ก่อนถึง ‘สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง’ ฟังเสียงความห่วงใยในสายน้ำ

ก่อนถึง ‘สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง’ ฟังเสียงความห่วงใยในสายน้ำ

ความสำคัญของแม่น้ำโขง ไม่ได้มีต่อเฉพาะภูมิภาคนี้ แต่ยังสำคัญในฐานะแม่น้ำนานาชาติที่สำคัญระดับโลก จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีความห่วงใยจากประชาชนริมโขงและอีกหลายพื้นที่ แต่ว่าความห่วงใยนี้จะถูกส่งต่อและทำงานคู่ขนานกับภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบายได้อย่างไร เพื่อให้อนาคตของแม่น้ำโขงไม่บอบซ้ำไปมากกว่าที่เป็น

ในช่วงการสนทนาในรายการ นักข่าวพลเมือง C-Site ประจำวัน 30 พฤศจิกายน 2563 ทางช่องไทยพีบีเอส นำเสนอเนื้อหาตอน ฟังเสียง(สภา)ประชาชนลุ่มน้ำโขง “ฟักแฟง” วิภาพร วัฒนวิทย์ ผู้ดำเนินรายการได้ร่วมพูดคุยกับ คุณนิวัฒน์ ร้อยแก้ว เครือข่ายฮักเชียงของ และ คุณธีรพงศ์ โพธิ์มั่น สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

ถ้าพูดถึงแม่น้ำโขงเรารายงานเรื่องผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง และหลายปีมาก สู้กันมาเยอะ ครูตี๋มองว่า มันยังขาดกลไก หรืออุปสรรคอะไรที่ทำให้เสียงของประชาชนมันไปไม่ถึงระดับนโยบาย

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว : คือที่ผ่านมา เรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำโขง เรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโขงและผลกระทบที่มันเกิดขึ้นเราคิดว่าทุกคนได้รับรู้รับทราบแล้วในคนลุ่มน้ำโขง และภาครัฐด้วย แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น และเสียงประชาชนที่ออกไปมันยังไม่ได้รับการฟังจากภาครัฐที่เข้ามามีนโยบายในการจัดการลุ่มน้ำโขง ซึ่งมันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ของภาคประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแม่น้ำโขงมันยังไม่มี

“ที่ผ่านมา องค์กรหรือว่าการจัดการแม่น้ำโขงมันถูกจัดการโดยภาครัฐกับทุนมาตลอด ซึ่งมันขาดอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในการจัดการลุ่มน้ำโขง หรือการพัฒนาลุ่มน้ำโขง นั่นก็คือ ภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคมอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ”

เพราะฉะนั้น การที่ภาคประชาชนพูดคุยถึงเรื่องการจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงเกิดขึ้นก็เพื่อเป็นคำตอบในเรื่องของการสร้างพื้นที่ให้ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงอย่างเป็นธรรมและสมบูรณ์ อันนี้คือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น 

คำว่าสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ถ้าขยับนิยามให้มันใกล้กว่านี้อีก ครูตี๋มองว่ามันเป็นพื้นที่ที่ทุกคนจะมาร่วมกันหรือเปล่า หรือว่าเป็นพื้นที่ใหญ่อย่างไร และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงอย่างไรบ้าง?

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว : การเกี่ยวพันของคนในลุ่มน้ำโขงที่ผ่านมา ก็มีเครือข่ายอยู่ ยกตัวอย่างเช่น เครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงที่เราเกาะเกี่ยวกันมานาน แต่เครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ส่วนมากเราจะพูดถึงเรื่องผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สาธารณะรับรู้ แต่ว่าประเด็นที่จะทำให้เกิดเป็นนโยบายร่วมเพื่อเข้าไปผลักดันการพัฒนาลุ่มน้ำโขงมันยังไปไม่ถึง เพราะฉะนั้นในภาคประชาชนของเราเลยมีความคิดร่วมกันในการจัดตั้ง “สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ประเทศไทย” เกิดขึ้น ซึ่งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงจะมีโครงสร้างที่มีหลากหลายมิติมากกว่าเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดแค่นั้น 

ยกตัวอย่างเช่น ในองค์ประกอบของสภาประชาชน ก็จะมีภาคประชาชนในลุ่มน้ำโขงประเทศไทยเป็นหลัก เป็นคณะกรรมการ และองค์ประกอบที่สำคัญก็คือนักวิชาการ นักวิชาการที่ทำงานในลุ่มน้ำโขงมาอย่างยาวนานมีมากมายหลายท่าน ซึ่งเป็นผู้มีองค์ความรู้มากมายแต่ว่าความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้นมันก็ไม่ได้สามารถเกาะเกี่ยว หรือสร้างพลังในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนได้ การที่มีสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง และเราก็ได้เชิญนักวิชาการเหล่านี้ทุก ๆ ท่านเข้ามาร่วมกันเพื่อเป็นที่ปรึกษาและขับเคลื่อนในงานด้านวิชาการเพื่อนำไปแปรเป็นนโยบายในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน นี่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ยกระดับขึ้น และอีกส่วนหนึ่งก็คือ ฝ่ายกองเลขาของเราก็เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำงานลุ่มน้ำโขงมายาวนาน และรับรู้ปัญหาของแม่น้ำโขง และมองเห็นข้อด้อยและกลไกต่าง ๆ ที่ทำให้การพัฒนาลุ่มน้ำโขงมันไปไม่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น สภาประชาชนลุ่มน้ำโขงประเทศไทย ก็จะเป็นพื้นที่สำคัญ สำหรับทุก ๆ ฝ่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง

ในฐานะที่ทำงานติดตามสถานการณ์และร่วมปกป้องระบบนิเวศของแม่น้ำโขง พี่เอเอง ทำงานเรื่องการเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร มองกลไกที่จะสนับสนุนให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงนั้น ได้มองกลไกนี้อย่างไร แล้วพี่เอ มีข้อเสนอต่อการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงอย่างไรบ้าง

ธีรพงศ์ โพธิ์มั่น : อย่างที่ครูตี๋พูดไปนโยบายเกี่ยวกับแม่น้ำโขงมันถูกกำหนดโดยหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐของประเทศต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลของประเทศที่ไม่ได้อยู่ประเทศน้ำโขง (รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว) และก็องค์กรระหว่างประเทศความร่วมมือต่าง ๆ ทั้ง คณะกรรมาธิการแม่น้ําโขง (MRC) ทั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (LMC) มีการวางแผนวางนโยบายไว้หมดแล้ว อาจจะทั้งระยะสั้น ระยะยาว 10 ปี 20 ปี แต่ว่าแผนงานยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้รวมเอายุทธศาสตร์แผนงานหรือว่าเสียงของภาคประชาชนเข้าไปเลย เพราะฉะนั้นการรวมกันของภาคประชาสังคม จึงมีความสำคัญ ซึ่งต้องมีหลายบางส่วนและก็รวมไปถึงไม่ใช่แค่ประเทศไทย ประเทศลุ่มน้ำโขงด้วย เพราะว่าปัญหาแม่น้ำโขงมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนค่อนข้างมาก การจะกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ต่าง ๆ โดยภาคใดภาคหนึ่งก็เป็นไปได้ยาก หรือว่าไม่สามารถนำพาให้มันเกิดประสิทธิภาพการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ทีนี้ตัวสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงเอง ตามที่ครูตี๋เสนอไปแล้ว ก็คิดว่าคงต้องวางยุทธศาสตร์ หรือว่าแนวทางการทำงานที่จะใช้ดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะเข้ามาร่วมกัน หลายด้าน เช่นด้านแรกที่สำคัญ คือเรื่องของการอนุรักษ์การปกป้องแม่น้ำโขงจากการพัฒนาต่าง ๆ ที่ถูกทำลายอยู่ทุกวันนี้

นอกจากนี้เรื่องยุทธศาสตร์การฟื้นฟู สิ่งที่มันสูญเสียไปแล้วก็สำคัญเพราะมันถูกทำลายไปเยอะแล้ว ตัวยุทธศาสตร์ด้านปากท้องที่ตอนนี้ชาวบ้านต้องกิน ต้องอยู่ทุกวันนี้มันไม่ได้กิน ไม่ได้อยู่มาหลายปีแล้วจะทำอย่างไร หรือยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาความรู้ ทั้งความรู้จากนักวิชาการ ความรู้ท้องถิ่น อันนี้เป็นส่วนสำคัญ ยุทธศาสตร์เรื่องความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ กับจังหวัดต่าง ๆ เครือข่ายต่าง ๆ กลุ่มภาคส่วนต่าง ๆ และก็ระหว่างประเทศ อันนี้ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ภาคประชาสังคมจะต้องร่วมกันคิดเสนอออกมาให้เป็นรูปธรรม และสร้างเป็นเครือข่ายที่เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างที่ชัดเจนมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วม ทั้งส่วนของภาคประชาสังคม ส่วนของฝ่ายสนับสนุน ส่วนฝ่ายประสานงานกองเลขา ส่วนที่ปรึกษาต่าง ๆ เหล่านี้

ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนอยากให้พี่เอขยี้ขยายเพราะว่าทำงานใกล้กับประเด็นนี้ สิทธิชุมชนมันจะมีความสำคัญอย่างไร ต่อความเปลี่ยนแปลงให้ทางที่ดีขึ้นที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงหลังจากนี้

ธีรพงศ์ โพธิ์มั่น : สิทธิชุมชนเป็นสิ่งสำคัญมาก ปัญหาที่มันเกิดขึ้นทุกวันนี้ เพราะว่าไม่ได้เคารพสิทธิของชุมชน อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้น ไม่เคยฟังเสียง ไม่เคยถามประชาชนเลย ไม่เคยแม้กระทั่งลงไปถามว่าจะทำอย่างนี้แล้วจะดีไหม หรือแม้กระทั่งว่ามันเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ชาวบ้านตอนนี้เป็นอย่างไรจะให้แก้ไขหรือจะให้ช่วยอย่างไร เพราะฉะนั้น องค์กรเราจึงได้ทำงานเสริมสร้างสิทธิของชุมชนหลายด้าน อย่างเช่น เรื่องของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนี่เป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่ว่าปัญหาเรื่องน้ำโขงมันค่อยข้างใหญ่ซับซ้อนชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลเอง บางทีก็เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ยาก หรือว่าการทำวิจัยไทบ้าน การสื่อสารจากท้องถิ่นขึ้นมาให้ผู้มีอำนาจหรือผู้ที่ตัดสินใจต่าง ๆ ได้เห็นได้เข้าใจ บางทีคนที่ตัดสินใจก็ไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารว่าชุมชนต้องการอะไร

การผลิตสื่อ การพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้สามารถที่จะมีเสียงหรือว่าการแปลความหมายสื่อสารระหว่างชาวบ้านให้เป็นภาษาวิชาการ ภาษาสื่อ ภาษาอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่เราพยายามทำกับชุมชนท้องถิ่นมาโดยตลอด รวมถึงที่จะทำข้ามพรมแดนไปกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

สิ่งที่เรากำลังคุยกันอยู่ตอนนี้ เป็นประเด็นและวาระสำคัญ ที่วันพรุ่งนี้วันที่ 1  และวันถัดไป 2 ธ.ค.63จะมีการพูดคุยประเด็นวาระที่เกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำโขงที่อ.เชียงของ จ.เชียงราย ครูตี๋คะ ภาพหลักๆ ภาพใหญ่ภาพสำคัญที่จะเกิดขึ้น พรุ่งนี้เราจะได้เห็นอะไรคะ

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว : เราจะได้เห็นการประชุมเพื่อจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เราเริ่มจากในประเทศไทยก่อนสำหรับตัวของสภา และจะก้าวไปร่วมกับเพื่อนบ้าน คือเวียดนาม เราก็มีการพูดคุยกันบ้างแล้วในเรื่องของสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ภาพที่สองที่เราจะเห็นก็คือ เราจะเห็นภาพของผู้ที่มีส่วนในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงในปัจจุบันหลายๆ ประเทศที่เราเชิญมางาน บางประเทศอาจจะมา บางประเทศอาจจะไม่มา แต่ว่ามันจะมีส่วนสำคัญในการชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่างๆ ที่เข้ามาร่วมวงไพบูรณ์ในแม่น้ำโขงมีความคิดอย่างไร ในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน อันนี้คือสิ่งสำคัญที่เราจะได้เห็น เราจะได้รับรู้ว่าอนาคตของแม่น้ำโขงมันจะเป็นอย่างไร

ปิดท้ายที่อยากจะถามครูตี๋ เพื่อจะสื่อสารกับคุณผู้ชมทางบ้านเพราะในโปสเตอร์งานที่จะเกิดขึ้นวันพรุ่งนี้ และมะรืน มันมีคำนึงที่เขียนเอาไว้ว่า “เราดื่มสายน้ำเดียวกัน” คำนี้มันอธิบายอะไรแล้วมันกำลังบอกอะไรกับสังคม

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว : คำว่า “เราดื่มน้ำสายเดียวกัน” มันเป็นความหมายที่ชี้ให้เห็น เพราะเราใช้วาทกรรมนี้มาตลอดในลุ่มน้ำโขงว่าเราดื่มน้ำสายเดียวกัน ซึ่งคำว่าดื่มน้ำสายเดียวกัน มันจะชี้ให้เห็นว่า คนในลุ่มน้ำโขงเรามีชีวิตร่วมกันมีแม่เดียวกัน นั่นคือแม่น้ำโขงและแม่น้ำโขงก็คือ สายน้ำแห่งชีวิตของพวกเรา ดังนั้น ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณจะเป็นจีน คุณจะเป็นพม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนามหรือประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาในแม่น้ำโขง ก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาดูแลรักษาและปกป้องแม่น้ำโขงร่วมกัน ซึ่งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงเราก็เป็นสภาที่จะเปิดให้กับทุกภาคส่วน เราไม่ปฏิเสธ จีนไม่ปฏิเสธอเมริกาไม่ปฏิเสธทุกประเทศที่มีความคิดในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนร่วมกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า คำว่าดื่มน้ำสายเดียวกัน เป็นวลีที่สำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่าแม่น้ำโขง คือแม่ของเราทุก ๆ คน

“ฟักแฟง” วิภาพร วัฒนวิทย์: วันนี้เราปิดรายการด้วยคำพูดของครูตี๋ ดื่มแม่น้ำสายเดียวกัน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรารู้ว่าเราทุกคนเชื่อมโยงกันกับแม่น้ำโขง และไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบที่มีต่อแม่น้ำโขง แม่น้ำนานาชาติสายนี้ได้ ระหว่างวันที่ 1-2 ธ.ค. 2563 จะมีการจัดงานประชุมหารือเกี่ยวกับประเด็นวาระของแม่น้ำโขง คุณผู้ชมสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านเพจนักข่าวพลเมือง เพจองศาเหนือและเพจอยู่ดีมีแฮง.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ