ทวงคืนผืนป่าบ้านแม่กวัก ถึงคดี “วันหนึ่ง” รุกป่า กับโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

ทวงคืนผืนป่าบ้านแม่กวัก ถึงคดี “วันหนึ่ง” รุกป่า กับโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

ลำดับข้อมูล หลังศาลอุทธรณ์จังหวัดลำปางพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 4 แสนบาท นางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หรือ นางแสงเดือน ตินยอด ชาวบ้าน ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนโดยเจตนา แม้ปรากฏหลักฐานภาพร่องรอยทำกินตั้งแต่ปี 2497

9 ก.ย. 2563 – มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2563 ศาลลำปางมีนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กรณีนางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หรือ นางแสงเดือน ตินยอด หญิงวัย 53 ปี ชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีอาวุธไว้ในครอบครอง โดยมีชาวบ้านจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง เดินทางมาร่วมให้กำลังใจ โดยศาลพิพากษาให้จำคุก 1 ปี ปรับ 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2561 โดยไม่รอลงอาญา นอกจากนั้นยังพิพากษาให้จำเลยออกจากพื้นที่และรื้อถอนพืชผลอาสิน

ในวันเดียวกัน นางวันหนึ่งได้รับการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 4,800 บาท และยืนยันที่จะสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

(UPDATE) คุยกับแสงเดือน ตินยอด เหยื่อทวงคืนผืนป่า

(UPDATE) คุยกับแสงเดือน ตินยอด หรือ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หญิงชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง หลังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สั่งจำคุก 1 ปี ค่าเสียหาย 4 แสนบาท ไม่รอลงอาญา หลังได้รับการประกันตัวด้วยการวางประกันหลักทรัพย์และดอกเบี้ยรวม 48,000 บาท.อ่านข่าวเพิ่มเติม.https://www.facebook.com/theactive.net/photos/a.240742769290424/3478498772181458/?type=3.https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_4865093.https://prachatai.com/journal/2020/09/89424.https://prachatai.com/journal/2019/12/85382

Posted by มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ on Tuesday, 8 September 2020

ข้อมูลของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือระบุด้วยว่า นางวันหนึ่ง ถูกอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทดำเนินการให้ตัดฟันยางพารา 2 ครั้ง คือในปี 2556 และ 2558 ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า แต่ภายหลังได้รับการพิสูจน์ว่าพื้นที่ทำกิน 12 ไร่ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ เมื่อลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งแจ้งความดำเนินคดี เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 โดยวันที่ 25 มิ.ย. 2562 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี

การมีคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ที่ระบุว่า “การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” ดูไม่มีผลในการคุ้มครองปกป้องสิทธิของประชาชน

คดีนี้เป็นหนึ่งใน 46,000 คดีบุกรุกพื้นที่ป่าในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยยังไม่เคยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดจำแนกตัวเลขได้ชัดเจนว่ามีนายทุนถูกจับกุมเท่าไร

ทบทวนจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 หลังนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเอง และขึ้นให้ปากคำเป็นพยานฝ่ายจำเลย ชี้ว่าพื้นที่ทำกินของนางวันหนึ่งมีร่องรอยการใช้ประโยชน์ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี 2497 จึงไม่ใช่การบุกรุกพื้นที่ใหม่

นอกจากนั้น นายวิศรุต ศรีจันทร์ กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ยังได้ให้ปากคำยืนยันว่าชุมชนบ้านแม่กวัก ได้เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ผ่านกลไกของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน อย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา และได้นัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

จากคำพิพากษาศาลชั้นต้น สรุปได้ว่า จำเลยขาดเจตนา การเข้าไปทำกินของจำเลยมีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2545 อยู่ในกลุ่มประชาชนที่ได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 และพยานของรัฐทุกปากให้การว่าพื้นที่ตรงนี้มีการทำประโยชน์มาก่อนจริง เข้าหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ไม่ผิดอาญา เมื่อไม่ผิดคดีอาญา จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายคดีแพ่งกว่า 1 ล้านบาท ในข้อหาทำให้โลกร้อน ส่วนคดีอาวุธปืน สืบได้ว่ากระท่อมนั้นเป็นที่เปิดโล่ง ซึ่งจำเลยใช้ประโยชน์เพียงชั่วคราว มีคนผ่านไปผ่านมาตลอด ใครก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ และไม่มีการตรวจลายนิ้วมือ ไม่สามารถชี้ชัดว่าเป็นของจำเลยจริง ให้ยกประโยชน์ให้จำเลย

ส่วนประเด็นว่าต้องออกจากที่ดินหรือไม่ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ โดยการที่จะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือออกจากพื้นที่นั้นต้องให้กรมป่าไม้พิสูจน์สิทธิ์ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 ก่อน หากเข้าข่ายได้รับการคุ้มครองก็ไม่ต้องออกจากพื้นที่ แต่หากไม่ได้รับการคุ้มครองให้จำเลยย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 60 วันนับจากวันที่การพิสูจน์สิทธิ์เสร็จสิ้น

นอกจากนั้น ศาลยังวินิจฉัยว่า การดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชนของชุมชนบ้านแม่กวักตั้งแต่ปี 2556 นั้น เป็นการดำเนินการไปตามนโยบายของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 จึงเป็นนโยบายที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจยึดพื้นที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ปฏิบัติตามดุลยพินิจของตัวเอง

ลำดับเหตุการณ์ทวงคืนผืนป่าบ้านแม่กวัก

พื้นที่บ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่งตั้งแต่ปี 2514 จากประวัติชุมชนและคำบอกเล่าจากชาวบ้านชี้ชัดว่า ชาวบ้านแม่กวักอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว

ในปี 2528 เจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ได้ทำโครงการอนุญาตให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ในรูปแบบใบแสดงว่ามีสิทธิ์ทำกิน (ส.ท.ก.1) ให้ชาวบ้านแม่กวักได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่ง เรื่อยมาจนถึงการอนุญาตให้ชาวบ้านต่ออายุใบขออนุญาตทำกินในรูปแบบ ส.ท.ก.2 เมื่อปี 2538 เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงเจตจำนงในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อ

ในปี 2535 ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาติดป้ายประกาศเป็นเขตเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท โดยไม่ลงมาชี้แจงทำความเข้าใจ ทำให้ชาวบ้านเริ่มเดือดร้อน

ผลพวงหลังจากนั้นคือ ในปี 2540 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เข้ามาชี้แจงชาวบ้าน กำชับไม่ให้เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่อีก จนเกิดการจับกุมดำเนินคดี เสาร์แก้ว โพรโส ผู้ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ ทั้งที่เจ้าตัวให้การว่าทำกินมาก่อนหน้านั้น

คดีที่ 2 เกิดขึ้นในปี 2555 ธงชัย ใจเย็น ถูกตั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ แม้จะมีหลักฐานใบ สทก. เพื่อแสดงว่าตนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่ก่อนและทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

วันที่ 2 ก.ค. 2556 วันหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ให้ตัดยางพาราในพื้นที่ทำกิน 10 ไร่ จำนวน 760 ต้น เจ้าหน้าที่อ้างว่า หากไม่ดำเนินการจะถูกดำเนินคดี และหากดำเนินการตัดเองแล้วจะสามารถทำกินได้เช่นเดิม วันหนึ่งจำเป็นต้องตัดฟันยางพาราที่อีกไม่นานจะถึงเวลาได้กรีดของตัวเอง

คดีความของวันหนึ่งเริ่มขึ้นวันที่ 18 ก.ย. 2561 โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) ได้สนธิกำลังเข้าตรวจยึดแปลงยางพาราของวันหนึ่งที่ทำการฟันทิ้งไปตั้งแต่ปี 2556 และแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ เก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ในเดือน พ.ย. 2561 วันหนึ่งได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งเธอยืนยันว่า ต้องการเงินค่าชดเชยจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ในการบังคับให้ตัดฟันยางพารา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมให้เงินชดเชย อ้างว่า ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการตัดฟัน เพราะวันหนึ่งตัดฟันด้วยตนเอง

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังอ้างว่าพื้นที่ของวันหนึ่งได้ถูกกันออกจากพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ แล้ว จึงเป็นพื้นที่ดำเนินการของป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่ง ไม่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติอีกต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ที่เข้าไปดำเนินการยืนยันว่า วันหนึ่งบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจริง

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันตามมติที่ประชุมแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่า วันหนึ่งได้ทำกินอยู่แต่เดิม และไม่ได้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มตามข้อกล่าวหา แต่กระบวนการทางคดียังคงอยู่ในการพิจารณาของศาล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ