ครู พ่อแม่ต้องทำยังไง กับจุดยืนทางการเมืองของลูก ๆ

ครู พ่อแม่ต้องทำยังไง กับจุดยืนทางการเมืองของลูก ๆ

ความขัดแย้งทางความคิดและการแสดงออกทางการเมืองในวันนี้ ทำให้สังคมไทยได้เห็นภาพของการแบ่งรุ่น แบ่งวัย ความต่างทางความคิดอย่างชัดเจน การออกมาพูดคุยเรื่องการเมืองเรื่องนี้เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ ในภูมิภาคเกือบทุกจังหวัด เเน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนไม่สบายใจ โดยเฉพาะเด็ก ๆ นักเรียนหลาย ๆ โรงเรียนออกมาแสดงออกทางการเมือง เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่กับพลังของเยาวชน

รายการนักข่าวพลเมือง C-site ชวนไปพูดคุยและฟังมุมมองบทบาทหน้าที่ของครูและพ่อแม่ ในสถานการณ์แบบนี้ทั้งบ้านและโรงเรียนควรจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เด็กมั่นใจว่าทั้งสองที่นี้คือที่ปลอดภัยสำหรับเขา

เริ่มต้นพูดคุยเรื่องบทบาทหน้าที่ของโรงเรียน ของครูในสถานการณ์แบบนี้ควรจะเป็นอย่างไร กับครูโอ ปราศรัย เจตสันติ์ ครูรายวิชาสังคม โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม กรุงเทพมหานคร และเป็นหัวหน้างานประชาธิปไตยในโรงเรียน

บทบาทครู หน้าที่ของโรงเรียน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์นักเรียนออกมาแสดงออกทางการเมือง ซึ่งภายในโรงเรียนถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะการแสดงออกทางการเมืองมักจะเกิดขึ้นในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า จึงถือว่าโรงเรียนมัธยมเกิดเหตุการณ์แบบนี้เป็นครั้งแรก หลาย ๆ โรงเรียนจึงมีวิธีการรับมือที่แตกต่างกันออกไป หลายโรงเรียนก็ไม่ได้ปิดกั้นและเปิดให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น อย่างโรงเรียนของผมก็มีการเข้าไปคุยกับเด็กว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ก็เป็นการแลกเปลี่ยนกัน

โรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยมาก ๆ สำหรับนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ที่เขายังไม่ได้มีการใช้สิทธิจริง ๆ ในระดับประเทศ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้เขาก็น่าจะได้เรียนรู้เรื่องการแสดงออกอย่างไรให้เหมาะสม ถูกต้องตามกฎหมายและสันติวิธี ซึ่งสถานที่สำคัญที่จะให้เด็กได้เรียนรู้และทดลองก็คือโรงเรียน เพราะฉะนั้นในระดับโรงเรียน และคุณครูจึงต้องมีการคิดเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนและพยายามมองหาวิธีการที่จะให้เขาแสดงออกอย่างสันติภายใต้กรอบกฎหมาย

“ผมมองว่าเรื่องนี้ครูต้องพูดคุยกับเด็ก”

  • ประเด็นแรกเลย ครูจะต้องปรับความเข้าใจตัวเองใหม่ การแสดงออกของนักเรียนเป็นสิทธิที่สามารถแสดงออกได้ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้ ครูต้องเปิดใจให้กว้างขึ้น ว่านักเรียนมีวิธีการคิดและการแสดงออกไม่เหมือนกับรุ่นเรา เราต้องเปิดใจรับฟัง แม้ว่าเราจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ตาม
  • ประเด็นที่ 2 ครูต้องพูดคุยกับเด็ก โดยให้เขาเท่าทันตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่เขาสื่อสาร หรือวิธีการพูดของเขา มันมาจากการหาข้อมูลอย่างไร เราอาจจะมีการตั้งคำถามให้เขาคิดว่า จริง ๆ แล้วที่เขาแสดงออกมา เขามีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถี่ถ้วนดีหรือเปล่า เขามีการรับรู้ข้อมูลการสื่อสารจากสื่อหลายรูปแบบ และหลายมุมมองมากพอหรือเปล่า เพื่อให้เขาได้ชั่งน้ำหนักตัวเองว่าสิ่งที่เขาแสดงออกมานั้น ไม่ได้เป็นไปตามกระแส แต่เป็นการหาข้อมูลอย่างรอบด้านแล้ว แล้วมีความคิดตัวเองออกมาอย่างไร
  • ประเด็นที่ 3 คุณครูต้องคุยในเรื่องของการสื่อสาร เด็กหลาย ๆ คนวิธีคิดอาจจะถูกต้อง แต่วิธีการสื่อสารของเขาอาจจะมีปัญหา ด้วยการใช้อารมณ์เป็นตัวนำเอย หรือว่าวิธีการใช้คำพูดที่อาจจะไปกระทบใครบ้าง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ครูต้องคอยระมัดระวัง ต้องคอยบอกเขา

“ลูกสื่อสารแบบนี้ดีไหมลูก เขาอาจจะฟังหนูมากขึ้นนะ”

นี่จะทำให้เขาเกิดการพัฒนาตัวเองให้สื่อสารได้อย่างมีเมตตา หรือว่ามีไมตรีจิตต่อคนที่เห็นต่างมากขึ้น

  • ประเด็นสุดท้าย เรื่องของการที่เขาจะต้องรู้ว่าบทบาทที่ตัวเองทำอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตัวเอง เพื่อจะพร้อมเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องต่อไป ดังนั้นการแสดงออกของเขาต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ตรงนี้ รวมถึงสิ่งที่ตัวเองจะต้องพูดออกมาอย่างถี่ถ้วน

ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ตอนนี้โรงเรียนจะต้องมีการปรับบทบาทของตัวเอง มีการเปิดพื้นที่อย่างเป็นทางการ เพื่อให้นักเรียนเขาได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นอย่างจริงจัง ซึ่งปกติแล้วภายในโรงเรียนก็จะมีการเปิดพื้นที่ชุมนุมหรือว่าเต้น แต่เรื่องการเมืองเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ เลย เพราะฉะนั้นโรงเรียนจึงต้องปรับตัวเอง โดยให้มองว่า โรงเรียนปลอดภัยไม่ใช่แค่เรื่องปลอดภัยแค่ทางด้านกายภาพ หรือปลอดภัยจากการกลั่นแกล้ง แต่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางการแสดงความคิดเห็นของนักเรียนที่แตกต่างกันด้วย และอยู่ร่วมกันได้โดยการรับฟังกันและกัน

โจทย์การแสดงออกทางการเมืองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในโรงเรียน อย่างที่บ้าน หลาย ๆ ครอบครัวก็คงจะเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ บางบ้านพูดเรื่องการเมืองในบ้านไม่ได้ อาจจะมีการเห็นต่างกันในครอบครัว แล้วทีนี้จะจัดการอย่างไร จะดูแลกันอย่างไน ชวนคุยต่อกับคุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการศึกษา

บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ควรจะเป็นไปในทิศทางไหน

จริง ๆ แล้วต้องบอกก่อนว่า ต้นทุนของพ่อแม่แต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะต้นทุนการสัมพันธภาพ

  • บางคนต้นทุนดีใกล้ชิดกันมาตั้งแต่ลูกยังเด็ก พอมาถึงสถานการณ์ที่มันเป็นแบบนี้มันก็สามารถคลี่คลายได้ โดยการค่อยพูดค่อยคุยกัน แต่ไม่ใช่ไม่มีปัญหานะ ก็ยังมีอยู่เพียงแต่ว่า มันยังสามารถจัดการได้ง่ายกว่า อย่างบ้านของฉันจะมีการพูดคุยกันในบ้าน พูดคุยในช่วงกินข้าวกันอย่างสม่ำเสมอ ใครคิดแบบไหน เพราะอะไร แชร์ข้อมูลกันและกัน ไม่มีใครถูกใครผิด
  • อีกกรณีถ้าสัมพันธภาพในครอบครัวไม่ค่อยดีเลย ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาเหล่านี้ต้องเริ่มต้นด้วยการเปิดใจ มันจะกลับไปใช้คำว่าฉันอาบน้ำร้อนมาก่อนเธอนะไม่ได้แล้ว ลองคิดง่าย ๆ ให้ย้อนกลับไปตอนที่เราเป็นวัยรุ่น มันก็มีเรื่องของความท้าทายของเรื่องอยากรู้อยากลอง เรื่องพัฒนาการของเขา พ่อแม่ต้องเข้าใจเรื่องนี้ พอจัดการความคิดตรงนี้ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเราต้องเปิดใจรับฟังพวกเขา การที่ลูกไม่ได้คิดเหมือนกับเรามันไม่ได้หมายความว่าลูกผิด ไม่ได้หมายความว่าลูกไม่รู้เรื่อง ไม่ได้หมายความว่าลูกไม่รู้เรื่อง หรือว่าลูกถูกชักจูง เสร็จแล้วรับฟังเขา แม้ว่าในขณะนั้นเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขา ไม่ชอบที่เขาออกไปชุมนุม พอเขากลับมาพูดคุยกับเขาด้วยท่าทีที่เปิดใจ เปิดกว้าง เป็นมิตร ลูกคิดยังไง แม่คิดยังไง พ่อคิดยังไง เราจะได้รู้วิธีคิดของลูกว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ และชี้ให้เขาเห็นว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน ทั้งในด้านกฎหมายและข้อเท็จจริง ทำแบบนี้ลูกจะรู้สึกว่าที่บ้านก็คือบ้าน เขาสามารถพูดอะไรก็ได้กับพ่อแม่ นอกจากมันจะช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัยและสบายใจแล้ว เวลาเขาคิดในสิ่งที่อาจจะทำให้เขาดูไม่ดี หรือไม่ถูกต้อง พ่อกับแม่นี่แหละที่จะคอยแนะนำให้เขาเดินไปในทางที่ถูกในสิ่งที่เขาคิด นี่คือหน้าที่ของพ่อแม่

“เปิดใจให้กว้าง แล้ววางอคติลง”

วิดีโอคอล “ประชาธิปไตยในรั้วโรงเรียน” (27 ส.ค.63)

นาทีนี้สังคมเต็มไปด้วยความเห็นต่าง ซึ่งโดยพื้นฐานมันไม่ใช่เรื่องผิด แต่เพื่อความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน พื้นที่ในบ้านและในโรงเรียนแบบไหน ที่ควรจะเป็นสำหรับสถานการณ์นี้ ชวนคุยกันและฟังมุมมองจาก ครูโอ ปราศรัย เจตสันติ์ ครูรายวิชาสังคม โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม กรุงเทพมหานคร และเป็นหัวหน้างานประชาธิปไตยในโรงเรียน สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการศึกษา (27 ส.ค.63)#CSite #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS.ติดตาม นักข่าวพลเมือง C-Site ทุกวัน จันทร์ และ พฤหัสบดี เวลา 13.30.00 – 14.00 น.📌 รับชมทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข3📌 ชมสดออนไลน์ : www.thaipbs.or.th/Live📌 ชมย้อนหลัง : www.thaipbs.or.th/CSite

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ