สื่อต่างๆ และข่าวสาร มีอิทธิพลต่อทัศนคติ และความรู้สึกของผู้บริโภคสื่อ…
เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ innosence of musalim เผยแพร่ลงใน youtube และถูกประณามโดยผู้นับถือศาสนาอิสลามว่ามีเนื้อหาบิดเบือนเกี่ยวกับศาสนทูตมูฮัมมัด จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากมุสลิมทั่วโลก มีการประท้วงซึ่งส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน ขณะที่ข้อเรียกร้องให้ระงับการเผยแพร่คลิปภาพยนตร์นี้ในทันที ได้รับการตอบสนองเพียงบางส่วน
ทาง google ซึ่งเป็นเจ้าของ youtube ได้ให้เหตุผลว่า ตามกฎการพิจารณา Innocence of Muslims เป็นการเผยแพร่ที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต่อต้านนโยบายท้องถิ่นและไม่ขัดกับวัฒนธรรมของสหรัฐฯ แต่ในประเทศมุสลิม คลิปนี้ถือว่าขัดทั้ง 3 อย่าง ดังนั้น Youtube จึงทำการบล็อกคลิปนี้เพียงในประเทศมุสลิม แต่จะไม่ลบเป็นการถาวร
นั่นคือจุดเริ่มต้นของความคิดในการทำภาพยนตร์เรื่อง ‘อมีน’ ที่ฮามีซี อัคคี-รัฐ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้บอกกับเรา
“บาดแผลทางประวัติศาสตร์ ทำให้เราเรียนรู้ว่า เราไม่สามารถขับไล่ความรุนแรงด้วยความรุนแรงได้อีกต่อไปแล้ว มีแต่ความเข้าใจเท่านั้นที่จะสามารถขับไล่ความรุนแรงได้ ผมมีความเชื่อว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสื่อที่ย่อยง่าย เข้าใจง่ายในระยะเวลาที่สั้น ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารและคนดูจะได้ก็คือ ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้มีความเข้าใจกัน” คำบอกเล่าแนวความคิดของผู้กำกับภาพยนตร์ไทยนอกกระแส
ฮามีซี อัคคี-รัฐ กล่าวว่า ‘อมีน’ สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติศาสนทูตท่านสุดท้าย คือท่านนบีมูฮัมมัด โดยเล่าเรื่องผ่านวัจนะคำสอนของท่านนบีมูฮัมมัด เพื่อต้องการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่มีมุมมองเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในแง่ลบ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักคำสอนของท่าน
‘อมีน’ เป็นภาพยนตร์ไทยแนวใหม่และเป็นภาพยนตร์ฮาลาล ซึ่งผ่านการตรวจสอบเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการคิด ผลิตและตัดต่อ โดยมีนักวิชาการทางศาสนาทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศมาตรวจสอบว่าบทถูกต้องตามหลักศาสนาหรือไม่ คำพูดที่ใช้ในภาพยนตร์ คือคำพูดตามหลักศาสนาจริงหรือไม่ นอกจากการตรวจสอบเนื้อหา ยังรวมไปถึงขั้นตอนการตัดต่อด้วย จึงพูดได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ฮาลาล 100% เรื่องแรกของโลก
ความแปลกอีกเรื่องหนึ่งของ ‘อมีน’ คือเป็นภาพยนตร์ที่ ไม่ใช้เสียงจากเครื่องดนตรีมาประกอบเนื่องจากเป็นเงื่อนไขทางหลักศาสนา จึงใช้เสียงประสานเป็นเมโลดี้แทน ถึงแม้จะไม่มีเสียงเครื่องดนตรีมาประกอบ แต่ความสนุกในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ลดลงเลย อีกทั้งผู้ชมยังได้ซึมซับและเข้าใจในเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย
“แต่ก่อนเราอาจจะคิดว่ามุสลิมหัวรุนแรง แต่พอดูหนังเรื่องนี้ทำให้เข้าใจมากขึ้น”
“มีเพื่อนเป็นที่นับถือศาสนาอิสลาม ก่อนหน้านี้ไม่เข้าใจเค้า ว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น ทำไมต้องทำอย่างนี้ แต่พอได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เข้าใจมากขึ้น”
นี่คือเสียงตอบรับจากผู้ชมภาพยนตร์อมีน
มุมมองต่อศาสนาอิสลามที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นของผู้ชมหลังชมภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการสร้างผลงาน แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือการที่เราทุกคนเข้าใจ และยอมรับในความแตกต่างทางศาสนาและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
ดังคำกล่างของฮาซีมี อัคคี-รัฐ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่กล่าวไว้ว่า
“ความแตกต่างบางทีมีมาเพื่อให้เราอยู่ด้วยกัน”