กลุ่มฮักแม่น้ำเลยแถลงการณ์ ชี้“คณะกรรมการ” ศึกษาปัญหา “เขื่อนศรีสองรัก” คือ ทางออกความขัดแย้ง

กลุ่มฮักแม่น้ำเลยแถลงการณ์ ชี้“คณะกรรมการ” ศึกษาปัญหา “เขื่อนศรีสองรัก” คือ ทางออกความขัดแย้ง

วันนี้ (14 ธันวาคม 63) กลุ่มฮักแม่น้ำเลยรวมตัวกันที่บริเวณพื้นที่ดำเนินโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก เพื่อทำกิจกรรมเชิงลัญลักษณ์ แสดงเจตนารมณ์และความห่วงกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ พร้อมทั้งแถลงการณ์ทวงถามถึงแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง กรณีโครงการก่อสร้างประตู้ระบายน้ำศรีสองรักษ์ เรียกร้องให้ กรมชลประทาน ดำเนินการติดตามและประสานงานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการเขื่อนศรีสองรัก ตามข้อตกลงที่มีร่วมกัน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

แถลงการณ์กลุ่มฮักแม่น้ำเลย
“คณะกรรมการ” ศึกษาปัญหา “เขื่อนศรีสองรัก” คือ ทางออกปัญหาความขัดแย้ง

สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้ง กรณีเขื่อนศรีสองรัก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่ผลักดันโดย กรมชลประทาน มาตั้งแต่ปี 2556 ได้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลามากกว่า 7 ปีแล้ว โดยกรมชลประทาน อ้างเหตุผลในการสร้างเขื่อนว่า เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม โครงการนี้มีมูลค่างบประมาณลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ทว่าขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงจากประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำเลยจำนวนกว่า 70 ชุมชน ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขื่อนศรีสองรัก

กลุ่มฮักแม่น้ำเลย ในฐานะชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนศรีสองรัก ที่ห่วงกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มีเหตุผลในการ  คัดค้าน! เขื่อนศรีสองรัก คือ ความกังวลใจต่อปัญหา “น้ำท่วม” ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งชุมชนลุ่มน้ำเลยจะตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงทันทีหากเขื่อนเริ่มกักเก็บน้ำ ที่ผ่านมาชุมชนลุ่มน้ำเลยเคยมีประสบการณ์เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่มาแล้วในอดีต เมื่อปี 2521 กับ ปี 2545 นอกจากนี้ การศึกษาการวางโครงการฯ มีความผิดพลาดของกรมชลประทาน ไม่สอดคล้องกับภูมินิเวศของพื้นที่ลุ่มน้ำเลย  และยังละเลยการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการฯ ที่มีมูลค่าโครงการมากถึง 5,000 ล้านบาท รวมทั้งการปิดบังอำพรางข้อมูล “โครงการเขื่อนศรีสองรัก” และ “โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล” ที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง  แต่กรมชลประทานมักอ้างเสมอว่า โครงการทั้ง 2 ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่สร้างความกระจ่างชัดด้านข้อมูลให้กับประชาชนในพื้นที่ จนเกิดความคลุมเครือ สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเหตุผลสำคัญในการคัดค้านโครงการฯ ของ กลุ่มฮักแม่น้ำเลย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 สถานการณ์การความขัดแย้งกรณีเขื่อนศรีสองรัก ได้นำไปสู่เวทีการพุดคุยเพื่อหาทางออกปัญหาร่วมกันระหว่าง กรมชลประทาน กับ กลุ่มฮักแม่แม่น้ำเลย มีส่วนราชการจังหวัดเลย เป็นพยาน ณ ศาลากลางจังหวัดเลย โดยมีข้อตกลงร่วมกันที่สำคัญประการหนึ่งคือ การตั้งคณะกรรมการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 58 ต่อโครงการเขื่อนศรีสองรัก โดยตัวแทนกรมชลประทาน ลงนามรับรองร่วมกับชาวบ้านว่า จะเป็นผู้ดำเนินการเสนอ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการเขื่อนศรีสองรัก ตามกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานกลับใช้กลวิธีในการเตะถ่วงปัญหา ไม่ปฏิบัติการข้อตกลง และข้อเสนอของชาวบ้านในการตั้งคณะกรรมการฯ อีกทั้งกลับไปบิดเบือนเจตนารมณ์การตั้งคณะกรรมการฯ โดยหันไปตั้งกรรมการในระดับจังหวัดแทน ซึ่งเคยแต่งตั้งมาก่อนและขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

พวกเรากลุ่มฮักแม่น้ำเลย จึงขอประณาม กรมชลประทาน ที่ผิดคำสัญญาในการลงนามตามบันทึกข้อตกลงในการตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการเขื่อนศรีสองรัก

พวกเรา ขอเรียกร้องให้ กรมชลประทาน ดำเนินการติดตาม และประสานงานไปยัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการแต่งตั้ง คณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการเขื่อนศรีสองรัก ตามข้อตกลงที่มีร่วมกัน

ด้วยความสมานฉันท์
กลุ่มฮักแม่น้ำเลย
วันที่ 14 ธันวาคม 2563

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ