รายงานบรรยากาศงานมหกรรมอาหารจานช้า (Slow Food Youth Network 2015) เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี การรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ที่สนใจในเกษตรกรรมและระบบอาหารทั่วทุกมุมโลก เพื่อสร้างเครือข่ายในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และดูแลอนาคตความมั่นคงทางอาหารของโลก
รายงานโดย: นคร ลิมปคุปตถาวร
มหกรรมอาหารจานช้า (Slow Food 2015) จัดขึ้นที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 3-6 ตุลาคม 2558 ในปีนี้เป็นเวทีของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่สนใจด้านเกษตรกรรมมาร่วมคิดถึงอนาคตของระบบอาหาร รักษาไว้ซึ่งเกษตรกรรายย่อย สร้างการผลิตอาหารที่อย่างปลอดภัย และยั่งยืน ภายใต้หัวข้อTerra Madre Giovani : “ We Feed The Planet” (เราผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงโลก) และมี 4 ตัวแทนจากเมืองไทย คือ คุณนคร ลิมปคุปตถาวร เจ้าของ ‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก’ ย่านลาดพร้าว 71 คุณกาย – ไลย มิตรวิจารณ์ กลุ่ม Fact collective ที่ปรึกษาและผู้เชียวชาญด้านอาหาร คุณอภิศักดิ์ กำพล เกษตรกรรุ่นใหม่จากแม่ทา เชียงใหม่ และ คุณลี อายุ จือปา เจ้าของอาข่า อาม่า ผู้พัฒนากาแฟชุมชนให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก
คาร์โล เพตรินี่ (Carlo Petrini) ผู้ก่อตั้ง slow food อิตาลี ได้กล่าวถึงความสำคัญของ Terra Madre Giovani หรือการมีผืนแผ่นดินเป็นแม่ จึงต้องร่วมกันรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
“พวกเราทุกคนล้วน มีแผ่นดินเป็นแม่ มีแม่เป็นแผ่นดิน (Terra Madre) พวกเราจึงเป็นดั่งพี่น้องกัน (Brotherhood) ทุกสิ่งพวกคุณกำลังทำอยู่นั้น ล้วนมีความหมาย การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ สิ่งที่มองว่าดูเหมือนจะธรรมดา การที่คุณให้ความสำคัญกับผักต้นเล็กๆ ผักธรรมดาๆ บ้านๆ ที่คุณกินกันอยู่ ปลูกกันอยู่นะแหละ คือ สิ่งที่สำคัญ พวกเราทุกคนมาจากสิ่งนี้ พวกเราคือความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ความหลากหลายนี้แหละที่เราต่างร่วมกันช่วยกันรักษาและปกป้องเอาไว้ด้วยกัน สโลว์ฟู้ดไม่ใช่พรรคการเมืองอะไร แต่เราต่างเป็นเครือข่ายกันและกัน ดั่งพี่น้อง การที่คุณมาที่นี่และช่วยนำเอาข้อความของพวกเรากลับไปบอกต่อกับผู้อื่นด้วยภาษาของคุณนั่นก็มีความหมายมากพอแล้วที่เราต่างได้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน” คาร์โล เพตรินี่” (Carlo Petrini) ผู้ก่อตั้ง slow food
ในงานนี้ทางองค์กร Slow Food อิตาลี ได้สอบถามคนรุ่นใหม่ในประเทศผู้เข้าร่วมถึงปัญหาหรือวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันของระบบอาหารที่เป็นอยู่คืออะไร และหนทางออกอยู่ตรงไหน
ในความคิดของนคร ลิมปคุปตถาวร ได้กล่าวถึงมิติทางวิญญาณที่ห่างไกลจากระบบอาหารตามธรรมชาติ ดังนี้
“ปัญหาสำคัญที่สุดและลึกที่สุดเป็นวิกฤติทางจิตวิญญาณ ที่เราออกห่างไกลจากอาหาร ห่างไกลออกจากผืนดิน เพราะหากเราสนับสนุนอาหารและความเชื่อที่คิดควบคุมธรรมชาติ ทั้งการดัดแปรพันธุกรรม การปลูกเลี้ยงเนื้อสัตว์ (in-vitro meat) การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน รูปการของทางเลือกเช่นนี้ ทำให้เราห่างจากอาหารที่มาจากธรรมชาติ ห่างไกลจากผืนดิน เมื่อเราห่างไกลจากผืนดิน เราก็จะไม่ได้รับสิ่งที่ผืนดินและธรรมชาติมอบให้ สำหรับทางออกผมที่คิดออกก็คือ เราควรมอบพลังและความเชื่อมั่นให้กับผู้คนที่จะพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้ เป็นพลเมือง เกษตรกร และผู้บริโภคที่แข็งขัน เพราะทางออกไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีวิธีผลิตอาหารที่ผลิตได้มากพอสำหรับทุกคนหรือเปล่า แต่อยู่ที่ว่าเรามีคนที่เชื่อมั่นและสามารถทำได้มากเท่าใดต่างหาก ซึ่งทำได้มากมายตั้งหลายวิธี” นคร ลิมปคุปตถาวร
เซิร์จ ลาตูเช่ (Serge Latouche) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยปารีส กล่าวถึง การแก้ปัญหาที่แท้จริงผ่านเศรษฐกิจแบบประโยชน์ส่วนรวม (Economy for the Common Good) อันเป็นระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่เพื่อการเข้าถึงความสุขที่แท้จริง ไม่มุ่งเน้นการแข็งขัน ซึ่งมีความไม่เป็นธรรมอยู่และเป็นบ่อเกิดของความเหลี่อมล้ำในปัจจุบัน
ราจ พาเทล”(Raj Patel) นักเขียนและที่ปรึกษาบรรษัทและธุรกิจเพื่อสังคม ชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย กล่าวถึงปัญหาของยุคอาหารถูกอันนำไปสู่วิกฤติ และการทำระบบเกษตรและอาหารแบบอุตสาหกรรม แต่สามารถลดลงและแก้ไขได้ในปี 2014 ด้วยการที่ครอบครัวทั่วประเทศหันกลับมาใส่ใจในการคิดสูตรอาหาร การทำอาหาร การกินข้าวร่วมโต๊ะกัน การปลูกผักและผลิตอาหารไว้กินเอง คือตัวอย่างพลังของมื้ออาหารที่ทุกคนร่วมกันผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน
อลิซ วอลเตอร์ (Alice Walter) เชฟ นักเขียน เจ้าของร้านอาหาร และนักกิจกรรม ในเบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา ผู้บุกเบิก “ศิลปะการปรุงอาหารแห่งแคลิฟอร์เนีย” (California Cuisine) ด้วยอาหารอินทรีย์ที่ปลูกในท่องถิ่น หรือโครงการสวนผักในโรงเรียนหลายแห่ง ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับ มิเชล โอบามา ในการทำสวนผักเกษตรอินทรีย์ทำเนียบขาว เธอเชื่อว่า “เกษตรกร คือ ครู” (Farmer is a Teacher) ของเธอและเด็กๆ ทุกคน การสร้างจิตสำนึกด้านอาหารตั้งแต่วัยเด็ก จะเป็น “ความหวัง” ท่ามกลางอิทธิพลของบรรษัทที่ควบคุมระบบอาหารมีต่อรัฐและผู้คนในปัจจุบัน
ทั้งนี้ทางองค์กร slow food ยังเสนอแนวทางกินอยู่อย่างรับผิดชอบภายในในงาน โดยอาหารทุกจานในงานมาจากผัก ไข่ และนม ปราศจากเนื้อสัตว์ ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ และแก้ว ถ้วยจาน ชาม ช้อน ส้อม มีด ตลอดจนถุงบรรจุสามารถย่อยสลายได้ในกองปุ๋ยหมัก (Compostable) มีเพียงถ้วยโยเกิร์ตและขวดน้ำเท่านั้น ที่ต้องนำไปผลิตใหม่ (Recycle) ซึ่งถือเป็นการลดขยะ และเป็นการจัดการอย่างยั่งยืน