จากการลงทุนข้ามพรมแดนถึงโครงการขนาดใหญ่ในภูมิภาค : สถานการณ์ที่รุมเร้า

จากการลงทุนข้ามพรมแดนถึงโครงการขนาดใหญ่ในภูมิภาค : สถานการณ์ที่รุมเร้า

จากการลงทุนข้ามพรมแดนถึงโครงการขนาดใหญ่ในภูมิภาค : สถานการณ์ที่รุมเร้า 

ในงาน (สุด) สัปดาห์แม่โขง-อาเซียน 2563 Mekong – ASEAN Environmental Week (end) 2020 สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย และชีวิตที่โยงใยกันในภูมิภาค เมื่อวันที่ 25-27 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา มีหัวข้อวงพูดคุยที่น่าสนใจคือเรื่องของการลงทุนข้ามพรมแดนถึงโครงการขนาดใหญ่ในภูมิภาค : สถานการณ์ที่รุมเร้า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563

มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในวงเสวนาที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่

  • มิน ซอ บรรณาธิการข่าวและนักกิจกรรม เจ้าของรางวัลโกลด์แมนปี 2550
  • ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
  • อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายแม่น้ำโขงภาคอีสาน
  • วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet)
  • ดำเนินรายการโดย ผศ.นฤมล ทับจุมพล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิ่งแวดล้อมในภูมิภาค 

เขื่อนมิตโซนและข้อกังวลเกี่ยวกับทุนจีนในพม่า โดย มิน ซอ บรรณาธิการข่าวและนักกิจกรรม เจ้าของรางวัลโกลด์แมนปี 2550

“เราก็ต้องการที่จะปกป้องแม่น้ำนี้ได้หลายอย่างอิสระไม่ใช่แม่น้ำอิระวดีเท่านั้นแต่เป็นแม่น้ำสาละวินด้วย”

มิน ซอ กล่าวในประเด็นการเคลื่อนไหวรณรงค์ประเด็นเขื่อนมิตโซน (Myitsone Dam) และข้อห่วงกังวลต่อการลงทุนของจีน รวมถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศเมียนมา  

แผนภาพแสดงจุดที่คาดการณ์ว่าจะเป็นสถานที่ก่อสร้างเขื่อนมิตโซน ในรัฐคะฉิ่น ที่มา : International Rivers

“เราเริ่มการรณรงค์ในช่วงที่รัฐบาลยังเป็นรัฐบาลเผด็จการ/รัฐบาลทหาร พยายามที่จะหาพื้นที่ให้กับประชาชนในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน ผ่านการระดมมวลชนจำนวนมากให้เข้ามามีส่วนร่วม ถึงแม้จะมีการชะลอสร้างเขื่อนไป แต่เราก็พยายามที่จะสร้างความตระหนักรู้และระดมพลังของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์”

มิน ซอ นำเสนอว่า หลังจากที่มีการลงระดมชะลอการสร้างไปความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่า การลงทุนของจีนในเมียนมาก็ลดลงไปเมียนมาเองก็เริ่มขยับตัวไปใกล้ชิดกับฝั่งประเทศตะวันตกมากขึ้น ส่วนจีนก็พยายามรอจังหวะที่จะทำโครงการนี้ต่อ คือ เขาก็พยายามที่จะผลักดันให้มีการลงทุนในเมียนมา เรามีวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมียนมาก็คือเรื่องของเรื่องโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ก็มีคนโรฮิงญาจำนวนแสนคนที่ต้องพลัดถิ่น แล้วประเทศทางตะวันตกเองก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาแล้วก็จีนก็เข้ามาสนับสนุนเมียนมาพยายามที่จะทำมากก็เลย พยายามทำให้สัมปทานแก่นักลงทุนของจีน หลังจากที่เรื่องของโครงการที่จะสร้างเขื่อนมิตโซนชะลอตัวลง แต่ก็มีการลงทุนของจีนในรัฐยะไข่”

ภาพแสดงเส้นทางการเชื่อมโยงโครงการพัฒนา เศรษฐกิจจากจีนออกคาบสมุทรอินเดีย

การลงทุนของจีนเข้าในเมียนมาภายใต้ชื่อ BRI: Belt and Road Initiative เป็นการส่งเสริมการลงทุนเมียนมากับจีน รวมถึงโครงการ Bangladesh-China-India-Myanmar (BCIM) Economic Corridor ระเบียงเศรษฐกิจ BCIM เริ่มต้นจากมณฑลยูนานของจีน ผ่านเมียนมา บังคลาเทศและอินเดีย เพื่อมุ่งสู่มหาสมุทรอินเดีย ที่เน้นการก่อสร้างพื้นฐานเชื่อม ถนน ท่าเรือ พลังงานไฟฟ้า โทรคมนาคมและเงินลงทุน เป็นต้น เช่น โครงการท่อก๊าซที่ลากผ่านมหาสมุทรอินเดียไปยังประเทศจีนโดยผ่านประเทศพม่า หรือมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเมียนมาและประเทศจีน โครงการทับลงไปยังความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่มีมานานในเมียนมา

“ใครจะได้ประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ ประชาชนทั่วไปก็มีข้อห่วงกังวล และกลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในเส้นทางการพัฒนาเหล่านี้ จากบทเรียนความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต ยิ่งทำให้เรามีความกังวลถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาลแบบนี้”

มิต ซอ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เมียนมาตั้งคำถามกับโครงการ BRI ของจีนมี 5 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ทิศทางของนโยบายในการพัฒนานั้น เมียนมามียุทธศาสตร์อยู่หรือไม่ สอง โครงสร้างพื้นที่ในการเชื่อมต่อนั้นรับใช้ผลประโยชน์คนกลุ่มใด สาม การค้าขายที่ไม่มีขีดจำกัดจะกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ธุรกิจท้องถิ่น สี่การหลอมรวมตลาดทุน อาจทำให้สูญเสียอธิปไตยทางการเงินการลงทุนหรือไม่ และห้า สำนึก สูญเสียวัฒนธรรม ความเป็นอิสระ ถูกชนชั้นนำยึดกุม

นอกจากนั้นเมื่อวางโครงการ BRI ในมิติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า จีนยังคงผลักดันเขื่อนและถ่านหิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสกปรก ไม่ยั่งยืนและยังส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งของชุมชน  หรือในมิติของการระบาดของโควิด เป็นห่วงว่าหากจีนจะเข้ามาพัฒนาลงทุนด้านอุตสาหกรรมเกษตร อาจจะนำมาซึ่งไวรัสหรืออะไรที่อันตราย 

“ในเรื่องของเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยนั้น พบว่า ตอนนี้เหมือนกำลังหยุดชะงัก เพราะว่าทางรัฐบาลเมียนมาก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากจีน แล้วผู้นำของเมียนมาก็ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถจะปรับเปลี่ยนทำให้ชีวิตของคนธรรมดาสามัญดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามเมียนมามีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ที่ริเริ่มการเคลื่อนไหวทางสังคมจากระดับท้องถิ่น เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต เพื่อคงมรดกทางธรรมชาติอันมีค่าให้กับคนรุ่นหลัง”

ชีวิต สิ่งแวดล้อมและการเมือง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดประเด็นว่า ตั้งแต่มีคสช.เข้ามา มันมีคำถามข้อหนึ่งในหมู่กลุ่มคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมหรือพี่น้องที่กำลังทำงานขับเคลื่อนเพื่อชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง ว่า เราสามารถต่อสู้ประเด็นการเมือง และต่อสู้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันได้หรือไม่ และจะเป็นผลดีอย่างไร หลายคนก็เกรงว่า หากนำพี่น้องไปโยงกับเรื่องการเมือง จัดชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลจะกลายเป็นฝั่งตรงข้าม แล้วรัฐบาลจะไม่คุยด้วย ซึ่งจะทำให้ประเด็นงานที่ผลักอยู่ไม่สำเร็จ ส่วนบางคนก็บอกว่าต้องต่อสู้ทางการเมืองก่อน เพื่อให้ได้รัฐบาลที่รับฟังประชาชน ซึ่งจะมีผลทำให้ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมคืบหน้าไปด้วย นี่ก็เป็นสองกระแสความคิดที่เดินคู่กันไป` ซึ่งวันนี้จะตอบคำถามนี้ด้วย

“แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นสิ่งใหม่ที่คสช.คิดขึ้นมา เขียนขึ้นโดยคณะกรรมการชุดหนึ่งที่คสช.เป็นคนแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ คือ ประยุทธ ประวิตร อนุพงษ์ วิษณุ แล้วจะต่างอะไรคสช. แผนยุทธศาสตร์นี้มีความยาวกว่า 70 หน้า แล้วก็ประกาศใช้โดยตัวเค้าเอง และยังอำนาจตีความว่าอะไรเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

“ผมจะไม่ขอเรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ เพราะชาติไม่ได้อะไรจากแผนนี้ แต่น่าจะเป็นยุทธศาสตร์การยึดอำนาจ 20 ปีของคสช.”

“เขาบอกว่านี่คือแผนนี้คือโรดแมปที่กำหนดว่าประเทศชาติจะไปทางไหน เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2562 พอต้นปี 2563 มีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน เมื่อเปิดแผนดูก็ไม่พบเรื่องฝุ่นควัน ต่อมาเมื่อมีโควิดระบาดก็พบว่าแผนนี้ไม่ทันสมัยในทันที แม้ตัวแผนนี้จะระบุถึงด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม แต่ก็การเขียนแบบกว้าง ๆ ให้การตีความการบังคับใช้ขึ้นอยู่กับประยุทธ จันทรโอชา”

ผู้จัดการไอลอว์ ขยายความว่า กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลายปีที่ผ่านมามีการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายพื้นที่ ซึ่งการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นตั้งขึ้นโดยคำสั่งคสช. มาตรา 44 ไม่ได้ตั้งขึ้นมาตามกระบวนการปกติ เขตเศรษฐกิจชุดแรกมีการประกาศใน 8 จังหวัดชายแดน ต่อมาก็มีการเพิ่มขึ้นอีก 2 จังหวัด ซึ่งหน่วยงานพื้นที่ไม่รับทราบ ประชาชนไม่รู้ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชื่อดูดีแต่แท้จริงแล้ว คือ นิคมอุตสาหกรรม หลังจากนั้นไม่กี่วันก็อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังจากนั้นก็มีการประกาศงดการบังคับใช้ผังเมือง เดิมอาจจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ของชุมชน จากเดิมเป็นเขียวก็เปลี่ยนเป็นสีม่วงได้ หรือยกเว้นการทำ EIA กับบางกิจการหรือในบางพื้นที่ได้ เป็นต้น หรือกระทั่งการประกาศคำสั่งฉบับพิเศษเพื่อตั้ง EEC ก็ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อมีการไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่าคสช.ออกคำสั่งไม่ถูกต้อง ศาลก็วินิจฉัยว่าอำนาจมาตรา 44 นั้นยกเว้นการตรวจสอบ

แม้กระทั่งเรามีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ก็ยังมีมาตราสุดท้ายที่กำหนดให้คำสั่งคสช. ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก 

นี่คือภาพกิจกรรมที่ชาวบ้านเดินทางมายื่นหนังสือกรณีโรงไฟฟ้าเทพา ก็มีการสั่งสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บ มีคนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ นี่เป็นตัวอย่างที่นำมาเสนอเพียง 3 เรื่อง

สิทธิทางสิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญ 2560 อะไรหายไปจากปี 40 และ 50

รู้หรือไม่ 6 ปีคสช. เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์กฎหมายสิ่งแวดล้อม 

  • พ.ร.บ.แร่ 2560 มีเสียงคัดค้านว่าให้อำนาจราชการเกินไป
  • พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม แก้ไขปี 2561 ระบุเนื้อหาที่ให้สามารถยกเว้นการทำอีไอเอจากที่เคยใช้ม. 44 ไปอยู่ในพ.ร.บ. เป็นต้น
  • พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 แม้จะมีการคัดค้านจากภาคประชาชนแต่สุดท้ายก็ผ่านและมีผลบังคับใช้
  • พ.ร.บ.ประมง แก้ไขปี 2560 ซึ่งมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

“เราอยู่ในระบบ การจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมตามใจคนที่มีอำนาจใจการออกกฎหมายกลุ่มเดียวมาตลอด นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนานาชาติ เช่น แม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยะในทะเล ที่ไม่เห็นการตอบสนองใด ๆ เพราะเรื่องที่เขาให้ความสำคัญก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจ และการเข้าสู่อำนาจในปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประชาชน การที่ประชาชนในจังหวัดห่างไกลที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขง โครงการพัฒนาต่าง ๆ ของจีน หรือผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ก็ไม่เป็นไร หรือไม่มีผลทำให้การเข้าสู่อำนาจสั่นคลอน”

ยิ่งชีพ ย้ำว่า ถ้าขบวนสิ่งแวดล้อมจะต้องสู้ทางการเมืองไปพร้อมกันคิดว่า ในระบอบการเมืองปกติที่มันแฟร์ นายกรัฐมนตรีไม่ตอบสนองของเรา เราจึงไปขับไล่เขา ถ้าแบบนี้ผมคิดว่าทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่ในระบอบการเมืองที่ไม่เป็นปกติอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องสนใจหรือแก้ปัญหาของประชาชน แถมยังรวบอำนาจในการออกกฎหมายนโยบายทุกอย่าง โดยปราศจาการตรวจสอบ ระบอบนี้จึงไม่สามารถต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงลำพัง มันอาจไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในวันนี้ แต่อาจจะมีอะไรอย่างอื่นในวันข้างหน้า ไม่ได้อีกที่หนึ่งก็อาจได้อีกที่หนึ่ง 

ความมั่นคงทางอาหารที่หายไปจากแม่น้ำโขง

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายแม่น้ำโขงภาคอีสาน กล่าวต่อในประเด็น อาหารที่หายไปจากแม่น้ำโขง เล่าถึงข้อมูลจากนักวิชาการและชาวบ้านช่วยกันทำงานวิจัยเก็บข้อมูลพบว่า มีอาหารริมแม่น้ำโขง ปลา หอย กุ้ง ไม่รวมพืชผัก อาจจะหายไปมากกว่า 1,200 – 1,700 ชนิด ซึ่งสาเหตุอาจจะกล่าวได้ว่าเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มมีการทำเขื่อนในจีนรวมถึงเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านริมเขื่อนเปลี่ยนไปตลอดกาล

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นในเขื่อนแม่น้ำโขงไม่ได้กระทบเฉพาะคน 2 ฝั่งโขงเท่านั้น ก่อนที่จะมีเขื่อนแห่งแรกในปี 2526 (สร้างเสร็จประมาณปี 2539)น้ำโขงขึ้นลงตามปกติ ซึ่งสามารถคาดการณ์และวางแผนการผลิตได้ว่าจะปลูกอะไรเมื่อไหร่ แต่พอมีเขื่อนแม่น้ำโขง ทำให้พวกเราคาดการณ์ หรือวางแผนไม่ได้สักเรื่องเลย”

อ้อมบุญ กล่าวอีกว่า เมื่อการขึ้นลงของแม่น้ำโขงมันเปลี่ยนไป ฤดูกาลของปลาแต่ละชนิด และภูมิปัญญาของผู้คนในการพึ่งพาแหล่งอาหารนี้ก็เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ผักที่ขึ้นตามธรรมชาติและบ้านปลา แหล่งอนุบาลปลากำลังหายไป การปลูกพืชเศรษฐกิจริมตลิ่งในฤดูน้ำลด พบว่ามีการปลูกพืชไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด ในช่วงที่ทำงานวิจัยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา หรือการเลี้ยงปลากระชัง ก็ได้รับผลกระทบ

ความผิดปกติของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสาน ตั้งแต่เลย จนถึงอุบลราชธานี แม้จะอยู่ห่างไกลจากเขื่อนในจีนกว่า 1,500กิโลเมตร ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่มีการประเมินความเสียหาย ไม่มีการชดเชยเยียวยา นิยามของภัยพิบัติก็ไม่ครอบคลุม ตลิ่งริมฝั่งโขงก็พังทลายก็ต้องใช้เงินภาษีประชาชนไปทำโครงสร้างแข็งแก้ไขปัญหาปลายเหตุ

“คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องแค่เรื่องของคนแม่น้ำโขง มันอาจจะเป็นเรื่องของร้านอาหารทั้งหมดทั้งประเทศ ไปที่ภาคใต้ก็ยังไปสั่งเมนูอาหารก็ยังบอกว่าขอลาบปลาบึก ลาบปลาคัง ต้มยำปลาเนื้ออ่อนใช่ไหมคะ คิดว่าเรื่องร่วม ๆ ที่คนในสังคมจะต้องตระหนักร่วมกันว่าเมนูอาหารพวกนี้มันหายไปไหน มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอาชีวิตของคน เอาความมั่นคงทางอาหารของคนทั้งภูมิภาคในไปแลกกับกระแสไฟฟ้าซึ่งตอนนี้ล้นเหลือ กว่า 50% ตอนนี้ไฟฟ้ามีเหลือเฟือแต่เขาก็ยังอยากสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเหมือนเดิม ไม่รู้ว่ามันมีวาระซ่อนเร้นอะไร

“ถ้าความมั่นคงทางอาหาร คือ ความหลากหลาย มันคือความเพียงพอ มันคือสิ่งที่คนจนคนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึง เพราะว่าคนตลอดริมน้ำโขงไม่ได้มีเงินไปซื้อกระชังปลาหรือว่าไปซื้อพันธุ์ปลาจากซีพีมาเลี้ยงทุกคน แต่แม่น้ำโขงในวันนี้เป็นสิ่งที่พึ่งพาไม่ได้แล้ว เราต้องบอกว่าอาหารเหล่านี้มันหายไปจากพวกคนตัวเล็กตัวน้อยที่เคยเข้าถึง”

อ้อมบุญ กล่าวทิ้งท้าย

การเมืองเรื่องพลังงาน พลังงานสำรองไฟฟ้าที่เกินความจำเป็น

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) นำเสนอประเด็น การเมืองเรื่องพลังงานในภูมิภาค ว่า เวลาพูดถึงเสรีนิยมประชาธิปไตยในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ คือ ระบบตลาดเสรี ในแง่นี้ บทเรียนการต่อสู้ในสังคมไทยโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถึงแม้เราจะบอกว่ามันเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมแต่เนื้อหาของการต่อสู้ในสังคมไทย คือ การต่อสู้กับทุนผูกขาดการลงทุน และใช้อำนาจซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง

“การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงไม่ใช่ของฟรี แต่เป็นการแลกไฟฟ้ากับอะไร ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าใครจะได้หรือใครจะเสีย และความจำเป็นในการสร้างมันถูกพิสูจน์หมดแล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าตัวผลักดันโครงการยอมหรือไม่”

วิฑูรย์ กล่าวว่า มันมีความเชื่อของวิศวกรว่าสำหรับแม่น้ำโขงสามารถผลิตไฟฟ้ามากถึง 5 หมื่นเมกะวัตต์ เฉพาะแม่น้ำโขงตอนล่าง 3 หมื่นเมกะวัตต์ ลาวจึงคิดจะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย โครงการเขื่อนที่ใหญ่กว่า 10 เมกะวัตต์ในลาวนับ 74 เขื่อนยังคงเดินหน้า

ผลสรุปของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง MRC สรุปว่าหากมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงต่อไปเรื่อย ๆ จะเกิดวิกฤติในแม่น้ำโขงอย่างมหาศาล และ GDP ของลาวไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนของเขื่อนตรง แต่จะขาดทุนเนื่องจากต้องแลกกับรายได้จากภาคเกษตร ประมงและอื่น ๆ ที่เป็นฐานทรัพยากร ข้อสรุปยังย้ำให้ไฟฟ้าด้วยวิธีการอื่น เช่น พลังงานหมุนเวียน ทว่า รัฐบาลและนายทุนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็ยังไม่ฟัง

กรณีเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย เกิดการพังลงมาซึ่งเกิดจากความบกพร่องของการก่อสร้าง ทำให้เกิดการน้ำท่วมใหญ่ในอัตตะปือ สปป.ลาว ประชาชนมากกว่า 6 พันคนสูญเสียที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน 2 ปีผ่านมาก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้ ปรากฏว่าเมื่อดูรายชื่อผู้ลงทุนก็ประกอบด้วยบริษัทจากประเทศเกาหลีและบริษัทราชบุรีของไทย โดยมีธนาคารในประเทศไทยเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินทั้งสิ้นและไฟฟ้าก็จะขายให้กับประเทศไทย ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมถึงรัฐบาลลาวยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าสาเหตุคืออะไร

การลงทุนสร้างเขื่อนในลาวนอกจากจะไม่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นยังทำให้ลาวมีความเสี่ยงจากการสูญเสียอธิปไตยให้กับนักลงทุนของจีน เนื่องจากการผิดชำระหนี้กว่าร้อยละ 80 ซึ่งจะกระทบกับการดูแลประชาชนลาวในมิติสาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ 

“นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สร้างเขื่อนมา 10 ปี แต่ยังไม่รวย เขื่อนพัง เป็นหนี้ ประชาชนลำบาก”

เมื่อย้อนมาดูฝั่งไทย ที่คิดว่าได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนในประเทศลาว พบว่า ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของไทยลดลงหลังจากการระบาดโควิด หรือต่ำกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาถึง 2 พันเมกะวัตต์ ความต้องการไฟฟ้าจึงไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงมาก ขณะนี้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 5 หมื่นเมกะวัตต์ แต่มีไฟฟ้าสำรองที่ไม่ได้ใช้ 19,900 เมกกะวัตต์ หรือโรงไฟฟ้าร้อยละ 65 ที่มีอยู่ไม่ต้องเดินเครื่อง หรือภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟสูงขึ้น

“แผนพัฒนาไฟฟ้า PDP2018 กำหนดให้ในทุก ๆ ปีจนกว่าจะถึงปี 2080 จะมีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาในระบบปีละ 700 เมกะวัตต์”

วิฑูรย์ ให้ข้อมูลว่า ทุก ๆ โครงการจะประกอบด้วย สามส่วน หนึ่ง บริษัทก่อสร้าง สอง บริษัทที่ปรึกษา และสามหุ้นของลาวที่เรียกว่า ลาวโฮลดิ้ง แต่โครงสร้างนี้ไม่ได้สะท้อนการแข่งขันอย่างเสรีในตลาด ยกตัวอย่าง กฟผ.เป็นผู้ซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว ในเอกสารที่บริษัทแห่งหนึ่งแจ้งแก่ผู้ถือหุ้นระบุว่า กฟผ.ยังคงต้องซื้อไฟฟ้าโดยไม่สามารถเอาเหตุผลเรื่องโควิด หรืออื่นใดได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังระบุว่าโครงการพัฒนาใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบางกับกฟผ. นั้นจะมีการลงนามภายในปีนี้

“ทำไมกฟผ.ต้องเซ็นสัญญาในขณะที่เรามีไฟฟ้าสำรองสูงกว่าร้อยละ 60 พบว่า กฟผ.มีแผนการที่จะเปลี่ยนไทยให้เป็นฮับทางไฟฟ้า ภายใต้โครงการของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ADB พาวเวอร์กริด โดยจะเชื่อมสายไฟยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และการลงทุนต่าง ๆ ทั้งการซื้อถ่านหินล่วงหน้า การเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้ากลายเป็นต้นทุนที่ผู้ใช้ต้องแบกรับ และกลไกการตรวจสอบควบคุมทางการเมืองหรือรัฐสภาในขณะนี้ไม่สามารถจัดการกับบริษัทเอกชนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐได้”

ทุนข้ามพรมแดนมีอำนาจเหนือรัฐและกลไกของรัฐในภูมิภาค จะจัดการอย่างไร?

หลายครั้งเราจะถกเถียงกันว่าจะมีกฎหมายอะไรเข้ามาควบคุมจัดการ แต่การจัดการกับเสรีนิยมกฎหมายเหล่านั้นไม่สามารถควบคุมได้ และไปไม่ทันระบบตลาด 1 สตางค์ของกฟผ. คือ 200 ล้านที่จะได้ในแต่ละปี ถ้าตราบใดที่เรื่องนี้รวมศูนย์ หรือข้อถกเถียงว่าจะเอาระบบอะไรระหว่างถ่านหินกับก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ในเวลานี้มีระบบการผลิตที่กระจายศูนย์.

ชมบันทึกการเสวนาทั้งหมดได้ที่

ภาษาไทย

เวที “จากการลงทุนข้ามพรมแดนถึงโครงการขนาดใหญ่ในภูมิภาค: สถานการณ์ที่รุมเร้า ตอนที่ 2” >>>https://www.facebook.com/decode.plus/videos/637908020253422

English Version
Panel “From Foreign Direct Investment to large scale destructive projects: what and whom we are facing 2 ” >>>https://www.facebook.com/2020MAEW/videos/679792549578455

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ