“การเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงเทพฯ ควรจะเชื่อมไปกับเรื่องของประเด็นเรื่องการปกครองท้องถิ่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้เห็นมิตินี้มากกว่าเห็นแค่เรื่องของการเลือกตั้ง”
เรืองฤทธิ์ โพธิพรม ฝ่ายข้อมูลและวิชาการ We Watch
กิจกรรมหลัก ๆ ที่คิด และวางแผนไว้ ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ การสำรวจข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง ความคาดหวังกับการปกครองท้องถิ่น กิจกรรมถัดมาจะทำเรื่องการสร้างพื้นที่เรียนรู้ในเรื่องประชาธิปไตย การเลือกตั้ง การกระจายอำนาจ และการอบรมการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยใช้พื้นที่ออนไลน์ในการทำกิจกรรม ส่วนกิจกรรมสุดท้ายจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูล และการรณรงค์ ซึ่งประเด็นสำคัญคือเรื่องการกระจายอำนาจ
คาดหวัง และคิดเห็นอย่างไร ต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
กิจกรรมในส่วนนี้ทำเพื่อเก็บข้อมูล เรื่องความคาดหวัง ความต้องการให้กรุงเทพฯเป็นอย่างไร และมุมมองเรื่องการกระจายอำนาจว่ามีความคิดเห็นอย่างไร โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนกรุงเทพฯ รวมไปถึงคนต่างจังหวัดที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯด้วย จะเน้นที่การลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล โดยแบ่งพื้นที่การสำรวจออกเป็น 4 โซน ครอบคลุมทั้งหมด 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ
ในส่วนของแผนการสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์นั้นจะมีการประเมินกันอีกครั้ง เพราะประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาจากการสำรวจผ่านออนไลน์จะมีคนเข้าถึงได้น้อย เมื่อเทียบกับการลงไปในพื้นที่จริง ที่ผ่านมาจะให้เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครขอความร่วมมือกับอาจารย์ เพื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันเรามีเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ประมาณ 36 แห่ง วิธีการนี้ได้ผลที่ดีกว่าทั้งในด้านจำนวน และการสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กับคนอีกด้วย
สร้างพื้นที่เรียนรู้ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย การเลือกตั้งและการกระจายอำนาจ คือประเด็นที่จะใช้พูดคุยกันในกิจกรรมการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ เมื่อพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งก็จะเชื่อมไปสู่เรื่องการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญ การสังเกตการณ์จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการจัดการเลือกตั้งได้ ทำผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตระหนักถึงเรื่องของการทำตามระเบียบ กฎ กติกาของการเลือกตั้ง และให้ความสำคัญกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งกระบวนการสังเกตการณ์นั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ก่อการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง
เวลาทางกลุ่มทำเรื่องการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เรามีการคุยไปถึงเรื่องการเมืองเป็นอย่างไร การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยเป็นอย่างไร เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าการสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ทุกกคนกำลังช่วยกันทำอยู่ ช่วยหนุนเสริมเรื่องประชาธิปไตยอย่างไร
เรืองฤทธิ์ โพธิพรม กล่าวเสริม
สื่อสาร สร้างการรับรู้
การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เนื้อหา รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยจะนำเสนอผ่านช่องทางหลักก็คือ เพจเฟซบุ๊ก We Watch ส่วนการกระจายนอกเหนือจากนี้จะมีการประสานขอความร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายอื่น ๆ รวมไปถึงสื่อที่จะประสานได้ โดยรูปแบบการนำเสนอเนื้อหา หรือข้อมูลนั้น จะมีทั้ง บทความ รายงาน กราฟิก และภาพ ที่ได้จากการ 2 กิจกรรมที่กล่าวไว้ทั้ง กิจกรรมการสำรวจข้อมูลความคิดเห็น และกิจกรรมการสร้างพื้นที่การเรียนรู้
ข้อค้นพบจากการทำงานที่ผ่านมา
เราจะทำยังไงให้ระบบ และการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ ประชาชนต้องพิสูจน์ให้เห็น ถึงแม้ในการจัดการเลือกตั้งจะยังคงมีปัญหา แต่เราสามารถช่วยกันแก้ไขได้ เรามีแผน และพยายามผลักดัน เรื่องการสังเกตการณ์นโยบาย ในระหว่างหาเสียง และติดตามว่าหลังจากการเลือกตั้งทำอะไรได้บ้าง รวมไปถึงเรื่องการใช้งบประมาณ ถ้าประชาชนเห็นความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้เกิดพลัง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้
ข้อสังเกตจากการทำงานในเรื่องของการสังเกตการณ์เลือกตั้งที่ผ่านมาพบว่าการจัดดการเลือกตั้งที่ผ่านมากยังมีข้อบกพร่องอยู่ เช่น การประชาสัมพันธ์ที่เข้าไม่ถึงคนหลากหลายกลุ่ม ควรจะต้องมีการออกแบบให้เหมาะสม และในเรื่องการอำนวยการให้ประชาชนสามารถไปเลือกตั้งได้ เช่น อาจจะต้องจัดให้มีคูหาพิเศษสำหรับผู้พิการในด้านต่าง ๆ ประเด็นเหล่านี้คือการเข้าถึงสิทธิของคนซึ่งสำคัญมาก