ชีวิตนอกกรุง:ปีละ 20 ล้าน เมื่อวิสาหกิจ คิดแบบผู้ประกอบการ

ชีวิตนอกกรุง:ปีละ 20 ล้าน เมื่อวิสาหกิจ คิดแบบผู้ประกอบการ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวิสาหกิจชุมชนกว่า 3,300 แห่ง มีทั้งก่อตั้งมาหลายปี หรือแม้เพิ่งจะก่อตั้ง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ วิสาหกิจที่เกิดสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคน ให้กับสมาชิกในกลุ่มได้มากแค่ไหน ยกระดับรายได้ สร้างฐานเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้หรือไม่

ชวนดูชีวิตของผู้ประกอบการภาคชนบท ที่กำลังขยายตัว โดยใช้การรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อขับเคลื่อนตัวเอง กับคน 2 กลุ่ม 2 พื้นที่ ที่อ.แม่ใจ จ.พะเยา และอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

เอ็กซ์ ณัฐพล ขุ่ยคำ ผู้ประกอบการภาคชนบทมือใหม่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา

“คิดดูว่าทำไมคนทำธุรกิจเกษตรรวยเอา ๆ ใช่ไหม ทั้ง ๆ ที่เมืองเราเป็นเมืองเกษตรกร แล้วทำไมเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้เอาเรื่องของการทำธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง”

คำพูดจาก เอ็กซ์ ณัฐพล ขุ่ยคำ เกษตรกรมือใหม่ ที่กลับมาอยู่บ้าน เพราะต้องการอยู่กับครอบครัว ที่ บ้านเหล่า อ.แม่ใจ จ.พะเยา พูดให้เราฟัง ถึงสิ่งที่จุดประกายให้เขาเห็นว่า ถ้าทำเกษตรแบบเดิม ๆ อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูก ในการอยู่รอดในบริบทปัจจุบัน

“กลับมาครั้งแรก มาตัดแต่งกิ่งลำไย แต่ตัดไม่เป็นตัดมั่ว ก็เลยไม่ได้กินลำไย แล้วก็ลองเอาแก้วมังกรมาปลูก อยากปลูก แต่ก็ขาดการดูแล มันก็ตายไป แต่สุดท้ายก็มารู้ตอนที่เอาดินเรามาตรวจ ก็คือเราเป็นเกษตรกรที่ไม่รู้ว่าต้องตรวจดินก่อน พอเอาดินไปตรวจทำให้รู้ว่าดินเราเป็นดินที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชผักส่วนใหญ่ เพราะว่ามันเป็นดินที่มีความเป็นกรดสูง อินทรีย์วัตถุต่ำ ก็เลยต้องมาบำรุงดิน ทำปุ๋ยหมัก”

เอ็กซ์เล่าให้ฟังว่า ตอนกลับมาที่บ้านครั้งแรก ก็ตั้งใจเลยว่าจะกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ เพราะคิดว่าจะสามารถเลี้ยงดู อุ้มชูตนเองได้ แต่ก็พบว่าสิ่งที่คิดไม่ได้ง่ายเลย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่อย่างเขา ที่ทำงานอยู่ในเมืองใหญ่มาตลอดทั้งชีวิตและเป็นการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ บางคนไม่ได้กลับมาแต่ตัว บางรายยังมีหนี้สินติดตามมาด้วยจากการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ซึ่งนี่เป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายว่าจะอยู่รอดได้อย่างไร

“ในช่วงที่เรามาทำเกษตร แน่นอนว่ารายได้จะยังไม่เท่ากับที่เราทำงานในบริษัท แต่อยากลืมว่าหนี้สินเราก็ยังมีอยู่ แล้วก็ต้องกู้เงินจากที่อื่นมาชดเชยส่วนต่างที่ขาดไป รวม ๆ แล้ว มาอยู่บ้าน 6 ปี มีหนี้ 3-4 แสน”

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้รู้แล้วว่า ถ้าคิดแบบเดิม ก็คงอยู่ไม่รอด จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากเกษตรกรที่เน้นการผลิตให้ได้เพียงอย่างเดียว ส่วนราคาและตลาด จะถูกกำหนดโดยพ่อค้าคนกลาง  ให้กลายเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตร ที่ต้องมีการวางแผน คำนวนต้นทุน มองตลาด มองกลุ่มเป้าหมาย ให้ชัด ใส่แผนธุรกิจเข้าไปในทุกกระบวนการ เพื่อให้สามารถควบคุมได้ทั้งระบบ

“คิดดูว่าทำไมคนทำธุรกิจเกษตรรวยเอา ๆ ใช่ไหม ทั้ง ๆ ที่เมืองเราเป็นเมืองเกษตร แล้วทำไมเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้เอาเรื่องของการทำธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะอย่างนั้นเวลาคิดอะไร ต้องเอาแผนธุรกิจไปใส่ด้วย คนเรามีเป้าหมายก็จริง แต่ว่าถ้าท้องไม่อิ่มเป้าหมายก็เลือนลาง เราจะเปลี่ยนตรงนี้ เราก็ควรจะเอาเรื่องการตลาดเข้ามา ให้เขาทำแล้วจะมีรายได้จริง ๆ”

เมื่อได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการแล้ว ทำให้สามารถผลิตสินค้าและมีรายได้ที่ดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการรายย่อยยังไม่สามารถผ่านไปได้ คือเมื่อตนเองเป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีผลผลิตที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถส่งผลผลิตเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ขึ้น ที่มีความต้องการสินค้ามาขึ้น เช่นโรงพยาบาล หรือสถานศึกษา ที่มีความต้องการผัก เป็นจำนวนมาก และปริมาณที่แน่นอน ทำให้เอ็กซ์จึงเกิดความคิดในการรวมกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตผักอินทรีย์เหมือนกัน เป็นกลุ่มวิหสากิจ กลุ่มเกษตรกรผลิตพืชปลอดภัย  ต.บ้านเหล่า เพื่อให้สามารถผลิตผักอินทรีย์ส่งให้กับโรงพยาบาลได้เพียงพอ

“จริง ๆ แล้วศักยภาพของคนในชุมชนมันมีเยอะ แต่ขาดในเรื่องของ การจัดการ การบริหารการรวมกลุ่มกัน  ถ้าเราเอาระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ในเรื่องการวางแผน จะทำให้มีผักขายตลอด ปลูกตลอด พอเรารู้ปริมาณที่แน่นอน เราก็สามารถเอาปริมาณที่เรามีไปเสนอขาย ให้กับหน่วยงาน ร้านค้า ที่เขาสนใจอยากได้ผักแบบนี้ มันก็จะทำให้การทำเกษตรแบบนี้ สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้”

หลังจากร่วมกลุ่ม ทำให้สามารถผลิตผักได้มากขึ้น มีสินค้ามากขึ้น ก่อเกิดแนวคิดส่งผักให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ โดยอาศัยจุดขายจากการเป็นผักอินทรีย์ ซึ่งปลอดภัยกับผู้บริโภค 100% ทำให้เหมาะสำหรับโรงพยาบาล

ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มเกษตรกรผลิตผักปลอดภัย ต.บ้านเหล่า สามารถส่งผักอินทรีย์ขายให้โรงพยาบาล สร้างรายได้นับแสนต่อปี และกำลังขยายไปยังแหล่งรับซื้ออื่น ๆ ในชุมชน เช่นศูนย์เด็กเล็ก และสถานศึกษา โดยกลุ่มมุ่งเน้นในการขายในพื้นที่เป็นหลัก เพราะเมื่อตลาดภายในเข้มแข็ง จะทำให้สามารถอยู่ได้ แม้จะเกิดภาวะวิกฤติต่าง ๆ

จาก อ.แม่ใจ จ.พะเยา ข้ามดอยอินทนนท์มาที่นี่ หมู่บ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ความพิเศษของที่นี่คือ คนในชุมชนเกือบทั้งหมด 150 หลังคาเรือน พัฒนาตัวเองเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ใช้ศักยภาพของคนในชุมชน  ผลิตอาหาร เช่นข้าว หมู ไข่ ไก่แล้วก็ผัก จำหน่ายให้กับโรงเรียน 2 โรงเรียนในชุมชน มีผลประกอบการมากกว่าปีละ 20 ล้านบาท

 “เราอยากจะขยับตัวเราจากเกษตรกรที่ปลูกตามมีตามเกิด โดยไม่รู้เป้าหมายเลยว่าจะเอาไปขายที่ไหน เราก็อยากจะขยับตัวเป็นผู้ประกอบการที่มีการรวมกลุ่มกัน มีคนนั้นคนนี้ 4 คน 5 คน 10 คน หรือคนที่มีความคิดที่อยากจะขยับพื้นฐานของครอบครัวเราเพิ่มขึ้น มีความคิดที่ว่าเราจะไปหาตลาดที่ไหน ปลูกผักชนิดนี้เราจะมีป้อนให้ลูกค้าตลอด มีการวางแผนกัน คนนี้ปลูกช่วงนี้ คนอื่นก็ปลูกถัดมา มิสินค้าป้อนให้ การเก็บผลผลิตก็ต้องมีคุณภาพ”

ประวิทย์ โปธายะ หัวหน้ากลุ่มปลูกผัก วิสาหกิจเกษตรชุมชนธรรมชาติปลอดภัย

พี่ประวิทย์ โปธายะ หัวหน้ากลุ่มปลูกผักปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มวิสาหกิจเกษตรชุมชนธรรมชาติปลอดภัย แม่ปาน-สันเกี๋ยง เล่าให้เราฟังถึงที่ไปที่มาคร่าว ๆ ของการที่มารวมตัวกันของเกษตรกรปลูกผักของชุมชน จากที่เคยปลูกของใครของมัน ขายส่งให้ตลาดในตัวอำเภอ ผจญกับราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน แพงบ้าง ถูกบ้าง ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง มารวมตัวกันเป็นกลุ่ม พัฒนาผลผลิตให้เป็นพืชผักอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี และมองหาตลาดใหม่ ๆ ตลาดขนาดใหญ่ที่อยู่ในชุมชนอย่างโรงเรียน และโรงพยาบาล    

“ปกติโรงเรียนก็เขาซื้อผักอยู่แล้ว เพราะนักเรียนเขามีเป็นพัน ๆ คน เขาก็ต้องกินผัก กินหมู กินต่าง ๆ นา ๆ เป็นของบริโภคประจำวัน เขาก็ซื้อผักกับพ่อค้าคนกลาง หรือว่าพ่อค้าทั่วไป ที่มีทุน มารอเงินจากโรงเรียนได้  เราก็เข้าไปหา ผอ.ว่าให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไปส่งอาหารให้ทางโรงเรียนได้ไหม เพราะว่าอย่างหนึ่งก็เป็นการช่วยเหลือชุมชน ให้ชุมชนได้มีอาชีพ ปลูกผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงสัตว์ อีกอย่างก็เป็นการสร้างงานให้กับคนในชุมชน  หลังจากนั้นเราก็ได้รับอนุมัติจากทาง ผอ.ว่า ให้ซื้อผัก จากทางวิสาหกิจชุมชนของเรา แต่เขาก็ให้กลุ่มปฏิบัติถูกต้อง ให้หาสินค้าที่มีคุณภาพปลอดภัย ให้กับลูก ๆ นักเรียน ได้กิน เราก็เลยได้ทำสัญญา MOU กัน เราก็ทำกันมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว”

พ่อหลวงวิโรจน์ หมอกใหม่ ประธานกลุ่ม วิสาหกิจเกษตกรชุมชนธรรมชาติปลอดภัย

พ่อหลวงวิโรจน์ หมอกใหม่ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มเล่าให้ฟังถึงเรื่องการเข้าไป ทำสัญญากับโรงเรียนในพื้นที่ ของกลุ่มวิสาหกิจ ด้วยการมองว่าถ้าโรงเรียน สามารถรับซื้อผัก และผลผลิตอย่างอื่น กับทางชุมชนได้ จะเป็นผลดีทั้งต่อโรงเรียน ที่ได้ผักปลอดภัยให้นักเรียนได้ทาน เป็นผลดีกับคนในชุมชนที่มีแหล่งรับซื้อขนาดใหญ่ และมีความต้องการสูงเป็นประจำ

แต่การสิ่งสำคัญก็คือการจัดการ บริหารในกลุ่ม ให้สามารถส่งผัก และวัตถุดิบอื่น ๆ ให้กับโรงเรียนได้ โดยเครือข่ายจะเข้ามามีส่วนสำคัญในเรื่องนี้ เพราะลำพังผลผลิตเกษตรปลอดภัยในหมู่บ้าน บางครั้งจะไม่มีพอเพียงกับการส่งให้กับโรงเรียน จึงจำเป็นต้องไปซื้อยังแหล่งอื่น ๆ ที่มีมาตรฐาน และความปลอดภัยเหมือนกัน

“หลาย ๆ ที่ ที่ยังทำไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่มีสามารถหาผัก หาผลผลิตอย่างอื่นมาส่งให้กับโรงเรียนได้เพียงพอ เพราะโรงเรียนไม่ได้ต้องการแค่ผัก ต้องการข้าว หมู ไข่ไก่ และพวกเครื่องปรุงต่าง ๆ ถ้าเราหาไปส่งโรงเรียนไม่ได้ เขาก็ไม่เอา”

พ่อหลวงวิโรจน์ เล่าให้ฟังถึงความท้าทายที่ทางกลุ่มต้องจัดการ ถ้าต้องการส่งสินค้าให้กับโรงเรียน โดยในปัจจุบัน ทางกลุ่มนอกจากผัก ที่ผลิตได้แล้ว ยังสามารถผลิตไข่ไก่ เนื้อหมู น้ำพริกสำหรับใส่แกง เพื่อส่งให้กับทางโรงเรียนอีกทาง และวัตถุดิบที่เหลือ ที่ไม่มีก็ต้องไปจัดการหาซื้อมาให้พอเพียงกับความต้องการของโรงเรียน

สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากสร้างรายได้ให้กับทางวิสาหกิจชุมชนกว่าปีละ 20 ล้านบาทแล้ว ยังสร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ในหมู่บ้านอีกด้วย เช่นกลุ่มชำแหละหมู กลุ่มผลิตไข่ไก่อินทรีย์ กลุ่มทำน้ำพริก คนขับรถซื้อสินค้า และค่าจ้างพนักงานบัญชี รวมต่อเดือน ทางกลุ่มสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชนกว่า 170,000 บาท

จากการเดินทางครั้งนี้ ทำให้เห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้านะครับว่า เดี๋ยวนี้ เกษตรกรเราจะคิดแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว การเป็นแค่คนผลิต เป็นแรงงาน หรือเป็นเกษตรกรอย่างเดียวคงจะลำบาก ต้องปรับตัว ปรับแนวคิด เรียนรู้เรื่องการเป็นผู้ประกอบการ สร้างเครือข่ายให้เกิด “สังคม” ของผู้ประกอบการในชนบท ซึ่งจะทำให้เราอยู่รอดได้ ในยุคปัจจุบัน

และคำว่าสังคมผู้ประกอบการ ตอนนี้ไม่ใช่คำที่ไกลตัวคนชนบทอย่างเราแล้วนะครับ หากเราทำให้คนในชนบท สามารถปรับตัวและสร้างตนเองเป็นผู้ประกอบการ ปรับฐานทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เข้าสู่วิธีคิดแบบยุคสมัยใหม่ และเริ่มรวมตัวกันกลายเป็นสังคมผู้ประกอบการ ก็จะช่วยแก้ปัญหาปากท้องให้กับคนในชนบทและประเทศไทยโดยรวม โดยเริ่มที่การเสริมความเข้มแข็งขึ้นจากจุดเล็ก ๆ ในท้องถิ่นของตน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ