แรงงานเพื่อนบ้าน คน(งาน)พลัดถิ่น จากผืนดิน-ผืนน้ำสมุทรสาคร

แรงงานเพื่อนบ้าน คน(งาน)พลัดถิ่น จากผืนดิน-ผืนน้ำสมุทรสาคร

แรงงานเพื่อนบ้าน คน(งาน)พลัดถิ่น บนผืนน้ำ-ผืนดินสมุทรสาคร

ป้าเต็น แรงงานชาวมอญ จากรัฐมอญ ประเทศเมียนมา เฝ้ารอลูกชายคนโตที่ออกทะเลไปเรือหาปลานานถึง 9 ปี ที่ยังไม่กลับเข้าฝั่ง

ป้าเต็นเล่าว่า เมื่อก่อนนโยบายการจ้างงานแรงงานข้ามชาติยังไม่เปิดกว้างมากนัก มีข้อกำหนดมากมายเลยมีคนชวนลูกชายไปออกทะเล เพื่อเลี่ยงปัญหาการตรวจตราจากเจ้าหน้าที่ การติดสินใจในคราวนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าเวลาจะล่วงเลยมาถึงทุกวันนี้……

จังหวัดสมุทรสาคร หรือที่คนเรียกติดปากว่า มหาชัย เป็นตลาดอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การซื้อขายเงินหมุนเวียนในแต่ละวันมีมูลค่ามหาศาล มดงานสำคัญที่เป็นกำลังแรงงานผลักดันเศรษฐกิจ คือ แรงงานเพื่อนบ้าน ทำงานร่วมกับคนไทย ผู้ประกอบการ

สมุทรสาครได้ชื่อว่าเป็น “เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร (เขตประวัติศาสตร์) แรงงานเพื่อนบ้านส่วนใหญ่จึงทำงานในภาคการผลิต ประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

เฉพาะสมุทรสาครจังหวัดเดียว คาดการณ์ว่าตอนนี้ขณะนี้มีแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยและทำงานอยู่ประมาณ 3-4 แสนคน เป็นตัวเลขจากองค์กรที่ทำงานด้านแรงงานที่ประเมินรวมทั้งแรงงานที่อาจจะหลุดระบบ หรือได้ผลกระทบจากการระบาดโควิดในรอบที่ผ่านมา อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ตัวเลขของทางราชการ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) จังหวัดสมุทรสาครมีคนพลัดถิ่นที่ได้รับอนุญาตทํางานคงเหลือทั้งสิ้น จํานวน 259,743 คน ประกอบด้วย ประเภทพิสูจน์สัญชาติจํานวน 130,729 คน (ร้อยละ 50.33) รองลงมาได้แก่ประเภทนําเข้าตาม MOU จํานวน 119,801 คน (ร้อยละ 46.12) ประเภทไม่มีสถานะทางทะเบียน จํานวน 5,255 (ร้อยละ 2.02) ประเภทกลุ่มเข้าเมือง จํานวน 3,745 คน (ร้อยละ 1.44) ประเภทส่งเสริมการลงทุนจํานวน 213 คน (ร้อยละ 0.08)

สำหรับเรือประมงหาปลา การออกเรือแต่ละครั้งต้องการลูกเรือจำนวนมาก เพราะเป็นงานที่หนักและมีความเสี่ยงสูง

“ทุกคนจะแบ่งหน้าที่กันทำงาน แล้วแต่ความสามารถ ใครถนัดอะไรก็จะให้ทำอย่างนั้น เพราะเรือประมงมันมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พิการหรือตาย เราต้องการที่จะเซฟอุบัติเหตุ ถ้าเกิดขึ้นพวกไต๋เรือหรือเถ้าแก่เรือก็ต้องรับผิดชอบไป”

ชูชัย สุดดี ไต๋เรือ ช.พิทักษ์นาวี เล่าว่า เรือลากบางลำออกไปจับปลาไกลถึงประเทศอินโดนีเซียหรือเข้าไปจับในเขตพม่าก็มี พอจับปลาได้ครึ่งค่อนลำก็จะขนถ่ายให้เรือแม่ ส่วนเรือที่ทำประมงอยู่ก็ประมาณ 2-3 ปี กลับเข้าฝั่งที

แผนภาพแสดงน่านน้ำจับปลาทูบริเวณอ่าวไทยตอนบน

เรือหาปลาในน้ำตื้นจะออกจากฝั่ง ลงอวนในตอนกลางคืน และกลับเข้าฝั่ง หากวันไหนได้ปลาเยอะ ทุกคนบนเรือก็จะได้ค่าแรงสูงตาม ส่วนแบ่งค่าแรงที่ได้รับทุก 1-2 เดือน ช่วยให้เบารายจ่ายให้ครอบครัวได้บ้าง แต่สำหรับลูกเรือบางคน นับจากวันที่ออกเรือเป็นวันแรกจนถึงวันนี้ชีวิตก็ไม่ได้เป็นดังหวัง

จากคนสาวอวนบนเรือ ถึงคนคัดแยกบนสะพานปลา จากสะพานปลาถึงร้านค้าโรงงาน มีแรงงานเพื่อนบ้านเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนอยู่ในทุก ๆ สายพาน

สำหรับป้าเต็นทุกวันนี้ยังทำงานแกะกุ้งและดูแลแตงโม ลูกเพียงคนเดียวของป้าเต็นที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ … และทุกวันสำคัญทางศาสนา ป้าเต็นจะทำบุญรับศีลและภาวนาให้ลูกไม่ว่าจะทำงานอยู่ใกล้หรือไกล

เพราะศรัทธาเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ยังเปล่งแสง…ท่ามกลางความหวังอันลางเลือน

ชวนรับชมสารคดีแสงศรัทธาของความหวัง หนึ่งในสารคดีชุดแรงงานเพื่อนบ้าน

สารคดีแรงงานเพื่อนบ้าน เผยแพร่ในปี 2556 มีจำนวนทั้งหมด 5 ตอน เกิดจากความร่วมมือเครือข่ายทำงานด้านแรงงานช้ามชาติ ผู้ผลิตอิสระภาคพลเมือง และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ตามแนวทางในการสื่อสารประเด็นทางสังคมในกว้างขวางขึ้น โดยหยิบยกตัวอย่างชีวิตแรงงานพม่า ที่มีหลากมุม-หลายเชื้อสาย เช่น พม่า ไทใหญ่และมอญ ในสถานการณ์ที่เข้าไม่ถึงบริการของรัฐหรือถูกละเมิดสิทธิมุนษยชน รวมถึงสื่อวิถีที่เป็นอยู่ เพื่อความเข้าใจในเขาและเรา อันจะนำไปสู่การเปิดใจยอมรับกันและกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ