นับถอยหลัง 5 เดือนก่อนถึงฤดูฝุ่น สภาลมหายใจภาคเหนือปักธง 6 ประเด็นเตรียมการ

นับถอยหลัง 5 เดือนก่อนถึงฤดูฝุ่น สภาลมหายใจภาคเหนือปักธง 6 ประเด็นเตรียมการ

ภาพจากเพจ wevo สื่ออาสา

จับตา-นับถอยหลัง 5 เดือนก่อนฤดูฝุ่น PM.5 ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ตามช่วงเวลาหรือฤดูกาลที่ผันตามเหตุปัจจัยแวดล้อมที่เฉพาะพื้นที่

ภาคกลางและกรุงเทพฯ เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม
ภาคเหนือเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน
ภาคใต้เดือนมิถุนายน – ตุลาคม

วันที่ 18 สิงหาคม 2563 สภาลมหายใจภาคเหนือแถลงข่าวอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงข้อกังวลและข้อเรียกร้องต่อแผนและมาตรการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันและไฟป่าปี 2564 โดยตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ และเครือข่ายประชาชนผลักดันการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน pm2.5 ภาคเหนือ มีประเด็นที่เป็นข้อกังวลที่จะประกาศใช้เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดอีกครั้ง ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าและจะเกิดต่อไปทุก ๆ ปีหากไม่มีการแก้ไขทั้งระบบ

สำหรับข้อกังวลของเครือข่ายสภาลมหายใจเชียงใหม่ มีประเด็นเนื้อหาที่น่าสนใจ 6 ประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องการตั้งคำถามถึงกรณีการประกาศแผนแนวทางมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์มลพิษฝุ่นควัน ประจำปี พ.ศ.2564 ที่ยังไม่มีความชัดเจนออกมา รวมถึงระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายโอนภารกิจ เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ที่ยังคั่งค้าง โดยข้อเสนอทั้ง 6 ประเด็น จะถูกยื่นถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ เร่งรัดการประกาศมาตรการฯ ปี64 ต่อไป

รายละเอียดเนื้อหาประเด็นข้อกังวล

ประการที่หนึ่ง- สืบเนื่องจากที่ประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลและถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 เมื่อวันที่ 19-21 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแถลงผ่านสื่อมวลชนว่า จะมีการร่างแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ที่แก้ไขข้อผิดพลาดเดิม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ยกระดับการแก้ปัญหาต่อไป แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า จึงขอให้เร่งรัดประกาศแผนแนวทางมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์มลพิษฝุ่นควัน ประจำปี พ.ศ. 2564 ให้ชัดเจน สร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อม

ประการที่สอง – ตามที่มีกระแสข่าวว่า มีหน่วยงานสำคัญได้ให้ความสนใจในการแก้ปัญหาโดย จะเข้ามาร่วมอำนวยการและเร่งรัดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในปีหน้าให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นนั้น นับเป็นเรื่องที่ดียิ่ง ที่ความทุกข์ยากสะสมนานนับสิบปีของราษฎรภาคเหนือจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะปัญหามลพิษฝุ่นควัน PM2.5 ไม่ใช่แค่พิบัติภัยหรือการดับไฟในป่าเท่านั้น หากมีความซับซ้อนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์อย่างกว้างขวาง ในเมืองและชนบทมีลักษณะขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ระหว่างกลุ่ม (conflict of interest) เช่น ภาคเมือง ผู้ใช้รถยนต์บนถนน ประชาชนที่ประกอบอาชีพทำอาหารปิ้งย่าง การก่อสร้างขนาดใหญ่ โรงงานที่ใช้เชื้อเพลิง ก็ล้วนเป็นผู้ร่วมก่อฝุ่นควัน และเช่นเดียวกันกับภาคชนบทที่เกษตรกรบนพื้นที่สูงบางกลุ่มไม่สามารถใช้เครื่องจักรอื่น เพื่อทำเกษตรจำเป็นต้องใช้ไฟเตรียมการ รวมถึงการใช้ไฟจัดการป้องกันไฟป่าในเขตพื้นที่ป่ารอบๆ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน

หากว่า มาตรการหรือปฏิบัติการที่หน่วยงานรัฐจะทำในอนาคตเกิดกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินของประชาชน แม้จะมิได้เจตนาก็ตาม อาจนำไปสู่ความผิดพ้องหมองใจระหว่างประชาชนและหน่วยปฏิบัติงานทุกระดับ อันจะไม่เป็นผลดีในทุกประการ จึงเรียนมาเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดได้

ประการที่สาม – สภาลมหายใจภาคเหนือและเครือข่ายฯ ขอยืนยันที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลโปรดพิจารณาใช้กระบวนทัศน์ใหม่ว่า มลพิษฝุ่นควัน PM2.5 นั้นเป็นผลพวงของกิจกรรมและการผลิตของสังคมมนุษย์ มิใช่แค่พิบัติภัยไฟป่าและไฟถูกจุดขึ้นมา การจะแก้ปัญหาจึงไม่สามารถบังคับห้ามเกิดไฟอย่างเด็ดขาด (zero burning) อย่างที่เคยใช้ในอดีต เพราะจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

กระบวนทัศน์ที่ประชาชนมุ่งหวังให้รัฐบาลนำมาใช้คือ แนวทางการบริหารจัดการไฟ ( fire management) เพราะประชาชนในแต่ละพื้นที่ ยังมีความจำเป็นต้องใช้ไฟ หรือยังผลิตมลพิษฝุ่น PM2.5 ด้วยความจำเป็น เช่น ในภาคเมืองยังต้องใช้รถยนต์ดีเซลในชีวิตประจำวัน การก่อสร้างยังต้องดำเนินต่อไป โรงงานยังต้องผลิตสินค้า หรือต้องปิ้งย่างขายอาหารเป็นอาชีพ ในภาคชนบทมีเกษตรกรรมบางประเภทไม่สามารถเลื่อนหรือยังชะลอการเผาได้ และเกษตรกรบางกลุ่มยังมีความจำเป็นต้องใช้ไฟสำหรับจัดการ ลดปริมาณเชื้อเพลิงในบางพื้นที่

ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณาเร่งรัดให้มีการจัดทำแผนจัดการไฟในระดับตำบลร่วมกัน ระหว่างภาครัฐกับประชาชนให้แล้วเสร็จก่อนฤดูแล้ง เพื่อความเข้าใจร่วมกันและเพื่อประโยชน์การปฏิบัติการให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุด ลดความขัดแย้งให้น้อยที่สุดต่อไป

ประการที่สี่ – ขอให้รัฐบาลพิจารณา แนวทางป้องกัน (prevention) ลดเชื้อเพลิง เปลี่ยนกิจกรรมและ การผลิตใช้ไฟ และการป้องกันไม่ให้เกิดไฟเป็นแนวทางหลัก โดยขอให้ระดมทรัพยากรตั้งแต่ต้นฤดูเพื่อการป้องกัน ลาดตระเวน ตรวจตรา และร่วมบริหารจัดการไฟ อย่างเข้าใจซึ่งกันและกันกับประชาชนและหน่วยงานระดับท้องถิ่น และจากบทเรียนในปี 2563 ที่เกิดการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ก็ควรจะมีการนำขึ้นบริหารจัดการให้ดีขึ้น

ประการที่ห้า– ขอให้เร่งรัดงบประมาณ กำจัดระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายโอนภารกิจ เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ที่ยังคั่งค้าง โดยให้องค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยเชื่อมโยงประสานงานความเข้าใจ ความรู้ในการบริหารไฟป่า และความต้องการต่างๆ ระหว่างประชาชนกับ ภาครัฐ ให้มีการสื่อสารแบบสองทาง เพื่อสร้างความเข้าใจกันและกัน ป้องกันปัญหาความขัดแย้ง เช่นที่เกิดเสมอมา ให้ชุมชนใกล้ป่ามีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของป่าและเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาป่า โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุน แนวทางการบูรณาการบริหารจัดการในระดับจังหวัดระหว่างภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐเป็นกลไกแก้ปัญหาร่วมกัน

ประการที่หก – ขอให้พิจารณามาตรการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษและฝุ่นควันไฟจากทุกแหล่ง มิใช่มุ่งควบคุมเฉพาะภาคการเกษตรหรือประชาชนในชนบท เพราะได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้า ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ประชาชนที่เคยถูกมาตรการสั่งห้ามเผาได้มีตั้งคำถามว่าเหตุใดรถบรรทุกหินและการระเบิดหิน โรงงานที่ตั้งในพื้นที่ เครื่องบิน รถยนต์ ในเมืองยังสามารถปล่อยมลพิษโดยยังไม่มีการควบคุมและตรวจวัดอย่างเข้มงวด ดังนั้นมิติของอารมณ์ความรู้สึกระหว่างกลุ่มชนในสังคมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ.

ทั้งนี้ในระหว่างการอ่านจดหมายเปิดผนึก มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ร่างกม. อากาศสะอาดเพื่อการจัดการฝุ่นควัน-ไฟป่าอย่างยั่งยืน

อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารงานทั่วไปและกฎหมาย อาจารย์คณะ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่างพ.ร.บ.จัดให้มีอากาศสะอาดเป็นเครื่องมือให้เกิดการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นกลไกปรับเปลี่ยนวิธีการจัดระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติด้านต่าง ๆ ทั้งการปฏิรูปทางสังคม การสร้างสังคมสุขภาวะ การรักษาฐานทรัพยากร ฐานเศรษฐกิจ 

สำหรับหลักการและทิศทางของกฎหมายนั้น คือ การสถาปนาสิทธิในอากาศสะอาดให้กับประชาชน เพราะทุกคนเป็นผู้มีสิทธิ์ รัฐจึงมีหน้าที่ในการจัดการให้อากาศสะอาดเกิดขึ้นให้ได้ การมีกฎหมายรับรองสิทธิ์จะทำให้สภาพบังคับทางกฎหมายให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องต่อรัฐ หรือเรียกร้องให้รัฐดำเนินการได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายนี้อยากเห็นประชาชนสามารถฟ้องผู้ที่ทำเกิดมลภาวะทางอากาศได้ หรือผู้ทำให้เกิดปัญหาได้ แต่ต้องยกร่างกฎหมายด้วยความระมัดระวังไม่เช่นนั้นประชาชนอาจเป็นผู้ถูกฟ้องร้องก่อนเสียเอง ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมการร่วมกันจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน 

กฎหมายยกร่างในปลายเดือนตุลาคม 2562 หอการค้าร่วมยื่นร่างกฎหมายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ซึ่งกระบวนการของรัฐสภาก็มีการปรับปรุงปรับแก้จนส่งกลับมาเพื่อดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ล่าสุดระดมรายชื่อ 12,000 รายชื่อ ปัจจุบันนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของรายชื่อทั้งหมดที่เข้ารายชื่อ ระหว่างเดียวกันนี้ ทราบว่ามีพรรคการเมืองให้ความสนใจและเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภาด้วยเช่นกัน

สร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชน-หน่วยงานท้องถิ่นทำงานด้วยกัน คือ หัวใจความสำเร็จ

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่า นี่เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่มีการรวมตัวกัน เมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีการจัดงานมหกรรมไร่หมุนเวียนและประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษที่จ.แม่ฮ่องสอน ที่มิติทางจิตวิญญาณ มิติความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เกื้อกูลกันในระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นระบบการเกษตรที่ดีก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหากเรามีการเชิดชูอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของคนทุกกลุ่ม ช่วยกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟ

สร้างการมีส่วนร่วม การร่วมกันจัดการ โดยให้ความสำคัญกับชุมชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์หรือติดกับป่าอนุรักษ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่ากำลังของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่ามีน้อย การให้ความสำคัญกับชุมชนสมาชิกในชุมชน สภาองค์กรชุมชน สมาชิกปกครองส่วนท้องถิ่นต้องร่วมมือกัน ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อได้รวบรวมไว้อย่างครบถ้วน”

“เราจะต้องอยู่ประเทศและภูมิภาคที่อากาศบริสุทธิ์เพื่อสุขภาพดีของทุกคนทั้งกายใจและสุขภาวะทั้งหมด”

รัฐต้องขยับการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ ฝ่าฝุ่นควันข้ามพรมแดน

ดร. ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า จากประสบการณ์ของการทำงานของศูนย์การศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่าและหมอกควันในประเทศไทยและในภูมิภาค มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พบว่าหมอกควันข้ามแดนต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ขณะนี้หน่วยงานสถาบันการศึกษามีความพยายามจะขยายจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศให้กระจายยังในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน หากภาครัฐเข้ามาหนุนเสริมการทำงานร่วมกันที่เป็นทางการ ก็จะช่วยสนับสนุนการทำงานร่วมกันที่เกิดขึ้นแล้วระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งไทย ลาว เมียนมาร์ กับหน่วยงานอื่นในระดับพื้นที่

คลิปเเถลงการณ์

🔴Live – แถลงข่าว ข้อกังวลและข้อเรียกร้องต่อแผนและมาตรการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันและไฟป่าปี 2564

🔴Live – แถลงข่าว ข้อกังวลและข้อเรียกร้องต่อแผนและมาตรการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันและไฟป่าปี 2564 โดยตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ และเครือข่ายประชาชนผลักดัน การแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน pm2.5 ภาคเหนือ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ -การยื่นหนังสือด่วน! ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ เร่งรัดการประกาศมาตรการฯ ปี64 และข้อกังวลต่อแนวทางปฏิบัติโดยวิธีการแถลงข่าว ใช้การแถลงออนไลน์ ผ่าน ZOOM พร้อมกับถ่ายทอดสดผ่านทางเพจ สภาลมหายใจเชียงใหม่ เนื่องจากมีเครือข่ายร่วมแถลงข่าวจากหลายจังหวัดดาวน์โหลดเอกสารแถลงข่าวhttps://drive.google.com/file/d/1XxTNkmm2Og3JPqvGhgXZl4n8_v80zvn9/view?usp=sharing

โพสต์โดย สภาลมหายใจเชียงใหม่ เมื่อ วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ