ชีวิตนอกกรุง: ชีวิตใหม่ แนวคิดใหม่ ของผู้ประกอบการชนบท

ชีวิตนอกกรุง: ชีวิตใหม่ แนวคิดใหม่ ของผู้ประกอบการชนบท

“ผมมองว่าชีวิตเกษตรกร เป็นชีวิตที่เหนื่อย และไม่คุ้มเลย เพราะตั้งแต่เพาะกล้าจนถึงเก็บเกี่ยว เขาเป็นคนดูแลทุกขั้นตอน แต่ทำไมตอนเวลาขายถึงต้องให้คนอื่นมากำหนดราคาขาย ไม่ได้เป็นคนกำหนดราคา  ผมเลยบอกพ่อว่าผมจะไม่เป็นเกษตรกร แต่ผมอยากจะเป็นนักธุรกิจการเกษตร เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร”

คำพูดจากสอน เกรียงไกร ใจยสุข อดีตครูโรงเรียนเอกชน วัย 32 ปี ที่ลาออกมาอยู่บ้าน เนื่องจากต้องการกลับมาดูแลแม่ที่ป่วย ยัง อ.แม่ใจ จ.พะเยา พูดกับเรา

ถึงแม้ว่าตอนนี้สอน เพิ่งจะเริ่มเป็น “ผู้ประกอบการภาคชนบท” มาได้ไม่ถึงปี แต่ความน่าสนใจ และการเอาตัวรอดที่ต้องเผชิญ กับความท้าทาย ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ไม่น้อยเลย นี่เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งที่ถอดมาจากเสี้ยวหนึ่งของชีวิตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในชนบท

สอน เกรียงไกร ใจยสุข ผู้ประกอบการปรุงดิน อ.แม่ใจ จ.พะเยา

เริ่มต้นชีวิตใหม่จากวิกฤติ

เรามาเจอสอนที่สวนลำไย ชายเขา ที่ ต.บ้านเหล่า อ.แม่ใจ จ.พะเยา เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว ที่สอน ลาออกจากการเป็นครู มาเป็นผู้ประกอบการภาคชนบท ซึ่งตอนนี้สอนกำลังง่วนกับกองดินที่กำลังหมักเตรียมไว้

“ช่วงแรกที่ผมกลับมา ช่วงนั้นผมยอมรับว่ามันเวิ่นเว้อ  เราออกมาเพราตอนนั้นมีวิกฤติ ผมใช้คำว่าวิกฤติไม่ใช่โอกาสเลย มันต้องมาแล้วเพราะแม่ไม่สบาย แต่ถ้าจะให้ผมทำสวนปลูกผักขายผมก็ไม่รู้ว่าจะขายให้ใคร ให้ผมส่งไปขายที่เชียงใหม่ผมต้องมีรถห้องเย็น ถ้าจะขายตลาดจะสู้เขาไม่ไหวแล้ว แต่ดินเรายังเคยสัมผัสมาแล้ว ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นดิน

ตอนที่ผมเป็นครูผมชอบปลูกต้นไม้ ตกเย็นมาผมก็ไปตลาดต้นไม้ ผมก็ไปซื้อดินมาแล้วก็ไปหาต้นไม้แปลก ๆ มาปลูกในบ้าน

พอผมซื้อมาปลูก ผมเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับต้นไม้ผม เรื่องดิน เรื่องต่าง ๆ ก็เลยปรึกษาเพื่อนที่อยู่เชียงใหม่ เพื่อนก็เลยคุยกันว่า ถ้าดินที่เราซื้อมามันไม่ดี เรามาทำกันเองไหม ดังนั้นเมื่อผมกลับมาอยู่บ้าน มันเหมือนว่าผมมีองค์ความรู้เรื่องนี้มาพอสมควร ผมก็เลยต้องมาทดลองทำ”

ดินสูตรของสอน ที่ปรุง และหมักมาแล้ว 5 เดือน พร้อมจำหน่าย

จากครู เป็นเกษตรกรปรุงดิน เป็นความต่างที่ห่างกันพอสมควร ของอาชีพ จากจับปากกา อยู่ในเมืองใหญ่ เปลี่ยนมาจับจอบ เสียม อยู่กลางสวน สอนเล่าให้ฟังถึงแนวคิดเรื่องการที่ต้องปรับตัวเอง จากเกษตรกรมือใหม่ เป็นผู้ประกอบการเกษตร ภาคชนบท

วางแผน ปรับชีวิต คิดแบบผู้ประกอบการ

ระหว่างการทำงาน ในสวน สอนก็ได้เล่าให้ฟังถึงแนวคิด ที่เขามองว่า จะต้องเปลี่ยนตัวเอง จากเกษตรกร เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร ถึงจะอยู่รอดในปัจจุบัน

“เกษตรกรเขาคิดว่าเขามีหน้าที่แค่ปลูก อย่างผมเคยถามเกษตรกรปลูกฟักทอง ว่าฟักทองปีนี้กิโลละเท่าไร

เขาตอบผมว่าไม่รู้ เดี๋ยวต้องรอตอนขายก่อน แค่นี้ผมก็คิดว่าเป็นความคิดที่ผิดแล้ว เพราะว่าในเมื่อเราปลูกเราต้องรู้ ว่าเราจะต้องขายราคาเท่าไร เราถึงจะได้คำนวนต้นทุนเราถูก เกษตรกรรุ่นเก่า กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือเกษตรกรที่หันจะไปเป็นผู้ประกอบการ แนวความคิดมันต่างกันตรงนี้แหละครับ

เคยได้ยินไหมครับที่เขาบอกว่าขายดีจนเจ๊ง … เกษตรกรทั่วไปขายดีจนเจ๊ง ข้าวแต่ละปีขายหมด มีเท่าไรขายหมด แต่ขายแล้วได้กำไรไหม ก็ไม่ได้ นี่คือการขายดีจนเจ๊ง แล้วทำไมถึงเจ๊ง เพราะ.. ไม่มีการคำนวน วางแผน ไม่มีการคิดที่เป็นระบบเท่าที่ควร

ถ้าเราอยากอยู่รอด เราต้องเป็นผู้ประกอบการที่รอบรู้ ในด้านตลาด ทรัพยากร ด้านแรงงาน เราต้องมีการจดบันทึก คำนวนข้อดี ข้อเสีย ส่วนต่าง ต้องคิดให้เป็นระบบ”

สอนบอกว่าสิ่งแรกที่ควรทำ และ สิ่งสำคัญที่สุดของการปรับตัวเป็นผู้ประกอบการ ก็คือการเปลี่ยน Mind set ของตัวเองครับ เพราะเมื่อเราเปลี่ยน Mind set ได้ วิธีคิดก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เมื่อเราคิดแบบผู้ประกอบการ

ประกอบการ 101 : เอาความรู้นำทุน

สิ่งแรก ๆ ที่เราควรลงทุนกับก็คือความรู้ เพราะใช้การลงทุนน้อยที่สุด ถ้าเทียบกับอย่างอื่น โดยเฉพาะผู้ประกอบการมือใหม่ ต้องลงทุนกับความรู้ให้มาก เพราะอย่าลืมว่าในช่วงแรกของการทำงาน เราจะยังไม่มีรายได้เข้ามาเลย

“ตอนแรกผมเอาดินมาลงแค่ 1 ดัมพ์ พอดินมาลงก็เอามาทดลองดู พอใช้ไม่ได้ ก็เปลี่ยนดิน จากดินจอมปลวกเป็นดินตัวนี้ หลังจากนั้นก็เอามารวมกัน จนตอนนี้ผมสามารถสั่งดินมาลงทีละ 30 – 10 ดัมพ์ ต้นทุนการทดลองตอนแรกไม่สูง ผมอยากจะให้คนที่เพิ่งเริ่มอะไร ไม่อยากให้ใช้ทุนนำ อยากให้ใช้องค์ความรู้ สังเกตุ ใช้ความรู้เรา ใช้การสอบถาม ตัวนี้จะช่วยเราประหยัดต้นทุน เพราะแรก ๆ เรายังไม่มีรายได้ ดังนั้นการประหยัดต้นทุน เป็นเรื่องที่สมควรทำ สูตรนี้ ที่นิ่ง ๆ มา ใช้เวลาอยู่ประมาณ เกือบ ๆ ครึ่งปีในการทดลอง เพราะพืชมันมีอายุ ไม่ใช่เราลองปลูกแล้วเราจะรู้ผลทันทีเลย”

คุมต้นทุนให้อยู่หมัด

ต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญ ของการผลิต ถ้าต้นทุนยิ่งต่ำ จะทำให้ผลกำไรเพิ่มขึ้น และการเป็นผู้ประกอบการภาคชนบท บางครั้งอาจเป็นโอกาส ถ้าเราสามารถหาต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ หรือ สามารถผลิตขึ้นมาเองได้ สอนเล่าให้ฟังว่าตอนนี้ เขาได้ประโยชน์จากการที่มาอยู่บ้านนอกแบบนี้ ไม่น้อยเลย

“วันนี้การประหยัดต้นทุนของผม ก็คือใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นหรือชุมชน อย่างกาบมะพร้ามถ้าเราซื้อที่อื่นก็ถุงละ 100 บาท แต่ตอนนี้ผมจะไปหากาบมะพร้าวที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรม ใน อ.แม่ใจ ได้ข่าวว่าเขาขายกิโลละ 10 บาท แต่เราต้องเอามาสับเอง อันนี้น่าจะลดต้นทุนได้ บางสิ่งบางอย่างเราต้องดูว่าในชุมชนเราในสวนมีอะไรบ้าง ทรัพยากรบางอย่าง ถ้าเราสามารถผลิตขึ้นมาเอง ก็ลดต้นทุนได้สูงเลย”

นอกจากวัตถุดิบแล้ว ต้นทุนที่จำเป็นต้องบริหารก็คือเรื่องของแรงงาน

“ แรงงานเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องบริหารจัดการ เพราะว่ามันคือต้นทุนทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นการจัดการเรื่องทรัพยากรคนเป็นสิ่งที่จำเป็น  วันหนึ่ง ๆ เราจะได้ดินประมาณ วันละ 600 กระสอบครับ ดินหนึ่งกระสอบต้องมีค่าแรงงานอยู่ในนั้นไม่เกิน 3 บาท ถ้าสูงกว่า 3 บาท แปลว่าต้องมีอะไรผิดพลาดแล้ว อย่างแรงงานมาวันนี้ต้องคำนวนเลยว่ามากี่คน เป้าหมายคือดินต้องได้กี่กระสอบ” 

“เพราะว่ามันจะคำนวนต้นทุนได้ง่ายด้วย อย่างทุกวันนี้ผมต้องจดบันทึก ผมมีโปรแกรมบันทึกแปลง ว่าเข้าสวนแต่ละวันทำอะไรบ้าง ได้ดินกี่กระสอบ แรงงานกี่คน มันจะเป็นการคำนวนได้เลย”

ของดีแต่ขายไม่ได้ ก็คือไม่ดี

สอนบอกว่า ถึงแม้จำทำสินค้าที่ดีออกมาได้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเราสำเร็จคือการขาย เพราะอย่าลืมว่ารายได้ เป็นเป้าหมายสำคัญของการทำงาน และการมีการวางแผนการตลาดที่ดี จะมีส่วนช่วยได้มาก

“ผู้ประกอบการยุคใหม่ การตลาดเราต้องแน่น มองให้ออกว่าลูกค้าของเราคือใคร แล้วใครคือลูกค้าของเรา เราต้องไปเจาะกลุ่มนั้นก่อน แล้วถ้าเราเจาะได้แล้วเราก็ต้องมองว่าเกิดวันหนึ่งเขาอิ่มตัว แล้วเราจะไปต่อยอดยังกลุ่มอื่น ๆ ได้อย่างไร

มันก็อยู่ที่ตลาดว่าเราจะขายตลาดไหน เพรามุมมองของคนซื้อแต่ละตลาดก็ต่างกัน

ถ้าเราอยากอยู่รอด เราต้องเป็นผู้ประกอบการที่รอบรู้ ในด้านตลาด ทรัพยากร ด้านแรงงาน เราต้องมีการจดบันทึก คำนวนข้อดี ข้อเสีย ส่วนต่าง ต้องคิดให้เป็นระบบ”

และนอกจากมีการตลาดที่ดีแล้ว การกระจายความเสี่ยงก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการที่ดี ไม่ควรมีสินค้าอยู่ชิ้นเดียว ควรมีสินค้าหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ตลาด เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาสินค้าใดสินค้าหนึ่ง เพราะว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ หรือเกิดวิกฤติที่ทำให้สินค้านั้นขายไม่ได้ เราเองก็จะไปไม่รอดด้วย

โดยตอนนี้ สอนมีผลิตภัณฑ์ดินและปุ๋ย รวมกันมากกว่า 5 แบบ และขายอยู่ในริมทาง จนถึงในห้างสรรพสินค้า

ยิ่งเล็ก ยิ่งใหม่ เครื่อข่ายยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ 

สอนมองว่าการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากจำให้เรารู้จักกับคนแนวเดียวกัน  สามารถพูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาดินอินทรีย์ และพืชผล ทางการผลิตที่เกี่ยวข้องกับอินทรีย์ อีกเหตุผลสำคัญของการรวมเครือข่ายคือการได้รับการช่วยเหลือ จากทางหน่วยงานต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

 “เครือข่ายมันจำเป็นกับการเป็นผู้ประกอบการ เพราะว่าเรารวมกลุ่มกันทุกวันนี้ ถ้าผมทำดินแล้วผมมีการสั่งซื้อเข้ามา มีกำลังสั่งซื้อเยอะขึ้น แล้ววัตถุดิบผมไม่พอ ผมจะไปหาได้ที่ไหน เพราะว่าเราทำดินอินทรีย์วัตถุดิบก็ต้องเป็นอินทรีย์ด้วย

ถ้าเราอยู่คนเดียว เราหมดสิทธิ์เลย เพราะเราเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่ได้มีพื้นที่ ที่กว้างขวางเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร เราเป็นแค่ผู้ประกอบการรายย่อย การที่เราตัวคนเดียวจะไปต่อรองเป็นผู้ประกอบการ จะสามารถส่งสินค้าให้เขา ให้ได้ตามต้องการมันทำได้ยากครับ

ตอนนี้เป็นโชคดีของผู้ประกอบการรายใหม่ การหาเครือข่ายในตลาดง่ายมาก คือว่าทุกจังหวัดเขาจะมีสื่อกลางทั้งเกษตรอำเภอ พัฒนาชุมชน แล้วก็ 3 – 4 หน่วยงานนี่จะคุยกันตลอด ที่จะเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ในด้านการเกษตร แล้วเขาจะติดเครื่องมือให้เรา ด้วยการจัดอบรม จัดกิจกรรม ถ้าคนมีความสนใจอยู่แล้ว ถ้าเห็นกิจกรรมแบบนี้ เขาก็จะสมัครเข้าไปมันก็จะเกิดการรวมกลุ่มของคนที่มีแนวคิดเดียวกัน เข้าไปทำงานร่วมกัน สร้างเครือข่ายได้ง่ายขึ้น

ถ้าเรามีทุน เราอยู่คนเดียวก็ได้ สามารถใช้เงินในการบริหาร โอเค แต่สำหรับเกษตรกรที่จะผันตัวเข้าเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งทุนก็มีน้อย อาศัยความรู้บางส่วน การที่เราจะเดินด้วยตัวเอง มันเป็นไปได้ยาก

การรวมกลุ่มมันจะเป็นการช่วยผยุงกันเดินเข้าไป มันอาจไปได้ช้าเพราะว่ามันมีหลายคน ไม่เหมือนกับคนที่มีทุนแล้วไปได้เร็วเลย แต่ถามว่าไปช้า ๆ มันมีความมั่นคงอยู่ในนั้น ทุกคนผยุงกันไป”

สอนกับเครือข่าย ขณะตรวจแปลงขอการรับรองเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถ้าไม่รวมกลุ่มจะไม่สามารถทำได้

คิดพัฒนา อย่าหยุดนิ่ง

“ถ้าเราทำดิน แล้วเราจะมาทำดินแค่ปลูกผักทั่วไป มันก็ขายกันทั่วไป มันมีไม่รู้กี่เจ้า ร้านขายดินร้านหนึ่ง มีดินเป็นสิบ ๆ เจ้า แต่คนที่มาทำดินออแกนิกส์ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น แล้วตลาดกำลังจะเจริญเติบโตไปได้ดี เราควรจะหันมาทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น  ลู่ธรรมดามันเต็มแล้ว เราต้องหาลู่ใหม่ที่เราวิ่งไปได้”

                สอนบอกว่า การเป็นผู้ประกอบการ ต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะว่าคู่แข่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ใหม่ ๆ ของผู้บริโภค ถ้าเราหยุดนิ่ง เราจะยิ่งช้าลง และถ้าเราสามารถสร้างตลาดใหม่ ๆ ได้ การที่ได้เข้าไปในทางนั้นเป็นคนแรก ๆ ก็จะยิ่งทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันกับคนอื่น ๆ

……..

ทุกวันนี้ สังคมชนบทเปลี่ยนไปมากกว่าที่เราคิด การเป็นเกษตรกร หรือการมองตัวเองเป็นแค่เพียงผู้ผลิต คงไปต่อได้ยากแล้วการปรับตัว นำแนวคิดของการประกอบการมาใช้  แล้วเกาะเกี่ยวเป็นสังคมผู้ประกอบการขึ้นมา เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้อยู่รอด ช่วยแก้ปัญหาปากท้อง  และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชน ซึ่งหมายถึงความเข้มแข็งของประเทศในภาพรวมด้วยเช่นกัน.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ