นักปกป้องสิทธิที่ดินร้องเข้าไม่ถึงกองทุนยุติธรรมปล่อยชาวบ้านชุมชนนำ้แดงพัฒนาติดคุก

นักปกป้องสิทธิที่ดินร้องเข้าไม่ถึงกองทุนยุติธรรมปล่อยชาวบ้านชุมชนนำ้แดงพัฒนาติดคุก

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินจากชุมชนน้ำแดงพัฒนา สหพันธ์เกษตรภาคใต้ พบกับตัวแทนกรมคุ้มครองสิทธิ ระบุที่ผ่านกองทุนยุติธรรมปล่อยนักปกป้องสิทธิฯติดคุกเนื่องจากไม่อนุมัติกองทุน  พร้อมระบุราคาของการเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมจากรัฐของชาวบ้านต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด การเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของชาวบ้านมีปัญหา กระบวนการและขั้นตอนยุ่งยากและซับซ้อน และเจ้าหน้าที่ของกองทุนบางคนมีอคติกับการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิฯ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ข้อกับ สมศักด์ เทพสุทิน

ที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนา ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัดได้เดินทางเข้ารับฟังข้อเท็จจริงในการเข้าไม่ถึงกองทุนยุติธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสหพันธ์เกษตรภาคใต้ ชุมชนน้ำแดง  จาการร้องเรียนของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา  โดยมีตัวแทนนักปกป้องสิทธิชุมชนน้ำแดงเข้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก

นางนิยม สารคะณา กรรมการชุมชนน้ำแดงกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า เดิมที่ดินตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวไร่ ต่อมาในปีพ.ศ.2518-2519 มีนายทุนสิงคโปร์ร่วมมือกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นบังคับกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านและได้นำไปออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ โดยครั้งแรกได้มีการออกเอกสารสิทธิโดยใช้ชื่อชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นเจ้าของ และได้มาเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองสิทธิเป็นยริษัทเอกชน และได้เปลี่ยนสภาพพื้นที่ชาวบ้านใข้ประโยชน์เป็นสวนปาล์มน้ำมันจำนวน 2,545 ไร่ 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 บริษัทประสบปัญหาหนี้สินถูกฟ้องล้มละลาย และขัดผลประโยชน์กันเองภายใน จึงปล่อยพื้นที่กลายเป็นสวนป่าทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ และในปีพ.ศ. 2550 มีการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อผลักดันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่เอกชนใช้ประโยชน์ ซึ่งนายนิวัตน์ สวัสดิ์แก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่แปลงเอกชนใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นพื้นที่เราใช้ประโยชน์อยู่ ซึ่งหลังจากการตรวจสอบดังกล่าวก็ไม่มีการจัดสรรให้กับเกษตรรายย่อยและเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจนนำไปสู่การรวมตัวของเกษตรกรไร้ที่ดิน สหพันธุ์เกษตรกรภาคใต้ในปีพ.ศ.2551 ซึ่งตั้งอยู่หมู่ 5 และหมู่ 9 ของตำบลคลองน้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือชุมชนของเราคือชุมชนน้ำแดง 

“เราเป็นประชาชนที่เป็นเกษตรกรไร้ที่ทำกินและที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการที่คนไทยทุกคนควรได้รับเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต และเราดำเนินการทางนโยบายเพื่อให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินให้พวกเราตลอด และเราได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และได้เข้าร่วมประขุมคณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาคปท. และที่ประชุมชุดนี้ได้มีมติร่วมกันออกมาว่า เห็นชอบให้มีกาผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อนในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดิน”

แทนที่ชาวบ้านจะได้รับการแก้ไขปัญหาตามมติดังกล่าว เรากับถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในหลากหลายข้อหา ไม่ว่าจะเป็นข้อหาร้ายแรงอย่างอั้งยี่ซ่องโจร ทำให้เสียทรัพย์ และบุกรุก ซึ่งในข้อเท็จจริงชาวบ้านถือครองที่ดินเพื่อทำกินเพียงแปลงเดียวแต่กลับมีโจทก์ถึง 3 รายฟ้องร้องในที่ดินแปลงนั้นพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไรที่ที่ดินหนึ่งแปลงจะมีเจ้าของถึง 3 คน นี่คือความผิดพลาดของระบบในการจัดสรรที่ดินของเจ้าหน้าที่รัฐ และการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าให้กับชาวบ้าน จนทำให้สมาชิกของชาวบ้านต้องถูกจับกุมคุมขังมากถึง 8 คน และยังมี 4 คนที่ยังถูกจองจำอยู่ ยังไม่นับรวมถึงในการต่อสู้คดีที่ยากลำบากแสนเข็ญของชาวบ้านไม่ว่าเงินจากกองทุนยุติธรรม และความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม 

ส่วนเรื่องการจัดสรรที่ดินของชาวบ้านในชุมชนเราก็เป็นต้นแบบของการจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ที่แบ่งการจัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 6ประเภท คือแปลงที่อยู่อาศัย แปลงเศรษฐกิจของสมาชิก แปลงเศรษฐกิจชุมชน พื้นที่สาธารณะประโยชน์ และแปลงเกษตรรวมชุมชน แปลงพืชอาหาร ที่ทำให้สมาชิกสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างเท่าเทียม 

ด้านนางอัศณีย์ รอดผล กรรมการชุมชนน้ำแดงและอนุกรรมการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า การที่สมาชิกในชุมชนถูกดำเนินคดี ทางชุมชนได้ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขอเข้าถึงเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม แต่ทุกครั้งที่เข้าไปขอก็ไม่มีการตอบรับหรือให้การช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น ตอนที่สมาชิกจะถูกดำเนินคดีจนต้องติดคุก ทางยุติธรรมก็บอกว่าต้องติดคุกก่อนแล้วจะขอเงินกองทุนยุติธรรมได้ แต่พอสมาชิกติดคุกและถูกจองจำอยู่ในคุกก็บอกให้สมาชิกที่ติดคุกมาขอเอง เราจึงสับสนกับแนวทางการดำเนินงานของกองทุนยุติธรรม  และเนื่องจากสมาชิกโดนแจ้งข้อกล่าวจากอัยการที่หนักหน่วงแรงร้าย ทำให้สำนักยุติธรรมใช้เป็นข้ออ้างในการให้ประกันตัวกับชาวบ้านไม่ได้ โดยระบุว่าเกรงว่าชาวบ้านจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและกลัวชาวบ้านจะหลบหนี จนต่อมาศาลได้ยกฟ้องคดีที่ร้ายแรงคืออั้งยี่ซ่องโจรและทำให้เสียทรัพย์  เหลือเพียงคดีเดียวคือบุกรุก แต่ยุติธรรมจังหวัดก็ยังใช้ข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรที่ศาลได้ยกฟ้องไปแล้วมากล่าวอ้างซ้ำอีกว่าอนุมัติเงินให้เราไม่ได้

“กระบวนการที่ชาวบ้านจะเข้าถึงกองทุนยุติธรรมมีปัญหาที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะด่านแรกคือเจ้าหน้าที่นิติกรของยุติธรรมจังหวัดที่จะต้องชี้แจงถึงสิทธิประชาชนที่ประชาชนจะต้องได้รับจากกองทุนยุติธรรมก็ไม่มีการบอกเล่ารายละเอียดหรือชี้แจงสิทธิที่ชาวบ้านควรจะได้รับ และทัศนคติของเจ้าหน้าที่นิติกรที่ยังมีอคติกับการต่อสู้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินทำให้มีผลต่อการอนุมัติเงินกองทุนยุติธรรมให้ชาวบ้านได้ใช้นำมาต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความยุติธรรมให้กับตัวเอง”

“เราเคยไปยื่นเรื่องที่กองทุนยุติธรรมในส่วนกลางด้วย แต่ส่วนกลางก็แจ้งมาว่ายุติธรรมจังหวัดสามารถอนุมัติให้ได้เลย แต่พอเรากลับมาที่จังหวัดก็ไม่อนุมัติให้เรา โยนกันไปมาทำให้ชาวบ้านต้องเสียเวลาและเสียพลังใจใน เสียเงินในการต่อสู้  ทำไมราคาของความยุติธรรมในการต่อสู้ของชาวบ้านจึงแพงกว่าคนอื่นๆมากขนาดนี้ ” 

นอกจากในส่วนของการใช้เครื่องติดตามตัวแทนเงินประกันในส่วนของชาวบ้านที่ไม่มีเงินประกันตัวสร้างผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของชาวบ้านมาก เพราะเครื่องติดตามตัวมีขนาดที่ใหญ่ และเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วนใหญ่ ลงน้ำไม่ได้ แต่ชาวบ้านต้องลงน้ำเพื่อทำไร่ไถนาและหาปลา ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถหาปลาหรือทำไร่ไถนาได้ นอกจากนี้เครื่องยังต้องชาร์ตไฟทุกครั้งที่แบตเตอรี่แต่ในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา นอกจากตัว EM เหมือนเครื่องตีตราชาวบ้านและทำให้ผู้คนที่พบเห็นมองชาวบ้านไม่ดี เหมือนก่อคดีร้ายแรง ทั้งๆที่คดีกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลและศาลยังไม่มีการตัดสินจึงอยากให้มีการแก้ในเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ ตัวแทนนักปกป้องสิทธิได้มีข้อเสนอ เสนอไปยังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาด้านคดีความ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม 3 ข้อดังนี้ 

1.ขอให้ท่านทำความเข้าใจในการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประสานงานกับสำนักปลัดกระทรวงยุติธรรมในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบเรื่องกองทุนยุติธรรมโดยให้มีการทำอบรม ทำความข้าใจเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนและการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของยุติธรรมจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเข้าใจและอำนวยความสะดวกตามสมควรให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้เข้าถึงกองทุนยุติธรรมอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์

2. ขอให้ท่านดำเนินการแก้ไขระเบียบของกองทุนยุติธรรมที่เป็นการปิดกั้นให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือประชาชนทั่วไม่สามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้ เพื่อเป็นการลดช่องว่างและลดภาระค่าใช้จ่ายเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือประชาชน

3.ขอให้ท่านประสานงานกับหน่วยงานที่ท่านได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ โดยขอให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็น วัน เวลา สถานที่ที่สะดวกในการลงพื้นที่ เพื่อที่ท่านจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์และงบประมาณที่ต้องเสียไป

นางสาวปรานม สมวงศ์ เจ้าหน้าที่องค์กร Protection International กล่าวว่า การเข้าถึงกองทุนยุติธรรมสำหรับประชาชนนั้นคณะกรรมการกองทุนต้องระลึกไว้เสมอว่า การอนุมัติกองทุนยุติธรรม เป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์รากฐานที่มาของกองทุนฯคือเพื่อเป็นขั้นแรกๆของการแก้ไขและลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม  เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทั่วถึงกันของประชาชนในการเข้าถึงความยุติธรรม และช่วยให้การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นธรรมและมีมนุษยธรรมมากขึ้น  ไม่ไปบดบังบดเบียนซ้ำเติมชีวิตประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต้องการที่พึ่งในยามที่พวกเขาต้องการการช่วยเหลือจากรัฐมากที่สุด  เราเรียกร้องให้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมเร่งรัดและอนุมัติการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมให้แก่ประชาชนทั่วไปและที่สำคัญคือให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ