การเคลื่อนไหวทางสังคมบนโซเชียลมีเดีย โอกาสของชุมชนสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยมือถือ?

การเคลื่อนไหวทางสังคมบนโซเชียลมีเดีย โอกาสของชุมชนสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยมือถือ?

20160603150955.jpg

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

จริงหรือปัจจุบันอำนาจการสื่อสารอยู่ในมือคนเล็กคนน้อย ที่สามารถส่งสารให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้? ในยุคสมัยที่นักข่าว ฐานันดรที่ 4 ไม่อาจเป็นกระบอกเสียง และที่พึ่งของสังคม ชุมชนท้องถิ่นจะใช้ประโยชน์ในฐานันดรใหม่ ที่เรียกว่าโซเชียลมีเดียอย่างไร? เพราะทุกวันนี้ สมาร์ทโฟนอยู่ในมือเราทุกคน

ทุกท่านคงตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายเรื่อง เกิดจากการโพสต์ และแชร์ในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ก” ติดอันดับมีผู้ใช้มากที่สุด บ้านเรามีจำนวน 38 ล้านยูสเซอร์ และเพิ่มปริมาณขึ้นเป็นลำดับ นักวิชาการสื่อสารมวลชน เคยชวนคิดว่ามาร์ก ซักเคอร์เบิร์กขายสินค้าอะไรจนสามารถสร้างรายได้เป็นเศรษฐีติดอันดับโลกในเวลาอันรวดเร็ว แม้จะรู้สึกว่าจับต้องอะไรไม่ได้ ต่างจากบิล เกตส์ที่ขายโปรแกรมไมโครซอฟท์ สตีฟ จอบส์ขายคอมพิวเตอร์ หรือสินค้าที่เฟซบุ๊กขายก็คือ “ชีวิตของเราๆ ท่านๆ” นักวิชาการคนดังกล่าวเฉลย

หากลองพิจารณาลักษณะการใช้มือถือของบุคคลทั่วไป เป็นแบบปัจเจก มีความหลากหลายเพศวัย ทั้งคิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว ใช้สำหรับขายของ อวดชีวิต โปรโมทตัว ประชาสัมพันธ์ บ่นก่นด่า แสดงทัศนะทางการเมือง อกหักรักคุด แต่อีกด้านหนึ่ง ยังมีคนตระหนักถึงความสำคัญของสื่อสมัยใหม่ และตั้งใจที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และสังคม

 

20160603151018.jpg

 

สื่อของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน 

ธาม เชื้อสถาปนศิริ  ผู้จัดการฝ่ายวิจัย และพัฒนา สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส กล่าวถึง การใช้มือถือสื่อสารเพื่อชุมชน  แม้คนในชุมชนจะไม่ใช่นักข่าว ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ สืบค้น ข้อเท็จจริง เรื่องราวต่างๆ มานำเสนออย่างตรงไปตรงมา เป็นวัตถุวิสัย หรือเป็นผู้ทำหน้าที่สื่อกลาง ข้อมูล ข่าวสาร จากแหล่งต่างๆ ไปยังประชาชน โดยมีจริยธรรมกำกับวิชาชีพ ซึ่งต่างจากนักข่าวพลเมือง หรือประชาชนคนธรรมดา ที่ไม่ได้เรียนวิชาชีพ แต่ใจรักในการสื่อสารประเด็นในชุมชน โดยไม่ได้สังกัดองค์กรสื่อใด ไม่ได้หาเลี้ยงรายได้จากวิชาชีพ ส่วนนักสื่อสารชุมชน คือคนอยู่ในพื้นที่ ทำงานของชุมชน ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวของชุมชน เล่าเรื่องของชุมชน โดยคนในชุมชน เพื่อสื่อสารในและนอกชุมชน 

ธาม ยกตัวอย่าง ต้นกำเนิดปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นโดมิโน เพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือ หรือการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจีนที่ฮ่องกง การปฏิวัติร่ม (The Umbrella Revolution 2014) ที่นำวัยรุ่นชื่อนายโจชัว หว่อง ก็ใช้มือมือถือ และโปรแกรม FireChat ต่อต้านรัฐบาลจีนจนประสบความสำเร็จ เพราะการสื่อสารในยุคใหม่เปลี่ยนโลก เกิดฐานันดรที่ 5 จากการมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ หรืออย่างกรณีล่าแม่มดที่คนไทยสามารถตามแพทย์หญิงหนีทุนจนต้องยอมรับการชดใช้หนี้

เราอยู่ในยุค Social News สามารถกำหนดการรับรู้ข้อมูล กำหนดวาระทางสังคมได้ นี่เป็นเหตุที่ชุมชนต้องเรียนรู้ เพื่อเท่าทันและใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อชุมชน เพราะหนังสือพิมพ์กำลังจะตาย ทุกคนรับขอมูลข่าวสารจากมือถือ จากไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ เราเข้าสู่ยุคที่เราคบเพื่อนแบบไหนเราได้ข่าวสารแบบนั้น เพื่อนเรากดไลค์ เม้นท์ แชร์ อะไรเราก็จะเห็นสิ่งนั้น 

“กระบวนทัศน์สื่อเก่า การสื่อสารทางเดียวจากบนลงล่าง การกำหนดวาระทางสังคมเปลี่ยนไปแล้ว นิวมีเดียผู้รับสารสื่อสารกันเองได้ มีตัวตน มีอัตตลักษณ์ ทุกอย่าง User you ประกาศให้โลกรับรู้ คุณคือผู้คุมข้อมูลข่าวสารในยุคนี้ ผู้ใช้คือผู้ผลิตเนื้อหา ใครก็ได้ เสนอเรื่องราว เป็นคนทั่วไป ผลิต สร้างสรรค์ ตีพิมพ์ เผยแพร่ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่เปิดกว้างและมีส่วนร่วมจากทุกคน” ธาม กล่าว

โซเชียลมีเดียในแบบนักกิจกรรมทางสังคม 

“ผมใช้ชีวิตของผมในทุกมิติเป็นสื่อเพื่อส่งสารเรื่องราวประเด็นทางสังคมผ่านเฟซบุ๊ก” ปกรณ์ อารีย์กุล นักกิจกรรมสังคม เล่าให้ฟังว่า ไอ้นักกิจกรรมเขาเล่นเฟซบุ๊กกันอย่างไร? เพื่อให้เกิดการรับรู้ ตอบรับในวงที่กว้างขึ้น เขาแนะว่าการใช้รูปโปรไฟล์ก็เป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง รูปที่โพสต์ต้องสวย แคปชั่นต้องโดน หรืออาจจะเล่นกับเด็ก ผู้หญิง คนแก่ และต้องเคลื่อนไหวในทุกโอกาส พาดหัวให้น่าสนใจ จังหวะจัญไร(หยาบได้) ต้องเล่นซ้ำ ใช้การสร้างสัญลักษณ์ หรือหากทำเพจต้องหาคนมาช่วยเป็นทีม ตั้งเวลาโพสต์ล่วงหน้า ขยันไลค์ ขยันแชร์ กระทั่งอาจต้องลงทุนจ่ายเงินให้เฟซบุ๊กบูท (Boost Post) อย่างฉลาด ตั้งค่าให้เป็น เลือกเวลาสถานการณ์โพสต์ให้เหมาะสม คิดแล้วคิดอีก ติดตามแหล่งข่าว หรือจะใช้เซเลบ แต่ต้องไม่พาดพิง ไม่แขวะ ไม่ใช้อารมณ์ และคิดแล้วคิดอีก ก่อนจะส่งสารออกไป 

บางแง่มุมของชายหนุ่มไฟแรงที่เรียกตนเองว่า “ไอ้นักกิจกรรม” จากเด็กนักศึกษาที่เคยแก้ผ้าที่หน้ารัฐสภาเพื่อประท้วง คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ วันหนึ่งเขาโดนจับขังคุก ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. พร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน จากกรณีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และวันนี้เขายังคงทำเรื่องการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำเพจเฟซบุ๊ก “พลิกพื้นผืนดินไทย” “รูทการ์เด้น” ฯลฯ เพราะเริ่มจากการเห็นปัญหา อยากสื่อสารเพื่อให้เกิดการแก้ไข ทำมาเรื่อยๆ ไม่หยุด จากวันแรกที่เล่นเฟซบุ๊ก โพสต์อะไรไม่มีคนกดไลค์ วันนี้แค่พิมพ์คำว่า “อิอิ” ก็มีคนมากดไลค์ ถามว่าเกิดไรขึ้น ห่วงใย  

“โมโจ” Mobile Journalist สถานีโทรทัศน์ของคุณเอง 

พิภพ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นักผลิตสารคดีอิสระ ผู้เชี่ยวชาญการผลิตข่าวและสารคดีด้วยมือถือ กล่าวชวนคิดว่า เมื่อก่อนชาวบ้านเปรียบเป็นปลา นักข่าว ผู้ผลิตสื่อเสมือนนักจับปลาไปขาย โดยขายปลาส่งให้พ่อครัว หรือสำนักข่าว กองบรรณาธิการ ที่เขาจะเอาไปปรุงเป็นเมนูอาหารตามที่พ่อครัวอยากปรุงเสมอ แต่คนรับสื่อสมัยนี้เป็นปลาที่สามารถปรุงอาหารได้เอง ที่บอกว่าเอ็งควรกินอาหารอย่างนี้ ทำเสร็จเป็นเรื่องเป็นราว เสร็จจากครัวจากชุมชนท้องถิ่นส่งขึ้นไปให้เขาบริโภค วันนี้เรามีช่องทางอย่างไทยพีบีเอส หรือปรุงสำเร็จก็ขายตรงผ่านเฟซบุ๊ก หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่เสนอเรื่องราวของเราได้เลย 

ในการสื่อสารชุมชน กระบวนการสำคัญเท่ากับผลลัพธ์ ตั้งแต่การที่เราเข้าไปในชุมชน ชวนพูดชวนคุย เอากล้องไปส่องเขา เลือกสรรประเด็น การลงมือผลิตสื่อเองเป็นกระบวนการทำสื่อที่นับว่าเท่ากับเป็นผลลัพธ์แล้ว แม้จะถ่ายแล้วไม่ได้ออกอากาศ ก็นับว่าได้ผลลัพธ์แล้ว งานออกไม่ออกอากาศก็อีกครึ่งหนึ่ง การก้าวเข้าไป ยกกล้องขึ้นมา เข้าไปเรียนรู้วัฒนธรรม ก็เป็นผลลัพธ์แล้ว

วันนี้เรามีสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศได้ เป็นครัวที่สามารถปรุงได้เอง MOJO (Mobile Journalist) ไม่เป็นแค่คนจับปลา แต่เป็นนักสื่อสารชุมชนที่ใช้มือถือเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลง ภูมิทัศน์ของ MOJO เรามีสถานีของเราทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิลพลัส มีบล็อก มีแผนที่ มีสถานที่เก็บอย่างคลาวด์ หรือกูเกิลไดรฟ์ มีอีเมล เป็นพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล ที่สามารถส่งให้เพื่อนได้ตลอดเวลา เราสามารถรายงานสด เหตุการณ์สด เป็นการสร้างพลังของการสื่อสาร การผลิตคลิปจากมือถือ เป็นงานที่รวดเร็ว เสร็จเร็ว ทำเร็ว ประเด็นแรง พร้อมส่งเลย

“เราจะเป็นเหมือนหยดน้ำ ที่แต่ละหยดมาไหลรวมกันเป็นสายน้ำของการเปลี่ยนแปลง” พิภพ กล่าว

บางการเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊ก โอกาสเปลี่ยนด้วยมือถือ   

ถ้าลองดูกรณีตัวอย่างเพจบุคคลที่ทำงานทางสังคม เฟซบุ๊ก บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ที่ปัจจุบันมีคนกดติดตามข่าวสารกว่าสองหมื่นสามพันราย แต่ละโพสต์จะมีคนกดถูกใจ และแชร์จำนวนมาก พื้นที่นี้เจ้าของใช้ในการสื่อสารรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ทะเลไทย นำเสนอภาพความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเล รณรงค์ห้ามการประมงที่ผิดกฎหมาย หลายเรื่องส่งผลถึงการเปลี่ยนในเชิงนโยบาย การทำกิจกรรมหลายๆ ครั้งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี 
 
หรืออย่างเฟซบุ๊ก Maitree Jongkraijug (ไมตรี จงไกจักร) ที่ใช้การสื่อสารผ่าน Social Media กรณีชาวเลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อนำเสนอข่าว ความเคลื่อนไหว เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวเล ที่มีกรณีพิพาทกับนายทุน ก็มีคนจำนวนหนึ่งคอยติดตามข้อมูลข่าวสาร กดไลค์ กดแชร์ รวมถึงสื่อมวลชนที่ตามเกาะติดข้อมูลข่าวสารจากเจ้าของเฟซบุ๊กรายนี้ และยังมีการใช้สำหรับกรณีเตือนภัยสึนามิ เหตุแผ่นดินไหวในทะเล หรือใช้ในการเผยแพร่เรื่องราว กิจกรรมต่างๆ อีกด้วย

จรรยา กลัดล้อม  คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท มีความเห็นว่า การใช้โซเชียลมีเดีย ใช้เพื่อการสื่อสารผลการดำเนินงานของชุมชนสู่สาธารณะ เป็นเครื่องมือการสื่อสารหนึ่งที่สามารถนำไปสู่จังหวัดจัดการตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นสื่อการเรียนรู้ แต่ต้องเพิ่มทักษะให้กับชุมชนท้องถิ่นให้ทันกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทุกวันนี้คนรับสื่อจากเฟซบุ๊กมากขึ้น เพราะมีความไวกว่าทีวีวิทยุหนังสือพิมพ์มาก 

อย่างที่คนบ้านหัวเด่น ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ที่ใช้ไลน์กลุ่มคนบ้านหัวขุดในการติดตามข่าวสาร สื่อเรื่องราวต่างๆ ถึงกัน และมีการสื่อสารในทุกระดับ ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จนระดับจังหวัด หรือเปิดเฟซบุ๊กกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งในการที่จะใช้มือถือผลิตข่าวหรือสารคดีจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างการสื่อสารของชุมชนได้เป็นอย่างดีในอนาคต      

สอดคล้องกับเลอฤทธิ์ สงวนวงศ์ นักสื่อสารชุมชนจังหวัดอ่างทอง ที่มองว่า ถ้าชุมชนสามารถสื่อสารนำเสนอเรื่องราวโดยชุมชนเพื่อชุมชนนับเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่มีใครรู้ลึก รู้จริงกว่าคนในชุมชน ทั้งสถานการณ์ในพื้นที่ ปัญหาในชุมชน หรือการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน การที่ชุมชนสามารถใช้มือถือในการผลิตข้อมูลข่าวสาร ใช้ความคิดเชิงกลยุทธ์ในการสื่อสารการทำงานพื้นที่ นำเสนองานของชุมชนออกสู่สาธารณะด้วยมือถือสามารถทำได้ แต่ต้องรู้จักคิดคำหรือข้อความสำคัญที่จะสื่อสารกับสังคม การสร้างสัญลักษณ์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสื่อสารผ่านช่องทางที่หลากหลายทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม โซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นช่องทาง

การผลิตข่าวด้วยมือถือ คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนชาวบ้านสามารถทำได้ แต่ต้องมีการเพิ่มศักยภาพ ฝึกอบรมแนะนำการใช้งานเรื่องเหล่านี้ เพราะวันนี้ทุกคนใช้มือถือ แต่ยังใช้ประโยชน์ไม่รอบด้าน โดยเฉพาะในหมู่ลูกหลานเยาวชน   

หากวันนี้เราไม่สามารถพึ่งนักข่าว สื่อมวลชน เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้เรื่องราวปัญหาต่างๆ ในชุมชนได้รับการแก้ไข การเคลื่อนไหวเพื่อชุมชน สังคม บนโซเชียลมีเดียที่เป็นฐานันดรที่ 5 ก็คือโอกาสครั้งใหม่ของชุมชนที่จะพัฒนาช่องทางการสื่อสารของตนเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยสมาร์ทโฟน ให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนทางสังคม สร้างการรับรู้ กระทั่งการกำหนดวาระทางสังคม เพราะอำนาจของการสื่อสารอยู่ในมือของคนเล็กคนน้อย สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ขอเพียงให้ลุกขึ้นลงมือทำอย่างต่อเนื่อง

20160603151043.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ