“เพิ่งกลับมาอยู่บ้านได้ประมาณ 8 เดือน ช่วงเมษายน 2563 เพราะว่าไปทำบริษัทกับเพื่อนและบริษัทไปต่อไม่ได้ เพราะเจอพิษโควิด-19 เลยกลับมาอยู่ที่บ้าน เราไม่รู้จะทำอะไรเลย…” “กล้า” ปาฏิหาริย์ มาตสะอาด เกษตรกรเจ้าของเฮือนสวนเฮา จ.กาฬสินธุ์ เกริ่นแนะนำตัวเองเพื่อทำความรู้จักกันในวงเสวนา “ฟังเสียงคนรุ่นใหม่กลับบ้าน” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 63 ณ บ้านสวนซุมแซง สถาบันการจัดการเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม พร้อมด้วยเครือข่ายคนรุ่นใหม่กลับบ้านร่วมแลกเปลี่ยนอีกหลายคน
“อุบล อยู่หว้า นักวิชาการอิสระและที่ปรึกษาเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ทำงานกับเครือข่ายเกษตรทางเลือกผ่านมา 3-4 ปี ครึ่งชีวิตเป็นเกษตรกร คนเลี้ยงวัว เป็นลูกครึ่งสามสายเลือด ระหว่างเกษตรกร เอ็นจีโอ และนักกิจกรรมทางสังคม”
“อึ่ง มงคล เหล่ามาลา อดีตพนักงานบริษัท เจ้าของสวนเกษตรเพชรมงคง จ.มหาสารคาม เป็นเกษตรกรมาถึงสิ้นปี 2563 นี้ ก็ครบ 6 ปี แต่ก่อนเรียนจบจากสายการเกษตร เข้าทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ อยู่เมืองไทยประมาณ 5 ปี และบริษัทส่งไปอยู่ต่างประเทศประมาณ 10 ปี ปัญหา คือ ตำแหน่งสูงขึ้น เงินเดือนสูงขึ้น แต่ความสุขกลับลดลง โรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า เช่น ภูมิแพ้ ไมเกรน ริดสีดวง เลยตัดสินใจลาออก หอบเงินหลายล้านบาท มาทำเกษตรกรรมที่บ้านอยู่ปีกว่า เหลือแบงก์ 20 อยู่ 1 ใบ เลยเป็นโจทย์ว่า จะต้องทำอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงตัวเองอีกครั้ง”
“นิกกี้” นิภารัตน์ อันแสง เป็นอาสาคืนถิ่น เจ้าของสวนผักอินทรีย์จันทร์เจ้า จ.มหาสารคาม ถามว่ามาจากไหน เป็นลูกชาวนา เรียนเกษตร ตั้งใจจะมาเป็นชาวนาเพราะหนูรู้สึกว่ามีความภาคภูมิใจในอาชีพที่บรรพบุรุษเขาให้มาและจะสานต่อสืบทอดต่อไปโดยนำวิถีของคนรุ่นใหม่กลับมา ลาออกจากงานได้ 1 ปี เศษ ตอบโจทย์ชีวิตหลาย ๆ อย่าง ลาออกมาก่อนโรคโควิด-19 จะระบาด ถ้าถามถึงเรื่องรายได้ ตอบได้เลยว่าการที่มีอยู่แบบมีเงินเดือนกับอยู่ตรงนี้ต่างกัน”
“แขก ปรีชา หงอกสิมมา ธนาคารต้นไม้ บ้านท่าลี่ จ.ขอนแก่น ในขณะที่ไปสอนชาวบ้าน ชาวบ้านถามว่า “เจ้าเคยเฮ็ดบ่ มาสอนอยู่นี่” ไปพาชาวบ้านทำปุ๋ย ใช้แล้วพืชงามไหม ไปพาชาวบ้านทำอินทรีย์ มันรอดไหม ไปพาชาวบ้านทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มันไปรอดไหม เกิดคำถาม สอนและฝึกอบรมให้กับ ชาวบ้านอยู่ตรงนั้นประมาณ 8 ปี มองย้อนกลับมายังบ้านเกิดตนเอง รู้สึกว่าทุกครั้งที่เราลงไปทำโครงการ เราไปเจอแต่ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ไม่ว่าเราจะคิดโครงการดีแค่ไหน เวลาจะขับเคลื่อนงานมีแต่ผู้สูงอายุเลี้ยงหลานอยู่บ้าน งานก็ไม่เดินหน้า ไม่ว่าใครจะคิด ราชการจะคิดอย่างไร เอกชนจะนำ CSR ลงมา การทุ่มเงินและงบประมาณ ก็ไปเจอแต่ผู้สูงอายุและเด็ก ไม่มีคนวัยทำงานอยู่ที่ชุมชน
ถ้าทำแบบนี้ต่อไป ไม่มีใครกลับมาหรอก ทำไมเขาถึงไม่สามารถใช้ชีวิตให้รอดได้ในบ้านที่เขาเกิดมา เลยเป็นคำถามที่ สุดท้ายแล้ว ถ้าเราเอาแต่ไปบอกให้คนอื่นกลับ เคยอบรมให้คนรุ่นใหม่หลายรุ่น หลายหน่วยงานที่เขาพยายามจัดอบรมให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน ในที่สุด ตัวเองก็ต้องกลับเหมือนกัน กลับมา ก็มาทำในสิ่งที่เราเคยสงสัย เคยบอกคนอื่น เคยอบรมสอนคนอื่น สุดท้ายก็กลับมาอยู่บ้านเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว”
หลังทำความรู้จักคุ้นเคยกันในเบื้องต้น “สันติ ศรีมันตะ” ทีมงานอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ ซึ่งเขาเองก็เป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่หันหลังกลับไปอยู่บ้านในเวลา 2-3 ปี รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการชวนคุยถึงเป้าหมายของการ “ฟังเสียงคนรุ่นใหม่กลับบ้าน” เช่นกัน
สันติ : ทำไมคนรุ่นใหม่อยู่บ้านไม่ได้ แล้วชนบทจึงมีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก
อุบล อยู่หว้า : ใบปริญญาเป็นใบลาพ่อแม่ ถ้าไปเรียนหนังสือ ไปรับประสบการณ์ในวงการการศึกษาแล้ว ความคาดหวังที่คนรุ่นใหม่ต้องแบกอยู่ คือ รายได้ทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเงิน ประสบการณ์ที่มันตอกย้ำ ฝังใจของคนรุ่นพ่อแม่ คือ ความยากลำบากในการทำไร่นา ในการเป็นเกษตรกร ชีวิตมันยากลำบาก ถ้าไม่เชื่อ ไปตากข้าวเปียกกับผมไหม ผู้สูงอายุ 2 คน ตากข้าว 5 ตัน มันก็สาหัสเหนื่อยแค่ไหนก็ทำ ไม่รู้ว่าดีไม่ดี นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของคนเรา
ความอยากไปเรียนรู้เป็นความประสงค์ของช่วงวัย สิ่งนี้ เรียนลัดไม่ได้ อยากไปดูกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร ถ้าเป็นคนอุดรธานีอยากไปถึงต่างประเทศเป็นค่านิยมของจังหวัดอุดรธานีที่ไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เกิดค่านิยมในพื้นที่ ส่วนหนึ่ง คือ ถ้าอยู่ในหมู่บ้านไปเรียนมาแล้ว เรียกว่า ดงแข้งทางสังคม คือว่า “โอ้ย ลูกเฒ่าสันติ ตกงานมาอยู่บ้าน” การนินทามันเป็น แรงกดดัน
เพราะฉะนั้น แรงกดดันมันเกิดขึ้นตั้งแต่คนในครอบครัวตนเอง พ่อแม่ตัวเอง ผมเองเคยส่งคนรุ่นใหม่ไปอยู่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน เป็นวิศวกรโรงงาน เขาก็ตั้งใจจะมาอยู่บ้าน ผมส่งไปอยู่เป็นสัปดาห์ พอกลับมาแล้ว เขาตัดสินใจกลับไปเป็นวิศวกรโรงงานอีก ผมพยายามสอบถามในหมู่บ้านว่า เป็นอะไรทำไมเขาถึงกลับไปอีก ตอนแรกเขาคุยกับผมว่าเขาจะกลับมาอยู่บ้านแล้ว คนที่เสียดายเงินเดือน คือ แม่ คนที่เสียดายตัวเลขเงินเดือนที่สูงของวิศวกรโรงงาน คือ แม่ นั่นหมายความว่าน้องคนนี้ ไม่ผ่านดงแข้งของคนในครอบครัว ไม่ผ่านความคาดหวังของคนในครอบครัว
เพราะฉะนั้น 10 ปีมานี้ ในเครือข่ายเกษตรทางเลือก ผู้นำก็ประกอบไปด้วย คนที่มาอายุ 60 ปีขึ้นไป เราพยายามประเมินตรงนี้กันว่า ผมถามว่าชุมชนอีสาน พร้อมที่จะโอบอุ้มลูกหลานที่จะกลับมาไหม ถ้าเป็น 10 ปีที่แล้ว เขาจะตอบว่าไม่พร้อม ชัดมาก ชุมชนอีสานยังไม่พร้อมที่จะโอบอุ้มลูกหลานที่จะกลับมาอยู่บ้าน
ถึงวันนี้สายตาผมที่ไปในหลาย ๆ ชุมชน ผมว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปมากแล้ว เรื่องเล่าคลาสสิกของ “ปราณี มรรคนันท์” น่าจะสะท้อนข้อเท็จจริง เช่นว่า คุยกันบนศาลาวัด “โอ้ย ถ้าย้อนอดีตได้ อยากได้ลูกโง่ ๆ จักคนนึง พอได้เฮ็ดไฮ่นาอยู่กับพ่อกับแม่” พอดีลูกเขา 2 คน เรียนเก่งหมด และ 1 คนไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อีกคนไปทำงานสำคัญอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แน่นอนคนเรียนเก่ง 2 คนนั้นหาเวลาที่จะกลับมาอยู่กับพ่อแม่ยากมาก
ผู้สูงอายุก็พูดไปถ้าเลือกได้อยากให้ลูกสัก 1 คน เรียนน้อย ๆ แล้วก็ทำไร่นาอยู่บ้าน คือ สถานการณ์ชุมชนเวลานี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ที่ผู้สูงอายุในอีสาน โหยหา อยากให้ลูกหลานกลับมา ผมว่าวันนี้กับ 10 ปีที่แล้ว ไม่เหมือนกัน”
เริ่มต้นวงสนทนาด้วยมุมมองสายตา “อุบล อยู่หว้า” ฉายภาพสังคมอีสานกับการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ที่เขาบอกว่า “ใบปริญญาเป็นใบลาพ่อแม่” ก่อนที่ “อึ่ง มงคล เหล่ามาลา” อดีตพนักงานบริษัท เจ้าของสวนเกษตรเพชรมงคง จ.มหาสารคาม จะเท้าความถึงการทิ้งเงินเดือนเหยียบแสนเพื่อกลับบ้านเช่นกัน
สันติ : อะไรทำให้ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน
“เขาว่าบ้าก็ไม่เป็นไรครับ จริง ๆ ชีวิตการทำงานถึงจะตำแหน่งสูงเพียงไหนก็ยังเป็นพนักงานที่ขาดอิสระในการใช้ชีวิต เงินเดือนล่าสุดของผมประมาณ 8-9 หมื่น” “อึ่ง” มงคล เหล่ามาลา เขาเรียนจบจากสายการเกษตรเข้าทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่เมืองไทยประมาณ 5 ปี และบริษัทส่งไปอยู่ต่างประเทศประมาณ 10 ปี
“ถ้ามองแบบเศรษฐกิจ GDP สูง แต่ความสุขการใช้ชีวิตในการเป็นพนักงานบริษัทมันไม่มีความสุข แต่ทำไมหลังจากผมออกจากงานมาแล้ว ปีแรกเงินหลายล้านที่ผมนำกลับมา เหลือ 20 บาท แต่ GDP ความสุขผมสูงนะครับ มีความสุขมาก แต่ผมขาดทุนและล้มเหลว ผมเลยไม่รู้ว่าจริง ๆ ชีวิตมันต้องการอะไร หรือควรจะอย่างไร
ผมออกงานมาตอนแรกผมตั้งโจทย์เลยว่า ทำเกษตรต้องรวย พอผมตั้งโจทย์อย่างนี้ เสกเลยครับ มีเงินมาเป็นล้าน ผมก็ดีดนิ้ว ผมอยากทำอะไร เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู ปลูกไผ่ เลี้ยงเป็ด ขาดทุนหมดครับ ปลูกกล้วยหอมทองก็ขาดทุน เลี้ยงเป็ดไข่จากที่เลี้ยง 30 ตัว เลี้ยงดีได้ไข่ ก็ไปเหมามาหมดฟาร์มเพราะอยากรวย ปัญหาคือโดนสุนัขไล่เป็ดไข่ไม่ออกก็ขาดทุน ทำอะไรก็ขาดทุนครับ ไม่ต้องไปถามหมอดูก็ขาดทุน มีล้านก็หมดครับเพราะมาทำเกษตรแล้วขาดสติคิดเพียงว่าอยากรวย
พอเริ่มได้สติ เริ่มทำเกษตรไปปีกว่า ๆ ก็มาคิดว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไร หนึ่งเลย คือ กลับไปเป็นพนักงานกินเงินเดือนเหมือนเดิม แต่มีความทุกข์อยู่ต่างประเทศ เลือกไหม? เลยตอบตัวเองว่า ไม่ ไม่เลือก แต่จะทำอย่างไรเมื่อเงินเหลือไม่กี่บาท เลยออกเดินทางไปดูว่าที่ไหนดี ตระเวนไปดูทั่วประเทศไทย ยูทูป นิตยสารอะไรอ่านหมด เลยไปพบ “อาจารย์ทอง ธรรมดา” อยู่สวนเพชรพิมาย เลยเข้าไปหาท่าน ไปฟังท่านบรรยาย
ผมขอมาฝึกงานกับอาจารย์ได้ไหม ผมอยากทำเกษตรผมล้มเหลว อาจารย์เลยตอบว่ามันเหนื่อย มันหนัก ไม่เป็นไรผมไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ผมขอใช้แรงแลกกับวิชาความรู้กับสิ่งที่อาจารย์บรรยายมา ย้ายเข้าไปอยู่ 1 เดือนครับ กลับมาทำเกษตรตามที่อาจารย์สอนมา ชื่อ “เกษตรสวนทาง” ทำรูปแบบใหม่เปลี่ยนใหม่หมด สวนทางรูปแบบการทำเกษตรแบบเดิม ๆ ที่เคยขาดทุนเป็นล้าน เริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และดีขึ้นเรื่อย ๆ”
สันติ : อะไรทำให้ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน
“เริ่มต้นจากการไปบอกพ่อแม่ก่อนค่ะว่าอยากกลับบ้าน เขาไม่ยอมค่ะ พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกหลานลำบาก เพราะว่ากลับมาทำไร่นา” “นิกกี้” นิภารัตน์ อันแสง อาสาคืนถิ่น เจ้าของสวนผักอินทรีย์จันทร์เจ้า จ.มหาสารคาม เกริ่นถึงจุดเริ่มต้นวิถีเกษตรกรเต็มตัวเมื่อไม่นานมานี้
“ก่อนมาทำเกษตรเคยทำงานเป็นพนักงานลูกจ้าง พอดีได้มีโอกาสไปทำแปลงให้ผู้ใหญ่ มีอยู่ 1 คำ ที่เด็กเล็กไปวิ่งเล่นในแปลงว่า เขาไม่เคยเห็นสวนผักหวาน เขาพูดว่า “อุ๊ย สวยจัง” พอดีแฟนบอกว่า นี่เห็นไหมขนาดเด็กยังบอกเลยว่า มันสวย ทำไมตัวเองมีพื้นที่ ทำไมไม่กลับบ้าน มันสะท้อนอยู่ในใจ จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วล่ะ
เริ่มต้นจากการไปบอกพ่อแม่ก่อนว่าอยากกลับบ้าน เขาก็ไม่ยอมค่ะ พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกหลานลำบาก เพราะว่าต้องกลับมาทำไร่นา พิสูจน์หลาย ๆ อย่าง ทั้งเสียงข้างบ้าน หลาย ๆ คน แต่สิ่งมีประจักษ์ คือ พ่อแม่เริ่มยอมรับโดยเอาความรู้ที่เรียนมา ต่างจาก “พี่อึ่ง มงคล เหล่ามาลา” พี่เขาเริ่มจากเงินหลักล้านหนูเริ่มจากเงินหลักร้อย แม้แต่แกลบดำก็ไม่มีเงินซื้อ ก็เริ่มเผาแกลบดำเอง พอดีเป็นช่วงกุมภาพันธ์ก่อนโควิด-19 จะระบาดหนัก
คิดว่าจะทำอย่างไรให้มีเงินเร็ว อาศัยว่าเรียนพืชสวนมา เลยเพาะพันธุ์เบี้ยขายสามารถสร้างเงินได้เร็วมาก ประมาณ 3 เดือน ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด กักตัว บอกได้เลยว่า รายได้สวนกระแส รับปลูกป่ารับขายเบี้ยผัก เบี้ยไม้ป่า ขายดีถล่มถลาย จนคนข้างบ้านถามว่า ในขณะที่คนอื่นไม่มีรายได้เลยแต่คนเข้ามาดูสวน เข้าออกมาซื้อผลผลิตที่เราทำเห็นเลยว่าเศรษฐกิจมันสวนทางเป็นอะไรที่สุขใจพ่อแม่ยอมรับมากขึ้นรวมถึงสุขภาพของพ่อ เขาป่วยไม่สบาย แต่ตอนนี้อาการพ่อดีขึ้นเยอะมาก และเห็นความเป็นไปได้ของรายได้ที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ ผ่านบทพิสูจน์ประมาณปีกว่า ๆ รู้สึกว่าชีวิตมีความสุขมากขึ้น”
คำถามเดียวกัน “อะไรทำให้ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน” ยังคงถูกส่งต่อเพื่อสอบถามสมาชิกในวงสนทนา
“ผมกลับมาตอนเดือนเมษายน เพราะงานเริ่มถูกยกเลิกเหมือนตอนนั้นรับจัดอบรม เราไม่สามารถมานั่งรวมตัวกันแบบนี้ได้ จะทำอย่างไรดี เหมือนกับตั้งคำถามครับ กลับมาถามตัวเองทรัพยากรหรือคนรอบข้างเรามีอะไร เลยกลับมาเห็นที่บ้าน ที่บ้านทำเกษตรอยู่แล้ว มีที่ดิน ทำนา แม่ทำเกษตรผสมผสานระดับหนึ่งอยู่แล้ว แม่เป็นกลุ่มตัวแทน งั้นเราลองกลับมาเริ่มต้นที่แบบเรามีไหม” “กล้า” ปาฏิหาริย์ มาตสะอาด เจ้าของเฮือนสวนเฮา จ.กาฬสินธุ์ บอกเล่าที่มาของการเป็นเกษตรกรมือใหม่ในบ้านของเขาเอง
“พอเห็นตรงนั้นเราเลยรู้สึกว่า ลองเลยละกัน ความยาก คือ พอโตในเมือง กลายเป็นว่าไม่แน่ใจว่า มันเป็นมายาคติที่เรามองหรือเปล่า ชีวิตอยู่นา สวน สบาย อากาศดี เพราะภาพที่เห็น คือ เขามีผลผลิตแล้ว เขาไม่ค่อยถ่ายตอนที่เขาไปทำจริง ๆ กล้ามือแตกเป็นสัปดาห์เลย มันไม่ได้สวยงามอย่างที่เราคิดเลย
ครั้งแรกขุดจอบพ่อต้องสอนขุด พ่อต้องสอนจับจอบ ใช้งานครั้งแรกมือพองเลย มันมีวิธีจับจอบด้วยเหรอ ค่อย ๆ เรียนรู้ อย่างมูลวัว มูลควาย แบบเหม็นมากอยู่กันได้อย่างไร แต่พอไปอยู่จริง ๆ มันก็อยู่ได้ เราต้องปรับตัวเยอะมาก ๆ เลยทำให้เราเข้าใจพ่อและแม่มากขึ้น เข้าใจวิถีชุมชน เข้าใจมุมมองที่มองจากคนภายนอก กว่าเราจะโตมาได้ขนาดนี้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง รู้สึกว่าเราภาคภูมิใจมากขึ้น
หลังจากที่เรากลับมาทำเองเป้าหมายในใจผมถามตัวเองตลอด ทำไมที่บ้านเป็นหนี้ตลอด พอมาถามที่บ้าน ชุมชน ทุกคนเป็นหนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นเทรนด์ไหม มันเป็นมุมมองในการใช้เงิน วิถีชีวิตแบบชุมชนหรือต่างจังหวัด เขาไม่ได้ถูหล่อหลอมมาด้วยการใช้เงิน เขาอยู่แบบพอใจพอใช้ แบ่งปัน ซึ่งโตมากับวิถีชีวิตแบบนี้ แต่พอโลกของการใช้เงินมันเข้ามา ทำให้ชาวบ้านหรือคนต่างจังหวัด ไม่ได้เข้าใจวิถีการใช้เงินอย่างที่มันควรจะเป็น
ผมก็คิดหาทางจะทำอย่างไรจะช่วยหนี้ที่บ้านได้ ยิ่งดีกว่านั้นถ้าเราใช้วิถีดั้งเดิมของเราในการช่วยแก้หนี้ได้ มันน่าจะดีมากๆ นี่แหละเป็นแรงผลักดันที่จะผ่านพ้นให้ได้ ผมอยู่มา 8 เดือนก็ยากเหมือนกัน ถ้าเราแก้หนี้ให้ที่บ้านได้ ชุมชนอาจจะมีทางออกสำหรับเรื่องนี้เช่นกัน”
การกลับมาอยู่ที่บ้านนับว่ายาก?
“พูดถึงความยาก ไม่ได้ยากมาก ผมมองว่าทุกอาชีพในสังคม ในประเทศ ในโลกของเรา มันจำเป็นต้องมีความหลากหลายทางอาชีพ ทุกอาชีพจะมีคุณค่าในตัวของงาน อยู่ที่ว่าเรามีความสุขกับอาชีพนั้นไหม” “แขก”ปรีชา หงอกสิมมา สมาชิกธนาคารต้นไม้ บ้านท่าลี่ จ.ขอนแก่น แลกเปลี่ยนมุมมองการกลับบ้านของเขา
“ทุกอาชีพ จะมี 2 อย่าง คือ คุณค่าและมูลค่า ถ้าเรารู้จักหน้าที่ของตนเองในอาชีพนั้น ก็ทำให้มันดี ทุกอาชีพมีคุณค่าหมด แต่ถ้าไปเปรียบเทียบมูลค่า คนนี้เงินเดือนน้อยจัง คนนี้ขายของ 3 นาที มีรายได้เท่ากับ 1 เดือนแล้ว อยู่ที่เรามองตรงไหนกันมากกว่า อยู่ที่เรามองถึงความพอใจ ความสบายใจ ตอนตัดสินใจกลับมา เราเลือกความสบายใจ เพราะ หนึ่งเลยได้อยู่ใกล้พ่อแม่ สอง คือ เราไม่ต้องไปแบกความกดดันในองค์กร และ สาม คือ เราสามารถวางแผนทุกอย่างเป็นไปตามความคิดเรา
การเป็นพนักงานที่อยู่ในกรอบระเบียบความคิดของเราจะถูกตีกรอบไปตามระเบียบขององค์กร จะพูดอะไรแต่ละอย่างก็มีกรอบ มีระเบียบ ทำงานก็ต้องตามหน้าที่ แต่ผมรักความเป็นอิสระเลยออกมา การออกมามองได้ 2 แบบ ว่า หนึ่ง คือ เราเป็นคนมีความรู้ในระดับหนึ่ง มันมีคำถามกลับไปว่า ทำไมคนอยู่บ้านนอกไม่ได้ ส่วนใหญ่คนที่กลับมาจะตอบว่า มีงานอะไรให้ทำ แต่ผมมองในทางกลับกัน เรียนหนังสือมาก็พอสมควร ประสบการณ์ทำงานต่างพื้นที่หรือความหลากหลายที่ไปทำอยู่ในองค์กรก็พอสมควร การที่เรากลับมา ไม่ได้มาขอใครทำงาน แต่เราต้องมาสร้างงาน
เราไม่ได้กลับมาพึ่งโครงสร้างทางสังคมที่มันมีอยู่เก่าแล้วเพื่อมาของานเขาทำ แต่เอาความรู้ประสบการณ์ของเรากลับมาสร้างงานในชุมชน สร้างงานให้ตนเองก่อนอันดับแรก อะไรก็ได้ที่สร้างมาจากฐานที่เรามีอยู่ เลยกลับมาสร้างงาน เลยเรียกตัวเองระหว่างที่กลับมาว่า เราจะต้องกลับมาเป็น “ผู้ประกอบการทางสังคม”
ในขณะที่เราเห็นพ่อแม่ทำมา ทำเหมือนพ่อกับแม่ก็ได้เหมือนพ่อกับแม่ ต้องทำรูปแบบใหม่ จะถูกเปรียบเทียบว่ากลับมาแล้วทำแบบเดิมจะไปเรียนหนังสือทำไม และมีความคิดแบบใหม่เพื่อมาสร้างงาน เป็นผู้ประกอบการสังคม
งานแรก คือ งานที่ไม่ต้องไปพึ่งทรัพยากรภายนอก ผมทำฟาร์ม 14 ไร่ เรียกว่าเป็นแปลงทฤษฎีใหม่ สร้างฐานทรัพยากรให้ตัวเองก่อน สิ่งแรก ผมมาปรับปรุงใหม่หมด กว่าจะทำได้ ไม่เข้าใจกันอยู่ 8 ปี เรื่องของความคิดเถียงกันอยู่นาน เพราะผู้สูงอายุก็คิดแบบเดิม ประโยคยอดฮิต ถ้าทำแบบนี้แล้ว จะไปรอดไหม ผมใช้เวลาพิสูจน์อยู่หลายปี ในขณะที่เรายังไม่ได้ลาออกจากงานประจำเราก็กลับมาทำให้ดูเรื่อย ๆ
การที่เราจะเป็นคนรุ่นใหม่กลับบ้าน เราต้องผ่าน 5 ด.
1.ถูกดูถูก 2.คุณจะโดดเดี่ยว 3.ถูกดุด่าจากบุพากรี 4.โดนใจ และ 5.สดุดี ผมไม่ได้พูดว่าทุกคนจะทำแบบนี้ คนที่มีงานประจำมีหน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่ว่าจะแห่มาทำอย่างนี้หมด ให้กลับไปหาคุณค่าของงานเรา ว่างานเรามีคุณค่าไหม อยู่ด้วยแล้วมีความสุขไหม ให้ความสำคัญกับงานว่าทุกคนหน้าที่ อาชีพ จำเป็นต้องหลากหลาย ถ้าคนทำงานการไฟฟ้าลาออกมาเป็นเกษตรกรหมด ไม่มีไฟฟ้าใช้นะ ถ้าอยู่แล้วไม่มีความสุขก็หาตัวเองให้เจอแล้วทำให้ตัวเองมีความสุขนะ”
การหันหลังให้กับเงินเดือนประจำ กลับมาเป็นเกษตรกรของหลายคนล้วนมีเหตุผล และแรงจูงใจแตกต่างกันไป
“หนิง” นิพาดา ลาดบาศรี อาสาคืนถิ่น จ.ศรีสะเกษ คืออีกคนที่พิสูจน์ตนเองบนเส้นทางสายนี้ แม้ไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการอันดับแรก
“ไม่ได้อยากเป็นเกษตรกร ไม่ได้อยากทำนา เลยเลือกที่จะเดินออกจากบ้าน เพราะไม่อยากทำนาเท่านั้นเอง ก็ไปทำงานเพื่อจะส่งตัวเองเรียน ในขณะเรียนก็มีโอกาสทำงานร้านเสริมสวยเพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ เป็นคนชอบอิสระไม่ชอบถูกบังคับ
หลังเรียนจบมีโอกาสทำงานหลายที่ รู้สึกว่าทำงานไปแล้วก็ต้องกลับบ้าน ผักในรั้วสวนก็ไม่มี เพราะข้างนอก สังคมเมืองไม่ได้ปลูกผักเหมือนบ้านเรารู้สึกว่าไม่ใช่ ก็ทนอยู่ไปสักพักเพราะเดี๋ยวชาวบ้านจะนินทา เรียนจบไปมาทำแค่นี้เหรอเรียนจบไม่มีงานทำ ตกงานเหรอ หนูเลยทนไปต่ออีกนิดอยู่ประมาณ 1 ปี กลับมาอยู่บ้าน
ตอนกลับมาก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะกลับมาทำอะไร ไม่มีงาน ความรู้สึกแค่อยากมาอยู่บ้าน การกลับบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากเลย ตอนมาอยู่บ้านมีชาวบ้านคนในชุมชน ว่าเราเป็นบ้า ตกงาน ไม่มีงานทำ มันผลักดันให้เราออกไปทำงานอีกครั้ง ความโชคดีของหนิง คือ ได้ทำงานกับ NGO หรือสมาคมคนทาม ทำงานกับอยู่ที่ อ.ราษีไศล หนิงเรียนจบรัฐประศาสนศาสตร์ แต่ได้ทำงานบัญชีไม่ตรงกับที่เรียนมาเลย
เงินเดือนก็ไม่มากแต่ทำไมอยู่ได้ ทำไปสักพักไปลงพื้นที่ ไปทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ หนิงไปทำงานการเงิน แล้วซึมซับตอนไหนไม่ทราบเหมือนกัน ไปเยี่ยมแปลงเกษตรไปส่งเสริมชาวบ้าน และชาวบ้านพูดว่า “มาส่งเสริมแต่คนอื่น ตัวเองทำรึยัง”
ไปส่งเสริมก็พูดไม่ได้เต็มปาก เพราะเราไม่ได้ทำจริง เพียงแค่เรามีความรู้จากสิ่งที่เรียนมาจากสิ่งที่อ่านในหนังสือ โชคดีได้รับงบสนับสนุนขุดแปลง จำนวน 9 ไร่ หันมาทำแปลงตัวเอง จะไม่มีถึงวันนี้เลยถ้าไม่มีเพื่อน เหมือนทำคนเดียวไม่โดดเดี่ยว เลยเลือกที่จะอยู่กับองค์กรอยู่กับเพื่อนกับชุมชนไป ตอบโจทย์ว่าความสุขของเรา แค่นี้แหละที่ต้องการ หนิงยังมีงานประจำอยู่แต่ก็ยังทำเกษตร จะลาออกองค์กรก็ยังต้องพึ่งเราอยู่ ชาวบ้านปลูกก็ไม่รู้จะเอาไปไหน ทำเกษตรจริงจังเมื่อปี 2561 เพิ่งจะ 2 ปี”
สันติ : ความฝันก่อนจะลาออกกับความจริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง ?
“สันติ ศรีมันตะ” ชวนคุยต่อเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองหลังจากที่ผู้ร่วมเสวนาเล่าถึงประสบการณ์การตามหาฝันในวันวานและเป้าหมายการใช้ชีวิต การทำงาน ในวันที่เป็นความจริงตรงหน้าของทุกคน เมื่อ “คนรุ่นใหม่กลับบ้าน”
“ความฝันสมัยทำงาน จินตนาการไว้ 108 เลย คือ ลาออกไปจะทำสิ่งนี้แน่ ๆ หลังจากได้ลงมือทำหลายสิ่งอย่าง ปรากฏว่ามันไม่ใช่ครับ ชาวบ้านพูดเสียงเดียวกันว่า “แม่นแล่ว เจ้ามีทุนเจ้ากะเฮ็ดได้” จริง ๆ ถ้ามีทุน แต่ไม่มีความรู้ นั่น คือ “หายนะ นะครับ” มันไม่ต่อเนื่อง หลังจากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วขาดทุนไปล้านกว่าบาท ไปพบอาจารย์ดีและจับข้อคิดหลัก ๆ ที่ผมจับประเด็นมา อาจารย์สอนว่าทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จต้องมี “3 การ” คือ 1.อุดมการณ์ ต้องเชื่อว่าทำเกษตร อยู่ได้ ไปรอด แล้วมีศักดิ์ศรี 2.วิชาการ ต้องมีความรู้ด้านการเกษตร จะประสบความสำเร็จ และ 3.ต้องมีประสบการณ์
ถ้ามีอุดมการณ์ วิชาการ แต่ไม่เคยทำเลยขาดประสบการณ์ ก็ล้มเหลวตามเคยไปไม่รอดและต้องทำ 3 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 ทำเพื่อเรียนรู้จากน้อยก่อน ปลูกพืช 4-5 อย่าง ถ้าดี ค่อยขยาย ขั้นนี้จะอยู่ได้พอเพียงแบบมีความสุข ตามอัตภาพแต่ยังไม่รวย ให้มาทำขั้นที่ 2
ขั้นที่ 2 ให้ทำผลผลิตขายในช่วงมีราคา(แพง) ทำอย่างไร ฤดูแล้ง ขายพืชกินหน่อ ฤดูฝน ขายพืชอวบน้ำ ฤดูหนาวขายพืชกินยอด ซึ่งส่วนนี้จะเป็นความแตกต่าง เราสามารถเอาชนะกลไกการตลาดได้ ไม่ตกเป็นทาสทุนนิยมหรือการตลาด ปัญหาของผม คือ ตลาดราคาสูง แต่ผลผลิตไม่ทัน ไม่ได้มีปัญหาด้านการตลาด ขั้นนี้แค่หายจนแต่ไม่รวย
ขั้นที่ 3 ทำอย่างไรจะรวย คือ ขายผลพลอยได้ แปรรูป ขายเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ กิ่งพันธุ์ นี่คือขั้นที่ 3 ปิดประตูจน สามารถทำให้เรามีเงินทองร่ำรวยได้
หลังจากที่ผมไปฝึก 1 เดือน ผมกลับบ้านมาทำพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ โมเดลผม 1 ต้น ผมต้องได้ 1 แสน ผมวางแผนให้มีรายได้ตลอดทั้งปี พันธุ์พืชในสวนผมมีเกือบ 100 ชนิด แต่เด่น ๆ คัดมา 3-5 อย่าง ที่วิเคราะห์ออกมาแล้ว ที่สร้างรายได้ให้กับสวน ขายความแตกต่างและสร้างมูลค่าได้จริง ๆ
มกราคม-กุมภาพันธ์ ขายมัลเบอร์รี่ไม่มีคู่แข่ง มีนาคม-ตุลาคม ขายพร้อมต้นพันธุ์ หน่อไม้ ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งที่กินดิบได้ไม่มีคู่แข่ง ตลาดต้องการปลูกเท่าไรก็ไม่พอ พฤศจิกายน-ธันวาคม สะเดาทวาย แม่ค้ารับไม่อั้น 6 ปีจากวันนั้น รายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ได้อยู่ดีมีความสุข เกษตรจริง ๆ อยู่ที่วิธีคิด ทำเกษตรอย่างไรให้ร่ำรวย ต้องมองให้เห็น ให้ได้ใน 4-5 ปีข้างหน้า”
“สิ่งที่ผมเรียนรู้มา คือ การเป็นผู้ประกอบการมาเป็นเกษตรกร ความคิดด้านธุรกิจมันต้องเกิดขึ้นต้องวางแผน ทุกอย่างคือการลงทุน เมื่อลงทุนแล้วเราจะจัดการกับเงินทุนเราอย่างไร เราจะสามารถสร้างรายได้จากการลงทุนได้อย่างไร การทำเกษตร คือ 1 หน่วยธุรกิจ แต่ไม่ใช่ธุรกิจหวังร่ำรวยอย่างเดียว ต้องสมดุล คุณค่าและมูลค่า บางจังหวะอาชีพนี้ได้อาชีพนี้ไม่ได้ แต่ฐานที่ไม่เคยทิ้ง คือ การเกษตรยังอยู่เหมือนเดิม การแปรรูปสร้างมูลค่า และสำคัญที่สุดผมสร้างสวนป่า
ผมมองว่าการที่เรามีสวนต้องมีรายได้ 2 ทาง 1. PASSIVE INCOME รายได้ที่เกิดจากการที่เราไม่ต้องทำงาน 2. ACTIVE หมายถึง ขยันก็ทำ ถ้าขยันมากก็ได้มาก ขยันน้อยก็ได้น้อย ระหว่างนี้ต้องรักษา 2 อย่างให้สมดุลกัน ที่ดินเรา 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เอาไปทำทั้งหมดนะเอาที่หัวไร่ปลายนา รกร้างว่างเปล่า ที่ที่ไม่เกิดประโยชน์ แบ่งเพื่อจะมาสร้างเงินออมในอนาคตไว้ ที่ดินต้องถูกจัดสรรอย่างลงตัวและเหมาะสม และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเรา”
สันติ : กลับบ้านเพราะตกงาน เพราะพ่ายแพ้เราจะข้ามมายาคตินี้ไปอย่างไร
“ความหมายของการกลับบ้านคนรุ่นใหม่ต้องพิสูจน์ การกลับบ้านต้องดำรงอยู่แบบมีคุณค่าต่อกัน ไม่ใช่กลับมาขอพ่อแม่กินอยู่ พอคนรุ่นใหม่ลงมือทำไม่ได้ทำเหมือนพ่อแม่ คนรุ่นใหม่ใช้ข้อมูลมากมาย บางคนเตรียมข้อมูลตั้งแต่จะลาออกจากงานมาว่าจะมาทำอะไรกับใคร ใช้เครือข่ายเชื่อมโยงคนนั้นคนนี้ เขาสร้างชุมชนใหม่เป็นชุมชนที่ไม่ใช่ชุมชนทางกายภาพอยู่บ้านเดียวกัน” อุบล อยู่หว้า ย้ำถึงมุมมองใหม่ในการกลับบ้านยุค 2020
เพราะฉะนั้นการลงมือทำของคนรุ่นใหม่ สิ่งนี้จะแสดงถึงคุณค่าและมูลค่าว่าอยู่ได้อย่างไร ผ่านทางเศรษฐกิจ คนรุ่นใหม่จะค่อย ๆ พิสูจน์และสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน คือ คุณค่าเดิมของคนในชุมชนหมู่บ้านของเราเป็นหน่วยธรรมชาติในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เขาสร้างความมั่นคงจากการอยู่ร่วมกัน เขาลงแขกช่วยกันมีทรัพยากรคนละอย่างใช้ร่วมกันไปเป็นความมั่นคงจากการอยู่ร่วมกัน แต่พอมาคนรุ่นใหม่ ลักษณะการสร้างความมั่นคงการอยู่ร่วมกันมันลดลง เป็นลักษณะสัมพันธ์กันผ่านเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามาถึงวันนี้น่าจะเพิ่มความเข้าใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ช่วงโควิด-19 กิจการที่ปิดทันที ตามคำสั่งรัฐบาล คือ ร้านอาหาร ผับ บาร์ ทำให้คนอีสาน จำนวนมากที่เป็นแรงงานอยู่ในผับ บาร์ กลับมาบ้านทันที จากการไปอยู่กรุงเทพฯ ในเมืองนาน ๆ ข้อจำกัดที่สำคัญ เมื่อมาอยู่บ้านแล้วยังต้องตะกายหาผัดกะเพราอยู่ตลอดเวลา มองหาอาหารแบบคนเมือง ซึ่งหากเดินหน้าใช้ชีวิตแบบเดิม ไม่นานเงินจะหมดลง สิ่งสำคัญ คือ ต้องปรับตัวกับสิ่งที่ต้องอยู่ คนในชนบทก็เช่นกัน ผมมีข้อจำกัด คือ มีปลาอยู่ในสระเยอะ ๆ แต่จับปลาก็ไม่เก่ง หว่านแหก็ไม่เป็น นี่คือข้อจำกัด
จริง ๆ แล้วคนที่กลับมาและคนที่อยู่บ้านมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว เพื่อให้อยู่รอดร่วมกันพื้นฐานต้องอยู่ให้ได้ก่อน นั่นหมายถึงการผลิต การเพาะปลูก เพื่อการกินอยู่ของครอบครัว อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำก่อน และถ้าไปคุ้นเคยกับการกินในสิ่งที่ตนไม่มีและควบคุมไม่ได้ มันเริ่มเป็นจุดอ่อนนะ มีปลานิล แต่ไม่กินปลา ถ้าเรามีแบบแผนที่สวนทางกับสิ่งที่มีมันจะเป็นปัญหา
เพราะฉะนั้นด้านแรกจะต้องอยู่กับสิ่งที่มีให้ได้และต้องเข้าใจว่าลูกเพิ่งกลับมาจากกรุงเทพฯ เขายังไม่ถนัด ยังมองหาผัดกะเพราอยู่ตลอดเวลา ต้องค่อย ๆ ปรับตัว อยู่ให้ได้แล้วค่อยเอาสิ่งที่ล้นเกินการกินอยู่ของครอบครัว ก็จะเริ่มคิดเป็นรายได้ต่อยอดออกไป เบื้องต้นการอยู่-ต้องรอด
คนที่อยู่ในอาชีพอื่นแล้วกลับมาทำเกษตร ต้องการเพื่อน ต้องการกำลังใจ ในเชิงนโยบายผมคิดว่าควรจะมีนโยบาย เช่น อาหารไม่ได้มาจากสิ่งประดิษฐ์ ยังจำเป็นต้องสนับสนุนภาคการเกษตรและในความเห็นผมการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ฟาร์มลักษณะนี้ควรจะได้รับคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ประสงค์จะมาทำเกษตร มาฝึกประสบการณ์ที่เขาสนใจ โดยฟาร์มได้รับการอุดหนุนจากรัฐให้เป็นฟาร์มที่มารองรับ ในเชิงนโยบายควรมีนโยบายประเภทนี้ออกมา คือ รัฐควรอุดหนุนคนที่ประสงค์จะกลับมาอยู่บ้าน ให้มีพื้นที่ให้เขาไปเรียนรู้ คนเหล่านี้ควรได้รับการอุดหนุน มีแบบแผนรองรับคนที่อยากกลับมา ทำมาหากินอยู่ที่บ้าน
การกลับมาของคนรุ่นใหม่มีหลายความหมาย มีหลายคุณค่า หนึ่งทำให้ช่องว่างทางการศึกษาระหว่างชุมชนกับคนเมืองในสังคมมันน้อยลง แค่อธิบายการเกษตรด้วย S-Curve มันคือเศรษฐศาสตร์ ก็เอามาวิเคราะห์ผลผลิตเกษตรที่ตัวเองทำอยู่ อันนี้เป็นรูปธรรมที่ทำให้ชนบทและภาคอื่น ๆ ของสังคม ช่องว่างทางการศึกษามันแคบลง คนมาอยู่ในชนบท เช่น เราก็นำ S-Curve มาวิเคราะห์การปลูกผักเหมือนกัน นำความรู้มาใช้ มันจะทำให้ช่องว่างทางเทคโนโลยีลดลงด้วย
ช่องว่างของประเทศเราที่ต้องรอเวลา คือ ช่องว่างทางอำนาจ คนรุ่นใหม่ก็เป็นต้นทุนได้ ในการที่จะสร้างความเข้าใจกับชุมชนกับสังคม การอุดหนุนให้ได้เรียนรู้ รวมถึงเงินทุนเงินกู้ คนเหล่านี้ควรได้รับเงินกู้ที่ดอกเบี้ยต่ำ ควรมีนโยบายการเงินเพื่อสังคมออกมาช่วยสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน”
เวลานับชั่วโมงในการแลกเปลี่ยนพูดคุยไม่เพียงแต่บอกเล่าเรื่องราวของผู้ร่วมวงเสวนา ณ นาทีเดียวกันนั้น ยังเป็นโอกาสให้ผู้ฟังในวงได้ทบทวนมุมมองและเป้าหมายการทำงานของตัวเองไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อถึงวันที่หลายคนต้องกลับบ้านผ่านเส้นทางการเป็นเกษตรมือใหม่