ภาพจำเกี่ยวกับโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในสมัยก่อน เราอาจเคยเห็นไม่พร้อม ขาด ด้อยซึ่งทำให้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด และโรงเรียนสังกัดเทศบาล อาจไม่อยู่ในตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของหลายคน แต่ปัจจุบันนี้คงต้องกลับมามองใหม่ เพราะโรงเรียนสังกัด อปท. มีความพร้อม มีศักยภาพเพียงที่จะสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ จนถูกมองว่า เป็นคานงัดกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสังคมไทย
ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านเอกสาร Guidebook องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จัดทำโดยสถานบันพระปกเกล้า ซึ่งดูจากชื่อแล้วไม่แปลกใจเลยถ้าหากหลายคนจะไม่รู้จัก เว้นแต่คนที่ทำงานหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน แต่พอได้ลองอ่านแล้วก็เหมือนเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แห่งความเหลื่อมล้ำ ที่ปกคลุมการศึกษาไทยอย่างยาวนาน เนื้อหาจะอธิบายสภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไข ซึ่งพระเอกคือโรงเรียนสังกัด อปท. แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้เกาะในหัวใจจนอยากสื่อสารต่อคือ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปพิสูจน์และเห็นรูปธรรมจริง ๆ ของการจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น ที่ช่วยเยียวยาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา
ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2563 เป็นช่วงเวลาที่ถูกเลื่อนการเปิดเทอมหนีโควิด – 19 ถ้ารวมช่วงปิดเทอมแล้วก็เกือบ 4 เดือน ที่เด็กต้องห่างโรงเรียน มีความพยายามจะให้เรียนทางไกลผ่านทีวีดาวเทียมและออนไลน์ แต่หลังจากได้ทดลองเรียนแล้ว พบว่าเด็กหลายพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษารูปแบบนี้ จากข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล ฯลฯ ครูในหลายพื้นที่จึงออกแบบการจัดการเรียนการสอนใหม่ ๆ ให้เด็กในพื้นที่เกิดการเรียนรู้ จนมีโครงการรถพุ่มพวงชวนเรียนรู้ ที่ครูนำพาห้องเรียนไปยังชุมชนที่เด็กอยู่
พื้นที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นหนึ่งในที่ที่มีการจัดโครงการ โดยโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยและโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู สองโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น ลงพื้นที่ทำงานกับเด็กกว่า 6 สัปดาห์ก่อนเปิดเทอม ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ติดตามรถพุ่มพวงของทั้งสองโรงเรียน และได้เห็นการทำงานของครู และสภาพปัญหาที่เด็กกำลังเผชิญ จนนึกถึงเอกสาร Guidebook ที่กล่าวข้างต้นอยู่เป็นระยะ
เริ่มจากการลงพื้นที่ไปกับโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู นำทีมโดยครูอ้อม – ชุตินธร หัตถพนม รองผู้อำนายการโรงเรียน ซึ่งแบ่งทีมลง 5 พื้นที่ ในทุกเช้าวันจันทร์ ครูอ้อมเล่าว่าที่ต้องลงมาแบบนี้ เพราะครูได้สำรวจความพร้อมในการเรียนทางไกลของนักเรียนแล้วพบว่า มีความพร้อมไม่ถึงครึ่งของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ผู้อำนวยการและคณะครูจึงเห็นร่วมกันว่าว่าจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบรถพุ่มพวง ที่เข้าไปหาเด็กถึงชุมชน โดยใช้หลักสูตรบูรณาการของโรงเรียน มาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับบริบทสังคม และสถานการณ์ที่เป็นอยู่
เราได้ลงพื้นที่ไปสำรวจ พบว่าเด็ก ๆ ของเรามีความไม่พร้อม เข้าไม่ถึงการเรียนรู้ออนไลน์ ซึ่งการเว้นจากการเรียนในช่วงนั้นมันนานมาก เราจึงมาคุยกันว่าจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อมาลดความเหลื่อมล้ำตรงนั้น อุดช่องว่างที่เด็กจะเข้าไม่ถึงการศึกษา
เช่นเดียวกับคณะครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย ที่มองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ที่มีมากกว่าความพร้อมด้านอุปกรณ์ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้นักเรียนห่างจากการเรียนรู้ ครูสอญอ หรือ สัญญา มัครินทร์ พร้อมด้วยครูในโรงเรียนจึงนำรถพุ่มพวงไปจัดการเรียนรู้ทุกบ่ายวันศุกร์ ใน 3 พื้นที่ มีการร่วมมือจากเครือข่ายต่าง ๆ มาร่วมจัดการเรียนรู้
จากการลงพื้นที่เราได้เห็นหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องความพร้อม ไม่พร้อม เขายังต้องช่วยดูแลครอบครัว ไม่ใช่แค่หาเลี้ยงตัวเอง เขายังต้องเลี้ยงปากท้องคนอื่นในครอบครัวเขาด้วย มันมีปัจจัยเยอะมาก จะแบ่งแยกหนึ่ง สอง สาม สี่ไม่ได้ เด็กถ้าเขาห่างการเรียนรู้นาน ๆ เขาก็มีโอกาสถดถอย หรือหลุดหายไปเหมือนกัน
ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษา จนต้องหลุดออกนอกระบบปัญหานี้ถือว่าใหญ่ระดับประเทศ เพราะข้อมูลจากรายงานการศึกษาระหว่างปี 2560-2562 ของคณะกรรมอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ในปีการศึกษา 2559 ประเทศไทยมีเด็กเยาวชนวัยเรียน (3-17 ปี) อยู่นอกระบบการศึกษา เด็กเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และด้อยโอกาสในระบบการศึกษามากกว่า 3,000,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนจบการเรียนภาคบังคับ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะปัญหาความยากจน ความด้อยโอกาศทางสังคม ความพิการ และปัญหาครอบครัว รถพุ่งพวงจึงเป็นอีกนวัตกรรมของคนในพื้นที่ที่เห็นปัญหา แล้วหาทางแก้ไขในแบบของตัวเอง
เราลงพื้นที่ไปกับรถพุ่มพวงครั้งแรกที่ชุมชนบ้านเต่านอ อ.เมือง จ.ขอนแก่น พื้นที่บริการของโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู ที่นี่ชาวบ้านมีอาชีพร้อยพวงมาลัยส่งขาย ครูจึงนำกิจกรรมการร้อยพวงมาลัยมาสอน พร้อมสอดแทรกเนื้อหาความรู้วิชาการเป็นระยะ เช่น ดอกมะลิภาษาอังกฤษคืออะไร พวงมาลัยควรขายราคาเท่าไร บวกลบต้นทุนแล้วจะได้กำไรเท่าไร เด็ก ๆ จะได้สนุกที่ได้ลงมือทำ และมีความรู้ไปด้วย ครูอ้อมบอกว่าการเรียนการสอนจะเน้นให้เด็กได้ผ่อนคลาย จึงใช้หลักสูตรบูรณาการมาปรับใช้กับกิจกรรมนี้
เราเป็นโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของเทศบาลนครขอนแก่น แต่ในเรื่องการจัดหลักสูตรเราก็ยึดหลักสูตรตามกระทรวงศึกษาธิการ เราต้องอิงหลักสูตรแกนกลาง 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นหลักสูตรท้องถิ่น ตรงนี้ก็เปิดพอสมควร ให้โรงเรียนได้ออกแบบหลักสูตรเอง อะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ พอเราทำรถพุ่มพวงก็นำแนวคิดหลักสูตรบูรณาการนี้มาใช้
นอกจากความสนุกสนาน ความตั้งใจของเด็กที่สัมผัสได้แล้ว เรายังได้ไปสอบถามผู้ปกครองด้วย ซึ่งก็สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกหลาน คุณยายประยงเล่าว่า เห็นหลานมีระเบียบวินัยขึ้นจากกิจกรรมรถพุ่มพวง
ปกติถ้าไม่ได้ไปโรงเรียนจะตื่นสาย อยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไร เรียนออนไลน์ก็เรียนได้นิดหน่อย แต่พอครูมาสอน เขาก็ตื่นแต่เช้า เตรียมการบ้านไปส่ง เห็นระเบียบวินัยมากขึ้น ชอบที่โรงเรียนมาทำแบบนี้
ส่วนรถพุ่มพวงของโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เราได้ลงพื้นที่ไปยังชุมชนเทพารักษ์ 3 อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่นี่ก็ใช้หลักสูตรบูรณามาปรับใช้กับการเรียนการสอนเช่นกัน ซึ่งได้มีเครือข่ายมาร่วมแบ่งปันความรู้ โดยศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาให้ความรู้เรื่องสิทธิ์ด้วย ห้องเรียนของรถพุ่มพวงขบวนนี้จะอยู่ที่ริมรางรถไฟ ที่ติดกับชุมชน เรื่องสิทธิ์กับรถไฟจึงถูกนำมาแลกเปลี่ยน
เราได้พูดคุยกับตอง นักเรียนชั้น ม.2 หนึ่งในนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมรถพุ่มพวง ตองบอกกับเราเป็นภาษาถิ่นว่า ตัวเองมีอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ แต่เรียนไม่ถนัด เพราะไม่คุ้นชิน การเรียนจึงตามไม่ทัน ชอบเรียนแบบรถพุ่มพวงมากกว่า
เรียนออนไลน์ผมเรียนไม่ทันครับ เขาสอนไปเร็ว ผมเลยบ่เรียนครับ มาเรียนกับครูก็ดีกว่าครับ ได้พบเพื่อน ผมชอบตอนที่ไปนั่งริมรางรถไฟ มันได้บรรยากาศดี ได้เรียนเรื่องสิทธิ์และอีกหลายเรื่องครับ
การลงมาพื้นที่จัดการเรียนรู้ คณะครูบอกกับเราว่าทุกพื้นที่มีศักยภาพ มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ต่างกัน สามารถทำได้ และ เด็กในพื้นที่จะมีความสามรถเฉพาะที่หลากหลายต่างกัน ครูเพียงทำหน้าที่เป็นผู้จัดกระบวนการให้เขา เราจะได้นักเรียนที่เก่งหลากหลาย เชื่อว่าหลายพื้นที่มีศักยภาพในตัวเอง เพียงแต่ในสถานการณ์การระบาดของโรค ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นได้ยาก อีกทั้งในสถานการณ์ปกติ โครงสร้างการจัดการศึกษาในระบบผู้จัดการเรียนการสอนในพื้นที่ ยังติดอยู่ในกรอบอำนาจของส่วนกลาง จำเป็นต้องมีการปลดล็อคอำนาจ ให้อิสระแก่คนในท้องถิ่นจัดการศึกษา ซึ่งครูสอญอ บอกอีกว่า ถ้าคนในท้องถิ่นมีอำนาจจัดการศึกษา เราจะได้คนเก่งที่เหมาะกับบริบททางสังคมของตนเอง
เราเรียกว่าเป็นการกระจายอำนาจ กระจายอำนาจมาให้โรงเรียนได้คิดได้ออกแบบ มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์เป็นของตัวเอง และเคารพในการตัดสินใจของเขา กระจายอำนาจมาให้ครูได้มีอิสระในการคิด ออกแบบ ให้ครูได้ไปทบทวนตัวเองว่ามีทุนเท่าไร ชื่นชอบสนใจด้านไหน ซึ่งความชื่นชอบสนใจของครูเป็นกุญแจสำคัญในการนำพานักเรียนไปสู่จุดมุ่งหมาย แล้วต้องฟังเสียงผู้เรียนว่าเขาอยากเรียนเรื่องอะไร เขาจะมีส่วนร่วมได้แบบไหน และฟังเสียงผู้ปกครองว่า อยากให้ลูกหลานเรียนแบบไหนจึงจะตอบโจทย์ตัวเขา ในขณะเดียวกันก็ไม่หลงลืมการสร้างคนเก่งที่สังคมส่วนใหญ่ยังต้องการ
เช่นเดียวกับครูอ้อม ที่มองว่าหลักสูตรการเรียนการสอน ควรให้ผู้เรียน และผู้สอนในพื้นที่จริงได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม
ต้องเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ในด้านการจัดการศึกษาที่ให้โรงเรียนได้ออกแบบเอง เพียงแต่ส่วนกลางต้องกำหนดแนวทาง เพื่อที่จะโรงเรียนหยิบจับไปใช้ได้ มาน่าจะเป็นแค่ไกด์ไลน์
ไม่ใช่ข้อเรียกร้อง หรือแนวคิดที่เกิดจากความต้องการของครูกลุ่มนี้เท่านั้น นี่เป็นแนวทางการจัดการศึกษา ที่จะให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการตนเอง ซึ่งจากเอกสาร Guidebook องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ของสถานบันพระปกเกล้า ก็สนับสนุนแนวทางนี้ โดยส่วนหนึ่งของเนื้อหาบอกว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญของการจัดการศึกษาท้องถิ่น นอกจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว โรงเรียนก็เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จหนึ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษา โดยองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นจะต้องกระจายอำนาจของตนไปสู่โรงเรียนในสังกัด (โรงเรียนท้องถิ่น) และทำให้โรงเรียนกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน (Community center) เพื่อให้การศึกษาได้ทำงานกับชุมชนอย่างเต็มที่
ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมและเพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ โรงเรียนต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชน ท้องถิ่น และสังคม ประการสำคัญโรงเรียนท้องถิ่นจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญในการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ภูมิสังคม
นอกจากนี้ ยังมีการให้เห็นภาพว่า อปท. คือองค์กรที่เหมาะสมที่สุดในการจัดการศึกษาท้องถิ่น เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับปัญหา มีความคล่องตัวในด้านการจัดสรรงบประมาณ เชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับปัญหาอื่น ๆ ในสังคมได้ และสิ่งสำคัญคือ จะต้องกำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษาร่วมกันกับ “หุ้นส่วน” ที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชน ทำให้การศึกษามีอิสระ สามารถสร้างอัตลักษณ์แก่เด็กในพื้นที่ และสามารถทำงานกับชุมชน ทำให้ชุมชนกลายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางสังคม (Social lab) เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตและสภาพปัญหาจริง และหวังว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสร้างพันธสัญญาเชิงท้าทายกับโรงเรียนในสังกัด เพื่อให้โรงเรียนกำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการบรรลุ พร้อมทั้งระบุความต้องการ หรือสิ่งที่อยากให้ อปท. สนับสนุนเพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวสำเร็จ ที่สำคัญ อปท. จะทำหน้าที่สนับสนุนในสิ่งที่โรงเรียนต้องการ ซึ่งผลสัมฤทธิ์นั้นจะต้องเป็นผลสัมฤทธิ์ร่วมของทั้งชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียน
ท้ายสุด หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น สำนักการศึกษา หรือกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้ง อปท. ต้องเชื่อมั่นในหลักการกระจายอำนาจ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ และทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) หรือผู้ตั้งมาตรฐาน (Standard setter) และ อปท. ก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้กระจายอำนาจสู่โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครองอีกลำดับหนึ่ง เพื่อร่วมกันสร้างพันธสัญญาในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ภูมิสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมในสังคมต่อไป
จากการลงพื้นที่ เห็นคณะครู และต้นสังกัดคือเทศบาล ให้ความสำคัญกับปัญหาลูกหลานตัวเอง จนเกิดกิจกรรมรถพุ่มพวงชวนเรียนรู้ ที่มาอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ก็ดีใจแทนน้อง ๆ ในพื้นที่ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ได้เรียนและเล่นอย่างสนุกสนาน ช่วงนี้สถานการณ์การระบาดในไทยไม่มีแล้ว มีการคลายล็อคให้มีการเรียนการสอนปกติ ก็ต้องจับตากันต่อไป ว่าศักยภาพของคนท้องถิ่น ในด้านจัดการศึกษาของตนเอง จะถูกคลายล็อคได้เมื่อไร