P-MOVE แถลงผ่าวิกฤติประเทศไทย เดินหน้าเลือกตั้ง ควบคู่การปฏิรูปประเทศไทย ระบุบทเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในอดีตเห็นชัดประเทศต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อยกระดับการพัฒนาเปลี่ยนกฏเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เตรียมเสนอรายละเอียดปฏิรูปแต่ละประเภทในเวทีพรรคการเมืองพบประชาชน
(ภาพจากเฟศบุ๊ค ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม)
วันนี้ (๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๖) กลุ่มประชาชนซึ่งรวมตัวกันเป็นขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม ๔ ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาค เหนือ (สกน.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) เครือข่ายชุมชนเพื่อ การปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ออกแถลงการณ์เรื่อง ผ่าวิกฤติประเทศไทย เดินหน้าเลือกตั้ง ควบคู่การปฏิรูปประเทศไทย
โดยระบุเนื้อหาว่า ตามที่สถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในสภาพวิกฤติแล้วในขณะนี้ โดยมีสาเหตุหลักคือความไม่เชื่อมั่นต่อพฤติกรรมของนักการเมือง และระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่นั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้ รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต อันเป็นปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทํากินและที่อยู่อาศัย ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน ปัญหาการไร้สิทธิสถานะและชาติพันธ์ุ ปัญหาจากการสร้างเหมืองและโรงไฟฟ้า ปัญหาการทําเกษตรพันธะสัญญา รวมทั้งปัญหาความไม่เป็นธรรมจาก กระบวนการยุติธรรม ทั้งจากคนจนในชนบทและคนจนในเมือง ในฐานะหุ้นส่วนทางสังคม มีความเห็นต่อสถานการณ์วิกฤติทางการเมืองว่าการคอรัปชั่นที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย เกิดขึ้นจากการกระชับอำนาจไว้ที่นักการเมือง กลุ่มการเมือง ไม่กี่กลุ่ม ที่พากันฉกฉวย โอกาสและแย่งชิงทรัพยากรของส่วนรวมไป กลุ่มคนจน คนรากหญ้า คนชายขอบตกอยู่ในสภาพของผู้ถูกกระทำมาตลอด คนเหล่านี้ถูกบังคับให้จำนนต่อการเอาเปรียบมายาวนานในสังคมไทย
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ทั้งการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การปฏิรูปเป็นการปรับเปลี่ยนและยกระดับ แนวคิด เนื้อหาและกฎเกณฑ์ต่างๆในอดีตที่ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของสังคม
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ คงไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ในช่วงเวลา ๑ ปี หรือ ๒ ปี เพราะการปฏิรูปจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน โดยไม่ขัดแย้งต่อระบอบประชาธิปไตย และกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการปฏิรูปอาจนำไปสู่การปรับปรุงกติกาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปด้วย
ดังนั้น จุดยืนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ต่อสถานการณ์นี้คือ
๑. สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เพราะเป็นขั้นตอนสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และกติกา ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
๒. สนับสนุนให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ครั้งใหญ่ ดังนี้
๒.๑ การปฏิรูปการเมือง
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ไม่เชี่อว่า การปฏิรูปการเมือง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือแม้แต่การจัดตั้งองค์กรทางการเมืองเพื่อถ่วงดุลอำนาจ จะเป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยรวมของสังคมไทย แม้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิรูปการเมือง แต่หากขาดการปฏิรูปโครงสร้างอื่นๆที่สำคัญ ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่เป็นธรรมได้
๒.๒ การปฏิรูปเพื่อการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน
๒.๓ การปฏิรูปการจัดการและการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ
๒.๔ การปฏิรูปที่ดิน
๒.๕ การปฏิรูปอำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรม
แถลงการณ์ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ระบุด้วยว่าสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในขณะนี้คือการดำรงอยู่ของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แตกต่างกันเพียงบางแง่มุม ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจัดการเลือกตั้งขึ้น ควบคู่ไปกับการปฏิรูปครั้งใหญ่ จึงน่าจะเป็นทางออกที่จะนำสังคมไทยออกจากภาวะวิกฤติได้ในขณะนี้ โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จะแถลงรายละเอียดการปฏิรูปตามข้อเสนอข้างต้นในเวทีที่จะจัดให้พรรคการเมืองได้ร่วมรับฟังข้อเสนอต่างๆจากภาคประชาชนต่อไป
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ในการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติการเมืองไทยในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นเวทีที่จัดโดยรัฐบาล และทาง กปปส. นั้น ต่างได้มีการเชิญกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move เพื่อเข้าร่วมในเวทีของทั้งสองฝ่าย ซึ่งกลุ่ม P-move ขอไม่เข้าร่วมเวทีที่ทั้งสองฝ่ายจัดขื้นแต่ได้ติดตามดูทิศทางและความชัดเจนของทั้งสองฝ่ายก่อน และกำหนดเปิดการแถลงข่าวขึ้น ในวันจันทร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้อง 213 ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย