10 ปีที่ต้องมองย้อน : เกิดอะไรกับชีวิต สิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตยในภูมิภาคแม่น้ำโขงและอาเซียน

10 ปีที่ต้องมองย้อน : เกิดอะไรกับชีวิต สิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตยในภูมิภาคแม่น้ำโขงและอาเซียน

4 ผู้คร่ำหวอดจับตาความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในลุ่มน้ำโขงและอาเซียน มาร่วมกัน มองย้อนไป 10 ปีที่ล่วงผ่าน กับสถานการณ์ปัจจุบันด้านสิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย และวิถีชีวิตในภูมิภาคแม่น้ำโขงและอาเซียน  เป็นส่วนหนึ่งของงาน (สุด) สัปดาห์แม่โขง-อาเซียน 2563 สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย และชีวิตที่โยงใยกันในภูมิภาค ซึ่งชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม, โปรเจกต์เสวนา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ETO WATCH , Focus on the Global South, TERRE SOLIDAIRE, CCFD-Terre Solidaire, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกันจัด เมื่อวันที่ 25 – 27 กันยายน 2563  ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงให้เห็นปัญหาอันหนักหน่วงด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชน ผ่านความคิดตกผลึกของทั้งนักกิจกรรม นักวิชาการ ศิลปินต่างๆ และประชาชนผู้ผ่านประสบการณ์การต่อสู้

The Citizen Plus ขอนำรายละเอียดจาก  4  มุมมองที่น่าสนใจนี้มาให้ได้อ่านและขบคิดกัน 

“ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ของทุน กับประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

เน็ท ดาโน ผูอำนวยการร่วม อีทีซี กรุ๊ป (ETC Group) ฟิลิปปินส์ กล่าวในประเด็นนี้ด้วยนัยยะทางประชาธิปไตย  โดยยกตัวอย่างว่า เราอาจจะชอบเรื่องเทคโนโลยี แต่ถ้าจะให้เกิดประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อส่งเสริมองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น  ต้องรวมถึงเกษตรรายย่อยและที่อยู่ห่างไกลด้วย

ส่วนนัยยะของการพัฒนาเทคโนโลยีต่อประชาธิปไตยเรื่องของสิ่งแวดล้อม จำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงบทบาทของรัฐบาล บรรษัท และภาคประชาชน ที่จะมีส่วนร่วมของสิ่งแวดล้อม รวมถึงการครอบคลุมเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย  ซึ่งในส่วนของบบรรษัทขนาดใหญ่ มันยากที่จะไม่เชื่อว่าสิ่งที่องค์กรเหล่านี้จะไม่ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก หรือการสอดส่องข้อมูลของคนผ่านเทคโนโลยี  หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในฟาร์ม เหมืองแร่ ในป่า ใครที่เป็นคนครอบครองข้อมูลเหล่านี้ และเพื่ออะไร 

หลายครั้งมีการใช้โดรนไปบินถ่ายเหนือฟาร์มเกษตร โดนที่เกษตรกรไม่ได้ยินยอม แต่เพื่อจะเก็บข้อมูลบิกดาต้าเพื่อใช้สำหรับผู้บริโภค ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับหลายอย่าง เราอาจจะได้ประโยชน์จากการซื้อของออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัล จะเห็นว่ารูปแบบอย่างเฟซบุ๊กไม่ใช่แค่ขายของอย่างเดียว แต่ขายข้อคิดเห็นทางการเมืองด้วย ข้อมูลที่อยู่ในแวววงออนไลน์เฟซบุ๊กไปขายให้กับบรรษัทที่ทำเรื่องการเมืองด้วย

“ในอนาคตธรรมนูญสิ่งแวดล้อม อาหาร ป่าไม้ ผู้ผลิต จะถูกขับออกไปเรื่อยๆ แม้จะเห็นผู้ที่ทำงานด้านนี้มาก แต่เทคโนโลยีจะอยู่ในกำมือของบรรษัทเกษตรกรรายใหญ่” 

เน็ท ดาโน  กล่าวถึงข้อเสนอที่น่าจะทำได้คือ ทางเลือกที่พัฒนามาและพิสูจน์แล้วคือระดับท้องถิ่น การเกษตรขนาดเล็ก การเกษตรครัวเรือน ส่งเสริมทางเลือกที่จะเป็นไปได้หรืออยู่รอดได้ และการสร้างเสริมเกษตรกรผู้ผลิตและบริโภค อย่างช่วงโควิด-19 การส่งเสริมเกตรกรผู้ผลิตกับบริโภค ในไทยก็มีการทำเกษตรแบ่งปันระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิต มีทางเลือกอื่นที่จะไม่เพิ่งเทคโนโลยี ในแง่ของการพัฒนา เรื่องของสภาพภูมิอากาศ มีชุมชนเป็นฐานที่จะช่วยแก้ปัญเหล่านี้ “เราไม่ควรที่จะมองแต่ทางออกที่จะใช้แค่เทคโนโลยี และเราต้องไม่เป็นผู้รับเทคโนโลยีโดยไม่ตั้งคำถาม ต่อผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม อยากเน้นเรื่องของทางเลือกเหล่านี้”

 “การเมืองกับการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมและปากท้องที่ดีขึ้น”

ดร.ยัง แสง โกมา ผู้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรม กัมพูชา, เจ้าของรางวัลแมกไซไซปี 2555 และประธานพรรครากหญ้าประชาธิปไตย กัมพูชา กล่าวในบริบทของประเทสกัมพูชาเพื่อสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ว่าทำไมคนที่มีชื่อเสียงมากๆ ในด้านเกษตรที่กัมพูชาถึงเลือกที่จะเป็นนักการเมือง 

ประเทศกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นเกษตร 70%  เป็นเกษรรายย่อย 1,400 หมู่บ้าน การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมามีการย้ายถิ่นไปในเมือง และไปทำงานที่ประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศไทย แรงงานอพยพกว่าล้านคน ขณะเดียวกันปี 1993 กัมพูชา เริ่มระบอบปกครองประชาธิปไตย มีเลือกตั้งเป็นต้นมา และตอนนี้มีสมาชิกสภาผู้แทน 125 คน และมีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นด้วยที่เรียกว่าคอมมูน

ดร.ยัง แสง โกมา เล่าประสบการณ์ว่าเริ่มทำงานกับ NGO ในปี 1995 หลังจากกลับจากเรียนที่เยอรมันนี นอกจากทำงานกับ NGO ก็สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย   ปี 1997-2015 จัดตั้งองค์กร NGO ชื่อ “เซดักต์”  ศึกษาและพัฒนาการเกษตร ทำงานสนับสนุนเกษตรรายย่อยทั่วประเทศ แต่มีขีดจำกัดเพราะจำนวนของ NGO ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตกรได้ ตนเองกับผู้นำชุมชนเห็นว่าต้องทำอะไรมากกว่านี้  จึงเริ่มตั้งพรรคการเมืองประชาธิปไตยรากหญ้า เพราะเห็นว่าต้องยกระดับงานระดับรากหญ้าไประดับนานชาติ อยากให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจระดับนโยบายเพื่อสร้างชาติ อยากสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ ที่เน้นเรื่องนโยบายที่อยู่บนคุณค่าแกนกลาง สมานฉันท์ ความยุติธรรม ความอดทน และความเห็นต่าง เพื่อทำให้การเมืองเป็นเรื่องปกติ และส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีความเห็นต่าง

“เราต้องการสร้างประชาธิปไตยในระดับชาติ และท้องถิ่น และภายในพรรคการเมืองเองด้วย และเราต้องการที่จะได้โอกาสยกระดับการปกครองแบบประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นไป เราเชื่อว่าการตั้งพรรคการเมือง น่าจะเป็นการสร้างโอกาสที่เราอาจจะทำอะไรได้ เพื่อในผู้คนเห็นว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร”

ในปี 2017 มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น พรรคของดร.ยัง แสง โกมา ไม่สามารถได้เสียงส่วนใหญ่ในระดับท้องถิ่นไหนได้ แต่ว่าก็มี ส.ส. และมีสมาชิกที่ได้รับเลือกเข้าไป 3 ชุมชน โดยมีสมาชิกสภาชุมชน 5 คน และพวกเราทำงานอย่างหนักเพื่อแนะนำการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ 

จากประสบการณ์เลือกตั้งระดับชาติ ปี 2018 พรรคของดร.ยัง แสง โกมา ส่งผู้สมัครเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้ง แม้ไม่สามารถได้ที่นั่งในสภาระดับชาติได้ แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่จะสามารถเผยแพร่ข้อเสนอแนะของเรา และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองต้องใช้เวลา และพบความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่า ผู้มีอิทธิพลในพรรคต่างๆ ที่กุมอำนาจแข็งแกร่งมาก การเข้ามาเล่นการเมือง คุณอาจจะถูกฆ่าถูกจับ มันเลยยากที่เราจะทำงานในสถานการณ์ลักษณะนี้ รวมถึงได้พบกับประสบการณ์เศร้า ปี 2016 เพื่อนร่วมงานถูกฆ่าตาย เพราะเหตุนี้เรามีความมุ่งมั่น ถึงแม้จะมีความกลัว แต่เราจำเป็นที่จะต้องสร้าง ตัวอย่างว่าการเข้าร่วมทางการเมืองไม่ใช่สิ่งเลวร้าย และความท้าทายอีกอย่างคือ ทำอย่างไรพรรคเราจะได้รับความเชื่อใจจากประชาชนว่าเราเป็นพรรคอิสระจริงๆ ที่ปฏิบัติตามคุณค่าแกนกลางที่ประกาศไว้ทุกประการ

ถึงแม้จะมีความท้าทายเข้ามาเยอะ เรามีความหวังและความมั่นใจในพลเมืองกัมพูชา และเราจะทำงานต่อไป และลงสมัครรับเลือกตั้ง ในปี 2565 ขณะเดียวกันเราก็ทำงานในระดับชาวบ้านไป เพื่อที่จะพัฒนาการปกครองแบบประชาธิปไตยเผยแพร่คุณค่าแกนกลางของเรา เน้นในเรื่องการปรองดองระดับชาติ เน้นเรื่องเศรษฐกิจ แรงงาน สาธารณะสุข การศึกษา เยาวชน สวัสดิการสังคม และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 

จากประสบการณ์ในการทำงานทางการเมืองพรรคการเมืองของเขาในช่วง 4-5 ที่ผ่านมา ดร.ยัง แสง โกมา เชื่อว่าพรรคการเมืองของเขาสามารถจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ โดยไม่ใช่การแย่งชิงอำนาจ แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาในการนำเสนอวัฒนธรรมใหม่ ตั้งแต่ผู้นำในระดับท้องถิ่นขึ้นไปจนถึงระดับชาติ มันอาจจะใช้เวลากว่า 20 ปีก็ได้

“ถ้าเรามีฐานล่างที่มันหนาแน่นแข็งแรงเราก็จะสามารถที่จะสร้างขึ้นต่อไปได้สูง เราพยายามพัฒนาท้องถิ่นชุมชนที่เรามีส่วนร่วมด้วยในเป็นตัวอย่าง เพื่อที่จะสร้างความสำเร็จในผู้คนได้เห็น สามารถนำความสำเร็จไปสู่ระดับชาติด้วย”

การเมืองและความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคแม่น้ำโขงและอาเซียน

ธารา บัวคำศรี จากกรีนพีซประเทศไทย กล่าวถึง “อากาศ” ซึ่งปัญหาร่วมของภูมิภาคนี้โดยเขาบอกว่าคำว่าโลกร้อน เป็นคำที่รู้จักกันที่อยู่แล้ว แต่อยากให้อีกคำคือ “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” มันเข้าไปอยู่ทั้งในปริมณฑล กาลเวลา และสถานที่  อยู่ในทุกๆ ที่เราไป อยู่ในความคิดของคน อยู่ในงบประมาณและนโยบายของรัฐ

ด้านนึงเรามันจะพูดกันทุกวันว่า แต่ละคนจะช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือจะสร้างจิตสำนึกอย่างไร อีกด้านนึงเราก็เป็นประจักษ์พยานการสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมันจะส่งผลต่อชีวิตประจำวัน รวมถึงอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตามเราพบว่า  วิกฤติสภาพภูมิอากาศ และคำว่าโลกร้อน มันถูกลดทอนในมิติทางการเมือง ให้เป็นแค่การพูดถึงเรื่องการถือถุงผ้า การไม่ใช้หลอด มันถูกลดทอนมิติทางการเมืองอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะถ้าเราพูดถึงความท้าทายในสิ่งแวดล้อมที่เราต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเขื่อนขยาดใหญ่ในลุ่มน้ำโขง และนโยบายป่าไม้ของประเทศที่ผลักคนยากไร้ออกจากป่า หรือแม้กระทั่งโครงการพัฒนาต่างๆ โครงการกำแพงกันคลื่น กลายเป็นปัญหาที่เพิ่มเข้ามา หรือเรื่องเหมืองแร่ก็เช่นกัน

เรื่องความเป็นธรรมทางด้านสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดขึ้นมาพร้อมกับกระบวนการเคลื่อนไหวในเรื่องของการเจรจาเรื่องโลกร้อน มีมาตั้งแต่ 20 ปีย้อนหลังไป มีการประชุมเจรจาเรื่องโลกร้อนที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ หรืออย่างในประเทศไทยเองก็มีคณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรมเป็นแนวร่วมระดับโลก แต่ที่พีคที่สุดคือการประชุมที่โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก 2552 เป็นครั้งสุดท้ายที่จะทำเรื่องนี้ แต่ก็ผิดหวังมาก มีปฏิบัติการอารยะขัดขืนการลงมือปฏิบัติไปปิดโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านสโลแกน system not climax change แต่ว่าก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ซึ่งช่วงหลังจะเห็นว่ามีกระบวนการของคนหนุ่มสาวเด็กๆ อย่างเกรตา ธันเบิร์ก

“ความเป็นธรรมเรื่องสภาพภูมิอากาศมันเป็นเรื่องสิทธิของชุมนุมในการที่จะปกป้องวิถีชีวิตของตนเอง ไม่ใช่เรื่องที่จะเอาทรัพยากรไปเป็นสินค้า”

เครือข่ายความเป็นธรรมทางด้านสภาพภูมิอากาศ เสนอหลักการ 6 ข้อด้วยกัน และหลายๆ หลักการ ยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน เช่น การเก็บฟอสซิลไว้ใต้ดิน การแก้ปัญหาที่ผิดๆ ต้องหมดไป และให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาที่จะได้รับผลกระทบ, ยุติการแทรกแซง, บทบาทของอุตสาหกรรมที่เข้าไปมีอิทธิพลในเวทีการเจรจาเรื่องโลกร้อน ระดับโลกเป็นต้น

ทั่วโลกมีการฟ้องร้องคดี 1,587 คดีทั่วโลกเรื่องโลกร้อน และขยายไปทั่วโลก 28 ประเทศ ส่วนใหญ่ไปกระจุกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา 3 ใน 4 จำเลยส่วนใหญ่เป็นรัฐบาล และมีคดีเพิ่มขึ้นๆ ที่ฟ้องร้องภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมฟอสซิส แต่ขณะเดียวกันนักลงทุน ผู้ถือหุ้น ก็มีการฟ้องกลับด้วย และคดีโลกร้อนก็จะขยายไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา

จำนวนของกฎหมาย climate change law อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนโดยตรงเป็นพลังงานเป็นป่าไม้ แต่ถูกนิยามว่าเป็นเรื่องกฎหมายโลกร้อน คดีฟ้องร้องเรื่องโลกร้อนจะกระจุกตัวอยู่แถบอเมริกาเหนือกับยุโรป ซึ่งคดีเรื่องโลกร้อนจะมีอยู่ 2 ประเด็น เรื่องการผลักดันเชิงนโยบายเป็นกลยุทธเชิงยุทธศาสตร์ในการฟ้องร้องคดีเพื่อผลักดันนโยบาย และเปลี่ยนพฤติกรรมของบริษัท ข้อสังเกตอันนึงคือประเด็นสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนกับเรื่องวิทยาศาสตร์มันมีบทบาทคู่ขนาดกันไป และเพิ่มมากขึ้นที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้

ข้อสังเกตอีกอันคดีเรื่องโลกร้อนที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ จะมีเรื่องของความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศผนวกเข้าไปในการดำเนินการของธุรกิจเอกชนด้วย แต่สิ่งที่มันเป็นความท้าทายมันยังมีหลักฐานที่ไม่เพียงพอในเรื่องของผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่จะเอามาใช้ในการดำเนินคดีพอสมควร
คดีโลกร้อนส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 2  อันคือ เชิงกลยุทธ กับการฟ้องร้องทั่วไป เพื่อผลักดันให้เกิดความโปร่งใสยกระดับในเกิดการถกด้านนโยบายและการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้วย

สิ่งที่เป็นความท้าทายคือ คดีโลกร้อนใช้เวลานานมากใช้เวลาฟ้องร้อง 5-10 ปี มีต้นทุนที่สูงและเสี่ยงด้วย เพราะว่าจะมีการฟ้องปิดปาก มีคดีสแลป (SLAPP: Strategic Lawsuits Against Public Participation) นักกิจกรรมที่มีบทบาทสูงในเรื่องนี้

มีการเก็บข้อมูลที่เทียบให้เห็นว่าใน 10 ประเทศของอาเซียนไม่รวมประเทศติมอร์-เลสเต เรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโลกร้อนอยู่เยอะ แต่คดีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยมาก

อีกอันที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีวิกฤติสภาพภูมิอากาศพุ่งเป้าไปที่ผู้เล่นรายใหญ่ที่เรียกว่า Carbon Majors มีคณะทำงานวิจัยที่พบมีร้อยกว่าบริษัทที่เป็นอุตสาหกรรมฟอสซิล อุตสาหกรรมเหมืองแร่ใหญ่มากที่ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดวิกฤติสภาพภูมิอากาศประมาณ 71% ที่เหลือคือกิจกรรมย่อยๆของมนุษย์ แต่นี่คือผู้เล่นรายใหญ่

นอกจากอุตหสากกรมฟอสชิล ยังมีอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งทำมาจากฟอสซิล ทำให้เห็นว่า บางทีเราไปพุ่งเป้าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนซึ่งมันลดมิติทางการเมืองลง แทนที่จะไปดูว่าตกลงใครเป็นตัวการกันแน่

นอกจากโครงการขนาดใหญ่ๆ ในลุ่มน้ำโขงในอาเซียน เราพบว่านอกเหนือจากประเทศจีน ภูมิภาคนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเป้าหมายใหญ่ของการขยายการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ เจ็ดหมื่นเก้าพันเมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าอินเดีย ตุรกี บังกลาเทศ มากกว่าทั่วโลกที่เหลืออยู่ นอกเหนือจากจีน

อุตสาหกรรม มลพิษข้ามพรมแดน และความจำเป็นของประชาธิปไตย”

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวในประเด็นนี้ โดยย้อนมองไปดูประวัติศาสตร์ คำว่าสิ่งแวดล้อมกับความสำคัญต่อมนุษยชาติมันมีการหยิบยกขึ้นมาพูดในเวทีระดับโลกครั้งแรกเมื่อปี 1972 ซึ่งเกือบ 40 ปีที่แล้ว

โรคมินามาตะ เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดจากอุตสาหกรรม ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ริมอ่าวมินามาตะ เสียชีวิตไปหลายพันคนด้วยโรคพิษปรอท ซึ่งเกิดขึ้นมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และปิโตรเคมี จนนำไปสู่การพูดคุยในเวทีระดับนานาชาติ นั่นคือครั้งแรกของประวัติศาสตร์ระดับโลก

ปี 1992 เป็นการประชุม Earth Summit ครั้งที่ 1 เป็นการประชุมของสหประชาชาติที่ว่าด้วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกที่เคยมีมา มีผู้นำมาประชุมหลายร้อยประเทศ มีการพูดถึงกันมาอย่างยาวนาน คือปฏิญญาริโอ กับแผนพัฒนาที่ยั่งยืน 21 มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสมัชาคนจนในบ้านเราในยุคนั้น

ในปฏิญญาริโอ มันเกิด 3 หลักการใหญ่ที่พูดว่าจากนี้ไปโลกเราจะก้าวไปข้างหน้า จะมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจสังคม แต่จะต้องมีหลักการพื้นฐาน 3 ประการไม่อย่างนั้นโลกของเราจะพบกับหายนะ คือ 1.ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับนโยบายในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในการพัฒนา 2.ประชาชนจะต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจะต้องเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม และ 3.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมการเข้าถึงความเป็นธรรม อันนี้เป็น 3 หลักการใหญ่ ที่ค่อนข้างเป็นอุดมคติ ต่อมาก็มีการทบทวนแผนแต่ก็ยังไม่เกิดการส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่มีความคืบหน้าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ภาพรวมของสิ่งแวดล้อมแย่ลง ทั้งๆ ที่เราผ่านสิ่งที่มันขบคิดมาแล้ว

ภาพจาก : MAEW2020

การเกิดขึ้นของอนุสัญญาต่างๆ เช่น ข้อตกลงและอนุสัญญาต่างประเทศเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและป้องกันมลพิษข้ามพรมแดน อย่างตัวสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน เริ่มลงนาม 24 พ.ค. 2001 มีผลบังคับใช้ในปี 2004 มีส่วนสำคัญอีกว่าพยายามควบคุมให้นานาประเทศ ลดการปล่อยมลพิษบางตัวที่มันสามารถเดินทางข้ามทวีป ข้ามพรมแดนได้ นั่นคือสารไดอ๊อกซินกับสารก่อมะเร็งอีกบางตัว อนุสัญญาฉบับนี้จะมีส่วนสำคัญมากกับการที่จะพยายามให้นานาประเทศควบคุมการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถเดินทางข้ามทวีปได้

หรืออนุสัญญามินามาตะ ว่าด้วยเรื่องสารปรอท จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2556 ต่อสู้ตลอดมาแต่เพิ่งเกิดสัญญาในไม่กี่ปี ต้องการควบคุมการแพร่กระจายปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเป็นตัวที่ปล่อยหนัก  หรืออุตสาหกรรมปิโตรเลียมอีกตัวที่ปล่อยสารสู่สิ่งแวดล้อม

สารปรอทจากโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถเดินทางข้ามมายังประเทศไทยได้ ไปพม่าหรือประเทศอื่นๆ อีกหลายที่ เพราะมันเดินทางได้ไกลและอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้อยู่ในประเทศไทยก็ใช่ว่าเราจะปลอดภัยจากสารปรอท

รูปแบบเอาเปรียบทางสิ่งแวดล้อมมันหนักขึ้น คือ

1.การส่งออกการลงทุนอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมรีไซเคิลของเสีย

2.การสร้างสองมาตรฐานในการให้ข้อมูล การดูแลสิ่งแวดล้อมและการลงทุน

3.การส่งออกของเสียไปรีไซเคิล/กำจัดทิ้งในประเทศกำลังพัฒนา และผนวกเงื่อนไขในข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs)

ตอนนี้เกิดขึ้นการมีส่วนร่วมในไทย เช่น การลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้าน ดังนั้น ข้อเสนอต่อเรื่องประชาธิปไตยในสิ่งแวดล้อม คนเราจะหยุดสู้ไม่ได้ ชีวิตชาวบ้านไม่สามารถที่จะหยุดสู้ได้ และนี่คือความเป็นจริงที่เป็นจริงที่สุด ซึ่ง 20 ปี ที่เราทำงานนี้มา เมื่อไหร่ก็ตามที่ชุมชนแต่ละชุมชนท้อแท้เหนื่อย หรือสู้ไม่ได้ สิ่งแวดล้อมตรงนั้นจะถูกทำลายทันที การลุกขึ้นมาต่อสู้คือการพัฒนาที่ยั่งยืน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ