ชีวิตนอกกรุง: บทเรียนน้ำท่วมอุบลปี 62 : ภัยพิบัติสู่จัดการตนเอง

ชีวิตนอกกรุง: บทเรียนน้ำท่วมอุบลปี 62 : ภัยพิบัติสู่จัดการตนเอง

“ไม่มีใครอยากให้เกิด  แต่มันก็เกิด  เมื่อเกิดแล้ว  เราจึงต้องรับมือ”  ทุกคนต่างสรุปบทเรียนเป็นคำพูดเดียวกัน  สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปีที่แล้ว

น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2562

ผมในฐานะผู้ประสบภัย  จำได้ดีกับเหตุการณ์ในครั้งนี้  ทุกคนไม่คาดว่ามันจะเกิด  แม้เราจะเคยเผชิญกับภาวะน้ำท่วมหนักเมื่อช่วงปี 2521, 2545, 2556 และ 2557 ซึ่งหลายคนอาจบอกว่าเมืองอุบลราชธานีคือเมืองรับน้ำ และการที่จะเกิดน้ำท่วมจึงอาจเป็นเรื่องปกติ  แต่ในทัศนะผมและรวมถึงทุกคนที่ประสบภัยซึ่งเป็นคนอุบลราชธานี  เราไม่คิดเช่นนั้นเลย  เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ไม่ใช่เรื่องปกติ  ไม่ใช่ภาวะธรรมดาที่ทุกคนจะยอมรับได้

ในมุมมองของผมน้ำท่วมเมื่อช่วงเดือนกันยายน ปี 2562 มีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ  อันที่หนึ่งคือสภาพของพื้นที่ทางกายภาพหรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง  ซึ่งสิ่งแวดล้อมในที่นี้ผมหมายรวมถึงสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น  ซึ่งทั้ง 2 อย่าง มีความลงตัวและสอดรับให้เกิดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดน้ำท่วมต่อกันและกัน

น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2562

การเกิดขึ้นของพืชเชิงเดี่ยวที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่  และพ่วงพร้อมกับการตัดโค่นต้นไม้  ทำให้หน้าดินไม่มีต้นไม้รองรับ  ในขณะที่ผืนดินเองก็แห้งไม่อุ้มน้ำ  และพอเจอน้ำฝนในปริมาณหนึ่งแม้จะไม่มากเท่าในอดีต  แต่เมื่อน้ำไม่มีที่อยู่เพราะหน้าดินก็ไม่อุ้มน้ำ  จึงทำให้น้ำไหลลงสู่ลำน้ำตามลุ่มน้ำต่างๆเร็วขึ้น  และพอวิเคราะห์ลักษณะลำน้ำแต่ละแห่งก็พบว่า  ทุกวันนี้ลำน้ำมีลักษณะตื้นเขินด้วยเพราะแม่น้ำหลายแห่งเกิดการพังทลายของตลิ่ง  ที่เป็นเหตุให้น้ำที่ไหลมาจากที่ต่างๆเต็มเร็ว  และพอน้ำในลำน้ำเต็มก็เป็นเรื่องปกติที่น้ำจะล้นตลิ่งระบาดเข้าสู่ที่อยู่ของคน

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยคนหรือการพัฒนาในรูปแบบต่างๆทั้งจากภาครัฐและเอกชน  ยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดน้ำท่วม  ทั้งการเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้า  โรงงานอุตสาหกรรม  ซึ่งเกิดอยู่ตามบริเวณพื้นที่รับน้ำเดิมหรือที่เราเรียกกันว่า “พื้นที่ทาม” ซึ่งอดีตเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่คอยรับน้ำจากแม่น้ำในช่วงน้ำหลาก  แต่ทุกวันนี้พื้นที่เหล่านั้นหายไปมากกว่าครึ่ง  และยิ่งมาเจอกับเขื่อนที่ตั้งขวางทางน้ำในแต่จุดของลำน้ำแต่ละแห่ง  ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ  แทนที่ระบบชลประทานจะมาช่วยอำนวยความสะดวกให้น้ำไหลดีหรือเก็บน้ำไว้ใช้  แต่สิ่งที่เราเจอคือมันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการระบายน้ำ

น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2562

แต่ก็เอาเถอะ  ถึงแม้ว่าที่มาหรือปัญหาน้ำท่วมจะเกิดจากสิ่งใด  แต่สิ่งที่เราต้องรีบจัดการคือการรับมือกับภัยพิบัติและช่วยกันฟื้นฟูหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม  ส่วนที่มาของปัญหาคือการแก้ไขระยะยาวที่ต้องว่ากันอีกที 

และนี่เองจึงเป็นที่มาของรายการ Localist ชีวิตนอกกรุง  ในชื่อตอน  “ภัยพิบัติจัดการตนเอง”  ซึ่งผมและทีมงานได้ช่วยกันคลี่เรื่องราวและประมวลเหตุการณ์ต่างๆ  ทั้งในช่วงที่เผชิญกับน้ำท่วมและช่วงของการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม  ที่เราได้เดินทางไปในหลายที่ทั้งในเขตพื้นที่เมืองและพื้นที่นอกเมือง

ในหน้าจอจะพูดถึง 3 ส่วนใหญ่ๆ  คือการรับมือน้ำท่วมในช่วงที่เกิดเหตุการณ์  การเยียวยาหลังน้ำลด  และการออกแบบการฟื้นฟูในระยะยาว  ถึงทั้ง 3 ส่วนล้วนมีเจ้าภาพหลักในการทำงาน  แต่น้ำหนักที่เราให้ความสำคัญในการเล่าเรื่องคือการรับมือที่ชาวบ้านต้องจัดการกันเอง  เพราะลำพังมัวการสั่งการจากภาครัฐส่วนกลางก็อาจไม่ทันการณ์กับการแก้ปัญหาที่น้ำนั้นมาไวเหลือเกิน

กมล หอมกลิ่น ขณะลงพื้นที่ช่วงน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ปี2562

การทำงานในเทปนี้  จะว่าง่ายในเชิงประเด็นก็ใช่  เพราะผมและทีมงานต่างเป็นผู้ประสบภัยในฐานะที่เราเป็นคนนอกกรุงชาวอุบลราชธานี  และโดยเฉพาะผมเองซึ่งบ้านเกิดที่ตำบลไร่ใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร  โดนน้ำท่วม  ดังนั้น  ในระหว่างนั้นต้องทำหน้าที่ทั้งในฐานะผู้ประสบภัยที่ต้องรีบอพยพสิ่งของ  และการรายงานเหตุการณ์ให้ทุกคนได้รู้ปัญหา  รวมถึงการรายงานข้อมูลระดับน้ำทุกวันวันละหลายครั้ง  เพื่อให้ชาวบ้านเตรียมพร้อมกับการรับมือระหว่างวัน  ซึ่งยอมรับว่าเหนื่อยมาก  และพอหลังน้ำลด  เราจึงออกแบบ  วางแผน  ในการถ่ายทำรายการ  ดังนั้นความยากมันจึงอยู่ตรงนี้  อยู่ตรงที่การถ่ายทำที่ต้องเล่าเรื่องย้อนหลัง  ปัญหาที่ตามมาสำหรับงานสารคดีเช่นนี้  คือแม้จะมีเรื่องเล่า  แต่ชุดภาพที่เราจะหยิบมาประกอบเรื่องนั้นหายากเหลือเกิน  เพราะด้วยความที่ไม่ได้ออกแบบมาแต่ต้น  ดังนั้น  การตามหาฟุตเทจจึงเป็นงานหลักของรายการในตอนนี้  ซึ่งนับว่าโชคดีที่มิตรสหายเราหลายคนได้บันทึกเรื่องราวเอาไว้  จึงทำให้เทปมีภาพมาประกอบ  ซึ่งมุมภาพอาจดูไม่อลังการแต่เราเน้นความเป็นงานที่เรียลลิตี้  ไม่ได้แก้ตัวนะและเป็นทางออก  (อิอิ)

น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2562

สรุปก็คือ  เทปนี้เราก็สนุกกับงานเหมือนเดิม  แม้เราจะสูญเสียแต่เราก็ยอมรับ  แต่เหนือการยอมรับคือเรามองว่ามันเป็นบทเรียน  ที่ทุกคนนั้นไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก  แต่ทุกคนก็เข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่า ณ วันนี้สถานการณ์นั้นไม่เหมือนเดิมแล้ว  เราต่างตระหนักว่าสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมนั้นเปลี่ยนไปแล้ว  ฉะนั้น  น้ำท่วมจึงเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกปี  สิ่งสำคัญคือการตั้งรับ  ปรับตัว  และรับมือ  ในส่วนของการแก้ปัญหานั้น  ก็คือการแก้ทั้งระยะใกล้และระยะไกล  ในระยะใกล้คือการเตรียมรับมือภัยพิบัติ  ในส่วนของระยะไกลคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  ทั้งเรื่องการจัดการป่าต้นน้ำ  การจัดการระบบนิเวศในการใช้หน้าดิน  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้ความเข้าใจของคนในการแก้ปัญหาทั้งระบบ

กมล  หอมกลิ่น
คนเล่าเรื่องนอกกรุง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ