ส่องการเรียนการสอน ด้านสื่อ ที่ลาว เขาสอนกันอย่างไร?

ส่องการเรียนการสอน ด้านสื่อ ที่ลาว เขาสอนกันอย่างไร?

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 อาจารย์จากสาขาการสื่อสารสื่อใหม่และสาขาวิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยพะเยาได้รับโอกาสไปเยี่ยมยามการเรียนการสอนด้านสื่อหรือนิเทศศาสตร์และสื่อภาคเอกชนในสปป.ลาว ทั้งที่เมืองหลวง คือ #มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เวียงจันทร์ และนอกเมืองหลวง คือมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ หลวงพระบาง ด้วยความอยากรู้ว่าเพื่อนบ้านใกล้เราอย่างประเทศลาวนั้น การเรียนการสอนที่บ้านเขาทางด้านสื่อเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการปรับตัวสู่การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลเหมือนเราไหม และสื่อภาคเอกชนเขาปรับตัวอย่างไร เพราะจากการสืบค้นข้อมูลเมื่อจะทำงานวิจัยเกี่ยวกับสื่อในอาเซียนแล้วเห็นว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวน้อยและหายาก แต่ในบทความนี้จะขอเล่าเฉพาะภาควิชาการก่อน

คณาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ และสาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา
คณาจารย์จากคณะภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ และสาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา

จุดร่วมเราและเขา

จากการแลกเปลี่ยนกับคณะอาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชนทั้งสองแห่ง (ทางสปป.ลาวใช้ชื่อภาควิชาสื่อสารมวลชน) เราพบว่าประเด็นร่วมที่พวกเรามีคล้ายกันก็คือความจำกัดของอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการหรือสตูดิโอ ที่ยังมีพื้นที่จำกัด อุปกรณ์ครุภัณฑ์ที่มีอยู่มีน้อยและไม่ทันสมัย (แต่หัวใจอาจารย์ที่สอนเต็มร้อยเหมือนกัน) โดยทางมหาวิทยาลัยในเมืองหลวงดูจะมีพื้นที่ห้องปฏิบัติการที่กว้างขวางกว่ามหาวิทยาลัยนอกเมืองหลวง แต่เมื่อเราเห็นผลงานของนักศึกษาที่ได้รับรางวัลทั้งระดับประเทศและอาเซียนของมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์แล้ว เราคิดว่าข้อจำกัดเหล่านั้นไม่ใช่ปัจจัยเหนี่ยวรั้งคุณภาพของนักศึกษาและผู้สอนเลยจริง ๆ

จุดร่วมอีกประการหนึ่งที่เหมือนกันก็คือสถานะของหลักสูตรนิเทศศาสตร์ หรือการสื่อสารมวลชนบ้านเขา คือต่างมีสถานะที่เป็นโปรแกรมหนึ่ง หรือสาขาหนึ่งในคณะ โดยทางมหาวิทยาลัยที่เราไปเยี่ยมนั้นสาขาวิชาทางด้านสื่อสารมวลชนจะจัดอยู่ในคณะที่เกี่ยวข้องกับภาษา เช่นมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว จัดให้อยู่ในคณะอักษรศาสตร์ หรือที่มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ อยู่ในคณะภาษาศาสตร์ โดยทั้งสองต่างพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของอาจารย์ที่มาจากศาสตร์ทางด้านภาษา และยังมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญหรือจบตรงทางด้านนิเทศศาสตร์ยังมีจำนวนไม่มาก แต่อาศัยการพัฒนาและเรียนรู้ของคณาจารย์ จนสามารถผลิตบัณฑิตด้านสื่อสารมวลชนได้

ห้องปฎิบัติการนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ หลวงพระบาง
น้อง ๆ ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กำลังเรียนวิชา “สื่อใหม่”

วิธีการจัดการเรียนการสอน เน้นการปฏิบัติและการลงพื้นที่โดยทำงานร่วมกับนักวิชาชีพ ชุมชน และภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เข้ามาให้ความรู้และทำโครงการผลิตสื่อร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักเรียนเกิดทักษะและทำงานได้จริง และมีการนำนักศึกษาลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อค้นหาเรื่องเล่า และนำเรื่องราวที่น่าสนใจจากชุมชนมาผลิตสร้างเพื่อชิ้นงานสื่อประเภทต่าง ๆ ที่เรียกว่า “ลงประสบการณ์” เรียนนอกสถานที่โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จะเข้าไปลงพื้นที่ในชุมชนเป็นเวลา 1เดือน และชั้นปีที่ 4 เทอมปลาย จะเป็นการฝึกงาน โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะให้นักศึกษากลับมาพัฒนาเรื่องเล่า เขียนบทและผลิตสื่อที่ได้จากจากประสบการณ์ในการฝึกงานหรือลงประสบการณ์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำชี้แนะ และสร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วนเช่นภาครัฐ อย่างแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว เข้ามาร่วมสอนในรายวิชาเฉพาะวิชาชีพสื่อ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ ใช้เป็นแนวทางในการอบรมบ่มเพาะนิสิตของเราไม่ต่างกัน เพราะเราอยากผลิตบัณฑิตทางด้านสื่อหรือนักสร้างสรรค์สื่อได้สัมผัสกับนักวิชาชีพที่มีประสบการณ์ และทำงานภายใต้สภาพสังคมที่แท้จริงอย่างเป็นผู้ที่มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจและเครารพผู้คนที่แตกต่างออกไป

จุดต่างด้านการเรียนการสอน

ความแตกต่างของการเรียนการสอนของสองมหาวิทยาลัยนั้น เราพบว่าทางสปป. ลาว ยังให้ความสำคัญกับสื่อที่เป็นสื่อดั้งเดิมโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ ที่ยังคงมีความสำคัญและยังเป็นสื่อหลักสำหรับประชาชนหรือเป็นปัจจัยกำหนดการผลิตบัณฑิต และยังเป็นสื่อที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนยังให้ความสำคัญและเชื่อถือ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สนใจกระแส Digitalization ที่กำลังขยายตัวในสปป.ลาว

อาจารย์ดวงตา และอาจารย์หอมมาลา หัวหน้าสาขาและรองหัวหน้าหลักสูตรการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นครเวียงจันทร์

วันที่เราไปพบปะพูดคุยนั้น ทางอาจารย์ที่สอนทางด้านการสื่อสารมวลชนต่างบอกว่า กำลังจะปรับหลักสูตร โดยใส่ความเป็นดิจิทัลให้เป็นสื่อใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวได้มีรายวิชา สื่อใหม่ เช่นกัน แต่แยกส่วนการเรียนการสอนออกมาจากสื่อดั้งเดิมชัดเจนและปัจจุบันมีเพียง 1 รายวิชาที่นักเรียนจะได้เรียนเมื่ออยู่ชั้นปีที่ 4 ภาคเรียนต้น

ซึ่งประเด็นนี้ทางสาขาการสื่อสารสื่อใหม่ของเรา ก็ได้แลกเปลี่ยนจากประสบการณ์การปรับหลักสูตร ในประเด็นการหลอมรวมความเป็นสื่อดั้งเดิมกับสื่อใหม่เข้าไปในรายวิชาที่สอนเกือบทุกวิชา และปัจจุบันได้รื้อการสอนแบบแยกสื่อออกไปและหลอมรวมเป็นสื่อดิจิทัลออนไลน์ให้มากที่สุด เพื่อให้นิสิตได้เข้าใจและทำงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมผู้ใช้สื่อได้อย่างเท่าทัน

ทีมคณาจารย์ หลักสูตรสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ หลวงพระบาง

ขณะที่มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ ก็มีแนวทางไม่ต่างกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ทางอาจารย์เขาบอกกับเราเพิ่มว่า สาขาวิชาการสื่อสารมวลชนเพิ่มเปิดสอนได้เพียง 5 ปี และมีบัณฑิตจบไปแล้ว 1 รุ่น ปัจจุบันมีนิสิตอยู่ 17 คน โดยหลักสูตรรวมทั้งหมด 134 หน่วยกิต แบ่งเป็นรายวิชาทั่วไป 18 หน่วยกิต และวิชาพื้นฐานเฉพาะ และวิชาเฉพาะ รวม 116 หน่วยกิต ขณะนี้กำลังจะมีการปรับหลักสูตรที่จะให้ใส่เทคโนโลยีหรือสื่อใหม่ตั้งแต่ชั้นปีแรก ๆ นั้น อาจมีข้อจำกัดบ้าง เพราะปัจจัยด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งกว่าที่นักเรียนจะเข้าถึงและเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมoffice ส่วนใหญ่จะมาเริ่มที่มหาวิทยาลัย หากสาขาสื่อสารมวลชนจะให้นักเรียนเริ่มเรียนเทคโนโลยีหรือสื่อใหม่เลย ก็อาจจะทำได้ลำบาก

อนาคตของเปลี่ยนแปลงการผลิตคนและอาชีพด้านสื่อ

ทิศทางการผลิตบัณฑิตทางด้านสื่อสารมวลชน หรือนิเทศศาสตร์ของลาว เพื่อนบ้านของเรา คงขยับจากการผลิตบัณฑิตเพื่อป้อนหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรสื่อมวลชนกระแสหลักในประเทศของเขา ไปกระจายอยู่ในภาคธุรกิจมากขึ้น เพราะภาคธุรกิจในสังคมลาวปัจจุบันได้มีการผลิตสื่อเป็นของตัวเองมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันยังมีน้อยอยู่ก็ตาม

ส่วนทางบ้านเรา การผลิตบัณฑิตเพื่อป้อนสื่อกระแสหลักอย่างวิทยุทีวี หรือหนังสือพิมพ์นั้น ก็ยังคงมีอยู่ แต่กระจายไปตามแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ขณะเดียวกันจากการติดตามข้อมูลการมีงานทำและการฝึกงานของนิสิตของสาขาเราที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงขาลงของสื่อกระแสหลัก แต่ความต้องการแรงงานทางด้านสื่อหรือผู้ผลิตเนื้อหากลับไม่ได้ลดลงเลย นิสิตของเรายังคงมีงานทำ และกระจายไหลไปสู่องค์กรธุรกิจที่ไม่ใช่สื่อ แต่มีการทำงานสื่อหรือใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลกันมากขึั้น ซึ่งเราก็ยังเชื่อเสมอว่า นิเทศศาสตร์จะยังคงอยู่ได้ แต่ที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ก็คือ ความสามารถในการทำงานและปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นในการทำงานอย่างเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของนิสิต

สำหรับความร่วมมือในอนาคตระหว่างสาขาการสื่อสารสื่อใหม่ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และหลักสูตรการสื่อสารมวลชน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และคณะภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ หลวงพระบาง ประเทศลาว จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานิสิตหรือนักศึกษาร่วมกัน โดยวางแผนจะจัดการฝึกอบรมด้านสื่อระยะสั้นให้กับนิสิตทั้งสามสถาบัน การแลกเปลี่ยนอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาที่แต่ละฝ่ายมีความถนัด เช่นรายวิชาภูมิทัศน์สื่อในอาเซียน ทางสาขาฯ ก็จะได้อาจารย์ที่มีความรู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับประเทศนั้นมาบรรยายให้ฟัง ทั้งรูปแบบออนไลน์หรือออนไซต์ก็ตาม ขณะเดียวกันทางอาจารย์จากสาขาเราก็สามารถสอนรายวิชาทางด้านสื่อใหม่ต่าง ๆ ให้ทางเขาได้เช่นกัน รวมไปถึง การให้คำปรึกษาการปรับปรุงหลักสูตร การทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างอาจารย์เพื่อเผยแพร่บทความวิชาการในภูมิภาคของเราให้มากขึ้น และในอนาคตอันใกล้ เมื่อทางสาขาเรา ได้เปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาเพิ่มขึ้นในเร็ววันนี้ ก็จะเป็นโอกาสในการพัฒนาอาจารย์ให้มีคุณวุฒิสายตรงในการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์ ทางเขาได้ หากเขาสนใจที่จะมาเรียนที่สาขาเรา ขณะเดียวกัน ทางเราก็จะได้เปิดโลกในการศึกษาด้านสื่อ การใช้สื่อเพื่อการพัฒนา หรือภูมิทัศน์สื่อในประเทศเขาได้มากขึ้น


เฝ้ารอการเติบโต
องความร่วมมือ และสร้างความแข็งแกร่งให้นิเทศศาสตร์ของอาเซียนต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ