การเมืองภาคพลเมืองกับสื่อพลเมือง:แง่คิดจาก อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

การเมืองภาคพลเมืองกับสื่อพลเมือง:แง่คิดจาก อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ภาพประกอบหน้าแรกโดย อนุชิต นิ่มตลุง

ช่วงเวลานี้การเมืองภาคพลเมืองมีความเข้มข้นมากขึ้น  การทำสื่อภาคพลเมืองก็มีบทบาทมากขึ้นด้วย  จึงขอย้อนนำแง่คิดจาก อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ได้พูดถึงบทบาทของสื่อพลเมืองไว้กับพวกเรา ในโอกาสงาน “พลังสื่อมือสมัครใจ” เมื่อปลายปี 2555 มาทบทวนแนวทางกันอีกครั้ง

.เสกสรรค์ ให้แง่คิดเรื่อง “การเมืองภาคพลเมืองกับสื่อพลเมือง” ระบุการผลิตสื่อพลเมืองคือการเติมช่องว่างที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากสื่อกระแสหลัก เป็นเครื่องมืออธิบายเหตุผลต่อคนในสังคมให้เข้าใจผลที่ถูกการจัดสรรอำนาจทางการเมืองไม่สมดุลย์ แต่สื่อพลเมืองต้องชนะอุปสรรคสำคัญคือผู้เสพสื่อในสังคมที่ตกอยู่ในระบบบริโภคนิยม แนะฝึกสร้างสรรค์รูปแบบให้เนื้อหาไปเคาะหัวใจคนรับสารให้เปิดใจรับฟัง

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2555 ในงานประชุมเครือข่ายสื่อพลเมือง ประจำปี 2555  “พลังสื่อ…มือสมัครใจ” ที่สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอสจัดขึ้น โอกาสก้าวสู่ปีที่ 5 ของการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายสื่อพลเมืองทั่วประเทศ  ณ ไทยพีบีเอสกิจกรรมสำคัญคือการแลกเปลี่ยนแนวคิดหัวข้อ “การเมืองภาคพลเมืองและสื่อพลเมือง” ระหว่าง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง กับตัวแทนเครือข่ายสื่อพลเมือง เพื่อสบทบส่วนความคิดในการสร้างสรรค์งานร่วมกัน

ดร.เสกสรรค์กล่าวว่าจะชวนคิดใน 2 ประเด็นคือการเมืองภาคพลเมืองกับสื่อพลเมือง  โดยในทางรัฐศาสตร์การเมืองเป็นกระบวนการทางสังคมที่แก้ปัญหา หรือเข้าไปบริหารจัดการทรัพยากรมีค่าของสังคมผ่านการใช้อำนาจ  ซึ่งการเมืองมีหลายระดับ เช่น ระดับอำนาจรัฐที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจทั้งปวง และพื้นที่การเมืองอื่นที่เล็กลงมาเช่น ระดับท้องถิ่น  ระดับองค์กร ก็ใช้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากร หรือแก้ปัญหากรณีพิพาท เป็นต้น

เมื่อมีอำนาจมาเกี่ยวก็นำพาไปสู่อีกหลายเรื่องราว  เช่น คำถามแรกคือใครเป็นผู้ใช้อำนาจ คำถามเดียวนี้คนพยายามตอบมาหลายพันปี  มีตั้งแต่ทฤษฎีคนส่วนน้อยที่มีคุณสมบัติสูงส่งเท่านั้นที่ควรได้ใช้อำนาจ  แต่บางคนก็บอกว่าไม่ได้หรอกให้คนส่วนน้อยมามีอำนาจต่อให้ดีแต่ก็เสียคนได้ ต้องให้คนส่วนใหญ่เห็นชอบในการสรรหาผู้มีอำนาจทำหน้าที่แทนคนในสังคม  สิ่งเหล่านี้กลายเป็นตำรารัฐศาสตร์หลายเล่ม   แต่สรุปได้ว่าเมื่อสังคมจำเป็นต้องมีการใช้อำนาจในการบริหารจัดการ ก็ต้องมีกระบวนการสรรหาผู้กุมอำนาจ ทิศทางหลักอยู่ที่การสรรหาโดยคนส่วนใหญ่ซึ่งหมายถึงระบอบประชาธิปไตย แต่เรื่องก็ไม่จบ  เพราะมีคำถามว่าเวลาใช้อำนาจเพื่อวัตถุประสงค์ใด ต้องมีจุดหมายชัดเจนบอกกับสังคมว่าเป็นไปตามถูกต้องหรือไม่  และโดยหลักการสังคมควรตรวจสอบได้ด้วย  ดังนั้นโดยสรุป อำนาจที่จะได้รับการยอมรับจะต้องมีที่มาที่ชอบธรรม  มีจุดหมายที่ชอบธรรม  และมีวิธีการใช้อำนาจที่ชอบธรรม ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะขาดการยอมรับ แต่เนื่องจากคนในสังคมคิดไม่เหมือนกัน เกิดการยอมรับบ้างไม่ยอมรับบ้าง ดังนั้นกระบวนการหนึ่งของการใช้อำนาจคือจะทำอย่างไรให้คนเห็นพ้องกัน  หรือสร้างฉันทามติ  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในทางการเมือง เพราะมีบทเรียนมากมายที่ ทำให้เราเห็นว่าถ้าคนไม่เห็นชอบ ก็นำไปสู่ความล่มจมของผู้ใช้อำนาจเสียเองก็มี

ดร.เสกสรรค์กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในสภาพ วิกฤตฉันทานุมัติ  คือทำอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้คนทั้งสังคมเห็นพ้องต้องกันได้ นอกจากนั้นยังเห็นต่างกันอย่างเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ  จึงเกิดสภาพที่ผู้ใช้อำนาจใช้อำนาจไม่ได้เต็มที่ และอำนาจทางการเมืองก็ไม่ได้อยู่ในฐานะของคนที่มีอำนาจอย่างเป็นทางการอย่างเดียว เพราะคนมีฐานะแต่สั่งใครไม่ได้ก็มี คนไม่มีฐานะแต่มีบารมีก็สามารถระดมความเชื่อถือจากสังคมได้ การเมืองจึงมีลักษณะที่หนีไม่พ้นความขัดแย้ง  กระบวนการแก้ปัญหาการเมืองคือแก้ปัญหาความขัดแย้งต่อเนื่อง  สิ่งเหล่านี้ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เป็นธรรมดาของสังคมที่ซับซ้อน แต่ว่าแต่ละสังคมมีพัฒนาการที่ไม่เท่ากันที่จะสันทัดในการแก้ไขความขัดแย้งนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ  ระบบการเมืองไหนดีก็วัดตรงที่รองรับและบริหารความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหน

แล้วเกี่ยวอะไรกับการเมืองภาคพลเมือง  ?

ดร.เสกสรรค์อธิบายว่า การเมืองภาคพลเมืองเป็นคำใหม่ เพราะเดิมเราคิดว่าเมื่อเปลี่ยนจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย ประชาชนที่มีวุฒิภาวะตามกฎหมาย มีสิทธิเลือกผู้กุมอำนาจ เรื่องก็น่าจะจบเพราะว่าประชาชนแสดงอำนาจของตนแล้ว แต่หลายปีที่ผ่านมาเราพบบทเรียนว่า ผู้เป็นผู้แทนปวงชนเมื่อกุมอำนาจแล้วก็ไม่ฟังเสียงคนที่เลือกขึ้นมา ยิ่งสังคมซับซ้อนในชีวิตความเป็นอยู่ มีคนหลากหลาย ทั้งใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม มีชีวิตแบบคนมีทุนมากทุกน้อย   กระบวนการตัดสินใจของผู้กุมอำนาจที่จะสนองความต้องการของคนจะขัดแย้งกันเองเต็มไปหมด  แต่แนวโน้มที่เห็นชัดสำหรับผู้กุมอำนาจในประเทศไทยในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใด  มีแนวคิดคล้ายกันคือ  1.เชื่อถือในการขยายตัวของระบอบทุนนิยม  2.ภารกิจหลักอยู่ที่การส่งเสริมการค้าการลงทุน การสร้างบรรยากาศให้ชาวต่างประเทศมาลงทุนในไทย ยิ่งเมื่อหลังปี 2540 เมื่อไอเอ็มเอฟให้ประเทศไทยเปิดเสรีทั่วด้าน การเข้ามาลงทุนของต่างชาติได้รับการค้ำประกันจากอำนาจรัฐไทย  ภารกิจของผู้ใช้อำนาจของรัฐไทยคือถูกทำให้เป็นทางการให้รักษาชีวิตและธุรกิจแบบทุนนิยมรวมถึงผู้ได้รับผลประโยชน์จากทุนนิยม ที่จริงทุนนิยมก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่ทำให้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้รับการดูแลอย่างจริงจังโดยผู้ใช้อำนาจ และเมื่อเทียบกับคนที่ขัดแย้งกับทิศทางนี้ก็ได้รับการดูแลน้อยลง และสูญเสียหลายอย่างจากทุนนิยม เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ ตามกติกาของทุนจะไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติในทางอุตสาหกรรมได้เพราะรัฐค้ำประกันศักยภาพให้ลงทุน ผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลสะเทือนก็อาจได้รับการดูแลน้อยลง

ดังนั้นสาเหตุหลักของการเมืองภาคพลเมืองคือ เราพบว่าแม้ในระบอบประชาธิปไตย ทิศทางการใช้อำนาจแบบที่รักษาผลประโยชน์เพียงบางส่วน เชื่อในการเติบโตของจีดีพีอย่างเดียว ทำให้คนที่เดือดร้อนก็จะใช้วิธีที่สุดขั้วและออกแบบมาเพื่อเรียกร้องความสนใจ ให้ผู้กุมอำนาจหันมามองว่ามีผู้เดือดร้อนได้รับปัญหา จึงเป็นที่มาของการเมืองภาคพลเมือง 

“ในเมื่อประชาธิปไตยแบบตัวแทนตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมดของสังคม แม้จะดีกว่าเผด็จการก็ตาม ดังนั้นเหตุผลที่ประชาชนมาเรียกกร้องโดยตรงให้ผู้กุมอำนาจคือมาจัดการปัญหาของเขาด้วยใช่แค่มองเพียงการเติบโตทางเศรษกิจ  หรือถ้าไม่จัดการ   ก็เปิดพื้นที่ให้เขาจัดการตนเองดีกว่าให้อิทธิพลภายนอกมาย่ำยีข่มเหง  สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นหลัก ทิศทางหลักของการเมืองภาคพลเมืองที่ผ่านมา  แต่เนื่องจากการเมืองภาคพลเมืองเช่นนี้เป็นกระบวนการที่ซ้อนพื้นที่การเมืองภาคตัวแทนทำให้บางส่วนเขารับไม่ได้  การเมืองภาคประชานจึงแพ้มากกว่าชนะ แต่จะหยุดสู้ก็ไม่ได้เพราะปัญหาไม่หมด  ดังนั้นเมื่อแพ้มากกว่าชนะ บางส่วนก็ถอดใจ เมื่อถึงยุคแบ่งสี ก็ฝากวามหวังไว้กับขบวนที่ใหญ่กว่าซึ่งก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการช่วงชิงอำนาจระดับชาติ   ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ทำให้การต่อสู้อย่างอิสระของประชาชนเล็กและอ่อนแอลง”

ดร.เสกสรรค์กล่าวถึงการเมืองภาคพลเมืองที่เกี่ยวโยงกับสื่อพลเมืองว่า เมื่อภาคประชาชนต้องการเคลื่อนหรือนำเสนอปัญหาของตนเองให้สังคมและผู้กุมอำนาจรับรู้ ก็มีความจำเป็นต้องสื่อสารโลกนอกกลุ่มของตนเอง  เพราะการเมืองเป็นเรื่องของฉันทานุมัติ ดังนั้นใครที่เข้ามาในกรอบนี้ก็ต้องบอกกับโลกว่าตนเองคิด มีเหตุผล มีข้อดีข้อเสียอย่างไรให้โลกเห็นด้วย  ปัญหามีอยู่ว่าทำไมเราไม่สามารถใช้สื่อกระแสหลักเพื่อส่งข่าวสารหรืออธิบายสิ่งเหล่านี้ได้   เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกันกับรัฐไทยเน้นเรื่องการเติบโตธุรกิจและเศรษฐกิจ  สื่อกระแสหลักก็อิงอยู่กับการเติบโตของธุรกิจ สปอนเซอร์มาจากธุรกิจย่อมไม่ทุบหม้อข่วตัวเอง  ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางมีฐานะดี มีจริตของชนชั้นกลางที่สื่อก็เสนอในสิ่งที่ตอบสนองความสนใจคือเรื่อง เร้าใจ เร้าอารมณ์  บันเทิง ความรัก  ทำให้เรื่องการทำเหมืองรุกล้ำชีวิต สิ่งแวดล้อมเน่าตามนิคมอุตสาหกรรม ชาติพันธุ์จะรักษาวัฒนธรรมตนเองได้รับสัดส่วนในสื่อกระแสหลักน้อยมาก เพราะมันขายไม่ได้   ดังนั้นภาคพลเมืองถ้าไม่มีสื่อของตนเองก็ไม่มีโอกาสบอกกับโลก  หรือรอเมตตา หรือต้องกระทำบางอย่างซึ่งกลายเป็นตกอยู่กับแนวทางที่สื่อหลักสนใจเช่นทำเรื่องอื้อฉาวหรือแปลกๆ ให้สื่อสนใจ

“ดังนั้นการผลิตสื่อพลเมืองผมเห็นว่าเป็นการเติมช่องว่างที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากสื่อกระแสหลัก  แต่ก็ต้องยอมรับว่าสื่อพลเมืองคงต้องเติบโตด้วยการเอาชนะอุปสรรค 2-3 อย่าง เพราะนอกจากสื่อกระแสหลักให้พื้นที่น้อยแล้ว เราก็พบว่าสภาพจิตของผู้คนในสังคมไทยไม่พร้อมที่จะรับเรื่องราวที่พลเมืองทำอยู่  ในโทรทัศน์มีแต่โฆษณาที่มีแต่เรื่องเนื้อหนัง ผู้เสพสื่อก็มีตั้งแต่คนชอบดูโฆษณาถึงละคร  ตกอยู่ในระบบบริโภคนิยมให้หมกมุ่นกับตนเอง  หาสินค้ามาสนองความพอใจของตนเอง เรื่องของผู้อื่นไม่สนใจ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยาก  แม้จะมีพื้นที่สื่อฟรีให้ ก็ไม่แน่ใจว่าคนเสพสื่อจะมาดูข่าวสารของภาคพลเมืองหรือไม่    จึงคิดว่า สื่อพลเมืองควรจะสนใจรูปแบบการนำเสนอให้มากขึ้น   ไม่เอาเนื้อหามาแก้ตัวให้รูปแบบ เนื้อหาเราหนักแน่น จริงจัง แต่รูปแบบถ้ามันฝืด แห้ง ไม่น่าติดตาม มันก็หย่อนพลัง   รูปแบบกับเนื้อหาแยกจากกันไม่ได้”  

ดร.เสกสรรค์ย้ำว่า สื่อพลมืองผลิตสื่อไม่ใช่แค่นำมาขายเหมือนสื่ออื่นหรือเพียงได้สื่อเท่านั้น  ยังจะต้องประสานกับการเคลื่อนไหวรูปแบบอื่นที่มาเสริมพลังซึ่งกันและกัน เช่นการนำสื่อไปเปิดพร้อมกับการทำเวทีพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องราวที่ต้องการเสนอความคิด    นอกจากนั้นการเชื่อมกับสื่อกระแสหลักยังมีความจำเป็น ต่อให้สื่อกระแสหลักไม่สนใจ แต่ก็มีหนทางไปเชื่อมโยงกับเขา เช่นสื่อพลเมืองมีงานดีดี สาระได้ คุณภาพได้ เขาก็เปิดพื้นที่ให้เรานำเสนอ  ไม่ว่าโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ที่มีพื้นที่อยู่ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่เป็นเรื่องใหญ่มากกว่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็อาจยิ่งต้องอาศัยสื่อกระแสหลัก  โดยเชื่อมโยงกับคนทำงานในสื่อกระแสหลักในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เป็นทางการได้ การที่ตนวิจารณ์สื่อกระแสหลักไม่ได้หมายถึงคนที่ปฏิบัติหน้าที่ หลายคนเป็นคนดีใช้พื้นที่ของตนไปในทางสร้างสรรค์  ถ้าโยงใยได้ก็งานของสื่อพลเมืองจะแพร่หลายมากขึ้น

ในช่วงของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  เยาวชนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แสดงความเห็นต่อสื่อไทยว่าตั้งแต่อดีตเน้นกระบวนการสร้างชาตินิยม  เพราะสื่อกับการเมืองไทยเป็นของคู่กันโดยสื่อถูกอำนาจครอบงำและปลูกฝังวิธีคิด ทำให้ผู้ชมมีวิธีคิดไปในทางเดียวกัน เมื่อถึงปัจจุบันมีสื่อใหม่ ประชาชนรับข้อมูลได้มากแต่ทัศนคติของคนยังไม่เปลี่ยน  ไม่ทำให้คนรู้จักคิด การมีสื่อสาธารณะเห็นว่าเป็นเวทีหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่ควรส่งเสริม แต่รูปแบบการนำเสนอในสื่อสาธารณะต้องปรับเปลี่ยน นำรูปแบบนำเสนอที่น่าสนใจแบบที่สื่อกระแสหลักทำมาใช้ด้วย เพื่อกระเทาะความคิดชนชั้นกลางให้รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่สังคมที่จัดการร่วมกัน  เพราะชนชั้นกลางไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงในชนบทเนื่องจากเชื่อมกับทัศนครอบงำที่มองคนชนบทมาแต่อดีต  

ดร.เสกสรรค์เสริมประเด็นนี้ว่าวิธีคิดของคนไทยไม่ได้มาจากสื่อฝ่ายเดียว มาจากระบบการศึกษาด้วยที่จะมีกรอบคิดส่วนหนึ่งมาบอก ส่วนสื่อกระแสหลักเป็นเด็กดีของกระทรวงศึกษาที่นำกรอบคิดนั้นมาเป็นกรอบอ้างอิงตลอดเวลา  เมื่อบวกกันสองแรงส่งผลต่อชุดความไม่คิดของคนไทย  สิ่งเหล่านี้เข้าใจได้ไม่ยากว่ามาได้อย่างไร เพราะทุกสังคมที่มีอำนาจจะเป็นเหมือนกันเพราะต้องหล่อหลอมให้สังคมคิดไปทางเดียวกัน บางครั้งก็จำเป็นแต่ก็ทำให้คนโง่ลงหากมากไป

คำถามจากคุณอานนท์ มีศรี สื่อชุมชนภาคใต้ถามว่าเมื่อมีการสื่อสารภาคพลเมืองและจะสื่อสารให้รู้คนทั่วไปรู้เรื่องการเมืองภาคพลเมืองและมีสื่อสาธารณะอยู่ด้วย ถ้าเราใช้การสื่อสารให้คนส่วนใหญ่ประเทศเข้าใจการเมืองพลเมืองให้รู้เท่าทันกันได้อย่างไร

ดร.เสกสรรค์กล่าวว่า คนเราเรียนรู้มาจากการได้รับการอบรมหรือสอนโดยผู้รู้มากกว่า และรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์จริง  ส่วนใหญ่การเมืองภาคพลมืองโตมาจากการต่อสู้ที่เป็นจริง  ดังนั้นแนวคิด ความรู้นั้นพลเมืองมีอยู่ ที่เครือข่ายที่ประจวบ พัฒนาตนเองมาไกล  สามารถนำเสนอปัญหาของเขาเหมือนเป็นนักวิชาการ เพราะมาจากปัญหาจริงของเขา ส่วนที่จะเสริมจากคนภายนอกอาจเป็นแค่ไปแนะนำถึงลู่ทางที่มีอยู่เท่านั้น  ปัญหาใหญ่กว่านั้น ไม่ใช่เรื่องไม่มีความรู้  แต่เป็นเรื่องของสำนึกที่จะสู้ด้วยตนเอง เพราะประชาชนเสียเปรียบมานาน จนหลายคนหมดความเชื่อมั่นว่าตนเองจะทำอะไรได้ มันเกิดขึ้นจากประสบการณ์ชอกช้ำ จึงยากที่จะให้คนเราตื่นขึ้นมา ซึ่งอาจต้องมีการรอคอย  และให้กำลังใจว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยว มีคนเห็นใจ อยากจะช่วย แต่ถ้าไม่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเอง ก็ไม่มีใครแก้ปัญหาให้ ไม่มีทางเลือก นอกจากนั้น ดร.เสกสรรค์แนะนำว่าไม่อยากให้ปฏิเสธการเมืองภาคตัวแทนเพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบเดียวกัน เพียงแต่ที่ผ่านมาได้รับพื้นที่มากและพื้นที่เอาไปใช้ในทางที่ผิดมากไปเท่านั้น แต่ถ้าโยงใยความคิด ต่อรองกันได้ก็ไม่ผิดกติกาแต่ไม่ได้ผูกพันระยะยาว ตราบที่สนองความต้องการของภาคพลเมือง ไม่ใช่เราตั้งตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับระบอบที่มาจากการเลือกตั้ง  เพียงแต่ว่า 2 ส่วนต้องใช้เวลาในการบูรณาการ  

“นี่เป็นปัญหาที่เราใจร้อนไม่ได้ อาจต้องรอให้คนมีสำนึกอะไรขึ้นมาเจ้าตัวสำคัญที่สุดว่าตื่นหรือยัง เราไม่อาจรับเหมาทำแทน  เพราะผิดในทางหลักการ”

คำถามจากคุณภราณี เครือข่ายภาคกลางว่าการเปลี่ยนแปลงของสื่อกระแสรองจะทำอย่างไรให้สามารถสร้างมวลชนกระแสหลักมาเป็นแนวร่วมได้อย่างไร ใช้เวลานานหรือไม่ 

ดร.เสกสรรค์กล่าวว่า นานแน่นนอน สร้างสถานีไทยพีบีเอสไม่ยาก แต่จะสร้างผู้ชมไทยพีบีเอสไม่ง่าย  ต้องใช้เวลาที่จะให้สถานีเป็นประภาคาร  แต่เรามีทุนที่สำคัญ ที่นี่จะเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตให้ผู้เสพสื่อ   โดยตนเชื่อว่ามนุษย์เราสามารถใช้เหตุผล ทำเรื่องดีได้ แต่เราต้องยอมรับว่าผู้เสพสื่อ จิตใจส่วนลึกหาไม่เจอเพราะถูกพอกไว้กับสิ่งปรุงแต่งมานาน   บทบาทของ ThaiPBS นอกจากจะให้ทางเลือกแล้ว  ต้องเคาะหัวใจเขาด้วย ไม่ใช่แค่ให้ความรู้สาระวิชาการ ต้องมีดรามาภาคประชาชนให้สั่นไหวหัวใจเขา ต้องเคาะที่หัวใจก่อนมันถึงจะเปิด ทำให้มีข่าวสารที่ส่งออกมาชัดเจน งดงาม ยกระดับความสามารถของเราให้คนสะท้านสะเทือน ซึ่งมันบังคับให้สื่อพลเมืองคิดถึงรูปแบบวิธีการ 

“เราอยู่ในกระแสผลัดกันรุกและรับ  สมัย 14 ตุลาคม ผมและเพื่อน 4-5 คนไม่มีใครคบ เพราะพูดเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพในช่วงเวลาที่ทหารปกครอง  แต่ผ่านไปไม่นาน เกือบจะทั้งหมดในมหาวิทยาลัยหันมาเห็นด้วย ร่วมกันต่อสู้จนได้ประชาธิปไตย   คิดแล้วนึกไม่ออกว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มันประกอบกันหลายสถานการณ์ที่คนตื่นมาพร้อมกันและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากพวกเราทำสื่อดีดีไปเรื่อยๆ เสนอข่าวสารที่ดีไปเรื่อย อาจจะมีวันแบบนั้นก็ได้    แต่สิ่งสำคัญเราต้องไม่ทำงานชุ่ย  ต้องทำงานแบบมุ่งหวังผล”

คุณเบญจมาศ สำนักเครือข่ายสื่อพลเมืองบอกว่ามีการพูดคุยกันมากว่าถ้าเราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องสร้างวาทกรรมให้สาธารณะมาถกกัน  ถามประสบการณ์อาจารย์เสกสรรค์ว่าเคยมีวาทกรรมอะไรที่มาจากฐานล่างและสามารถเปลี่ยนคนข้างบนได้

ดร.เสกสรรค์ขอกล่าวเชิงหลักการว่า ไม่มีวาทกรรมใดจะงอกรากได้ ถ้าผืนดินนั้นไม่พร้อม หากจะเอาอะไรมาสอนมาบอกต้องประกอบจากเงื่อนไขความพร้อมมาประกอบกันด้วย  เช่นตนเองเคยพูดคำสวยๆ วรรคทองหลายอย่างในห้องเรียนแต่นักศึกษาหลับ เพราะเขาไม่อยากัฟัง ไม่รู้สึกเชื่อมโยง  แต่ถ้าเนื้อดินพร้อม….ก็จะลุกขึ้นได้ เช่น ครั้งหนึ่งคนใต้โกรธอำนาจรัฐถือว่าถูกรังแก มีชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า ไม่รบนายไม่หายจน ก็ก่อเกิดการลุกขึ้นพร้อมกัน ซึ่งพวกเราอาจไม่ต้องใช้วิธีแบบนั้น แต่หมายความว่า ที่ไหนสุกงอม ทางอารมณ์ ความคิด และมีประโยคโดนใจ เขาอาจรวมกันอย่างรวดเร็ว ล้อมรอบวรรคทองหรือวลีนั้นได้   ปัญหาคือสังคมไทย มีอารมณ์ร่วมน่อยมาก เพราะสังคมแตกพหุ สารพัดวิถีในยุคโลกาภิวัตน์  คนหลากหลายอาชีพ วิถีชีวิถชุลมุนเปลี่ยนแปลงเร็ว   การจะบูรณาการคนจำนวนมากในสังคมให้ตื่นตัวในเรื่องประโยชน์ล้อมรอบความทุกข์ร่วมเป็นสถานการณ์ที่เกิดยาก  ในทางยุทธวิธี ทำได้อย่างมากคือ ในบรรดาคนที่หลากหลายแตกต่าง วิถี ผลประโยชน์ เราสามารถเชื่อมส่วนที่เชื่อมโยงได้ เรียกร้องความเห็นใจกลุ่มที่ไม่ขัดแย้งเราโดยตรง และโดดเดี่ยวคนที่มาย่ำยีเราได้มากเท่านั้น   ในสภาวะปกติอย่าคิดว่าเราจะรวมกันได้ทั้งหมด  ไม่ตีกันก็บุญแล้ว  

คุณโสภิดา จากสุพรรณบุรี ถามว่าถึงเวลาที่ระบบการเรียนการศึกษาของไทยมีหลักสูตรการเรียนระบบประชาธิปไตยภาคพลเมือง

ดร.เสกสรรค์บอกว่า ระบบการศึกษาไทยต้องการปฏิรูปมานานแล้ว แต่ปฏิรูปไม่ชัดเจนนักทั้งโครงสร้างและหลักสูตรการเรียนการสอน  และไม่ใช่แค่สอนระบบประชาธิปไตย  ตนคิดว่าปัญหาประชาธิปไตยไม่ใช่การไม่เข้าใจ  แต่เป็นเรื่องการจัดสรรอำนาจ  โดยโรงเรียนฝึกประชาธิปไตยที่ดีที่สุดอยู่ที่การปกครองท้องถิ่น ถ้ามีอำนาจบริหารจัดการท้องถิ่น ทรัพยากร เลือกองค์กรท้องถิ่นที่ดูแลตนเองได้อย่างแท้จริง คนจะรู้สึกว่าใกล้ตัว กินได้   แต่ถ้าเราต้องเลือกตัวแทนระดับชาติตลอดเวลา ประชาชนจึงต้องมาทำเนียบตลอกเวลา 

ฉ๊ะ เครือข่ายไทยพลัดถิ่น อยากทราบมุมอาจารย์ในสถานการณ์การเมืองและในทิทางของประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ว่าปีนี้ ประชาชนควรจะเคลื่อนไปในทิศทางไหนไดบ้าง?

ดร.เสกสรรค์บอกว่า  ถ้าการเมืองในระดับชาติ  เห็นอยู่ รัฐบาลเอาใจคนในระดับที่จับต้องได้ และไม่สั่นคลอนในอำนาจและผลประโยชน์ที่มีอยู่ ไม่ว่าพรรคไหน   เช่นทำให้ประชาชนดีใจกับสวัสดิการ มีเงินให้กู้นิดหน่อย ส่งออกมากขึ้นไหม  แต่ถามว่าปฏิรูปที่ดิน กระจายอำนาจไหม ปฏิรูปการศึกษาหรือไม่ทำทีเหมือนว่าจะทำแต่ไม่ อะไรที่สั่นคลอนโครสร้างจะไม่แตะ  แต่ปัญหาของการเมืองภาคพลเมืองคือ แตะโครงสร้างทุกประเด็น  เราอยากให้กระจายอำนาจ ปกครองตนเองสูงกว่าที่เป็น อนุรักษ์ธรรมชาติคนอยู่กับป่าได้  อยากให้คนงานมีชิวิตแบบชุมชนไม่ต้องโหนรถเมล์ไปไกล มีสหภาพรงงาน ทั้งหมดแตะโครงสร้าง ดังนั้นภาคพลเมืองจะถูกบิดพลิ้ว รังแก เขามองไม่เห็นเราไปอีกพักหนึ่ง  ขณะเดียวกันปัญหาของภาคประชาชนคือเบี้ยหัวแตก ร้อยกลุ่มร้อยประเด็น ปัญหาไม่เหมือนกัน  เป็นปัญหาใหญ่ แต่ละคนความเห็นไม่ตรงกัน  ตนเคยศึกษาระหว่างภาคประชาชนที่รวมเป็นขวนใหญ่ มีคนนำการต่อสู้ กับภาคประชาชนที่หลากหลาย เชื่อมร้อยกันเป็นแนวราบ ซึ่งเกิดขึ้นมากแต่พลังยังมีไม่พอ  สถานการณ์เช่นนี้อนาคตภาคพลเมืองไม่แจ่มใส แต่จะไม่มีวันสูญสิ้นเพราะปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จะยังคงเคลื่อนไหวต่อไป  .

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ