ลง Field ให้ได้ Feel : สูดลมหายใจเชียงใหม่ให้ลึก

ลง Field ให้ได้ Feel : สูดลมหายใจเชียงใหม่ให้ลึก

“เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนอีกต่อไป การออกไปค้นหา ออกเดินทางไปเรียนรู้อย่างอิสระตามความสนใจ จึงเป็นประสบการณ์ให้ได้รู้สึกอย่างลึกซึ้ง”

นี่เป็นเป้าหมายของกิจกรรม Feel trip ครับ โดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน จัดขึ้นเพื่อทำงานกับเด็กเยาวชน เปิดโลกการเรียนรู้ใหม่ เสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน ซึ่งออกแบบกระบวนการร่วมกับชุมชน

Feel trip เป็นกิจกรรมสำหรับคนที่อยากรู้ อยากเล่าครับ ด้วยการออกไปสร้างประสบการณ์ ออกไปผจญภัย พบเจอกับผู้คน ชุมชน พื้นที่ครับ อย่างในครั้งนี้จับมือกับ “สภาลมหายใจ” องค์กรคนเชียงใหม่ในการพัฒนาคุณภาพอากาศ ร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ลมหายใจของเมืองเชียงใหม่

โดยแบ่งออกเป็น 6 วิชา ดังนี้ครับ

  • 1. วิชาสวนผักคนเมือง เรียนรู้เรื่องการรวมกลุ่มกันของภาคประชาชน ร่วมกันเปลี่ยนพื้นที่รกร้างใจกลางเมือง ให้เป็นสวนผักเลี้ยงคนเชียงใหม่
สวนผักคนเมือง
  • 2. วิชาหมอต้นไม้ ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลและรักษา โดยเฉพาะต้นไม้ในเมือง เพราะสภาพแวดล้อมในเมืองและในป่าต่างกันราวคนละโลกครับ เราจึงต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
ฝึกการเป็นหมอต้นไม้
  • 3. วิชาเหมืองฝาย เรียนรู้เรื่องการจัดสรรน้ำของชุมชน ภายใต้ระบบเหมืองฝาย ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้คน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
  • 4. วิชาดอยสุเทพวิทยา ทำความรู้จักความอุดมสมบูรณ์ของดอยสุเทพ ลมหายใจของคนเชียงใหม่
เรียนรู้นิเวศดอยสุเทพ
  • 5. วิชาไร่หมุนเวียน วิถีชีวิตของคนกับป่า ที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
วิถีไร่หมุนเวียน
  • 6. วิชา Social Movement การเคลื่อนไหวทางสังคม คนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาชุมชน
การเคลื่อนไหวทางสังคม

6 วิชานี้จะพูดถึง คน วิถี และทรัพยากรครับ ซึ่งทางสภาลมหายใจเชียงใหม่เองก็พูดถึงเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด เพื่อกำลังบอกว่า ถ้าจัดการชุมชนดี จัดการทรัพยากรดี คนก็ได้ประโยชน์ ในทางตรงกันข้ามถ้าจัดการไม่ดี แน่นอนว่าผู้ที่รับโทษก็คือคนนี่แหละครับ

ย้อนกลับไปดูใน 6 วิชานี้ ก็จะเห็นว่าสัมพันธ์กับผู้คนเสมอ อย่างเช่น อาหารปลอดภัยที่มาจากสวนผักคนเมือง (คนสร้างสวน) เรื่องของธรรมชาติที่มาจากหมอต้นไม้ และดอยสุเทพ (คนดูแลต้นไม้) เรื่องเหมืองฝายที่พูดถึงระบบการจัดการน้ำ (คนสร้างระบบจัดการน้ำ) เรื่องของไร่หมุนเวียนที่พูดถึงการอยู่ร่วมกับป่า (คนอยู่กับป่า) และเรื่อง Social Movement ที่เห็นความสำคัญของการเคลื่อนไหวของคนเพื่อการเปลี่ยนแปลงเมือง (คนออกแบบเมือง) ดังนั้น ถ้าจะให้ชุมชนดี ต้องเริ่มจากคนนี่แหละครับ

“เปิดพื้นที่ที่พูดถึงเรื่องที่พูดถึงชุมชน และเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางสภาลมหายใจเองก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่แล้ว เราเลยมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วย กลายเป็น 6 วิชานี้ที่ยืนอยู่บนฐานที่ว่า เราอยากทำให้เด็กเห็นในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เห็นเครื่องมือชุมชน เห็นนวัตกรรมชุมชน ผ่านปฏิบัติการที่สามารถลงมือทำได้จริง”


อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้ดูแลกิจกรรม feel trip

2 วัน กับ 6 วิชาลมหายใจเชียงใหม่ ที่คนรุ่นใหม่ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ แต่คนรุ่นใหม่ในที่นี้ ไม่ใช้เฉพาะเด็กเยาวชนเท่านั้นนะครับ แต่หมายถึงคนที่มีความคิด ความเชื่อ และความฝัน ที่อยากจะเรียนรู้ ดังนั้นภายในกิจกรรมในแต่ละครั้งจะมีตั้งแต่เด็กอายุ 16 ไปจนถึงผู้ใหญ่อายุ 65 ปี ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ครู ข้าราชการเกษียณ ซึ่งนี่กำลังบอกว่า การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีพรมแดนของอายุเข้ามาเป็นกำแพงกั้นเราออกจากการเรียนรู้ครับ

เริ่มต้นทริปนี้ด้วยลงพื้นที่สวนผักคนเมืองครับ พื้นที่ที่ชาวเชียงใหม่ร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่รกร้างขึ้นมา ให้เป็นพื้นที่อาหารของชุมชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 ผ่านมา 2 เดือนจากพื้นที่รกร้างตอนนี้กลายมาเป็นสวนผักที่เขียวสด พร้อมแจกจ่ายสู่ชุมชน และพร้อมเปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้แล้วครับ

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม feel trip ก็เริ่มต้นทำความรู้จักสวนแห่งนี้อย่างตั้งใจครับ จากนั้นวิทยากรจึงเริ่มให้ลงไม้ลงมือปฏิบัติด้วยการปรุงดินให้อร่อยครับ ส่วนประกอบคือ ดินดำ 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 2 ส่วน และ อินทรีย์วัตถุซึ่งวันนี้ใช้เป็นเปลือกถั่วดินครับ ผสมกันคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน เมื่อเตรียมดินเสร็จก็ต่อด้วยการเพาะเมล็ดครับ โดยใช้ดินที่ปรุงไว้ก่อนหน้านี้ กรองเอาพวกเศษเปลือกเมล็ดถั่ว หรือตะกอนใหญ่ ๆ ออกครับ ให้เหลือแค่ผงดินละเอียด ๆ จากนั้นนำมาใส่ในตระกร้าและหยอดเมล็ดพันธุ์ผัก เป็นอันเสร็จการปลูกผักอย่างง่ายครับ

ฐานเพาะเมล็ดกล้า

 “สมัยนี้คนกรุงเทพค่อนข้างมีพื้นที่จำกัด ไม่ค่อยมีพื้นที่ใหญ่ ๆ ไว้ปลูกผัก แต่พอมาวันนี้เราได้เห็นการจัดสรรพื้นที่เล็ก ๆ ให้สามารถปลูกผักได้ แล้วยิ่งเป็นผักที่เราปลูกเองเราก็ยิ่งจะอยากกิน เพราะว่ารู้ว่ามันปลอดภัย ก็มีความสุขในการกิน”


ผู้เข้าร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ จาก กทม.

“นี่เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรม และเรื่องของสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องสวนผักคนเมือง ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่ชุมชนมาร่วมกันสร้างขึ้นมา ได้รู้จักเชียงใหม่ในมุมใหม่ ๆ”


ผู้เข้าร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ จาก กทม.
ใช่ครับ พวกเขาตั้งใจมาก

ในช่วงบ่ายก็เป็นส่วนของวิชาหมอต้นไม้ครับ เรียนรู้การรักษาต้นไม้ ที่มีทั้งการสังเกต ดูแล และซ่อมแซมต้นไม้ที่เหมาะสม โดยคำแนะนำจากทีมหมอต้นไม้ หลังจากนั้นก็ถึงขั้นลงมือปฎิบัติจริงครับ ทุกคนได้ทำการประเมินสุขภาพต้นไม้ด้วยมือตัวเอง โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ แต่ไฮไลน์สำคัญอยู่ตรงนี้ครับ คือได้ปีนต้นไม้ ที่ทางทีมหมอต้นไม้จะใช้เพื่อการปีนขึ้นไปตัดแต่งกิ่งต้นไม้ใหญ่ที่มีความสูง เพื่อให้ต้นไม้และคนที่อยู่โดยรอบอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย

“เวลาเราเรียนในห้อง เราก็จะไม่เห็นว่ามันเป็นยังไง เช่น การวัดต้นไม้ ถ้าบอกแค่วิธีการทำโดยไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง มันก็ไม่รู้ว่ามันสำคัญยังไง แต่มาวันนี้เราได้ลงมือปฏิบัติจริง เรารู้สึกกับมันจริง ๆ เราเข้าใจมันมากขึ้น”

ผู้เข้าร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ จาก กทม.

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้นอกห้องเรียนในครั้งนี้ครับ ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้ได้เรียนรู้ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่เรียกได้ว่า 6 วิชานี้ เป็น 6 สิ่งที่เป็นลมหายใจของเชียงใหม่ครับ ที่มีทั้งประชาชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร วิถีชีวิต ที่มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีต  จนถึงปัจจุบันนี้ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ยังคงซุกซ่อนอยู่ในชุมชน ซ่อนอยู่กับวิถีชีวิต อยู่กับสิ่งแวดล้อม ที่ชุมชนร่วมกันรักษา ช่วยกันออกแบบ ถึงแม้บางครั้งบางคราวจะมีปัญหาเข้ามาให้ได้แก้ไข ที่อาจทำให้จะวิถีเปลี่ยน แต่เมื่อประชาชนร่วมกันสู้ ร่วมกันพูด ให้เกิดเป็นเสียงดังขึ้นมา ปัญหาหลาย ๆ ครั้งก็ถูกแก้โดยชุมชนมีส่วนร่วมเสมอครับ

“การร่วมมือกันของภาคประชาสังคม มันสามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้ โดยที่ไม่ต้องรอภาครัฐหรือสาวนกลางเสมอไป เชียงใหม่นี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังของท้องถิ่นได้ดี ซึ่งในอนาคตถ้าเรามีโอกาสทำอะไรกับชุมชนได้ เราก็อยากจะทำแบบนี้เหมือนกัน”


ผู้เข้าร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ จาก กทม.

“เปลี่ยนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งในพื้นที่ชนบทและชุมชนเมือง ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่เราอยากให้เห็น”


ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ สภาลมหายใจเชียงใหม่

การเรียนรู้แบบ Feel Trip ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ให้ตัวเองของผู้เข้าร่วมทุกคน ซึ่งหลังจากนี้พวกเขาจะวางแผนที่จะผลิตสื่อแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการส่งต่อความรู้และประสบการณ์ไปสู่คนอื่น ๆ ด้วยครับ

“กระบวนการที่ทำให้เขารู้สึกรู้ หรือสามารถนำความรู้ไปปรับใช้กับตัวเองได้ ผ่านการแก้ปัญหา แก้อุปสรรคของแต่ละคนเอง เมื่อแก้เสร็จนั่นจะกลายเป็นภูมิคุ้มกันตัวเองที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้”


อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้ดูแลกิจกรรม feel trip

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ