“โขง เลย ชี มูล” สายน้ำบนความหวังและความกังวลใจจากโครงการพัฒนาในอีสาน

“โขง เลย ชี มูล” สายน้ำบนความหวังและความกังวลใจจากโครงการพัฒนาในอีสาน

22 ธันวาคม 63 เวลา 09.00 น. เครือข่ายชาวบ้านทรัพยากรลุ่มน้ำในภาคอีสาน องค์กรภาคีเครือข่ายสิ่งแวดล้อม และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมประชุมบทเรียนเชื่อมร้อยเครือข่าย ณ ศาลาประชาคม อ.ปากชม จ.เลย ติดตามสถานการณ์โครงการพัฒนาลุ่มน้ำในอีสาน “โขง เลย ชี มูล” เพื่อสร้างองค์ความรู้นิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงอีสาน และแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเท็จจริง ตลอดจนองค์ความรู้นิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง

“เสียงชาวบ้านนั้นสำคัญมาก เพราะว่าผู้พัฒนาโครงการไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่เป็นหน่วยงานรัฐที่อยู่ในส่วนกลาง กรุงเทพฯ แต่ว่าชุมชนเขาอยู่ในที่นี่ตั้งแต่บรรพบุรุษ เขาต้องอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลาน ที่สำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมกัน” ชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มฮักเชียงคาน จ.เลย ย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมโครงการจัดการน้ำที่กำลังจะมีขึ้นในพื้นที่ หลังจากที่ผ่านมาชาวบ้านมีความพยายามในการติดตามข้อมูลและความคืบหน้าของโครงการ เพราะกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาหากมีการดำเนินโครงการ

“ส่วนหนึ่งอาจจะมีพี่น้องบางส่วนที่ไม่รู้ข้อมูล ว่ามีการสร้างเขื่อนในตอนบนน้ำโขง ล่าสุดคือเขื่อนไซยะบุรีที่ห่างไปจากที่นี่ราว ๆ 200 กิโลเมตร ซึ่งตอนนี้มีผลต่อการขึ้น-ลงของระดับน้ำ ซึ่งเหล่านี้พี่น้องชาวบ้านก็มองว่าต้องมีการคุยกัน โดยเฉพาะเครือข่ายในที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ซึ่งเราจะให้แค่รัฐจัดการไม่ได้ มันจะต้องมีประชาชนและภาครัฐจัดการน้ำร่วมกัน ซึ่งน้ำจริง ๆ เป็นของทุกคน แต่ว่าการจัดการที่ผ่านมามันขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะเข้ามาบริหารจัดการร่วม เรื่องน้ำ เรื่องทรัพยากรอื่น ๆ ด้วย”

บรรยากาศการประชุมชาวบ้านกลาง ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย

ความเข้าใจต่อข้อมูลของโครงการยังเป็นโจทย์สำคัญที่ชาวบ้านในพื้นที่มองว่าจำเป็นต้องมีการให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน วงเดือน อาสาขัน หนึ่งในชาวบ้านปากชม อ.ปากชม จ.เลย ที่มาร่วมรับฟังและแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลโครงการครั้งนี้ ที่เธอเองยังไม่ทราบรายละเอียด “ปลาน้ำโขงตอนนี้เราไม่มีอะไรจะหากินแล้ว เราเลยได้ปลาจากกรมประมงมาปล่อยไว้ ถ้าจะมีเขื่อนแบบนี้ ถ้าน้ำไม่ท่วม ไม่สร้างความเดือดร้อนเราก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ามันท่วม มันสร้างความเดือดร้อน เราก็กังวลเพราะเราไม่มีเงินไปสร้างที่อยู่ใหม่ เราเลยต้องมาฟังเนื้อหาวงประชุม”

พื้นที่ดำเนินการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อ.เชียงคาน จ.เลย
พื้นที่ดำเนินการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อ.เชียงคาน จ.เลย

การประชุมสรุปบทเรียนเชื่อมร้อยเครือข่ายองค์กรเอกชน องค์กรชุมชนและภาคีสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน (ครั้งที่ 2) ระบุถึงการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ ว่าสถานการณ์ปัจจุบันชุมชนลุ่มน้ำโขงในพื้นที่ อ.เชียงคาน อ.ปากชม จ.เลย และอ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำโขงเรียงรายกันไปตลอดระยะทางขนานกับแม่น้ำโขง   ทอดยาวไปกว่า 70 กิโลเมตร กำลังเผชิญกับการผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่สำคัญบนแม่น้ำโขงและ  แม่น้ำเลยในฐานะลำน้ำสาขา ทั้งโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน และโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก บริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย และห่างออกไปจาก อ.เชียงคาน 2 กิโลเมตร ได้เป็นพื้นที่ผลักดันโครงการ      เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม บนแม่น้ำโขงในเขต สปป.ลาว และที่สำคัญคือโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากชม   อ.ปากชม จ.เลย ได้ถูกนำกลับมาทบทวนอีกครั้งเพื่อผลิตไฟฟ้าและยกระดับน้ำโขงให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถผันน้ำเข้ามาแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ที่ผ่านมาชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาขาดังกล่าวข้างต้น มีความกังวลใจต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่มีการสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงได้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นภูมินิเวศและวัฒนธรรมของชุมชนลุ่มน้ำโขงในเขต อ.เชียงคาน อ.ปากชม จ.เลย และอ.สังคม จ.หนองคาย ที่มีลักษณะเฉพาะของระบบนิเวศที่ประกอบไปด้วย คก หาด ดอน ก้อน และแก่ง ในแม่น้ำโขง พร้อมทั้งธำรงไปด้วยความหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ    ที่มีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมที่หลากหลายซับซ้อนกลับต้องเผชิญกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้น

การประชุมครั้งนี้ มีเครือข่ายองค์กรเข้าร่วมประชุมจากหลายพื้นที่ในภาคอีสาน ได้แก่ กลุ่มฮักแม่น้ำเลย ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย, กลุ่มฮักเชียงคาน, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขงประมงพื้นบ้านเชียงคาน, กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย, ตัวแทนชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากพื้นที่ อ.ปากชม จ.เลย, ตัวแทนชุมชนลุ่มน้ำโขง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.เลย, , นักพัฒนาเอกชน,ตัวแทนสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี, เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำมูน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสงคราม, เครือข่ายประชาสังคม จังหวัดเลย,เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำหนองหาน จ.อุดรธานี, นักวิชาการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่ และเครือข่ายนักวิชาการในพื้นที่ภาคอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้ความร่วมมือของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน  สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นอกจากการแลกเปลี่ยนสถานการณ์เขื่อนแม่น้ำโขง และความกังวลต่อโครงการพัฒนาลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ยังมีคำประกาศแสดงจุดยืนในการปกป้องแม่น้ำโขงท่ามกลางภัยคุกคามจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่

แม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

คำประกาศเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน
“โขง เลย ชี มูล” สายน้ำบนความหวังและความกังวลใจจากโครงการพัฒนาในอีสาน

ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา “แม่น้ำโขง” ในฐานะแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อชีวิตผู้คนและชุมชนลุ่มน้ำโขงคลอบคลุม 6 ประเทศ คือ จีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม กำลังเผชิญกับการคุกคามผ่าน การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ โครงการสร้างเขื่อนกับประตูระบายน้ำบนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง การระเบิดแก่งเพื่ออุตสาหกรรมการเดินเรือ และธุรกิจเหมืองทรายริมฝั่งแม่น้ำโขง ตลอดจนการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ก่อให้เกิดการพังทลายและเสื่อมถอยของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ ฐานทรัพยากรอาหารถูกทำลาย การลดหายของความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

สำหรับ แม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านภาคอีสานและเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว ความยาวกว่า 765 กิโลเมตร ครอบคลุม 7 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งมีชุมชนตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำในทุกจังหวัด กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่นเดียวกัน ได้แก่ โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล กับโครงการเขื่อนศรีสองรัก บริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม  บนแม่น้ำโขงในเขตประเทศลาว ที่ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน เพียงแค่ 200 กิโลเมตร ตลอดจนการรื้อฟื้นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากชม อ.ปากชม จ.เลย ที่มุ่งผลิตไฟฟ้าและยกระดับน้ำโขงให้สูงขึ้น เพื่อสนับสนุนโครงการผันน้ำโขงเข้ามาในภาคอีสาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ตามลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ที่กำลังถูกผลักดันด้วยการบรรจุอยู่ในแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไทยอีกด้วย โครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารต่อชุมชนลุ่มน้ำโขงและลำน้ำสาขาอย่างรุนแรง

จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว พวกเรา เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชน ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์การพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ในช่วงระยะเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีข้อเสนอต่อ กลุ่มคน หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ แม่น้ำโขง ตลอดจนสังคมสาธารณะที่มีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาของแม่น้ำโขง ดังต่อไปนี้

ประการแรก พวกเราขอเสนอให้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แสดงบทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใจต่อการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงของชุมชนลุ่มน้ำโขงโดยตรงอย่างแท้จริง และควรยุติบทบาทในการเป็นฟันเฟืองในการอนุมัติโครงการขนาดใหม่ในแม่น้ำโขง แต่ควรหันมาแสดงท่าทีในการตรวจสอบ และวิพากษ์ความไม่โปร่งใสและขาดหลักธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขงที่ดำเนินการโดยประเทศสมาชิกและนักลงทุนต่าง ๆ

ประการที่สอง พวกเรามีข้อเสนอต่อ รัฐบาลไทยให้ทบทวนนโยบายและโครงการจัดการน้ำที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาในภาคอีสาน โดยเสนอให้หันมาทำการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างทางเลือกการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับภูมินิเวศลุ่มน้ำต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขง และที่สำคัญเราขอเสนอให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบทบาทความรับผิดชอบด้านการจัดการน้ำโดยตรง ทบทวนและตอบรับข้อเสนอของภาคประชาชน ที่เสนอให้สร้างการมีส่วนร่วมที่แท้จริงด้านการจัดการน้ำ

ประการที่สาม พวกเราขอเสนอให้ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในลุ่มน้ำโขงอีสาน มาร่วมกัน ตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์ โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ที่กำลังถูกนำกลับมาทบทวนอีกครั้ง  ภายใต้บริบทใหม่ที่รัฐไทยออกกฎหมายที่รวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำและเอื้อประโยชน์ต่อการจัดการน้ำเพื่ออุตสาหกรรม แต่กีดกันภาคประชาน เช่น พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

พวกเราเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ขอประกาศว่า พวกเราจะยืนหยัดภารกิจ การปกป้องแม่น้ำโขง ด้วยการติดตาม ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกันกับการเสนอทางเลือกในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนบนหลักธรรมาภิบาล

ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน
ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง อำเภอปากชม จังหวัดเลย
วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ