คุณเล่า เราขยาย: เช็กความพร้อม ชุมชนรับมือโควิด-19

คุณเล่า เราขยาย: เช็กความพร้อม ชุมชนรับมือโควิด-19

คำว่าโควิด-19 ขยายความด้วยโอมิครอน ยังคงอยู่กับเราทุกคน ท่ามกลางชีวิตวิถีใหม่ที่ดำเนินไปภายใต้หน้ากาก (อนามัย) เรายังคงพบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มเกิน 5,000 ราย ตั้งแต่หลังวันปิดฉลองปีใหม่เป็นต้นมา

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกางแผนรับมือโควิดระลอกโอมิครอน โดยเปลี่ยนแนวทางรักษาใหม่มาเป็น การรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) และรักษาตัวในชุมชน (Community Isolation: CI) เป็นอันดับแรก โดยให้เหตุผลว่าการระบาดของโรคในปัจจุบันยังไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา และเป็นการลดภาระการรองรับทางสาธารณสุขในประเทศ

แต่ทั้ง HI และ CI ต้องมีการเตรียมการ ทั้งให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจโดยเฉพาะในระดับชุมชน คุณเล่าเราขยายวันนี้ชวนไปเช็คความพร้อมกัน

00000


จุดแรกไปที่ จ.ยะลา ซึ่งมีการเดินหน้านโยบายการรักษาตัวแบบ Home Isolation ด้วยเหมือนกัน

โรงพยาบาลยะลา มีการทำระบบอาสาสมัครไรเดอร์ทำหน้าที่รับส่งยาและอาหารให้กับผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 100 คน อย่างคุณอาเพ็ญดี ดอนิแม ก็คือหนึ่งในอาสาสมัครที่ใช้เวลาว่างจากงานประจำ มาแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยส่งยา อาหาร และอุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ ให้ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่พักรักษาตัวที่บ้านที่มีอยู่กว่า 200-300 หลัง

คลิป: อาสาไรเดอร์ ส่งยา-อาหารให้ผู้ป่วยโควิด19  

“ยินดีช่วยคุณหมอ” นี่คือคำพูดของคุณอาเพ็ญดี และอาสาสมัครหลาย ๆ คน ที่ “พร้อมจะช่วยเหลือกัน” ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว มาจนถึงตอนนี้

นอกจากกลุ่มคนอาสาแล้ว สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า คนในชุมชนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและเฝ้าระวังโควิด-19 โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤตอย่างในกรุงเทพ ฯ ที่มีผู้คนอยู่กันหนาแน่น แต่หลายชุมชนดูแลกันจนฝ่าฝันวิกฤติมาได้

00000


ชุมชนฟื้นนครร่มเกล้า ระยะ 1 โซน 7 เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ มีการลงขันกันในชุมชนคนละ 100-200 บาท เพื่อจัดตั้ง Community Isolation (ชุมชน) ขึ้นมาและร่วมกันดูแลควบคุมโรค จนสามารถลดการแพร่ระบาดในชุมชนในช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้วได้

จากวันนั้นผ่านมากว่า 4 เดือน โควิด-19 กลับมาอีกครั้ง แต่ชุมชนที่นี่เขาเตรียมพร้อมรับมือระลอกใหม่กันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะเชื่อว่าโควิดยังไม่ซาและพร้อมจะกลับมาได้ทุกเมื่อ

คลิป: ชุมชนฟื้นนครร่มเกล้าระยะ 1 โซน 7 พร้อมดูแล

00000


ไม่เฉพาะที่กรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดชุมชนก็เตรียมความพร้อมเช่นกัน หลังช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผู้ติดเชื้อสูงขึ้น แต่แนวทางของแต่ละจังหวัดคือการให้ปิดโรงพยาบาลสนาม และเน้นการรักษาตัวเองที่บ้าน

รวมไปถึงที่ จ.เชียงใหม่ นั่นทำให้ภาคประชาชนและชุมชนหลายชุมชนในเขต อ.เมือง ต้องเริ่มวางแผน ทยอยเตรียมความพร้อมสำหรับ Community isolation และ Home isolation

ชวนดูจุดหนึ่งที่ชุมชนหัวฝาย ปักหมุดจาก เครือข่ายปั๋นอิ่ม นักข่าวพลเมือง จ.เชียงใหม่ เล่าถึง การเตรียมความพร้อมของชุมชน เพื่อดูแลกันและป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชน เพราะพื้นที่ตรงจุดกลางเมืองนี้เป็นชุมชนแออัด และมีผู้คนหลากหลายที่มา

ทางชุมชนมีพี่เลี้ยงคอยช่วย คือศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ (บ้านเตื่อมฝัน) ซึ่งได้ทดลองทำ Community isolation (ชุมชน) เมื่อปีที่แล้วมาถ่ายทอดประสบการณทั้งการเตรียมคน คือ ทีม อสม. ผู้นำชุมชน และอาสา เตรียมสถานที่ เตรียมระบบดูแลและประสานงานกับคนในชุมชนและเจ้าหน้าที่

คลิป: CI รวมหมู่ ชุมชนเมืองเตรียมพร้อม จ.เชียงใหม่

00000


 เช็กความพร้อม ชุมชนรับมือโควิด-19

ภาพที่เห็นเล่าถึงความพยายามของชุมชน เรียกว่าสนับสนุนกันตามสภาพ

เมื่อประชาชนเตรียมพร้อม อยากเดินหน้าช่วยดูแลกัน แล้วหน่วยงานรัฐควรขยับต่ออย่างไร ชวนพูดคุยกับ หน่อย-วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ที่ร่วมด้วยช่วยดูแลชุมชนแออัดของเมืองในการระบาดหลายระลอกที่ผ่านมา โดยร่วมกับ “ทีมคอมโควิด IHRI (Community COVID Team)” และปีนี้มีการขยายผลเป็น 93 ชุมชนในกรุงเทพฯ

และอีกคนหนึ่ง จ๋า – จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้จัดการโครงการด้านการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) หรือ พริบตาคลินิก หนึ่งในกำลังสำคัญทางการแพทย์ของ “ทีมคอมโควิด IHRI” ที่ประสานความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในช่วงเวลาวิกฤติเมื่อปีที่ผ่านมา

วิภาพร วัฒนวิทย์: แผนการจัดการของหน่วยงานรัฐด้านสุขภาพวันนี้เอาอยู่หรือรอดูก่อน

จารุณี ศิริพันธุ์: คิดว่าต้องเอาอยู่แล้ว ในความเป็นจริงคือรัฐบาลของเรามีประสบการณ์ในการจัดการโควิดมาแล้ว 2 ปีกว่า เข้าปีที่ 3 แล้ว และในปีที่ผ่านมานับเป็นระลอกใหญ่ มีกระบวนการในการจัดการเต็มที่ มีจิตอาสา มีคลินิกเอกชนหลายแห่งมาร่วมด้วยช่วยกัน รวมถึงชุมชนหลายแห่งที่มาเข้าร่วม ถ้าในจินตนาการ สิ่งที่อยากเห็นแน่นนอนคือ “มันต้องเอาอยู่แล้ว” แต่เราก็พบว่ามันยังคงมีช่องว่างอยู่ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในส่วนของคนที่อาจไม่มีสถานบุคคล คนที่ไม่ใช่คนไทย หรือแรงงานข้ามชาติ เรายังคงพบอุปสรรค์ตรงนี้

แม้แต่ตัวคนไทยเองก็ยังมีหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น ที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในเรื่อง HI และ CI หรือยังไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทางไหน ยังมีข้อจำกัดอยู่ รวมไปถึงหน่วยบริการและสถานพยาบาลหลายแห่งก็ยังไม่ยอมทำ HI หรือยังไม่ยอมเชื่อมกับชุมชน หรือยังไม่มีระบบที่ทำให้ชาวบ้านสามารถที่ HI ร่วมกับโรงพยาบาลได้ คิดว่าอันนี้ยังเป็นช่องว่า

วรรณา แก้วชาติ: เห็นด้วยว่าสถานการณ์ตอนนี้มันผ่านมาหลายละรอกมาก เราคิดว่ามันควรจะเอาอยู่ได้แล้ว แต่เมื่อดูจากการปฏิบัติคิดว่ามันละล้าละลัง มันพะรุงพะรังไปหมด นโยบายที่ถึงแม้จะบอกว่าเรามีวัคซีนที่เพียงพอ เรามีสถานพยาบาล เรามีจิตอาสา เรามีหน่วยพยาบาลที่พร้อมรับมือ แต่ในความเป็นจริงเหมือนมันมีรอยต่อที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการบริการรักษาได้อย่างทันถ้วงที มันจะต้องรอ ยกตัวอย่างเช่นหากเราพบผู้ติดเชื้อในชุมชน แม้ในปัจจุบันนี้ในสถานการณ์ที่โอมิครอนเข้ามายังพอจะมีสถานบริการที่รับเข้าไปบ้าง แต่ก็ยังต้องมีการรอในชุมชนอยู่

แม้แต่วัคซีนเอง นโยบายที่บอกออกมาว่าทุกคนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ แต่เรายังเห็นว่ามีคนที่ฉีดเข็มที่ 1 มาแล้ว เข็มที่ 2 – 3 ยังต้องมีการลงทะเบียนเยอะแยะไปหมด ซึ่งหลายคนไม่สามารถเข้าสู่ระบบการลงทะเบียนได้ การวอล์กอินจะเปิดแค่เป็นช่วง 2-3 วัน หลังจากนั้นต้องลงทะเบียนตามเบอร์มือถือ หรือจะต้องมีโทรศัพท์ที่สามารถลงทะเบียนได้ อันนี้ก็เป็นอุปสรรค์ปัญหาที่จะทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการในการป้องกันและควบคุมโรคได้

สิ่งสำคัญเรามองว่าตัวรัฐเอง หน่วยพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่างๆ ยังคงมีนโยบายหรือแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น ศูนย์สาธารณะสุขของ กทม. ควรเป็นสถานที่หรือหน่วยบริการที่ดูแลชุมชนเพราะใกล้ชิดกันที่สุด แต่ผลปรากฎว่าเวลาเกิดเหตุหรือมีการติดเชื้อขึ้นจริง กลับไม่ได้ใช้บริการเหล่านี้เข้ามาแก้ไขปัญหา แต่กลายเป็นว่ามันอยู่ที่ความสามารถของคนในชุมชนเองว่าเราจะสามารถหาหน่วยบริการจากที่ไหนได้บ้าง

เรามองว่ามันมาถึงจุดนี้แล้ว มันมีบทเรียนมาเยอะมาก รัฐเองควรมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนได้แล้ว ว่าการจัดการโควิด-19 รอบนี้เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเอามันอยู่ ไม่ต้องรีรออะไรแล้ว จัดการได้เลย ไม่ต้องกังวลกับการที่เราจะบอกว่ามีสถานพยาบาลไหม มียาไหม มีวัคซีนไหม ไม่ควรกลับมาพูดเรื่องนี้กันอีกแล้ว

วิภาพร วัฒนวิทย์: ประเมินระดับชุมชนพร้อมแค่ไหน แล้วรัฐจะมาเสริมอะไรได้บ้าง

วรรณา แก้วชาติ: ในส่วนชุมชนที่เราทำงาน กับสลัม 4 ภาค ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัดด้วยกว่า 90 ชุมชน เราคิดว่ามันพร้อมในระดับหนึ่งและมันเป็นภาวะจำยอมที่เราต้องพร้อม เพราะเราประเมินว่าหากเกิดการระบาดหนักเหมือนรอบที่แล้ว รัฐเองคงไม่มีสรรพกำลังพอที่จะจัดการมันได้ เพราะฉะนั้นชุมชนต้องเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการที่จะช่วยแก้ปัญหา

แต่เราเองก็มองว่า ทรัพยากรในชุมชนตอนนี้มันก็ร่อยหรอ การที่จะให้คนลุกขึ้นมาบริจาคสิ่งของ ข้าวของ ตอนนี้มันก็.. ปัญหาเรื้อรังมานนาน บางคนหน้าที่การงานก็ไม่ได้ทำแล้ว ค้าขายก็ลำบาก สถานการณ์แบบนี้มันยากไปหมด

อีกส่วนหนึ่งที่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญคือ ในบ้านหลังหนึ่งหากมีผู้ติดเชื้อ ผลปรากฎว่าตัว สปสช.หรือสาธานรณะสุขต่างๆ ก็จะรักษาเฉพาะคนที่ติดเชื้อ แต่คนที่ถูกสั่งกักตัวอยู่ในบ้าน หรือว่ากลุ่มเสี่ยงสูงไม่มีใครดูแลนอกจากชุมชน

เราคิดว่าถ้าอยากจะให้รัฐเติมลงไป 1.ติดแล้วรักษาเร็ว หากเขาติดมีพื้นที่ มีหน่วยที่เขาจะเข้าสู่การรักษาพยาบาลได้เลย นอกเหนือจากการทำ HI เมื่อประเมินว่ากลุ่มนี้อยู่บ้านไม่ได้ ไม่ใช่กลุ่มเขียว เป็นกลุ่มเหลือจะข้ามไปแดง จะมีอาการหนักแล้วกลุ่มนี้ไปโรงพยาบาล ให้สามารถส่งตัวได้เลย มีหน่วยบริการรับ 2.กลุ่มเขียวที่อยู่ในชุมชนต้องสนับสนุนการเข้าถึงยา การเข้าถึงอาหาร หรือการสร้างองค์ความรู้ เมื่อเขาหายแล้ว การออกใบรับรองแพทย์ควรมีการออกให้โดยเร็ว ประกาศให้ชัดเจน หายแล้วไม่ต้องมาตรวจอีก เขาสามารถไปใช้ชีวิตปกติได้ เพราะตอนนี้คนทั่วไปเวลาไปทำงานจะต้องมีการตรวจทุก 7 วันเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนอื่น ๆ ในบริษัทหรือในที่ทำงาน

3.กลุ่มที่ถูกกักตัวในชุมชนที่เขาไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อข้าวปลาอาหารต้องมีการสนับสนุน ไม่ใช่บอกว่ากักตัวอยู่บ้านแล้วปล่อยเขาตามยถากรรม อย่างนั้นมันกักให้เขาอด ปล่อยให้เขาตาย ให้เข้าเผชิญชีวิตเอง แต่ถามว่าสุดท้ายใครจะยอมกัก ถึงเราจะเสี่ยงสูง แต่เราไม่มีจะกิน ก็ต้องออกมาทำงมาหากิน คิดว่าประเด็นเหล่านี้รัฐฯ ต้องตระหนักให้มาก

มันต้องมองเป็นภาพรวม ไม่ใช่แค่การรักษาคนติด แต่มันต้องมองทั้งระบบด้วยว่าเราจะแก้ปัญหานี้ไปด้วยกันได้อย่างไร

วิภาพร วัฒนวิทย์: โควิดไม่ได้เป็นแค่เรื่องของระบบสุขภาพ แต่มันคือทั้งชีวิตของคนที่ติดและครอบครัว ทุกหน่วยงานก็ดูมีความพยายามจะช่วยกัน แต่เอาเข้าจริงทำไมมันแก้ไม่ได้

จารุณี ศิริพันธุ์: มันเป็นเรื่องของวิธีคิด เวลาเรามองโรค หากมองว่ามันร้ายแรงแล้วใช้ความร้ายแรงนั้นมาจัดการ เราก็จะหยุดชะงักทุกสิ่งอย่างในประเทศเราเอาไว้ อย่างที่บอกว่ามันไม่ได้มองแค่ตัวระบบสุขภาพหรือเรื่องของการรักษา แต่หมายถึงการดำเนินชีวิตของผู้คน ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเราขู่ให้ประชาชนกลัว เราก็จะไปหยุดชะงักเศรษฐกิจ หยุดชะงักการดำเนินชีวิตทั้งหมด แต่ถามว่าเขาสามารถกักตัวอยู่อย่างที่ว่ามาได้ไหม ในความเป็นจริงคือมันไม่ได้เลย คนจะต้องทำมาหากกิน ยิ่งในยุคเศรษฐกิจที่คนตกงานแบบนี้

ดังนั้นวิธีคิดของรัฐจึงต้องวิเคราะห์รอบด้าน ไปด้วยกันกับสภาพความเป็นจริงของสังคม และต้องเปลี่ยนมุมในการสื่อสารเสียใหม่ ไม่ใช่หยอดแต่ความกลัวลงไปเพื่อให้คนไม่ออกไปไหน ไม่ออกไปไหนเท่ากับปลอดภัย ซึ่งในความเป็นจริงที่ชีวิตต้องดิ้นรนออกไปทำมาหากินมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องเปลี่ยนมุม

ข้อที่สองรัฐต้องสนับสนุนหลาย ๆ อย่างให้ประชาชนอย่างเพียงพอ 1.สนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการให้บริการร่วมกับภาครัฐอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่พูดในนิยามหรือวาทกรรมว่าต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม แล้วรูปธรรมคืออะไร รัฐสนับสนุนอะไรชุมชนบ้าง มีงบประมาณอะไรที่จะสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง และเป็นการมีส่วนร่วมอย่งมีความหมาย

ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมต่าง ๆ เกิดจากการที่ชุมชนดิ้นรนทำกันเอง เพราะรู้สึกว่าถ้านิ่งเฉยเรากำลังจะทำให้คนในครอบครัวเราเจ็บป่วยล้มตาย เรายอมไม่ได้ เลยต้องลุกขึ้นมาและจัดกระบวนการเตรียมความพร้อมชุมชนเอง ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้น ควรจะต้องทำให้เห็นว่าระบบสุขภาพมันอยู่ในมือชุมชนกับประชาชน

2.รัฐจะต้องสบับสนุนชุดตรวจโควิด-19 และหน้ากากอนามัยให้ประชาชนอย่างจริงจัง ในต่างประเทศหลายประเทศเขาสนับสนุน เขาส่งไปที่บ้าน เพื่อที่จะให้คนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ มันเป็นเงินจำนวนไม่น้องที่ประชาชนต้องจัดการตัวเองให้มีหน้ากากเพื่อที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ไปทำงานได้ หรือในที่ทำงานบางแห่งก็ต้องมีชุดตรวจ ATK ตรวจทุกสัปดาห์หรือทุก 5 วัน

ประเด็นสำคัญคือเรื่องนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ หากวิธีคิดเปลี่ยนไปด้วยว่าการตรวจ ATK ไม่ได้เป็นไปเพื่อที่จะป้องกัน แต่มันเป็นเพื่อการทำให้คนคนนั้นเข้าถึงการรักษา หากรัฐเข้าใจจุดหนึ่งก้จะส่งผลต่อไปอีกจุดหนึ่งได้ หากเปลี่ยนความคิดมุมมอง เราคิดว่าเรื่องนี้มันเดิหน้าต่อได้

00000


ปิดท้ายด้วยอีกความพยายามอยู่ให้รอดของชุมชน กับช่วงอวดดี กับการทำตลาดกรีนเขาคูหา จ.สงขลา พื้นที่กลางที่จุดประกายไอเดียการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของคนรุ่นใหม่กับชุมชนที่สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนที่กลับบ้าน ติดตามกับกลุ่ม U2T คูหาใต้

คลิป: ตลาดกรีนเขาคูหา รองรับอาชีพคนกลับบ้านในชุมชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ