โฉนดชุมชน “กุญแจ” ไขประตูบ้านในวันที่อยู่อาศัยโลก
เครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move สลัมสี่ภาค และภาคีทั่วประเทศ เดินหน้าทวงถามรัฐบาลถึงการสร้างหลักประกันในการเข้าถึงที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยของประชาชน ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก
ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก หรือ World Habitat Day ซึ่งในปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด Mind the Gap Leave No One and Place Behind หรือ ‘ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง’
ปี 2565 วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้จัดรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move และภาคีทั่วประเทศ รวมถึงเครือข่ายผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ทั้ง ในเมือง และชนบททั่วทุกภาค กว่า 3,000 คน นัดพบกันที่ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร เช่นเดียวกับ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี (คปสม.) ที่เดินทางกว่า 600 กิโลเมตร จากเมืองดอกบัวงามเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เดินหน้าร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อทวงสิทธิที่อยู่อาศัยต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้ จำปี มรดก ชาวชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชพราบ จ.อุบลราชธานี หนึ่งในเครือข่าย คปสม.อุบลราชธานี เล่าว่า แม้ตอนนี้จังหวัดอุบลราชธานีจะเจอภัยพิบัติน้ำท่วมหนัก แต่ก็ตั้งใจและจำเป็นต้องมาร่วมเพราะที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญกับเธอและเครือข่าย
“มาจากอุบลราชธานีค่ะ ซึ่งพวกเราก็มีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย คือวันนี้ของทุกปีมันตรงกับวันที่อยู่อาศัยของโลก เราจึงมาทวงสิทธิ์ว่าเขาจะทำอย่างไรในเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยของพี่น้องคนจนเมือง อย่างกรณีโฉนดชุมชนจะมีการขับเคลื่อนไปอย่างไรเพื่อให้เป็นความมั่นใจของพี่น้องที่ประสบปัญหาอยู่ ซึ่งชุมชนตอนนี้ก็ประสบภัยเรื่องน้ำท่วมถึงแม้น้ำท่วมแต่เราก็มีใจอยากมาเพราะมันเป็นวันที่อยู่อาศัยของโลก เห็นทางรัฐเฉย ๆ เหมือนไม่ร้อนใจ แต่ชาวบ้านเราร้อนใจ เพราะปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม เรื่องที่อยู่อาศัยทำให้ประชาชนคนจนเดือนร้อนทุกด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ คือเหมือนนิ่ง ๆ เฉย ๆ ไม่มีคำตอบ”
เช่นเดียวกับ แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม จ.นครราชสีมา ให้ข้อมูลสำหรับข้อเรียกร้องของชาวบ้าน บอกว่า โครงการบ้านมั่นคงที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีงบประมาณอุดหนุนการสร้างบ้าน 3 หมื่นบาท และสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4 ผ่อน 15-20 ปี กู้เงินได้ไม่เกิน 3 แสนบาท ในจำนวน 166 ครัวเรือน มีเพียง 27 ครัวเรือนเท่านั้น ที่ประเมินแล้วว่าสามารถส่งหนี้ได้ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ดังนั้น จึงมาเรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติเงินอุดหนุนเพิ่มผ่าน พม. ตามมติ ครม.วันที่ 1 กุมภาพัน์ 2565 ที่ ครม.รับในหลักการแล้ว
ด้าน จำนงค์ จิตรนิรัตน์ คณะกรรมการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา P-Move ก็ได้เล่าถึงประเด็นปัญหาโดยรวมที่ต้องการให้ทบทวนแก้ไขตามข้อเรียกร้องรวมถึงความคาดหวังของเครือข่ายองค์กรที่มาร่วมกันรณรงค์ในวันที่อยู่อาศัยโลกครั้งนี้
“เดิมในชุมชนเมืองก็มีการมาเรียกร้องยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลซึ่งทำกันทั่วโลก แต่ว่าใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีชาวชนบทก็คือผู้ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยมาร่วมกัน ครั้งนี้ก็ทำในนามของสลัม 4 ภาค และ P-Move ซึ่งก็มายื่นข้อเรียกร้องกับรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดิน ,รถไฟ ,ที่ดินเอกชนทับที่ทำกิน ,ที่ดินชาวเล รวมถึงที่ดินทุกประเภทที่มารุกรานชุมชน ส่วนที่สองเรามีการเจรจาให้รัฐบาลรับรอง พ.ร.บ. 2-3 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ คทช. ทวงคืนผืนป่าที่เป็นคดีกว่า 40,000 กว่าคดี ซึ่งอันนี้จะเป็นประเด็นเรื่อง พ.ร.บ. แรก ๆ ที่สำคัญที่สุดในการเจรจาวันนี้นะครับ ให้รัฐบาลรับรอง และพ.ร.บ.เรื่องชาติพันธุ์ พ.ร.บ.เรื่องภัยพิบัติ แล้วก็เรื่องรัฐสวัสดิการ
ส่วนนอกนั้นก็เป็นเรื่องที่ค้างจากการเจรจาของ P-move กับรัฐบาลเรื่องการแก้ไขปัญหาโครงการขนาดใหญ่ที่ไปกระทบกับชาวบ้านเรื่องสาธารณูปโภคแล้วก็เรื่องสัญชาติ วันนี้ก็จะเจรจาเพื่อให้มีการนัดประชุมให้มีการแก้ไข ทางชาวบ้านก็หวังว่าในวันสหประชาชาติ รัฐบาลจะให้ของขวัญกับคนจน ซึ่งหลัก ๆ ที่จะได้ชัดเจนก็คือผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นคนพูดเองว่า จะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินประชาชนอยู่ในที่สาธารณะซึ่งมีจำนวนมาก
ถ้าแก้ตรงนี้ได้ก็ถือว่าปลดล็อคอกชุมชนเมืองไปได้เยอะเลย และที่กระทรวงคมนาคมเรื่องการเช่าที่ให้ชุมชนได้มีโอกาสเช่าที่การรถไฟสำหรับทั่วประเทศนะ ประมาณ 20 กว่าจังหวัด ซึ่งอันนี้ก็รับปากเป็นทางการ แล้วก็กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็จะตั้งคณะทำงานเพื่อมาดูเรื่องการดูแลประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และมีข้อตกลงเรื่องการอนุมัติงบประมาณที่จะเพิ่มจากเรื่องบ้านมั่นคง ก็จะมีการเพิ่มยอดงบให้ ซึ่งก็ถือว่าจะเกิดประโยชน์กับพี่น้องชุมชนทั่วประเทศ”
นอกจากนี้ ยังมีการติดตาม ข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อสร้างหลักประกันในการเข้าถึงที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยของประชาชน ที่รัฐบาล พลเอกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับข้อเสนอไปตั้งแต่ พ.ศ. 2563 มี 3 ด้านหลัก คือ
1. ด้านการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน จะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนพัฒนา รวมถึงให้มีการแบ่งปันที่ดินสำหรับที่ดินของรัฐ และนำนโยบายโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดินมาใช้รับรองสิทธิ
2. ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต ให้เพิ่มประเภทสหกรณ์ที่สอดคล้องกับการดำเนินการที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคง ต้องสนับสนุนศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และสนับสนุนให้เกิดระบบบำนาญแห่งชาติ
3. ด้านสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็น และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ให้ภาครัฐหยุดละเมิดสิทธิและหยุดคุกคามประชาชน และต้องสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในวันเดียวกัน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อนุชา นาคาศัย มารับเรื่องเนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล เพื่อไปเจรจาเรื่องที่ยังคางคาทั้งของเครือข่ายพีมูฟและสลัม 4 ภาค ดังนี้
1.ขอให้เร่งรัดคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จัดประชุมเพื่อพิจารณายกระดับการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนและดำเนินการตรวจสอบพื้นที่โฉนดชุมชน 486 ชุมชน โดยให้เร่งรัดเพื่อประกาศรับรองพื้นที่ของขปส.จำนวน 196 ชุมชน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการตามมาตรการของ คทช.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในพื้นที่ของขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีระเบียบหรือหลักเกณฑ์ปฏิบัติของ คทช.ตามมาตรา 10(4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ชัดเจน โดยให้ คทช.เร่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน รายละเอียดตามที่ส่งมาด้วย
2.เร่งผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ตามผลการดำเนินงานของคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ เพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวให้ทัน ในสมัยของอายุรัฐบาลชุดนี้ รายละเอียดตามที่ส่งมาด้วย
3.ขอให้คณะรัฐมนตรีเร่งพิจารณาให้ความเห็นชอบกรณีชุมชนที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้านและปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้
4.ขอให้ท่านในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เร่งลงนามให้คำรับรอง “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. …. ฉบับประชาชน 16,559 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่ากฎหมายดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาให้นายกรัฐมนตรีเพื่อให้คำรับรองโดยเร่งด่วน และผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับ พ.ศ. …ที่ร่างโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและคุ้มครองวิถีชีวิตของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ฯ
5.เร่งรัดผลักดันนโยบายการจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้า 9 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเด็กและเยาวชน ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน ด้านงานและรายได้ ด้านการประกันสังคม ด้านระบบบำนาญประชาชน ด้านสิทธิทางสังคม ได้แก่ การยกระดับเบี้ยยังชีพคนพิการ สิทธิในการข้ามเพศ ชนเผ่าพื้นเมืองและผู้ไร้สถานะทางบุคคล พนักงานบริการ (Sex Worker) คนไร้บ้าน ภายใต้การให้ความเคารพและยอมรับในหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเข้าถึงสิทธิสวัสดิการถ้วนหน้า สิทธิสวัสดิการผ้าอนามัย สิทธิการเข้าถึงขนส่งสาธารณะและพื้นที่สาธารณะ การยกเลิกหลักสูตรการศึกษาที่สร้างอคติความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ ชนชั้น ด้านภาษีและงบประมาณ ทั้งนี้ ให้มีมาตรการในการพัฒนาสวัสดิการสังคมโดยเร่งด่วน
6.ขอให้ท่านในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เร่งลงนามให้คำรับรองใน “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. …. (ฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย) รายละเอียดตามที่ส่งมาด้วย
7.เร่งรัดผลักดันให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภท ตามมติการประชุมของคณะอนุกรรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ /23 สิงหาคม 2565 โดยเร่งด่วน
8.เร่งรัดให้มีการดำเนินการตามมติการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ครั้ง 1/2565 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยการผลักดันพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน คุ้มครองวิถีการทำไร่หมุนเวียน และขอให้อัยการจังหวัดเพชรบุรีสั่งไม่ฟ้องคดีชาวบ้านบางกลอย 28 ราย โดยเร่งด่วน
“บ้าน” “ที่อยู่อาศัย” ซึ่งเป็น 1 ใน ปัจจัย 4 ที่ทุกคน “ควรมี” และ “ควรได้” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อการดำรงอยู่ตามหลักสิทธิมนุษยชน ยังเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับ “คนจน”ทั่วประเทศ ทั้งในเมืองและชนบทที่ยังซ้อนทับกับปัญหาที่ดิน ปัญหาที่ทำกิน และปัญหาสิทธิสถานะ ซึ่งเหล่านี้ยังสะท้อนชัดถึงความเหลื่อมล้ำ การตกหล่นของผู้คนในสังคมจำนวนมาก ความพยายามเคลื่อนไหวและสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับ “รัฐ” ผู้กำกับทิศทางนโยบาย ควบคู่กับสังคมวงกว้างทั้งในระดับประเทศและระดับสากลจึงเป็นอีกแนวทางค้นหา “กุญแจ” และคำตอบของคำถามเพื่อให้ประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะ “คนจน” มีโอกาสไขประตูบ้าน ได้มีที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิตที่ทุกคนเข้าถึงและจับต้องได้อย่างแท้จริง
ภาพและข้อมูล : รุ่งทิวา วอทอง /แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา