ชีวิตนอกกรุง : ทางรอดเกษตรอินทรีย์ “ทำได้ ขายดี ต้องมีเครือข่าย”

ชีวิตนอกกรุง : ทางรอดเกษตรอินทรีย์ “ทำได้ ขายดี ต้องมีเครือข่าย”

อยู่บ้านทำเกษตรอินทรีย์ เลี้ยงชีพอย่างปลอดภัย นี่คงเป็นความใฝ่ฝันของเกษตรกรหลายคน แต่ความฝันนี้ยังเป็นเพียงแค่ความฝันของเกษตรกรส่วนใหญ่ เพราะเมื่อลงมือทำจริง ๆ แล้ว ปัจจัยหลายอย่างทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ ทั้งที่มาจากภายนอกเรื่องสภาพอากาศ สภาพพื้นที่ ศรัตรูพืช และจากภายในจิตใจที่ทนต่อความกดดัน ความลำบาก ดูแลเอาใจใส่มากว่าการทำแบบทั่วไป และที่สำคัญ ยังไม่มีตลาดรับซื้อที่จะทำให้เกิดรายได้มาเลี้ยงปากท้อง

แม้มีหลายด่านความท้าทายที่คนทำเกษตรอินทรีย์ต้องฝ่า แต่ด้วยใจรักในวิถีอินทรีย์ ต้องใช้ความพยายามหาทางออก ที่ตอบโจทย์ปากท้องและหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ได้ ซึ่งมีหลายคนทำได้สำเร็จแล้ว ทำจริง อยู่ได้จริงบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์ ชีวิตนอกกรุงขอนำเสนออีกแนวทาง ที่อาจจะเป็นทางรอดของคนทำเกษตรอินทรีย์ในบ้านเรา ในรูปแบบการรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย เป็นสายพานการผลิตหมูอินทรีย์ กับ ว.ทวีฟาร์ม ที่ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

แรก ๆ ผมทำเกษตรอินทรีย์ผม ทำไปสักปีสองปี จึงอยากรู้ว่าทำเกษตรอินทรีย์ไปต่ออีกไหม ก็เลยศึกษาเจาะลึกไปเรื่อย ๆ จึงรู้ว่าเกษตรอินทีย์มันมีเป็นระบบไบโอไดนามิก ที่เป็นขั้นกว่าของระบบอินทรีย์ มันเป็นระบบที่คืนสู่ธรรมชาติด้วย ไม่ใช่เอามาอย่างเดียวผมก็เลยชอบ ผมจึงลองทำ มันไม่มีใครในประเทศไทยลองทำมาก่อน เราก็ไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จเราก็ไม่รู้แต่เราก็อยากลองทำดูก่อน

คุณฟิวส์ วานิชย์ วันทวี ผู้ประกอบการฟาร์มหมูอินทรีย์

ระยะเวลากว่า 5 ปี ที่คุณฟิวส์ วานิชย์ วันทวี เจ้าของฟาร์มหมูอินทรีย์ ลองผิดลองถูก หาความรู้จากคนเก่ง ๆ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็สามารถก้าวมาเป็นผู้ประกอบการหมูอินทรีย์ มีธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เลี้ยงหมูในระบบไบโอไดนามิก ที่สร้างระบบนิเวศแบบป่าในพื้นที่กว่า 34 ไร่ ของตัวเอง ให้สิ่งมีชีวิตในฟาร์มอยู่แบบเกื้อกูลกัน หมูที่นี่จึงไม่ได้ใช้วัคซีน หรือสารเคมีเลย นั่นทำให้สามารถพัฒนาสินค้าเข้าสู่ตลาดอินทรีย์ได้ และได้จับมือกับเครือข่ายผู้ประกอบการณ์ร้านอาหารที่ต้องการวัตถุดิบอินทรีย์ ทำให้มีตลาดส่งต่อที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงปากท้องและอุดมการณ์

ตอนนี้เลี้ยงหมู 210 ตัว หมูที่นี่ขายกิโลกรัมละ 300 บาท บางช่วงก็ขาย กิโลกรัมละ 500 บาท ผมส่งอยู่ 3 แบบ แบบแรกคือ กลุ่มโรงแรมที่เขาเสิร์ฟลูกค้ากลุ่มออแกนิก หรือกลุ่มของคนต่างชาติ 2 คือกลุ่มร้านอาหาร เซฟเทเบิ้ล อาหารฟิวชั่น กลุ่มนี้ก็จะมีความต้องการสูง กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มบุคคลธรรมดา ที่เป็นบุคคลรักสุขภาพ คนที่อยากกินของดี ๆ ที่เป็นออแกนิก อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ เราก็ขายออนไลน์เป็นหลัก

เนื้อหมูขั้นต่ำกิโลกรัมละ 300 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป นี่เป็นการเพิ่มมูลค่าที่มาจากการอัพเกรดผลผลิตให้เป็นอินทรีย์ และหาตลาดปลายทางที่รับซื้อได้ รายได้เหล่านี้ยังได้ถูกกระจายไปให้กับเครือข่ายเกษตรกรอีกหลายคนที่เข้าร่วมสายพานการผลิตหมูอินทรีย์นี้ อย่างกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ บ้านคอกคี ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่ทำอินทรีย์เหมือนกัน ร่วมเป็นเคือข่ายผู้ผลิตอาหารอินทรีย์ ส่งต่อวัตถุดิบอาหารสัตว์

คุณโจว วิรัช โนนทิง เกษตรกรคนรุ่นใหม่ชาวบ้านคอกคี แกนนำของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ผลิตพืชอาหารสัตว์ ได้ทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว ปลูกข้าวโพด ถั่วลิสง ข้าว ส่งขายให้กับฟาร์มจิ้งหรีด ฟาร์มวัวใกล้ชุมชน แต่ตลาดซื้อขายไม่กว้างนักทำให้มีการผลิตน้อย กลุ่มยังไม่เติบโต ต่อมาได้เจอกับคุณฟิวส์ในกิจกรรมพบปะผู้ทำเกษตรอินทรีย์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จนเกิดความไว้ใจกันและกัน เห็นว่าแต่ละคนทำจริง รักอินทรีย์จริง ๆ จึงได้ติดต่อซื้อขายผลผลิตกัน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2-3 เดือน เริ่มให้ผลผลิต 1 ตารางเมตร 40 บาท 1 ไร่ จะมีรายได้ 64,000 บาท ลบค่าเมล็ดพันธุ์กิโลกรัมละ 2,000บาท ค่าไถอยู่ที่ประมาณไร่ละ 600 บาท ไถ 3 รอบ 1,800 บาท ต้นทุนไม่เกิน 5,000 บาท เฉลี่ยรายได้เราจะอยู่ที่ 50,000 บาท ต่อ 3 เดือน เป็นรายได้เสริมที่ดีมากครับ

คุณโจว วิรัช โนนทิง เกษตรกรคนรุ่นใหม่ชาวบ้านคอกคี อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ถั่วลิสง มันสำปะหลัง ข้าวโพด คือพืชที่ทางคุณฟิวส์รับซื้อโดยจะต้องนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนนำไปส่ง ซึ่งคุณโจวและสมาชิกจะนำผลผลิตไปส่งสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ไม่ต่ำกว่า 800 กิโลกรัม ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่าความต้องการ จึงได้ชวนสมาชิกให้ค่อย ๆ ปรับ จากการทำพืชไร่แบบเคมีมาทำแบบอินทรีย์ด้วยกัน เพื่อสร้างเครือข่ายคนรักเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตให้ผู้ซื้อมั่นใจ ขยายตลาดได้กว้างขึ้น โดยพ่อจ่าประธานกลุ่ม เป็นอีกคนที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชอาหารสัตว์แบบอินทรีย์ มองว่าการมีตลาดรองรับ สามารถช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น

อะไรที่ว่าดีเราก็ทำ ผลผลิตอันไหนมันราคาขึ้นเราก็ทำ ทำตามไม่ทันหรอก เดี๋ยวราคาก็ลง ก็เปลี่ยนไปทำอันใหม่ ถ้ามีตลาดพืชอินทรีย์ตัวนี้รองรับเรา ก็จะยึดเอาตัวนี้เป็นหลัก

พ่อจ่า ประธานกลุ่มปลูกพืชอาหารสัตว์อินทรีย์

แม้จะเป็นแนวทางที่เห็นได้ทั่วไป ที่เกษตรกรร่วมกันประกอบการ แต่เครือข่ายคนทำอินทรีย์กลุ่มนี้มีข้อแตกต่าง คือจะไม่ใช้ระบบการเงินในกลุ่มแบบสหกรณ์ หรือการเงินรูปแบบอื่น เพราะไม่ตอบโจทย์ในการจัดการ เป็นกลุ่มที่มารวมกันด้วยใจที่อยากทำอินทรีย์จริง ๆ จากนั้นจะมีการประชุม พูดคุย ทำแผนการผลิตร่วมกัน เวลาของกลุ่มจะไม่กินเวลาส่วนตัว เกษตรกรจะมีเวลาอยู่กับพื้นที่ของตัวเอง ผลิตเท่าไหร่มีรายได้เท่านั้น ซึ่งการร่วมกลุ่มคนที่มีใจเดียวกันนี้ จะทำให้สามารถช่วยเหลือกันด้านข้อมูลความรู้ เติมกำลังใจ และสร้างระบบตลาดแบบใหม่ร่วมกันได้ จากที่ได้ร่วมกันทำมากว่า 1 ปี สมาชิกก็เริ่มมั่นใจขึ้นว่านี่คือทางรอดของพวกเขา

อย่าอินทรีย์เฉย ๆ ครับ มันจะบินไปเหมือนนกอินทรีจริง ๆ บินไปเพราะท้อแท้ เหนื่อยล้า ว่าทำไปแล้วจะไปขายที่ไหน ใครซื้อ ราคาจะเท่าไหร่ พฤติกรรมของเกษตรทำไมถึงปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย เพราะเห็นลานรับซื้อที่ชัดเจน ก็เหมือนตอนนี้ที่ผมกำลังสร้างกลุ่ม สร้างทีมขึ้นมาเป็นแหล่งรับซื้อที่ชัดเจน ลำพังเราทำคนเดียวไม่ได้ต้องอาศัยสมาชิก อาศัยคนที่มีใจเดียวกันที่อยากทำ

ไม่ว่าจะเป็นคนปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือแปรรูปผลผลิต เมื่อเกาะกลุ่มกันได้ หากันเจอ คนทำอินทรีย์ก็สามารถช่วยเหลือกันได้ ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ด้านการผลิต การทำตลาด และสร้างระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่จะทำให้สามารถขับเคลื่อนอุดมการณ์ที่กินได้ไปด้วยกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ