือมาร่วมกันช่วยเหลือสังคมต่อไปครับ 

ชาญณรงค์ ภัทรมานนท์ ครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น  

“แม้โควิดยังอยู่ แต่ปากท้องเด็กๆก็ต้องรอด แม้เด็ก ๆ โนนชัย ต้องเรียนออนไลน์ แต่โรงเรียนยังเดินหน้าต่อเรื่องปากท้องของเด็กๆ  ที่สำคัญ วิชาบูรณาการที่มีการต่อยอดมาจากบทเรียนกินได้กับข้าวหลากสีที่จะมีการต่อยอดไปสู่การนำพาการเรียนรู้เรื่องของปากท้องต้องรอดที่ชวนนักเรียนหันกลับมาเรื่องของ ปลูกอยู่ ปลูกกิน ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจ ที่เกิดวิกฤตมาก และมีผลกระทบกับครอบครัวเด็ก ๆ” 

นักเรียนชั้น ม3 ที่กำลัง สร้างพื้นที่การเรียนรู้ learning space ในครอบครัว และจัดสรรพื้นที่ ในบ้าน ในการปลูกอยู่ปลูกกิน นอกเหนือจากนั้น ทางผู้บริหาร ท่าน ผอ.ทัศนี นุชนวลรัตน์ ยังเป็นผู้นำ ในการขับเคลื่อน พร้อมทีมนักการและ ฝ่ายบริหารทั่วไปที่ ขยับในเชิงนโยบายและเชิงพื้นที่เพื่อสร้าง learning space พื้นที่การเรียนรู้ และแหล่งต้นทุนทางอาหาร ที่มีความเชื่อมโยง ใน เมนู 10 อย่าง กับ 21 บาททุนอาหารกลางวันที่เป็นที่รู้จัก” 

วิศณ์ สภาเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ

“ผมทำงานเกี่ยวกับด้านการพัฒนาเกษตรกรมาเกิน 15 ปี ลงพื้นที่ตลอดในศรีสะเกษ เพราะเป็นจังหวัดที่ต้องตั้งใจมาเท่านั้น ถึงจะมาได้เยี่ยมยามกัน เพราะระยะทางมันไกลและติดแนวชายแดนกัมพูชา เรียกว่าไกลสุดกู่ 

วิกฤตโควิด ในช่วงแรกดูเหมือน มันจะห่างไกลจากตัวเกษตรกรมาก เพราะมันติดแค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในระลอกแรก สินค้าทางการเกษตรกรยังสามารถส่งจากมือเกษตรกร ไปถึงผู้บริโภค และผู้ประกอบการได้ เพราะยังไม่มีการล็อกดาว์กันทั้งเมือง ยังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ ระบบการแพทย์ยังรองรับ คนป่วยได้ ความตระหนกตกใจ ของสังคมยังไม่มี ระลอกแรกยังพอมีความหวังในการดูแลปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ส่งเป็นอาหารให้คนเมืองไป ถือว่าเป็นหน้าที่หนึ่งที่เกษตรกร สามารถช่วยสังคมได้ แม้เกษตรกรจะโดนเอาเปรียบมากมายทุกวิถีทาง แต่ก็ยังพอมีแรง และมีเม็ดเงินที่มาลงทุนต่อไปได้ 

ระลอกสามของไวรัสโควิดตามมา เริ่มมีการปิดเมืองกันเพราะติดกันเกือบทุกจังหวัด ห้ามคนข้ามจังหวัด วิกฤต ครั้งนี้ มันกระทบผลต่อเกษตรกรโดยตรง เพราะมีการสั่งห้าม ร้านขายอาหาร ทุกร้านปิดเกือบทั้งประเทศ เกษตรรายย่อยต่างๆ ที่เป็นสายธารการผลิตตั้งต้น ได้รับผลกระทบหมด เพราะไม่มีพ่อค้าจาก ต่างจังหวัดมาซื้อ ห่วงโซ่การเกษตรกรไทย มันใหญ่และซับซ้อนมาก มีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็นล้านๆคนผมก็พึ่งรู้ว่า มีเกษตรกรที่เลี้ยงกบในบ่อเป็นแสนตัวได้ ประสบปัญหา เพราะไม่สามารถ ส่งไปขายได้ เนื่องจาก ร้านลาบ ร้านส้มตำ ร้านอาหาร ที่ทำอาหารพื้นบ้านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอิสาน ภาคใต้ ทั้งในกรุงเทพ และจังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ ๆ โดนสั่งปิดหมด 

กบไม่ใช่อาหารของคนยากไร้มานานแล้ว แต่เป็นอาหารของคนคิดถึงบ้าน คนที่เคยมีชีวิตอยู่ในไร่นา คนที่เคยอยู่ในระบบนิเวศที่สมบรูณ์ ในชนบททั่วประเทศ ผัดเผ็ดกบ แบบภาคกลาง ต้มยำกบซดน้ำร้อนๆ หรือจะปิ้งย่างกินง่ายๆกับตำแตง ส้มตำ อาหารพื้นบ้านง่ายๆ แบบนี้ เมื่อเรากินที่กรุงเทพ หรือกินที่ภูเก็ต เมืองที่เราไปทำงาน ย่อมให้เราคิดถึงบ้านอย่างบอกไม่ถูก นั้นมันเลยเป็นคลิปแรกที่ส่งไปในฐานะนักสื่อสารพลเมือง คลิปที่สอง ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเกษตรกรอีกครั้ง เมื่อพายุ เข้าประเทศไทยต่อกันถึง สองสามลูก ครั้งนี้ น้ำท่วม ทั้งภาคอิสานและภาคเหนือ ทำให้ข้าวทางภาคอิสานโดนน้ำท่วมเสียหายขนาดนั้น ยังมาท่วมหอมแดงซึ่งกำลังจะเก็บเกี่ยวอีก 

การเรียนรู้ที่ควบคู่กับสถานการณ์จริง ข้อมูลจริง ทำให้ต้องระดมหน่วยงานมาช่วยกันหลายๆ หน่วย ทำให้เกิดการขาย ทั้งกบ และหอมแดงที่โดนน้ำท่วมในจังหวัดก่อน เพราะเกษตรกรไม่เคยถูกฝึกให้ขายเป็น ขายได้ มีแต่ถูกทำให้ผลิตเยอะๆ และซื้อของมาบริโภคเยอะ ๆ ลงทุนเยอะ ๆ เพราะกลัวไม่เหมือนคนอื่นเขา ข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงจริตจะทำให้เกษตรกรต้องคิดไกลและพัฒนาตัวเองได้ คือทำอย่างไรต้องขนส่งผลผลิตให้ไกลขึ้น โดยที่ไม่เสียหาย จะทำอย่างไรให้กลับมาซื้อกลุ่มเราได้อีก เลยทำให้เกิดการแปรรูป ผลผลิตให้กินได้เลย เเม้จะต้องผ่านกระบวนการขนส่ง สองสามวัน มีเสียงของเกษตรกรพูดว่า 

“ดีนะที่ปลูกแต่ของกินได้ ไว้เยอะแยะ ไม่เคยปลูกของที่กินไม่ได้เลย สงสารชาวเกษตรกรพวกที่ปลูกของกินไม่ได้เลย เช่นชาวสวนยาง และไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ซึ่งไม่รู้จะแปรรูปอย่างไร”

การแปรรูปคือคำตอบ ของวงการเกษตรกรรายย่อยไทย ต้องเป็นกลุ่มที่พร้อมและทบทวนตัวเองด้วยนะ กลุ่มที่ไม่พร้อมก็อย่าไปยุ่งกับเขา อย่าไปริทำเป็นวาระแห่งชาติเลย ถ้ากลุ่มเขาไม่พร้อม มันจะเหนื่อยกันทุกฝ่าย ทั้งคนพาทำ และคนที่จะมาเรียนรู้ทำ เกษตรกร เขาก็จะอยากเรียนรู้ต่อไปเองนั้นละ ถ้ามันไม่ซับซ้อน มีประโยชน์ และใช้ได้จริงสำหรับเขา 

พลเมืองนักสื่อสาร​ควรทำอะไรต่ออีกบ้าง? ในสถารณ์ของโลกใบนี้ ในประเทศนี้ ที่ทุกข่าวทุกสำนักข่าวใหญ่ๆทั่วโลกที่แฝงข่าวมีแต่เรื่องเลวร้าย ตลอดมา โลกเราปัจจุปันนี้ มีแต่เรื่องเลวร้ายมาพอแล้ว แต่มีเรื่องที่ดีงามมันเยอะกว่าแน่นอน แต่เราจะหาเจอไหม สื่อสารพอไหม เราไม่สามารถเอาประเทศไทยไปเทียบกับประเทศอื่น อย่างเอาเป็นเอาตายได้ ขณะเดียวกัน ประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาเเล้วก็ไม่เหมือนประเทศไทย การสื่อสารที่ไม่แฝงวาระอะไรเลยต่างหาก ที่จะทำให้มีพลังจากเรื่องราวที่เราเจอและสื่อสารไป ในวันนี้ สังคมไทยได้รับเรื่องราวที่ไม่เป็นจริง เรื่องราวร้าย ๆ มามากพอแล้ว เราควรจะสื่อสารเรื่องราวที่ให้กำลังใจ เป็นแรงบันดาลใจ ให้มีชีวิตกันต่อไปเท่านั้นเอง 

พงษ์เทพ บุญกล้า/อุบลราชธานี

“ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกิดขึ้นและดำเนินมาเรื่อย ๆ สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ยิ่งถาโถมตอกย้ำซ้ำเติมและส่งผลกระทบมิติต่างๆ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชนทุกระดับอย่างหนัก ประชาชนต้องปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อเท็จจริงและปรากฏการณ์จากการลงพื้นที่ภาคสนามเชิงพื้นที่ ข้าพเจ้าพบว่า มีเรื่องราวมากมายเชิงพื้นที่ซึ่งสะท้อนประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ยังไม่ถูกตีแผ่ต่อสาธารณะมากนัก เช่น ความยากจนในชนบท ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประเด็นคนไร้สัญชาติ การกีดกันและการพรากสิทธิ การเข้าถึงทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ สิทธิชุมชน และนโยบายการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

การหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาปักหมุดรายงานผ่านแอปพลิเคชัน C-Site Reporter โดยข้าพเจ้า ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเช่นนักนิเทศศาสตร์หรือนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ เพียงประสงค์ที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่พบเห็นด้วยสองตาเชิงประจักษ์ของข้าพเจ้าระหว่างการทำงานภาคสนามและชีวิตประจำวัน โดยความมุ่งหวังระยะใกล้ตัวที่สุด คือ ให้คนในพื้นที่ซึ่งปักหมุดเผยแพร่ได้เห็นเรื่องราวของตนเองและพื้นที่ตนเองบนจอโทรทัศน์สาธารณะ Thai PBS และข้าพเจ้ามองว่าการเห็นเรื่องราวของตนเอง/พื้นที่ชุมชนตนเองดังกล่าว จะเป็นแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจ และการลุกขึ้นสร้างประโยชน์ในชุมชน หรือเป็นพลังสำคัญในชุมชนเพื่อทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาระดับชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ดี 

บทเรียนและภาพสะท้อนจากการปฏิบัติการปักหมุดรายงานเชิงพื้นที่ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเห็นว่าการสื่อสารสาธารณะมีประโยชน์ต่อชุมชนและการรับรู้เรื่องราวของชาวบ้านซึ่งเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยของโครงสร้างได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะวงกว้างขึ้น อนาคตหากคนในชุมชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการปักหมุดนำเสนอข้อข้อมูลอาจนำไปสู่การสื่อสารทางสังคมมิติต่างๆ ตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่นและประเทศ นอกจากนั้น ข้าพเจ้ามองว่าการทำงานของทีม Thai PBS ถือเป็นการทำงานสื่อสาร “เชิงรุก” ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างยิ่ง อนาคตหากมีการทำงานเข้มข้นต่อเนื่องพร้อมกับนักข่าวพลเมือง ชุมชน หรือนักกิจกรรมระดับพื้นที่ ฯลฯ จะทำให้เกิดบรรยากาศการสื่อสารสาธารณะที่จะนำไปสู่การสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้

วุฒิชัย วงภาพ มหาสารคาม

ผมเป็นตัวแทนของชุมชนท้องถิ่นในการสื่อสารการทำเกษตรกรรมยั่งยืน จากการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมหาสารคาม ที่ต้องสื่อสารเพราะต้องการให้เห็นพื้นที่รูปธรรม เพื่อเป็นทางเลือก ทางรอด ทางออก ของภาคเกษตรกรรมในชุมชนท้องถิ่นในช่วงสถานการณ์โควิด 

ประเด็นที่นำเสนอคือรูปธรรมจากการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันผ่านแปลงเกษตรอินทรีย์ ที่เรียกว่า “แปลงโรงเรียนเกษตรกร” โดยนำเสนอพื้นที่รูปธรรมของกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดงเค็ง ตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโคกกลาง ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านวังโจด ตำบลห้วยเตย อำเภอกุดรัง กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองคู-ศรีวิลัย ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง กลุ่มเกษตรอินทรีย์โคกผักกูด-โป่งแดง ตำบลโนนแดง อำเภอบรบือ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองเรือ อำเภอนาเชือก กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านนาโพธิ์ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุดรัง และกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโนนมี้ ตำบลบัวค้อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ให้เห็นถึงขั้นตอนตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การตลาด ผ่านช่องทาง Facebook และแอปพลิเคชัน C-Site Report นักข่าวพลเมือง ช่อง Thai PBS 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันกับพี่น้องในชุมชนแต่ละกลุ่มพื้นที่รวมไปถึง วัด บ้าน โรงเรียน นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินกิจกรรมเกษตรกรรมยั่งยืนในสถานการณ์โควิด อย่างเห็นได้ชัดเจน คือ การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร การสร้างความหลากหลายในระบบนิเวศ ได้แก่ กิจกรรมการผลิตข้าวพื้นบ้าน 28 สายพันธุ์ ในระบบเกษตรอินทรีย์ เลิกใช้สารเคมีทุกประเภท ปักดำนาแบบใหม่เรียงแถว ต้นเดียวต่อจับ ตัดข้าวปน คัดเมล็ดพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ และการผลิตเมล็ดพันธุ์มันแกวอินทรีย์แท้ GI บรบือ จังหวัดมหาสารคาม ตลอดถึงการแปรรูปผลิภัณฑ์จากข้าว และปลายทางยังมีการแลกเปลี่ยนซื้อหาง่ายต่อการจับจ่ายในชุมชน เกิดตลาดชุมชนสีเขียว ที่เรียกว่า “ตลาดออนซอนชุมชน” สร้างรายได้ให้หมุนเวียนในชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้เกิดขึ้นในชุมชน ลดการอพยพแรงงานไปขายแรงในเมืองหลวง ลดพื้นที่เสี่ยงในการแพร่ระบาดโรคโควิด 

พลเมืองนักสื่อสาร ควรนำเสนอสื่อสาร เรื่องราวรูปธรรมพื้นที่ ทางเลือก ทางรอด ทางออก ในช่วงสถานการณ์โควิด เผยแผ่ผ่านสื่อสาธาณะออกไปให้มากขึ้นต่อไป #พลเมืองนักสื่อสารสู้โควิด #พลเมืองนักสื่อสารสู้โควิด

วิรัช กันอ่ำ นักข่าวพลเมืองชัยนาท  

COVID-19 เป็นประเด็นสำคัญที่เราจะต้องออกมาเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการป้องกันและการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ พยายามสื่อสารเรื่องราวการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดและเพื่อให้ชีวิตเดินต่อไปได้ โดยผ่านแอปพลิเคชัน C-site และ Facebook

COVID-19 ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด ได้เรียนรู้วิธีการปรับตัว ได้เรียนรู้การป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบทางลบกับสังคม ถึงแม้การสื่อสารที่ผ่านมาอาจช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารคือประชาชนในชุมชนและสังคมได้รับความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการปรับตัวพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น 

ในฐานะพลเมืองนักสื่อสารเราจำเป็นที่จะต้องไม่หยุดให้ความรู้แก่ประชาชนและสังคม รวมถึงหาแนวทางการปรับตัวเพื่อให้ทุกชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  

พระครูเกษตรสราภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดสระเกษ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

“ช่วงชีวิตของเพศบรรชิตกว่า 30 ปี ที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปมากมาย ในการขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนา การประยุกต์ธรรม ประเพณี ปฎิรูปครรลองของชีวิตให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน แต่ยังคงไว้ซึ่งรากเหง้าและแก่น พร้อมกันนั้นงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์โดยตรง เช่น งานปกครอง งานการศึกษา งานเผยแผ่ งานสาธารณสงเคราะห์ งานการศึกษาสงเคราะห์ และงานสาธารณูปการ ก็ทำอยู่เนือง งานเครือข่ายโดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนวัดสระเกษ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนวัดสระเกษ) งานรณรงค์ปลอดเหล้าในเทศกาล ประเพณี ร่วมกับ สสส. สคล. และงานเครือข่ายพระสง์ต่าง ๆ นับว่าจำเป็นในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ เพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในชุมชน 

ในห้วงสถานการณ์โควิด-19 สองปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการระส่ำระสาย ความตะหนกในโรคที่ประชาชนไม่เคยพบและเจอ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่าน นับตั้งแต่เดือนเมษายน โดยเฉพาะคลัสเตอร์คนงานก่อสร้าง ทำให้โรงพยาบาลเกือบทุกแห่งทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณณฑล คนไข้โควิด-19 เต็ม ต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย ในส่วนภูมิภาค เช่น อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งอาตมาได้จำพรรษาอยู่ คนเริ่มต้องการกลับมารักษาตัวที่บ้าน เพราะอย่างไรบ้านก็คือสถานที่อบอุ่นที่สุด มีเตียงว่า มีญาติพี่น้อง ประสงค์เข้าระบบเพื่อกลับมารักษาตัวยังภูมิลำเนา โรงพยาบาลเกษตรวิสัย เป็นโรงพยาบาลเดียวในอำเภอ สามารถรองรับคนไข้โควิด-19 เริ่มต้นที่ประมาณ 30-50 คน ถึงแม้เตียงเต็ม แต่ชาวอำเภอเกษตรวิสัย ก็ยังประสงค์กลับบ้าน เพราะในกรุงเทพฯ เต็มจนล้น

ท่ามกลางแสงแดดร้อนจ้าปลายฤดูร้อน คนไข้ติดเชื้อยืนยัน ต่างนั่งรอ นอนรอ ปูเสื่อใต้เต้นอันร้อนระอุ 4 หลัง มีเพียงผ้าแสลนเขียวล้อมเป็นขอบเขต มีคนติดเชื้อหลาย 10 คนภายในนัน ชื่อยังไม่ได้เข้าระบบการรักษา บางคนแอบออกไปซื้อของร้านสะดวกซื้อหน้า รพ. ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อผู้พบเห็น จนท.ห้ามก็ไม่ฟัง ใจเค้าใจเราในสถานการณ์เช่นนี้ คนไข้ต้องมีของใช้ส่วนตัว ไม่มีผู้กล้าเข้าใกล้ ครั้นหลายวันเข้าคนไข้ก็เพิ่มขึ้นทวีคูณ คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อ.เกษตรวิสัย ได้ประชุมหารือกันเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม สรุปได้ที่วัดป่าทุ่งกุล ต.ทุ่งทอง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ห่างจากตัวอำเภอไปประมาณ 25 กม. ซึ่งถือว่าไกลต่อการเดินทางของแพทย์และเจ้าหน้าที่ แต่ก็คงจำเป็นเพราะอยู่ไกลชุมชน อาตมาเป็นพระหนึ่งในสองรูปที่เข้าร่วมประชุม จึงได้เปิดประเด็นการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขให้เกิดความคล่องตัวกว่านี้ สรุปประเด็นคือมีการระดมทุนผ่านกองทุนคนเกษตรวิสัยไม่ทิ้งกัน โดย นายอำเภอเกษตรวิสัย อาตมา และเจ้าอาวาสวัดป่าทุ่งกุลา เป็นเจ้าของบัญชี เปิดบริจาคเพื่อพยุงระบบสาธารณสุขอำเภอเกษตรวิสัย ซึ่งมี รพ.เกษตรวิสัย สสอ.เกษตรวิสัย และรพ.สต. 15 แห่ง เป็นด่านหน้า ผู้จัดหาซื้อของจัดทำบัญชีเป็นจิตอาสา คือ ร้านเต็งวัสดุ ตกกระไดพลอยโจนเข้ามาทำงานเหมือนพระ แต่ก็เต็มใจเพื่อคนไข้โควิด-19 ที่ติดเชื้อจำนวนมาก 

การระดมทุนเป็นไปด้วยดี มีผู้บริจาคเริ่มต้นและต่อมาจำนวนมาก คนละเล็กละน้อย สามารถจัดตั้งศูนย์พักคอยตำบลเหล่าหลวง จำนวน 100 เตียง ใช้เงินไปเกือบสี่แสนบาท ยอดคนไข้พีคสุด 150 คน จำนวน 4 วัน นอกนั้นไม่ให้เกิน 100 คน 

#เฟสแรก จัดตั้งโรงพยาบาลสนามวัดป่าทุ่งกุลา จำนวน 60 เตียง ใช้ทุนเกือบสามแสนบาท เปิดได้เพียง 2 สัปดาห์ จำนวนเตียงไม่พอ เพราะคนกลับมารักษาตัวจำนวนมาก เลยจัดตั้งเพิ่มอีกอีกอาคาร จำนวน 80 เตียง ใช้งบกองทุนไปอีกเกือบห้าแสนบาท 

#เฟสสอง จัดต้องโรงพยาบาลสนามเทศบาลตำบลเกษตรวิสัย จำนวน 100 เตียง ใช้ทุนของเทศบาล และกองทุนเข้าไปสนับสนุน 1.4 แสนบาท ทำให้สภาพคล่องในการดูและรักษาเป็นไปด้วยดี พร้อมกันนี้กองทุนยังสนับสนุนอาหารกลางวันแก่ผู้ฉีดวัคซีนไปเกือบแสนบาท 

ในฐานะประธานระดมทุน ได้สรุปเงินกองทุนเปิดเผยต่อสาธารณะชนเรียบร้อยแล้ว ว่าใช้จ่ายสิ่งใดบ้าง สำหรับคนไข้โควิดที่เข้ามารับการรักษาที่อำเภอเกษตรวิสัย จำนวนกว่า 1,300 คน ศูนย์พักคอย รพ.สนามสองแห่ง ปิดตัวลงได้หนึ่งเดือนกว่าแล้ว แต่ยังมีผู้เข้ารับการรักษาอยู่ใน รพ.ทั้ง 14 วัน ประมาณ 35 คน ประสบการณ์ที่ได้สงเคราะห์ มีส่วนช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ยามทุกข์ยากเช่นนี้ เป็นสิ่งที่พึ่งกระทำในโอกาสที่ได้ทำ และทำได้ นับเป็นสิ่งมีค่าแก่เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราไม่รู้จักคนป่วยว่าเค้าคือใคร ไม่ได้มีความสำพันธ์โดยตรง แต่จิตสำนึกชี้นำทำให้เราก้าวเข้าไปแบบไม่รู้ตัว และขอบคุณพื้นที่สาธารณะ เช่น ThaiPBS ทีมีพื้นที่ของนักข่าวพลเมือง ทำให้นักสื่อสารได้ถ่ายทอดเรื่องราวในท้องถิ่นสู่วงกว้าง และไม่เพียงแค่ได้ขึ้นข่าวหน้าจอเท่านั้น ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่า คือ ประเด็นที่เรานำเสนอได้ถูกขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ธงชัย พูดเพราะ นักข่าวพลเมือง สภาเกษตรกรจ.สุรินทร์

“ความตั้งใจในการสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ เพื่อสร้างการร้ับรู้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่รู้หรอกว่า การที่เราสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกไป มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมมากนี้แค่ไหน เพราะเราเป็นแค่คนทั่วไป ไม่ใช่คนเด่นคนดัง ที่สื่อสารอะไรออกไปแล้วจะได้รับความสนใจจากคนในสังคม แต่เชื่อเหลือเกินว่า ทุกคนในสังคมอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น”

โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิดในปัจจุบัน เห็นคนติดเพิ่มขึ้นทุกวัน คนตายเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทุกคนหาทางช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเองตามมาตรการ การดูแลครอบครัว การฉีดวัคซีน รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนไข้ การรับคนไข้กลับภูมิลำเนา เป็นต้น เราก็เป็นคนๆหนึ่งที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สิ่งที่เราทำได้คือการสื่อสารให้เกิดการรับรู้ในสถานการณ์ดังกล่าว และให้เกิดการเตรียมความพร้อมในการรับมือ เพื่่อที่เราจะผ่านมันไปด้วยกัน 

ประเด็นสำคัญที่เราลุกขึ้นมาสื่อสารคื ความเป็นอยู่ เรื่องปากท้อง ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์ความยากลำบากนี้ เราจึงยกประเด็นเรื่องของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงตั้งแต่โควิดเริ่มเข้ามามีบทบาทสร้างความหายนะให้แก่วงการเกษตรไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความทุกข์ยากลำบากของเกษตรกรเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน ผลผลิตทางการเกษตรที่เคยขายได้ในราคาสูงและสามารถส่งออกได้ กลับกลายเป็นสิ่งที่สร้างความขมขื่นใจให้เกษตรกรมากมายเมื่อประเทศที่เคยส่งออกประกาศปิดประเทศ ไม่นำเข้าสินค้าเกษตรใด ๆ จากประเทศไทย เกษตรกรเริ่มหาทางออกโดยการจำหน่ายผลผลิตเองในราคาที่ต่ำกว่าทุน ยอมขาดทุนดีกว่ายอมให้ผลผลิตเน่าเสียไปเปล่า ๆ

ในฐานะที่เรารับรู้เรื่องราวความทุกข์ยากนี้มาโดยตลอด ก็ต้องพยายามหาทางออกช่วยกันคนละไม้คนละมือ ด้วยการสนับสนุนผลิตเกษตรกรบ้าง ช่วยหาลูกค้าให้บ้าง ช่วยไลฟ์สดขายผลผลิตให้บ้าง ผ่านช่องทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ ยูทูป กลุ่มไลน์ เป็นต้นซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ ก็ต้องหาช่องทางการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปผลผลิตที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นมาโดยการเพิ่มทักษะความรู้ในการแปรรูปให้เกษตรกร เป็นต้น 

เราไม่รู้หรอกว่า การที่เราได้ลุกขึ้นมาสื่อสารมันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยคือเราไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาในสถานการณ์ยากลำบ้างนี้ สิ่งที่เราเรียนรู้และสัมผัสได้คือ เขาดีใจ เขาปลื้มใจที่อย่างนี้เราไม่ได้ทอดทิ้งเขา เขามีกำลังใจดีขึ้น เขายื้มได้ แม้ว่าผลผลิตจะขายได้หรือไม่ก็ตาม เขายังมีเราอยู่เคียงข้างในสถานการณ์เช่นนี้ เราเองก็รู้สึกตื้นตันใจไปด้วย 

พลเมืองนักสื่อสารควรทำอะไรต่อ? เราก็ต้องทำหน้าที่เราต่อไปในฐานะนักสื่อสารของประชาชน เป็นปากเป็นเสียง ตีฆ้องร้องป่าวแทนเขา ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ได้ยินเสียง ได้รับรู้ทุกข์ร้อนของประชาชน ของเกษตรกร เพราะเราเองก็ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่คนที่จะเปลี่ยนแปลงคือคนที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนก็สุดแล้วแต่ แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักสำคัญ  

ธีรนันท์ ขันตี อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.กาฬสินธุ์ 

 “จากนักข่าวการเมือง สู่บทบาทนักวิชาการท้องถิ่นและนักข่าวพลเมือง นี่คือคำจำกัดความของตัวผม”

ธีรนันท์ ขันตี หรือ อ.ดุ๊ก ที่คนทั่วไปมักเรียก ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.กาฬสินธุ์ ในอดีตเริ่มทำงานจากการเป็นนักข่าวสายการเมือง ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ยังรักในงานข่าวจึงไม่เคยทิ้งบทบาทนี้ในระหว่างทำงาน จนได้ใช้ความเป็นนักข่าวมาปรับบทบาทการเป็นนักข่าวพลเมือง เพื่อสื่อสารเรื่องราวใกล้ตัวที่เป็นประเด็นสาธารณะ 

จากสถานการณ์โควิด – 19 ที่เกิดขึ้น มันกระทบไปทุกภาคส่วน แต่ผมเชื่อว่าพลังการสื่อสารมันจะช่วยคลี่คลายปัญหาไปในทางที่ดีได้ อย่างน้อยมันจะเป็นช่องทางในการสะท้อนปัญหา การปรับตัว ทางออก ของแต่ละบริบทพื้นที่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ร่วมกัน และที่สำคัญคือการใช้การสื่อสารแบบสร้างสรรค์เพื่อสร้างความจริงร่วมและสกัดข่าวลวง (Fake News) ที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในโซเชี่ยวมีเดีย 

ในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 มีหลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ทั้ง ปัญหาการฉีดวัคซีน ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมันของประชาชน การบริหารจัดการของภาครัฐต่อการแก้ไขปัญหา เช่น การตั้ง รพ.สนาม การตั้งศูนย์พักคอยชุมชน ปัญหาการเรียนออนไลน์ของนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจสังคมในทุกมิติที่ตามมา นี่เป็นเพียงประเด็นสำคัญส่วนใหญ่ เป็นประเด็นใหญ่ๆที่เกิดขึ้น ที่ทางผม นักศึกษา และเครือข่ายการทำงานลุกขึ้นมาสื่อสาร 

พวกเราสื่อสารกันหลากหลายช่องทาง ไม่ใช่แค่การผลิตสื่อเท่านั้นแต่ยังเป็นการลงไปจัดกิจกรรมต่างๆด้วย เช่น ในโครงการ U2T ทางทีมงานเครือข่ายจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน การอบรมชาวบ้านขายของออนไลน์ การอบรมชาวบ้านเตรียมรองรับการท่องเที่ยวด้านอาหารด้านแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกับสื่อสารออกช่องทางสาธารณะในรูปแบบนักข่าวพลเมืองและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หรือในโครงการ Cofact Esan หยุดข่าวลวง ทวงความจริง ที่เราได้ระดมความเห็นกับนักศึกษาเพื่อที่จะสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม ลดข่าวลวง ลดความเกลียดชังลง ซึ่งมีประเด็นที่หลากหลาย เช่น การทำข่าวเรื่องการจัดตั้ง รพ.สนาม ชุมชนต้นแบบที่สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชุมชนร่วมกัน ปัญหาการเรียนออนไลน์ เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างการสื่อสารสาธารณะที่พวกเราพยายามทำและช่วยกันสื่อสารออกสู่สาธารณะผ่านช่องทางของนักข่าวพลเมือง อย่างน้อยก็เพื่อให้เกิดการรับรู้และนำไปสู่ความเข้าใจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นร่วมกัน

 ผมเชื่อมั่นในพลังการสื่อสารเสมอ เพราะการสื่อสารจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอดในการทำสื่อ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด – 19 คือ ในสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว ทุกทิศทาง สิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล

นั่นทำให้คนทำงานสื่อโดยเฉพาะการเป็นสื่อภาคพลเมืองแบบมืออาชีพ คือการคัดกรองประเด็นและข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสื่อสารออกไปให้เกิดความรู้ ความเช้าใจที่ถูกต้องให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันเราเห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็น หลายเรื่องราว ที่มีความน่าสนใจ เป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่ขาดคือช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เช่น เรื่องราวของวัฒนธรรมประเพณี อัตลักษณ์ ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชุมชน ประเด็นเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในชุมชนท้องถิ่น แต่ยังขาดการสื่อสารให้สังคมรับรู้ และยังไม่มีช่องทางในการสื่อสาร เพราะหากเรามองถึงสื่อมวลชนในกระแสหลักเราจะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรตติ้งและขายความดราม่าเพื่อช่วงชิงคนดู ทำให้ประเด็นชุมชนหรือ Local Content ถูกมองข้าม

สิ่งที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในการสื่อสารคือ การได้เติมเนื้อหาและข้อมูลทีถูกต้องไปสู่สังคมและหากพวกเรานักสื่อสารภาคพลเมืองลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวของตนเองให้มากขึ้น จะทำให้เรื่องราวต่างๆออกไปสู่สาธารณะและนั่นจะนำไปสู่การส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน ตามมา 

พลเมืองนักสื่อสารควรทำอะไรต่ออีกบ้าง? สิ่งที่พวกเรานักสื่อสารภาคพลเมือง หรือ พลเมืองนักสื่อสารควรทำคือ เราต้องทำตัวเหมือนสปอตไลท์ ในทางข้อมูล ช่วยเติมเต็มประเด็นหรือเรื่องราวที่มีปัญหาหรือน่าสนใจ จับตาสถานการณ์และนโยบบายที่จะกระทบกับสังคมภายใตความเป็นกลาง ปราศจากอคติ เน้นประเด็นและเนื้อหาในชุมชนรอบตัวของตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะแล้วทำการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆเพื่อให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคม  

แมน จักรพันธ์  นักข่าวพลเมืองและทีมงานอยู่ดีมีแฮง จ.นครพนม

 เราคือคนหนึ่งที่อยู่ในชุมชน เห็นการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของปากท้องของพี่น้องที่อยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าไปรับฟัง แต่การสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ยังน้อยไป ในฐานะของนักข่าวพลเมืองถึงเป็นหน้าที่สาธารณะที่เราต้องเล่าเรื่องนี้เพื่อให้เกิดอะไรบางอย่างที่ดีขึ้นกับสถานการณ์นั้นหรือกับพื้นที่นั้น  

ประเด็นปากท้อง อาชีพที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19 และเรื่องคนรุ่นใหม่ที่นำเอาทักษะเพื่อพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง ตอนนั้นในประเด็นปากท้องได้มีโอกาสไปติดตามคนขับสามล้อเครื่องที่จังหวัดอุดรธานี จะทราบได้ว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นก็คือการหยุดเดินรถของรถไฟแห่งประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด- 19 ที่มีการระบาดมากในช่วงนั้น จนทำให้หลายคนต้องหาอาชีพเสริม หรือประเด็นคนรุ่นใหม่ที่กลับมาบ้านด้วยสถานการณ์ covid-19 ทำให้ไม่สามารถทำงานในเมืองใหญ่ได้ ถูกเลิกจ้างจนทำให้ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการเปิดร้านตัดผมอยู่ที่อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น เราก็ใช้การสื่อสารโดยการผลิตคลิปและบทความผ่านทางรายการนักข่าวพลเมือง และ fanpage อยู่ดีมีแฮง 

ได้เรียนรู้อะไร?  อย่างแรกเลยเราได้ทำความเข้าใจชีวิตและการเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นกับสถานการณ์ที่ไม่ใช่แค่ผู้ใดผู้หนึ่งได้รับผลกระทบเพียงเท่านั้น จากการที่ได้ลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นมันทำให้รู้ว่าคนในพื้นที่ทุกคนจะสู้กันทั้งนั้น ทุกคนไม่ยอมจำนน มากกว่าการก่นด่าหรือนั่งจมกับปัญหา แต่เรากลับเห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ทักษะ การกลับบ้านมาตั้งหลักซึ่งเป็นฐานที่มั่นของตัวเอง พัฒนาตัวเองทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ในจิตวิญญาณ ซึ่งคิดว่าไม่มากก็น้อยเรื่องที่เราสื่อสารออกไปอาจจะเป็นตัวอย่างของบทชีวิตนึง ที่มันอาจคล้ายกับใครหลายๆคน ให้มีแนวคิดช่องทางกำลังใจในการเดินทางต่อไปได้ในการใช้ชีวิต

พลเมืองนักสื่อสาร​ควรทำอะไรต่ออีกบ้าง? -ขยายความร่วมมือและนักสื่อสารสาธารณะให้มากขึ้นเรื่อย ๆ มีมุมมองคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนักสื่อสารแต่ละคนก็จะเป็นผู้คนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชนเพื่อจะทำให้พื้นที่ของนักสื่อสารอยู่นั้น ได้ถูกเล่าเรื่องมากขึ้น 

เดชา คำเบ้าเมือง นักข่าวพลเมืองอุดรธานี

ผมคือคนในชุมชนท้องถิ่นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด เฉกเช่นกับทุกคนบนโลกใบนี้ และหากจะถามว่า ทำไมถึงต้องสื่อสารในสถานการณ์โควิด โดยส่วนตัวเองก็ได้สื่อสารมาโดยตลอดทั้งที่สถานการณ์โควิดหรือสถานการณ์การปกติ แต่ทว่าการสื่อสารเรื่องราวที่ผ่านมาที่ยังไม่มีสถานการณ์โควิด ส่วนมากจะสื่อสารเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชน, ปัญหาความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาและประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการอนุรักษ์ และฟื้นฟูองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการสร้างนวัตกรรมชุมชน เป็นต้น

เมื่อสถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กระหน่ำซ้ำเติม ผู้คนทุกชนชั้นต่างได้รับผลกระทบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะคนในชุมชน พี่น้องเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนจนเมือง คนไร้บ้าน และกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเดิมมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่กดทับอยู่แล้ว จึงเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน และได้รับความเสียหายมากที่สุด ดังนั้น ทุกคนรวมถึงตัวผมจึงต้องสื่อสารเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อการแพร่ระบาด และมาตรการป้องกันโรค รวมถึงได้ตระหนักต่อปัญหาความเดือดร้อนทั้งมิติด้านสังคม วัฒนธรรมประเพณี เศรษฐกิจ ปากท้อง การทำมาหากิน ตลอดจนการช่วยเหลือกันและกันในยามยาก การคิดค้นองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไข และนำไปสู่ทางออกของปัญหาร่วมกัน 

ในสถานการณ์โควิดเรื่องหรือประเด็นสำคัญที่ผมลุกขึ้นมาสื่อสารคือ การทำงานของ อสม. ในชุมชน จ.อุดรธานี สื่อสารผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ปักหมุด C-site อยู่ดีมีแฮงออนไลน์ และนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส เรื่องราวคนไร้บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด ร่วมกับอาจารย์และกลุ่มน้องนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยการจัดนิทรรศการภาพถ่าย และมีเวทีเสวนา สื่อสารผ่านปักหมุด C-site และเผยแพร่ทางนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส  การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ อสม. ร่วมกับฝ่ายปกครอง อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ในการลงพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด สื่อสารผ่านปักหมุด C-site และเผยแพร่ทางนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส   ประเด็นเกี่ยวกับปัญหาปากท้องผลกระทบในช่วงโควิด สื่อสารผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ปักหมุด C-site อยู่ดีมีแฮงออนไลน์ และนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส อาทิ คนขับเรือรับจ้างและการท่องเที่ยวทะเลบัวแดงหนองหานกุมภวาปี, ก๋วยเตี๋ยวสามล้อสู้โควิด, ทางเลือกของอาชีพในช่วงโควิด เช่น การเลี้ยงหอยเชอรี่ คนหาปลาและทำการเกษตรในแม่น้ำโขง และคนรุ่นใหม่กลับบ้าน เป็นต้น 

ผมไม่อาจหาญพอที่จะไปบอกว่าการลุกขึ้นมาสื่อสารของผมได้ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ผมรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นรอยยิ้มและได้ยินเสียงหัวเราะของคนที่เราไปช่วยสื่อสาร ซึ่งได้เติมพลังให้ผมอยากจะสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกไปอย่างอินฟินิตี้ (infinity)

อย่างไรก็ดี ผมได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายผ่านผู้คนและประเด็นที่ได้สื่อสาร ซึ่งเปรียบเสมือนครูบาอาจารย์ ที่คอยถ่ายทอดวิทยายุทธ์ เพื่อให้เรากล้าแกร่งยิ่งขึ้น, เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำไปปรับใช้ในชีวิต, ได้รู้ตัวตนของเราเองมากขึ้น ฯลฯ บ่อยครั้งที่ต้องน้ำตาซึมขณะสัมภาษณ์และเห็นภาพที่รันทดใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือได้รู้ว่าหัวใจของทุกคนไม่เคยยอมแพ้แก่ปัญหาที่ตนได้ประสบพบเจอในช่วงสถานการณ์โควิด  

พลเมืองนักสื่อสารควรสร้างเครือข่าย ให้เข้าใจประเด็นและเห็นปัญหา เพิ่มพื้นที่การสื่อสาร เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะเราเชื่อว่า…พลังการสื่อสารอยู่ในมือเรา

ครูอ้อน ภาณุวัฒน์ บุญเย็น นักข่าวพลเมืองบุรีรัมย์

ความซับซ้อนของช่วงสถานการณ์โควิด ทุกคนทุกภาคส่วนต้องได้เข้าถึงข้อมูล การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกันสร้างการรับรู้กระตุ้นให้ทุกคนตระหนักและสามารถผ่านสถานการณ์ให้ได้ โควิดจะอยู่กับเราอีกนาน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สร้างการรับรู้กระตุ้นให้ทุกคนตระหนักเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้

ชวนสื่อสารเรื่องประเด็นการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด สถานการณ์ที่บ้าน โรงเรียน ในชุมชน เด็ก ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง สื่อสารผ่าน C-site ข่าวพลเมือง และช่องทางออนไลน์อื่นๆ – ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานในพื้นที่ที่เป็นองค์รวมไม่แยกส่วน และการลุกขึ้นมาสื่อสาร ช่วยให้ผู้คนตระหนัก เข้าถึงข้อมูลและนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง 

ถึงเวลาพลเมืองนักสื่อสาร สื่อสารประเด็นที่หลากหลายเชิงตั้งคำถาม ชวนคิด จัดระบบ เชื่อมโยงอย่างเป็นนองค์รวม  

พรหมพิริยะ บุตรงาม นักข่าวพลเมืองสุรินทร์ 

ครูบ้านป่า​ ฟ้าสาง​ กลางไพร นามปากกาที่บอกถึงอัตลักษณ์ตัวตนขอ”นายพรหมพิริยะ​ บุตรงาม​” ด้วยความรักความเป็นธรรมชาติ​ ที่อยากสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชุมชน​ และเรื่องราวเด็ก​ เยาวชน​ และครอบครัว​ ที่มีความงดงามตามธรรมชาติ​ อย่างสร้างสรรค์​ให้เกิดการรับรู้​ เกิดพลังบวกที่จะพัฒนาชุมชนของตนเอง​ และพัฒนาการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น​จึงชวนเด็กๆ​ และคนที่สนใจ​ มาเปิดพื้นที่ผลิตสื่อ​ โดยเฉพาะเรื่องราว​ เกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กๆในช่วงสถานการณ์โควิด​ เขาเรียนรู้อะไร​ เขาทำอย่างไร​ เขาได้อะไร​หรือเกิดอะไรขึ้น เขารู้สึกอย่างไร ในประเด็น #ห้องเรียนตามใจ พร้อมทั้งผลิตข่าวเพื่อบอกเล่าเรื่องราว​ วิถีของชุมชน​ตนเอง​ เพื่อให้เด็ก ๆ​ ที่ร่วมผลิตได้เรียนรู้ไปด้วย​ผ่านเพจ​ #ห้องเรียนตามใจ และช่องยูทูบ​ พรหมพิริยะ​ บุตรงาม​ 

ก่อให้เกิดการเรียนรู้​ กระบวนการผลิต​ การคิดประเด็น เพื่อให้เข้าถึงแก่นของสาระ​ และความเข้าใจที่ง่ายในการสื่อสาร​ แต่ละช่วงวัย​ เด็ก​ ๆ​ คนในชุมชนเห็นความงดงามในวิถีของตนเอง​ มีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนมากขึ้น​ เด็กๆได้เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวมากขึ้น​ ผ่านการมีส่วนร่วมในการผลิต​ อย่างสร้างสรรค์​และสิ่งที่อยากพัฒนาต่อ​ คือ การผลิตสื่อหรือทำเป็นช่องทีวีชุมชน​ ที่มีความหลากหลาย​ นำมาสื่อสาร​ให้สาธารณชนรับรู้ความงดงาม​ ของชุมชน​ และการเรียนรู้ของเด็กๆ​  

ดรีม นักศึกษาฝึกสอนวิชาชีพครู  และอาสาสมัครสาธารณสุข  จ.น่าน

  • ในบทบาทนักศึกษาฝึกสอนวิชาชีพครู  ผมลุกขึ้นมาพูดปัญหาการศึกษาที่ผมเองกำลังพบเจอ ระบบโครงสร้าง พูดคุยแลกเปลี่ยนกันผ่านช่องทางออนไลน์เรื่องรายวิชา ความหลากหลายทางเพศของนักศึกษาฝึกสอน ค่าตอบแทนของนักศึกษาฝึกสอน หรือนักศึกษาฝึกงาน
  • ในบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุข –  คนในชุมชนเป็นบุคคลแรกที่ต้องตั้งรับกับผู้ที่เดินทางเข้ามาชุมชน เราทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้คนในชุมชนรับทราบ ผ่านหอกระจายข่าว แจ้งสถานการณ์โควิด-19 ผ่านช่องทางไลน์ และสื่อสารเรื่องราวว่าคนในชุมรับมือยังไงกันบ้าง และเกิดอะไรขึ้นบ้างในชุมชนของเรา
  • ในบทบาทพนักงานลูกจ้างโครงการ U2T -ผมใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นผ่าน C-Site ผ่านรายการนักข่าวพลเมือง  สื่อสารว่าคนในชุมชนที่เราทำงานเกิดอะไรขึ้น อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างของชุมชนตนเอง สร้างพื้นที่เสียงให้กับคนรุ่นใหม่นั้นเอง

“ผมเชื่อเสมออย่างน้อยการสื่อสารไม่ว่าจะช่องทางใดก็ตาม ทำให้เสียงของเราก็คงจะมีใครคนหนึ่งรับรู้ความหมายของเราได้นั่นเอง ผมก็คงใช้เสียงผมสื่อสารต่อไปในอนาคต เพราะเชื่อเสมอว่าการสื่อสารอย่างน้อยก็ได้ส่งต่อข้อมูลให้กับใครหลายๆ คน”  

ณัฐชญานันท์ ทองนิ่ม นักข่าวพลเมืองลำปาง

ประชาชนต้องการข้อมูลความรู้และกระบวนการที่ต้องการรับมือสถานการณ์ระบาดของโควิด เดิมมีการระบาดในพื้นที่ไม่มาก (สมัยผู้ว่าหมูป่า) แต่เมื่อมีการเดินทางเข้ามาผู้ติดเชื้อโควิดทำให้ประชาชนสอบถามสถานการณ์มากขึ้น เลยใช้ทางของนักข่าว C-Site เป็นช่องทางเผยแพร่ ได้ช่วยเหลือด้านข้อมูล ขั้นตอนให้กับนักเรียนที่ติดเชื้อจากผู้ปกครอง มีบทบาทกระจายข้อมูล เป็นกระบอกเสียงจาก เผยแพร่ข้อมูล ขั้นตอนจากผู้รู้จริง  เห็นว่าในอนาคตพลเมืองนักสื่อสารควรทำหน้าที่สื่อสารให้ประชาชนต่อไป สื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้จริง รู้ลึก รู้ทันเท่าเหตุการณ์ไปพร้อม ๆ กัน 

ศุภวรรณ ชนะสงคราม ผู้จัดการโครงการอาหารปันรัก จ.สงขลา

ในฐานะผู้จัดการโครงการอาหารปันรัก ซึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างชาวประมงพื้นบ้านที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กับผู้บริโภคในเมืองหาดใหญ่ สงขลา เพื่อส่งผ่านความอร่อยของอาหารทะเลที่มาพร้อมกับความสด และปลอดภัยจากสารพิษ 

เรื่องที่ลุกขึ้นมาสื่อสารคือ : ชาวประมงพื้นบ้านคิดกันว่าเขาร่วมกันดูแลรักษาทะเลไว้ให้อุดมสมบูรณ์ไม่เพียงเพื่อเป็นอาหารในชุมชนเท่านั้นแต่ยังเป็นความมั่นคงทางอาหารของสังคมด้วย เมื่อสังคมเดือดร้อนก็ชวนกันเอาอาหารทะเลไปบรรเทาความเดือดร้อน โดยเริ่มจาก กิจกรรมแรกคือ เอามาปรุงอาหารทำข้าวห่อแจกพี่น้องที่เดือดร้อนในหาดใหญ่ กิจกรรมต่อมา ทำอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลจะนะ จากนั้นก็ทำทั้งอาหารปรุงสุก อาหารแปรรูป ให้ชุมชนที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงที่นราธิวาส รวมถึงใช้วิธีขนส่งไปที่คลองเตยซึ่งเป็นชุมชนแออัดในกรุงเทพ และที่อื่นๆ ในจังหวัดสงขลาด้วย นอกจากทรัพยากรและแรงงานที่จะนะแล้วผลจากการสื่อสารยังมีการสมทบทุนจากคนกินปลาที่เป็นสมาชิกอาหารปันรัก และสาธารณะทั่วไปที่ทราบข่าวก็โอนเงินมาสมทบด้วย สื่อสารผ่านเฟสบุคตัวเอง เฟสบุคกลุ่ม และปักหมุดเล่าใน C-Site นักข่าวพลเมือง ทางไทยพีบีเอส 

การสื่อสารทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ในวันที่ผู้จัดกิจกรรมเป็นผู้ให้นอกจากสาธารณะจะร่วมเป็นผู้ให้ด้วยแล้ว เมื่อผู้จัดกิจกรรมอยู่ในสถานะผู้รับสาธารณะก็มาเป็นผู้ให้อีก เพราะหลังจากนั้นไม่นาน โควิดก็ระบาดหนักในชุมชนจะนะ แม้เราจะไม่เคยคิดเลยสักนิดเดียวว่า เราไปหนุนเสริมชุมชนอื่นๆ เพื่อให้เค้ากลับมาหนุนเสริมเราก็ตาม เราพบว่าสาธารณะทั้งให้กำลังใจ ทั้งสมทบทุน ทั้งเอาข้าวปลาอาหารมาฝากกันเยอะมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการสื่อสาร 

สิ่งที่พลเมืองนักสื่อสารควรทำต่อไป คือ การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญประสบการที่หนึ่งอาจจุดประกายความคิด ความหวังให้อีกที่หนึ่งก็ได้หน้าที่ของพลเมืองนักสื่อสารจึงควรลงมือทำเพื่อกู้วิกฤติสังคมพร้อม ๆ กับสื่อสารไปในเวลาเดียวกัน

สิ่งตัวเองนักสื่อสารจะทำต่อไปคือ สร้างความเข้าใจในเป้าหมายระยะยาว ว่าหากมีความร่วมมือระหว่างกันและกันดีจากวงเล็กขยายไปวงใหญ่ การดูแลรักษาทรัพยากร แหล่งอาหารทางธรรมชาติไว้ การรักษาสังคมที่เกื้อกูลกันและกันไว้ เราจะผ่านทุกวิกฤติไปได้ โดยจะพยายามสื่อสารต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด และช่วยชักชวนให้นักกิจกรรมทำหน้าที่นักสื่อสารให้เพิ่มมากขึ้น

กอเฉม สะอุ เครือข่ายมหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาพวกเราเป็นกลุ่มที่ร่วมทำกิจกรรมหลายอย่าง เราเป็นองค์กรภาคประชาชน องค์กรเล็ก ๆ ที่มีการช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา ทั้งกิจกรรมนำอาหารไปส่งให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ได้แก่ ชุมชนคลองเตย ชุมชนโคกเมา อ.หาดใหญ่ และครั้งล่าสุดเรานำไปให้ ที่เกาะสะท้อน จ.นราธิวาส จนระลอก 3 ในพื้นที่ ต.สะกอม และหมู่บ้านใกล้เคียงได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก แต่เนื่องจากเรามีประสบการณ์ก่อนหน้านี้ จึงรวมกลุ่มดูแลกัน ตั้งแต่ทำอาหารเลี้ยงแจกจ่ายระดมความคิด กำลังใจให้กัน

การสื่อสารในช่วงโควิด ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องการบอกเล่ากับคนข้างนอกว่าเราเจอกับอะไรบ้างในตอนนี้ เราได้สื่อสารทั้งภาพและเสียง ถึงความจำเป็นของเราที่ต้องการขอความช่วยเหลือ การเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการสื่อสารขณะวิกฤต ถ้าเราขาดการสื่อสารที่ดี โอกาสของการเข้าถึงการช่วยกันก็คงยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้ามาช่วยเหลือแก้ไข

การที่เรามีช่องทางสื่อสาร มีสื่อ ที่บอกเล่าเรื่องราวทุกข์ร้อน ความต้องการของพวกเเรา สามารถส่งต่อไปยังคนภายนอกได้ เราเป็นกระบอกเสียงรายงานว่าวันนี้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น สามารถบอกเล่าสิ่งที่ต้องการอย่างรวดเร็ว ทั้งเฟซบุ๊ก ไลฟ์สด รวมถึงสื่อหลักอย่างThai PBS

“คงยากที่เราจะบอกเล่าอะไรไป เพราะคนในพื้นที่เสียงไม่ดังไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง”

อุบัยดิลละห์ หาแว Ubaidillah Hawae สมาคมอาสาสร้างสุข องค์กรสาธารณประโยชน์ภาคประชาสังคมที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 

สืบเนื่องจากโรคระบาดโควิคยังไม่ลดลงและมีโอกาสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดวันไหนปีไหนการสื่อสารให้คนในพื้นที่ช่วยกันให้ความร่วมมือป้องกันเพื่อให้เกิดการระบาดน้อยที่สุดและเกิดการสูญเสียให้น้อยที่สุดในฐานะเป็นองค์กรทำงานด้านอาสาสมัครเราพยายามจะสื่อสารช่วยเหลือพี่น้องที่เดือดร้อนในพื้นที่ให้เกิดการช่วยเหลือทั่วถึงและเร็วที่สุดเป็นการลดช่องว่างในการทำงานของภาครัฐในสถานการณ์โควิชระบาดมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คนที่เดือดร้อนเท่าไม่ถึงสิทธิ์หรือต้องการความช่วยเหลือการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้คนในพื้นที่เข้าถึงแหล่งข่าวข้อมูลข่าวสารเร็วเป็นการช่วยเหลือที่เข้าถึงเร็วอย่างน้อยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง

สมาคมอาสาสร้างสุขเป็นองค์กรที่ทำงานด้านอาสาสมัครอยู่แล้ว และเป็นตัวเชื่อมคอยประสานงานระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าถึงความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด covid ทำให้ต้องมีการสื่อสารผ่านหลายช่องทาง เช่น ไลน์เครือข่าย เพจ วิทยุ รวมทั้งthai PBS ช่องที่กลุ่มนักสื่อสารอาสาสามารถส่งข้อมูลข่าวสารได้เร็วและมีคนในพื้นที่ติดตามอยู่พอสมควร และประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือให้เร็วที่สุด

สิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบขณะที่ได้ไปเยี่ยมหรือลงพื้นที่ต่าง ๆ ให้สู่ทำให้ตัวเองอยากมีช่องทางในการสื่อสารอย่างน้อยเป็นจิ๊กซอเล็กๆ ที่มาคอยเติมเต็มเพื่อปิดช่องว่างตรงนั้นก็ยังดีค่อยขยับทีละนิดตามกำลังที่เรามีตามศักยภาพที่ทำได้ก็รู้สึกดีแล้ว ในฐานะพลเมือง มองว่าการสื่อสาร การเชื่อมประสานส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุดยังเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสิทธิต่าง ๆ จำเป็นจริงสำหรับกลุ่มนี้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิเหมือนคนทั่วไปที่อยู่ในประเทศนี้

ปุณรดา คชรัตน์ นักข่าวพลเมืองจ. สงขลา

สื่อเพื่อสู้ รู้รับมือภัย Covid-19 จากที่มองว่าโรคระบาดเป็นสิ่งไกลตัว จนเมื่อหลายๆอย่าง เริ่มเลวร้ายขึ้น ในฐานะที่เป็นนักเล่าเรื่องด้วยภาพ จึง ออกบันทึกภาพ เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์และบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่ไวรัส covid-19 ส่งผลกระทบ ในทางอ้อมช่วงแรก ๆ ซึ่งแน่นอน ปัญหาปากท้องเป็นสิ่งที่สำคัญสุด ซึ่งในครั้งนั้น ยังมีการแบ่งปันอาหารสำหรับผู้ยากไร้ แต่เพียงภาพนิ่ง อาจไม่เพียงพออีกต่อไป โรคระบาด เริ่มส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนในชุมชน จนต้องปิดล็อคในหลายๆพื้นที่ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดเชื้อฯ สิ่งที่บอกเล่าเพิ่มขึ้นมา คือเรื่องราวการจัดการของอาสาสมัครชุมชน ที่ยังคงมีการแบ่งปันอาหารให้กับผู้ที่ไม่สามารถออกจากเคหะสถาน และจากการพบปะโคจรกับผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อเหมือนๆกัน จากแนวคิด ที่แค่รับมือเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด สู่การบอกเล่า การดูแลตามวิถีพึ่งพาตัวเอง เพื่อลดความร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งองค์ความรู้ เรื่องการใช้สมุนไพรฟ้าทลายโจน ยังคงเป็นเริ่องที่ควรแนะนำ และแบ่งปันต้นกล้า เพื่อให้ชาวเมืองได้มีโอกาสสร้างเกราะป้องกันเชื้อ covid-19 ด้วยตัวเอง 

กรรณิการ์ แพแก้ว นักข่าวพลเมืองสู้โควิดจังหวัดสุราษฎร์ธานี  สมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี

การสื่อสารเรื่องราวของโรงพยาบาลสนาม ในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่รุนแรง และสร้างความตระหนก เพื่อให้ สาธารณะได้เห็นวิธีการจัดการและสื่อสารปัญหา ของกลุ่มกู้ภัยที่ขาดอาสาสมัครเนื่องจากมีเคสผู้ป่วยจำนวนมาก รวมถึงข่าวการปรับตัวของประมงพื้นบ้านและกลุ่มแรงงาน ที่หารายได้เสริมโดยการคว้าหอยในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ ในการประทังชีวิตหลังมีการปิดร้านอาหาร และตกงานในช่วงโควิด 

การกัดเซาะชายหาดมีหลายรูปแบบ ซึ่งแบบที่ดีที่สุด คือการจัดการแบบมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ ตอนนี้ชาวดอนทะเลยังร่วมกัน วางมาตรการสีเขียวของชุมชน เพื่อดูแลทรัพยากรชายฝั่งตลอดแนวหมู่บ้านรองรับช่วงมรสุม เน้นปลูกไม้ยืนต้น หยีทะเล จิกทะเล เพื่อให้รากต้นไม้ช่วยยึดหน้าหาด ซึ่งป่าชายหาดมีความสำคัญในการป้องกัน การกัดเซาะช่วงมรสุมตามฤดูกาลตามมาตรการสีเขียวของชุมชน รวมถึงกำหนด กติกาชุมชนในการสร้างมาตรการป้องกันทรัพยากรชายฝั่งจากผู้บุกรุก จับสัตว์น้ำขนาดเล็ก ติดตามกับคุณกรรณิกา แพแก้ว

นักข่าวพลเมืองที่อยู่ในชุมชน สามารถสื่อสารข้อเท็จจริงต่างๆทั้งสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาและปัญหาในพื้นที่เพื่อให้เกิด การแก้ไขปัญหา ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ สิ่งที่ควรจะต้องทำต่อจากนี้คือ การพัฒนาศักยภาพของนักสื่อสารชุมชน ทั้งในด้านเทคนิคและการผลิตคอนเทนต์ เพื่อให้เกิดการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ร่วมกับสื่อสาธารณะ

ชาญวิทูร สุขสว่างไกร นักข่าวพลเมือง ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่าง  จ.สงขลา 

การสื่อสารเรื่องราวในชุมชน ในการดูแลป้องกันตนเอง และสังคมชุมชน ย่อมเป็นสิ่งสำคัญในการบอกเล่าสถานการณ์ในชุมชน กับการป้องกันและดูแลป้องกันโควิด-19 จะดูกันอย่างไรให้ปลอดภัยในการติดเชื้อและเป็นตัวการในการแพร่เขือโรคไปยังบุคคลอื่น ความตั้งใจอยากเห็นสถานการณ์โรคโควิด19 ลดการขยายตัว และลดการติดเชื้อในชุมชน จึงเกิดการสื่อสารสาธารณะ ในสถานะเป็นพลเมืองของสังคม นำต้นแบบดี ๆ ที่เกิดขึ้นไปชุมชนเล่าเรื่องเพื่อเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ได้เป็นแนวทางในการจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 

เมื่อเล็งเห็นถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในชุมชนอื่น ๆ จากการที่ได้สื่อสารสาธารณะ ออกไปสร้างการเรียนรู้ในหลายประเด็น เช่นการรณรงค์ฉีดวัคซีน การส่งเสริมการปลูกผักเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร ในยามที่ถูกกักต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ส่งเสริมการปลูกผัก ทำให้เกิดรายได้ในสถานการณ์โควิด 19 ช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจ สร้างรายได้ มีอาหารกินตลอดเกิดความมั่งคงอย่างยั่งยืนในช่วงวิกฤติโควิด 19 หวังไว้หากว่า ทุกคนมีจิตสาธารณะสร้างการสื่อสารสาธารณะ ในสถานะนักข่าวพลเมือง จะสร้างการรับรู้สู่สังคม การเปลี่ยนแปลงที่ดี ย่อมเกิดจากการลงมือทำ

มด หิรัญญา เกื้อก่อพรม ตัวเเทนจากลุ่มเยาวชน Young mak จากศูนย์เรียนรู้โลกบ้านฉัน@ควนหมาก

 สาเหตุที่มดได้ออกมาสื่อสารเรื่องราวในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ก็เพราะอยากจะให้ทุกๆคนได้เห็นถึงความสำคัญในการดูเเลรักษาสุขภาพ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองและบุคคลใกล้ตัว จากสมุนไพรไทยที่มีอยู่ภายในชุมชนค่ะ 

เรื่องที่มดนำมาสื่อสารคือการต้มน้ำสมุนไพร 7 นางฟ้าที่ต้มเเจกจ่ายให้ชาวบ้านที่เสี่ยงติดเชื้อเเละชาวบ้านบุคคลทั่วไปให้ได้ดื่มสร้างภูมิคุ้มกันภายในตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา พื้นที่ใกล้เคียงเเละโรงพยาบาลสนามของตำบลวังใหญ่ โดยใช้พื้นฐานเเละองค์ความรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้านรวมถึงได้รับคำเเนะนำจากทีมเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับทีมงานต้มน้ำสมุนไพรโดยมีทางทีมงานศูนย์เรียนรู้โลกบ้านฉัน@ควนหมากเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือจิตอาสาชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ศูนย์ร่วมต้านโควิดจะนะที่คอยส่งกำลังใจรวมถึงการเเลกเปลี่ยนสมุนไพรกัน เเละโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังใหญ่ที่เข้ามาช่วยเหลือให้คำเเนะนำชาวบ้านเป็นอย่างดี โดยสมุนไพรส่วนใหญ่ที่ทางกลุ่มได้รับจะมาจากชาวบ้านในชุมชนที่นำมาให้เเละยังมีการสมทบทุนเป็นเงินตามกำลังของเเต่ละท่านเพื่อให้ทางกลุ่มนำไปซื้ออุปกรณ์ในการต้มน้ำ โดยช่องทางที่มดใช้ในการสื่อสารส่วนใหญ่จะเป็นเฟซบุ๊กเเละ C-Site ค่ะ 

ตอนที่ได้ลงไปเเจกน้ำสมุนไพร7นางฟ้าให้กับชาวบ้านทั่วไปเเละชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยง พอนำไปเเจกบ่อยๆเข้า บางบ้านที่ปลูก ขิง ข่า ตะไคร้ เขาก็ถอนเอามาให้ บางบ้านเขาไม่มีสมุนไพรก็สมทบทุนเป็นเงินเล็กๆน้อยๆ มีบ้านหลังนึงที่ได้ไปเเจกทุกวันทางบ้านค่อนข้างจะมีทุนน้อยเเต่เขาก็ยังอยากจะช่วยเหลือเราในส่วนตรงนี้เขาก็มอบเงินให้มาหลายครั้งมาก อีกหลังนึงเป็นบ้านของคุณตาเเกรีวิวมาว่าปกติตอนกลางคืนเเกจะไอหนักมากเเต่หลังจากดื่มน้ำสมุนไพรอาการไอก็ดีขึ้นคือไอน้อยลง พอเราได้ลงไปสัมผัสอะไรเเบบนี้บ่อยๆทุกๆวันเข้ามันกลายเป็นตัวฮีลจิตใจเราได้ดีมากๆ ว่าสิ่งที่เราทำเนี้ยมันไม่ใช่เรื่องไร้สาระนะ มันช่วยพวกเขาได้จริงๆเลย การเปลี่ยนเเปลงที่เห็นได้ชัดคือชาวบ้านในตำบลวังใหญ่เเละชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงหลายๆกลุ่มเริ่มเปิดใจยอมรับ เเละมีความมั่นใจในน้ำสมุนไพร7นางฟ้ามากขึ้น

ส่วนตัวของมดคงต้องหาข้อมูล ฝึกพูดฝึกเขียนสื่อสารให้ผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเข้าใจตรงกันกับผู้ปฎิบัติงานมากขึ้นค่ะ

วิชัย กันอ่ำ นักข่าวพลเมืองชัยนา

ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ข้อมูลการรักษา รวมถึงสาเหตุของการระบาดและการติดเชื้อยังไม่แน่ชัด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เราจะต้องออกมาเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการป้องกันและการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ต่อสู้กับ COVID-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก่อนการระบาดของเชื้อติดไวรัสโคโนา 2019 (COVID-19) ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมีความสุขเป็นปกติทั่วไป ซึ่งเราไม่อาจคาดคิดได้เลยว่าในวันหนึ่งจะมีเหตุการณ์โรคระบาดที่ทำให้การดำเนินชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก จากเดิมที่มนุษย์เรามีวิถีชีวิตตามปกติ มีการรวมกลุ่มกันอย่างสนุกสนาน มีการสังสรรค์ร่วมกัน เดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ได้อย่างมีความสุข แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มขึ้น ชีวิตก็เปลี่ยนไป

ดังนั้น ในช่วงเวลาของการเป็นนักข่าวพลเมือง จึงได้พยายามสื่อสารเรื่องราวการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดและเพื่อให้ชีวิตเดินต่อไปได้ โดยผ่านแอพพลิเคชั่น C-site และ Facebook COVID-19 ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด ได้เรียนรู้วิธีการปรับตัว ได้เรียนรู้การป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบทางลบกับสังคม ถึงแม้การสื่อสารที่ผ่านมาอาจช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารคือประชาชนในชุมชนและสังคมได้รับความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการปรับตัวพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ได้มากขึ้น ในฐานะพลเมืองนักสื่อสารเราจำเป็นที่จะต้องไม่หยุดให้ความรู้แก่ประชาชนและสังคม รวมถึงหาแนวทางการปรับตัวเพื่อให้ทุกชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 

ภฤทธธิ์ เรือนทองดี นักข่าวพลเมืองสุพรรณบุรี

ผมเป็นครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ เนื่องจากได้มีโอกาสไปอบรมนักข่าวพลเมืองต้านภัยโควิด จากหมอโย หลังจากอบรมเสร็จแล้ว ก็ได้รู้ถึงช่องทางการเล่าเรื่องราวข่าวต่าง ๆใน C-site จึงมาคิดว่าเราก็เป็นนักข่าวพลเมืองคนหนึ่ง และประกอบกับ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นอำเภอที่เป็นพื้นที่สีแดงจึงอยากนำเสนอ เล่าเรื่อง แลกเปลี่ยน เรื่องราวต่าง ๆ มาตรการป้องกันโควิดของทางโรงเรียน 

ประเด็นแรกที่ทำหลังจากได้เป็นนักข่าวพลเมืองคือมาตรการป้องกันโควิดของทางโรงเรียน เนื่องจากตอนนั้นเกิดการระบาดของโควิด-19 และได้รับโอกาสจากคุณนาตในการออกข่าว ทางช่อง Thai PBS จึงมองว่าเราก็สามารถที่จะเผยแพร่ข่าวสารให้คนทั่วไปได้รับรู้ เกี่ยวกับโรงเรียนของเรา ชุมชน อำเภอ จังหวัดของเรา ข่าวต่อมาจึงได้มีโอกาสทำข่าวเกี่ยวกับผลผลิตที่มีราคาตกต่ำ เนื่องจาก ผลกระทบจากโควิด จึงทำให้เกษตรกรไม่มีช่องทางในการขายสินค้าทางการเกษตร จึงได้ทำข่าว “วิกฤติแตงโมไทยขายไม่ได้ และเน่าเสียเป็นจำนวนมาก” 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ทำให้ผมได้รู้ว่า ผมหรือทุกคนสามารถที่จะนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ในมุมมองของตนเองที่อยากจะนำเสนอเรื่องราวที่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ผมขอขอบคุณช่องทาง นักข่าวพลเมือง Thai PBS เป็นอย่างมากผมรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ข่าวที่ผมทำเกี่ยวกับ แตงโมไทยไม่สามารถขายได้ แต่พอได้ออกไปแล้วมีคนมาสั่งซื้อกับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกร ชาวบ้าน ผู้ปกครองนักเรียนสามารถมีรายได้ให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้มีเงินใช้ ไม่ต้องลำบาก 

อยากให้ทางรายการได้เปิดโอกาสให้มีการสัมภาษณ์ นักข่าวพลเมือง หรือให้นักข่าวพลเมืองมีการรายงานข่าวหน้ากล้องเพื่อที่จะให้นักข่าวพลเมืองได้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น และมีการจัดอบรมณ์เกี่ยวกับการเขียนข่าวเพิ่มเติม เพื่อให้ข่าวที่ออกรายการตรงประเด็นและเป็นเรื่องราวที่สนุก เพื่อได้ให้คนที่ดูสนุกไปกับข่าว 

จตุพร ตระกูลปาน นักข่าวพลเมืองสุพรรณบุรี

เพราะเราคือคนในพื้นที่ เพราะเราเป็นสมาชิกของชุมชน เพราะเรารู้ข่าวสารในชุมชนก่อนใครๆ เพราะเรารู้จักแหล่งข่าว รู้ความจริง รู้ตื้นลึกหนาบาง เราจึงต้อง “สื่อสาร” ในสถานการณ์โควิดซึ่งเป็นวิกฤตที่นักข่าวมาลงพื้นที่ไม่สะดวก เรื่องราวที่ลุกขึ้นมาสื่อสารคือเรื่องราวความทุกข์ร้อนของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำป่าสักในจังหวัดสระบุรีที่ถูกน้ำท่วมขัง ในตอนนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสระบุรี บ้านของชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งน้ำได้รับผลกระทบอย่างหนัก น้ำท่วมตัวบ้านและยังท่วมเส้นทางการเดินทางเข้าออก ส่งผลให้ไม่สามารถออกจากบ้านมาทำมาค้าขายได้ตามปกติจึงส่งผบกระทบต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก และด้วยความที่ตัองการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาและสถานการณ์จากพื้นที่จริงจึงได้สื่อสารเรื่องราวผ่านการเขียนข่าวและลงคลิปกับรูปภาพลงใน C-Site โดยหวังว่าเรื่องราวจะได้รับความสนใจและถูกหยิบยกไปทำเป็นข่าวออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดหวังคือเรื่องราวได้รับการถ่ายทอดสื่อสารสู่สังคมในช่วงของข่าวเช้าวันใหม่ไทยพีบีเอส

จากประสบการณ์การลงพื้นที่จริงเพื่อนำข้อมูลมาเขียนข่าวทำให้เรียนรู้กระบวนการทำข่าว การตั้งประเด็น การตั้งคำถามเพื่อให้ได้ข้อมูล การติดต่อประสานงาน การใช้ภาษาในการสื่อสาร รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ในการบันทึกภาพและภาพเคลื่อนไหว การที่ลุกขึ้นมาสื่อสารในเรื่องน้ำท่วมนี้เมื่อข่าวได้รับการออกอากาศทำให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนใจปัญหาในพื้นที่มากขึ้น ช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ปัญหาได้รับการคลี่คลาย นี่คือผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการเปลี่ยนแปลง เมื่อนักข่าวพลเมืองในพื้นที่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมได้ขนาดนี้ สิ่งที่พลเมืองนักสื่อสารควรทำต่อไปคือการสื่อสารเรื่องราว/ข่าว/ประเด็นที่มีประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องราวที่เป็นประเด็น/เรื่องราวต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ ๆ รวมทั้งต้องหมั่นฝึกฝนการตั้งประเด็น ฝึกฝนการเขียนข่าว และการถ่ายภาพเพื่อให้การสื่อสารของพลเมืองนักสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเราคือคนในพื้นที่ เราจึงรู้ดีที่สุด 

สันติ โฉมยงค์ นักข่าวพลเมืองอยุธยา

“ฉันไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อเป็นนักข่าวพลเมือง แต่ฉันมีชีวิตอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะฉันเป็นนักข่าวพลเมือง”

พฤศจิกายนปี 2019 หลังเดินทางกลับจากไปพักผ่อนที่ฮอกไกโดได้ไม่นาน รอยร้าวในครอบครัวเราก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้น ชีวิตคู่ที่เดินทางร่วมกันมาสิบปีเริ่มไม่เหมือนเดิม ความสุขที่เคยมีเริ่มลดน้อยลงไป ความรัก ความเข้าใจ ค่อย ๆ จืดจาง สวนทางกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ที่ค่อย ๆ ขยายวงกว้างจากประเทศจีนสู่นานาอารยประเทศทั่วโลก

กราฟความสุขของชีวิตกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 มันช่างสวนทางกันราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว ทั้งปัญหาชีวิตและปัญหาโควิด 19 ที่ถาโถมเข้ามา ก็เป็นช่วงเวลาที่ฉันได้เริ่มต้นรู้จักกับเครื่องมือของนักสื่อสารพลเมืองที่ชื่อ C-site จากการหลวมตัวไปร่วมกิจกรรมกับสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส รุ่นที่ 5 

แน่นอนว่าฉันใช้ C-site เป็นที่ระบายความรู้สึกอึดอัดที่ไม่อาจจะพูดจะบอกออกไปได้ สำหรับฉัน C-site ก็เป็นเหมือนไดอารี่เล่มแดงที่ฉันบอกเล่าเรื่องราวทุกอย่างในชีวิต ทำให้ได้คิดทบทวนทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาทั้งเรื่องที่ตั้งใจและเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

แน่นอนว่าการหลงเข้ามาอยู่ในโลกของการสื่อสารมันช่วยพัฒนาทักษะการคิด การเขียน ถ่ายภาพ ทำคลิปตัดต่อวิดีโอด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มันเป็นอะไรที่ท้าทายมาก ๆ จนบางครั้งฉันเองเกือบจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่ถาโถมเข้ามา ณ ช่วงเวลานั้นไป ในช่วงแรกของการเป็นนักข่าวพลเมืองมือใหม่ ฉันจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำไว้กันลืม จนเมื่อสถานการณ์โควิด-19 มันเริ่มรุนแรงขึ้น และฉันต้องเข้าไปรับผิดชอบงานในหน้าที่ซึ่งต้องมีบทบาทในการให้ความแห็นเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันเชื้อโควิด-19 เช่น การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย เริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายอย่างที่ไม่สามารถพูดออกไปได้ เช่น การใช้งบประมาณจากกองทุน สปสช. ตำบลมาทำหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจลล้างมือ หนักที่สุดก็อุโมงค์พ่นน้ำยาซึ่งไม่สามารถช่วยอะไรได้ ในสถานการณ์ที่โควิด-19 สร้างความชอบธรรมในการใช้งบประมาณให้กับคนบางกลุ่ม

นอกจากปัญหาชีวิตแล้ว โควิด-19 มันทำให้เราได้เห็นว่าในภาวะที่ทุกคนตื่นตระหนกนั้น พญาอินทรีก็กำลังออกล่าเหยื่อบนความโกลาหลของผู้คนที่พยายามหลบหนีเอาตัวรอด นั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นที่ฉันอยากจะเป็นพลเมืองนักสื่อสารขึ้นมา ฉันเริ่มทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองจากงานที่ทำเป็นประจำ เช่น การเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร งานคุ้มครองผู้บริโภค งานวิ่ง งานอาสาที่ทำแล้วสบายใจ เพราะชีวิตจริงของฉันตอนนั้นมันร้อนยิ่งกว่ากองไฟยาวแปดเมตรที่หลวงปู่เค็มเดินลุยเสียอีก ฉันใช้เวลาเกือบปีกว่าจะพัฒนาทักษะพลเมืองนักสื่อสารจนถูกนำไปออกอากาศทางสื่อสาธารณะ แน่นอนว่าทุกประเด็นที่ถูกสื่อสารมันคืองานที่ฉันทำด้วยความรัก มันคือหน้าที่รับผิดชอบที่ฉันภาคภูมิใจ ซึ่ง C-site เข้ามาทำให้ฉันรักและภาคภูมิใจในงานที่ฉันมากยิ่งขึ้น ทั้งการตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารตามนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย, การควบคุมกำกับมาตรฐานร้านนวดเพื่อสุขภาพ, การสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ผลิตสินค้าชุมชน, ส่งเสริมการปลูกกัญชาทางการแพทย์, การควบคุมกำกับมาตรฐานการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ด้วยวิธี RT-PCR, การควบคุมกำกับมาตรฐานโรงพยาบาลสนาม/Hospital, ความเดือดร้อนของกลุ่มเปราะบางเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา จนมาถึงสถานการณ์น้ำท่วม การหลงเข้ามาในอาณาจักรของพลเมืองนักสื่อสารตลอดสองปีที่ผ่านมานั้น มันช่างมีความสำคัญกับชีวิตฉันมากมาย

จากที่เคยคิดว่าฉันอาจจะตายไปพร้อมกับชีวิตคู่ที่ล้มเหลว ฉันอาจจะตายไปเพราะทำงานเสี่ยงภัยโควิด-19 และฉันอาจจะตายไปพร้อมกับความจริงบางอย่างที่เขาไม่อยากให้ใครรู้ แต่ฉันก็รอดมาได้ วันนี้ฉันสามารถพูดได้เต็มปากว่า “ฉันเป็นนักข่าวพลเมือง” พลังการสื่อสารเล็กๆของฉันสร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายในชุมชน พลเมืองนักสื่อสารอย่างฉันได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆมากมายในการรับมือกับโควิด-19 ได้พัฒนาทักษะการคิด การเขียน การถ่ายภาพและตัดต่อคลิปด้วยโทรศัพท์มือถือถูก ๆ เพียงเครื่องเดียว ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ฉันยังไม่ได้สื่อสารให้โลกได้รู้ ซึ่งฉันตั้งใจเอาไว้อย่างแน่แน่วแล้วว่าฉันจะทำมันให้สำเร็จก่อนที่ฉันจะลาจากโลกนี้ไป

เราคือนักข่าวพลเมือง จากสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี

เราคือ นักข่าวพลเมือง จากสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม  เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เผือกหอม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเผือกหอม อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ที่มีอาชีพการปลูกเผือกหอมบ้านหมอ ที่มีมาตรฐานและขึ้นชื่อในความร่วนซุย และมีกลิ่นหอม จำนวนประมาณ 3,000 กว่าไร่ ผลผลิตทั้งปี จำนวนประมาณ 9,000 กว่าตัน โดยอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณอายุ 6 เดือน แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้มีผลผลิตค้างแปลง ในข่วงกลางปีที่ผ่านมา จำนวนประมาณ 4,000 กว่าตัน เนื่องจาก ตลาดรับซื้อหลักปิดตัวลง เช่น ตลาดไท ยอดสั่งซื้อจากห้างสรรพสินค้าต่างๆลดลง การคมนาคมขนส่งติดขัด เกษตรกรติดเชื้อโควิด ฯลฯ ส่งผลกระทบกับเกษตรกรในการกระจาย/จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรเป็นอย่างมาก ส่งผลกับปัญหาภาระหนี้สินตามมา จากการลงทุน จากการขายไม่ได้ จากราคาผลผลิตก็ตกต่ำ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเผือกหอม มีการแปรรูปเป็นเผือกทอดกรอบ ผู้บริโภคสั่งซื้อลดลง เช่นเดียวกัน ผู้คนออกเดินทางกันไม่ได้ และอีกมากมายของปัญหาที่เกษตรกรได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์โควิด

เราเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร เรารับรู้และรู้สึกสัมผัสได้ถึงความทุกข์กับปัญหาเหล่านั้นที่พวกเค้าเจอ เราจึงต้องการสื่อสารปัญหาของพี่น้องเกษตรกร เศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่ประสบปัญหาอยู่ โดยการสื่อสารผ่านข่องทาง การปักหมุด (ปักหมุด) ลงในแอพ C-Site ของ Thai PBS 

เราได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นจริงของมนุษย์ ในการดิ้นรนทำทุกช่องทาง การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ การบริหารจัดการ เพื่อความอยู่รอดในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการดำรงชีพ 

เราได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง การเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ทันตั้งรับ ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน

เราได้เรียนรู้ถึงปัญหา ที่จะมีทางออกในการแก้ไขได้นั้น ต้องได้รับความร่วมมือ ร่วมใจ ความเสียสละ ผู้นำที่ดี ความสามัคคี ความเห็นใจซึ่งกันและกัน จะทำให้ปัญหาต่างๆเหล่านั้น เจอกับทางออก หรือจากหนักให้เบาบงได้ เราได้เรียนรู้ถึง การสื่อสาร ระหว่างกัน จากต้นทาง ระหว่างทาง ถึงปลายทาง ทุกจุด ล้วนมีความสำคัญ ในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ ร่วมสร้าง ของทุกภาคส่วน เราได้เรียนรู้เราทุกคนบนโลกใบนี้ ควรใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท มีสติ มีความเป็นกลาง มีการปรับตัว เตรียมพร้อม เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่คับจัน หรือการเปลี่ยนแปลงของโลก 

  • การลุกขึ้นมาสื่อสารปัญหาความทุกข์ของพี่น้องเกษตรกร ช่วยสร้างการรับรู้ เกิดการประชาสัมพันธ์ ให้ทุกคนได้รู้จัก ของดีของเกษตรกรในจังหวัดสระบุรี
  • ได้บอกต่อปัญหาของพี่นัองเกษตรกร เพื่อการมองเห็น รับรู้ รับฟังให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบร่วมกัน เพื่อเป็นกำลังใจ และหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาตามบทบาท ภารกิจ ของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  • ในการสื่อสาร สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ ของดี ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี 
  • การกระจายผลผลิตสินค้าเกษตร โดยความร่วมมือ จากในพื้นที่ ต่างพื้นที จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  • ได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าแปรรูปเผือกหอม ทางออนไลน์ จากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อเกิดรายได้เพิ่มขึ้น 
  • ทำให้กลุ่มได้มีการวางแผนการผลิต วางแผนการบริหารจัดการ ในการเตรียมรับสถานการณ์ หรือการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของโลก โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรให้มีความหลากหลาย เท่าทันสอดคล้องกับสถานการณ์อื่นๆต่อไปได้ 

พลเมืองนักสื่อสารควรทำอะไรหรือคะ ขึ้นชื่อว่า พลเมืองนักสื่อสาร ควรสื่อสารตามชื่อเลยค่ะสื่อสารข้อเท็จจริงของประชาชน พี่น้องเกษตรกร /ปัญหา/แนวทางการพัฒนา รวมถึงปัจจัยปัจเจกทุกสิ่งอย่างที่ทำให้การสื่อสาร เรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • เรื่องดี เรื่องเด่น เรื่องเย็น เรื่องร้อน
  • ของดี ของเด่น ของเป็นประโยชน์
  • เรื่องเล่า บอกกล่าว เล่าต่อ การเชื่อมโยงจากกันถึงกัน ให้เกิดการรับรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เกิดการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ
  • สร้างทีมเครือข่ายพลเมืองนักสื่อสารให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกระดับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายการสื่อสารได้มากยิ่งขึ้น สร้างสรรค์สิ่งดีให้สังคม 

วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง ฝ่ายพัฒนานักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส (บก.เพจอยู่ดีมีแฮง) นำเสนอภาพรวมของการสื่อสารของภาคพลเมืองในช่วงโควิดว่า การสื่อสารเพื่อการขับเคลื่อนสังคม 1.ไทยพีบีเอสเป็นพื้นที่ปรากฏตัว กว่า 2 ปี ที่โควิด-19 อุบัติขึ้นบนโลก และคืบคลานระบาดอยู่ในสังคมไทย และช่วงเดียวกันนี้ เป็นอีกเวลาที่นักสื่อสารพลเมืองร่วมรายงานสถานการณ์วิกฤตทางสังคมเพื่อให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน

“พื้นที่การสื่อสารนี้เชื่อมต่อลดข้อจำกัดการเดินทาง ช่วงต้นของการระบาด เมษายน 2563 ช่วงนั้นข้อจำกัดของการเดินทางนำมาสู่ความกังวล การประสาน การส่งต่อความช่วยเหลือ เป็นข้อท้าทายสำคัญต่อการรับรู้เรื่องราวและสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนที่ห่างออกไปจากศูนย์กลางการสื่อสารอย่างเมืองใหญ่ ๆ แต่นั้นเป็นการพิสูจน์ถึงพลังจากคนในชุมชน สื่อสารให้สังคมเข้าใจสถานการณ์ และเห็นความสำคัญของสถานการณ์”

นักข่าวพลเมือง นักสื่อสารสาธารณะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งจากการประสานงานเติมทักษะความรู้กัน และเกิดตามพลังสื่อของมือสมัครใจ เจ้าหน้าที่ อสม. / เยาวชนในหมู่บ้าน/สื่อชุมชน/รวมไปถึงพระคุณเจ้าที่รับบทบาทนักสื่อสาร พระ อสว. ต่างสื่อสารผ่านสายตาของคนในชุมชน ทำหน้าที่ร่วมกำหนดวาระทางสังคม ร่วมหาทางออก เหมือนท่านอาจารย์หมอประเวศ กล่าวไปเมื่อช่วงเช้า “รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ”

สื่อสารเพื่อให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน เรารอดคนเดียวไม่ได้ เพื่อให้เห็นความสำคัญของประเด็นปัญหา ให้สังคมเข้าใจสถานการณ์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย และไม่ตกหล่นหลงลืมคนตัวเล็กตัวน้อยกับหัวใจยิ่งใหญ่ผ่านการสื่อสารสาธารณะของพลเมือง ลดช่องว่าง เคียงบ่าเคียงไหล่ เมืองไทยเราเจอวิกฤตกันมาหลายระลอก แต่ครั้งนี้หนักหน่วงและอาจจะยาวนาน แต่อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถรอดเพียงคนเดียวได้ “ชุมชนสู้โควิด-19” ชุมชนต้องรอด ปากท้องต้องอิ่ม

“ดอกผลการสื่อสาร ไม่เพียงการออกอากาศผ่านหน้าจอทีวี เครือข่ายสื่อทั่วประเทศคือกลไกสำคัญ และหลายพื้นที่ยังคงเคลื่อนไปด้วยกัน ทั้งหมดนี้คือการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนสังคม”

ผู้แทนฝ่ายพัฒนานักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส กล่าวย้ำ

ร่วมปักหมุดเล่าเรื่องราวการสื่อสารเพื่อผ่านโควิดร่วมกันได้ที่ C-Site ทั้งแอปพลิเคชัน หรือทางช่องทางไลน์ด้วยการเพิ่มเพื่อน @csite หรือคลิกที่ภาพด้านล่าง พลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ