บทสนทนากับครู Cool เพื่อสร้างห้องเรียนบันดาลใจ

บทสนทนากับครู Cool เพื่อสร้างห้องเรียนบันดาลใจ

การเรียนรู้ในมิติต่าง ๆ “ครู” ที่มีศักยภาพแม้เพียงหนึ่งคนก็จะมีส่วนสำคัญช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงโอกาสและอนาคตทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่อะไรยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องผลักไปให้ถึงเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาไทย

รายการนักข่าวพลเมือง C-site โดย วิภาพร วัฒนวิทย์ ชวนจุดประเด็นจากหมุด “ห้องเรียนบันดาลใจ” และคุยกับ “ครู Cool” จาก 3 พื้นที่ คุณอดิศักดิ์ ปู่หล้า ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านเลโคะ จ.แม่ฮ่องสอน คุณสราวุฒิ พลตื้อ ครูโรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย จ.กาฬสินธุ์ และคุณปราศรัย เจตสันติ์ ครูรายวิชาสังคม โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม กรุงเทพมหานคร แลกเปลี่ยนถึงวิธีทำของคุณครูในการปฏิรูปการศึกษา 

เป้าหมาย คือ การเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในวิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ห้องเรียนทุกพื้นที่ทั่วประเทศต้องปรับตัวกันสุดขั้ว ทั้งเป็นห้องเรียนออนไลน์ ห้องเรียนออนแอร์ หรือห้องเรียนออนกราวน์ที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนไปด้วย เพราะพวกเขามองว่าแม้โรงเรียนจะปิดแต่ต้องไม่ปิดการเรียนรู้ และคุณครูเป็นกุญแจสำคัญที่จะดึงเอาต้นทุนของชุมชนมาผนวกกับต้นทุนของเด็กนักเรียนเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสม 

Q: คุณครูมองเรื่องการศึกษาไทยกับการปฏิรูปอย่างไร ยังมีอุปสรรคอะไรบ้าง 

สราวุฒิ พลตื้อ : สำหรับผมมองว่าด้วยตัวโครงสร้างที่ตัวเองทำงานอยู่ ประสบการณ์ทำงาน 15 ปี เราอาจจะรู้สึกเองว่าโครงสร้างมันกดทับเรา จริง ๆ แล้วถ้าเราค่อย ๆ เรียบเรียงดู ค่อย ๆ ดูว่าเราทำอะไรได้ การเป็นครูของเราทำได้เยอะอยู่นะครับ แต่ว่าเราจะไปดูกรอบที่เป็นโครงสร้างว่ามันยึดเราอยู่ให้ไม่สามารถให้เราดิ้นได้ เพราะตั้งแต่ ปี 2551 ผมเริ่มขยับกิจกรรมนอกห้องเรียนทำคู่ขนาดไปกับห้องเรียน เลยคิดว่าจริง ๆ แล้ว มันอาจจะอยู่ที่เราก็ได้ เราอาจจะเปลี่ยนเลนส์ใหม่ เปลี่ยนมุมมองใหม่ ว่าจริง ๆ แล้วโครงสร้างมันให้อิสระเรานะ คิดบวกครับ

อดิศักดิ์ ปู่หล้า : ผมเห็นด้วยกันครูตู้ ผมคิดว่าระบบโครงสร้างมันมีปัญหาเกือบทุกที่กับคุณครูเรา แล้วช่องว่างมันอยู่ที่ลูกล่อลูกชนหรือว่าลูกเล่นของคุณครูด้วย ว่าเราจะตามเขาทุกอย่าง หรือว่าเราจะแหวกแนวของเราไปบ้าง บางสิ่งบางอย่างเราจำเป็นต้องตาม เราหนีระบบไม่ได้ แต่บางทีในกรอบของความเป็นครู เราก็จะสามารถที่จะสร้างสรรค์หรือว่าออกแบบรูปแบบการสอนในสไตล์ของเราได้ด้วย เราใช้เหตุผลหรือเราเอาบริบทเราเป็นที่ตั้ง ซึ่งบางครั้งผมคิดว่า เราก็ไม่เชิงว่าเราไม่ตามระบบก็ตาม แต่ว่าเราปรับให้มันเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ของเรามากที่สุดอย่างนี้มากกว่าครับ

ปราศรัย เจตสันติ์ : ผมคิดว่าประเด็นสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่เราต้องทบทวนกันมาก ๆ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์สองท่าน ที่พูดถึงโครงสร้างระบบบางอย่างที่มันสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับคุณครูในการดำเนินงานและก็ความยากลำบาก 

อย่างผมเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเมือง ก็จะรู้สึกเลยว่าตัวเองได้รับ privilege  (อภิสิทธิ์) บางอย่างที่มันมากกว่า แต่การเข้าถึงโอกาสที่มากกว่าโรงเรียนที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งผมคิดว่ามันไม่เท่าเทียม เพราะถ้าเกิดว่าเด็ก ๆ ทุกทีมีศักยภาพในการเติบโตเท่ากัน ก็แปลว่าเราต้องลดความเหลื่อมล้ำให้มากที่สุด ซึ่งนั่นอาจมาจากกระทรวงศึกษาธิการพยายามจะรวมอำนาจในการตัดสินใจ หรือว่าการบริหารนโยบายต่าง ๆ จากส่วนกลางมาก เลยทำให้คนในพื้นที่เขาไม่มีโอกาสตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง หลักสูตรกำหนดเองก็ไม่ได้ งบประมาณจะใช้กับตรงนี้มันจำเป็นกว่าก็ไม่ได้ เขาให้ใช้ตรงนี้ก็ต้องตรงนี้ 

ทีนี้ บางอย่างมันไม่จำเป็นกับโรงเรียนเรา ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มากที่ส่วนกลางพยายามจะออกแบบบางอย่างด้วยความหวังดี แต่ปัญหาคือมันไม่ได้คำนึงถึงผลในพื้นที่ว่าจริง ๆ เขาต้องการอะไรกันแน่ และอีกอันที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดเลย คือการตั้งคำถามกับเป้าหมายการศึกษา ว่าจริง ๆ แล้วเราเรียนไปเพื่ออะไร อย่างโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง หรือโรงเรียนประจำจังหวัด หรือในกรุงเทพฯ อย่างผม พบแล้วว่าเด็ก ๆ มีเป้าหมายคือสอบเข้ามหาวิทยาลัยเยอะ ซึ่งแน่นอน มันเป็นใบเบิกทางที่ดีในการไปต่อข้างหน้า 

แต่ปัญหาคือ ตกลงการศึกษาจะนำหน้าที่เพียงแค่ให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยเหรอ มันคงจะมีเป้าหมายอย่างอื่นไหมที่สำคัญมากกว่าในการจัดการศึกษา ตรงนี้ผมว่าระบบการศึกษาควรต้องทบทวนตรงนี้ให้ดีก่อนที่เราจะปฏิรูปอย่างนั้นครับ

Q : เวลาพูดเรื่องปฏิรูป นอกจากทบทวนโครงสร้างกับระบบ มีคนพูดว่ามันต้องไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างไรกับคำนี้

ปราศรัย เจตสันติ์ : ผมคิดว่าประเด็นนี้สำคัญ เพราะจริง ๆ มาตรฐานการศึกษาแห่งชาติก็พูดเรื่องนี้บ่อยเหมือนกัน เรื่องของการที่เราต้องให้ผู้เรียนเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถที่จะมีเครื่องมือบางอย่างได้ แต่เราพบความไม่ค่อยสอดคล้องกันระหว่างการออกแบบหลักสูตรขึ้นมากับการปฏิบัติจริงที่เกิดขึ้นกับนโยบายต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่โรงเรียน เราจะพบว่าหลายครั้งเราให้ความสำคัญกับเนื้อหาเยอะเลย 

ความจริงถ้าพูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราไม่ต้องการสร้างเขาให้รู้ทุกเรื่องในโลก ในเมื่อความรู้ทุกวันนี้มันหาได้ง่าย แต่ปัญหาคือทำอย่างไรให้เขาสามารถที่จะมีเครื่องมือบางอย่าง หรือรู้วิธีการบางอย่างในการไปแสวงหาความรู้

แม้ว่าเขาจะออกจากโรงเรียนเราไป เขาก็สามารถที่จะไปแสวงหาความรู้ได้ นั่นก็แปลว่าเราคงต้องมีการติดตั้งชุดความรู้บางอย่างในการที่เขาจะแสวงหาความรู้ได้อย่างตรง ๆ และก็มีการคิดที่ดี ซึ่งผมว่าตรงนี้เราต้องมีการปฏิรูปให้ความสอดคล้องกับตรงนี้ ให้เขาสามารถที่จะใช้เครื่องมือเป็นมากกว่าที่จะให้เขารู้ทุกอย่างซึ่งจริง ๆแล้วมันไม่จำเป็นในยุคปัจจุบันแล้ว

อดิศักดิ์ ปู่หล้า : ผมคิดว่าที่ครูโอพูดมา ผมว่าเป็นตัวแทนพูดแทนคุณครูได้ดีมาก ๆ และก็แทงใจในระบบส่วนกลางได้เป็นอย่างดี  คือหัวใจสำคัญของการที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ ผมคิดว่าตัวผู้เรียนกับคุณครูเราถือว่าเรามีส่วนสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนในการปฏิรูปการศึกษา แต่ก็อย่างว่า ส่วนกลางก็จะมองว่า อยากจะให้ออกมาเป็นแบบนั้นแบบนี้ ในเรื่องของการเรียนจริง ๆ ที่ครูโอบอก เราไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งทุก ๆ ด้าน ในการเรื่องรู้ตลอดชีวิตมันไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งทุกด้านก็ได้ แต่เอายังไงล่ะ คืออยู่รอดได้ด้วยตัวของทั้งครูเองด้วยผู้เรียนด้วยมันต้องติดตั้งอาวุธประจำกายให้กับเด็กอย่างที่ครูโอเล่ามา

สราวุฒิ พลตื้อ : ผมเห็นด้วยกับทั้งสองท่านจะครับ ในส่วนของผมคือพยายามหารูปแบบ แต่พบว่าจริง ๆแล้วสิ่งที่สำคัญสุด ๆ ก็คือการที่เปิดประตูใจให้เขาเรียนรู้ต่อเอง ผมว่ามันจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะให้เด็ก ๆ เดินไปต่อเองได้ซึ่งมันก็จะสำคัญ บางครั้งสิ่งที่เราพยายามที่จะให้เขา เขาอาจจะไม่รับก็ได้ แต่ว่าถ้าเขาเป็นคนที่เปิดประตูเอง อย่างเช่น ในชุมชนของเราส่วนใหญ่ก็เป็นชุมชนที่อยู่ติดเขื่อน และก็ส่วนใหญ่ทักษะชีวิต เรื่องของประมงและเกษตรค่อยข้างเยอะ แต่ว่าไม่ได้วัดผลหรือเราไม่ได้ให้คุณค่ากับเรื่องของทักษะเท่าไร 

ถ้าสมมุติว่าไปเปิดประตูยกระดับสิ่งนั้นขึ้นมาเป็นการเรียนรู้ขึ้นมา เด็ก ๆ ก็จะทำสิ่งนั้นได้ค่อยข้างดี ผมคิดว่าหัวใจสำคัญก็คือไปให้ความสำคัญและให้กับสิ่งที่เด็ก ๆ เขารู้สึกว่าเขาถนัดและเขาชอบมันมันจะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเด็ก

Q : ครูใช้ต้นทุนอย่างไรที่ทำกิจกรรมนี้ หัวใจมันอยู่ตรงไหน

สราวุฒิ พลตื้อ : หัวใจก็คือเด็ก ๆ อยู่ที่บ้านและก็อยู่ที่ชุมชนและก็ จริง ๆ แล้วเด็ก ๆ ถ้าเราจะเอาอะไรไปให้เด็ก ๆ เลย ก็เป็นการที่เด็ก ๆ ต้องเลียนแบบเรา แต่ว่าถ้าเด็ก ๆ เป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาเอง และก็มองสิ่งแวดล้อมรอบกาย มีการใช้ประโยชน์อะไร มีผลกระทบอะไร จริง ๆ แล้ว เด็ก ๆ ต้องการที่จะเรียนรู้อะไร ต้องการที่จะเห็นคุณค่าอะไรในชุมชนของตัวเอง เด็ก ๆ ก็จะเป็นคนที่ลุกขึ้นมาทำประเด็นนั้นต่อเนื่อง

Q : อย่างในพื้นที่ครูเคนเองก็ทำเรื่องของการเรียนที่ใช้คำว่า Problem Based Learning เรียนรู้จากปัญหาต้นทุนที่มีในชุมชน ตอนนี้ครูเคนทำอะไรอยู่บ้าง

อดิศักดิ์ ปู่หล้า : คือในส่วนของผม ด้วยจะเป็นพื้นที่ภูธร ในป่า ในเขา ในดอย เราจะเรียนรู้ทั้งตัว PBL ถ้าเรามองว่า Problem Based Learning มันก็ได้ และผมจะใช้ควบคู่ไปกับ Project Based Learning ก็คือเราดูปัญหาภายในพื้นที่ของชุมชนเรา มันมีประเด็นไหนที่มันน่าเรียนรู้ น่าเอามาเป็นประเด็นขับเคลื่อน แล้วเราก็เอามาทำเป็นโครงการที่ให้เด็กได้เรียนรู้ถึงกระบวนการ วิธีการและก็หาข้อมูลเท่าที่จะทำได้มันไม่ถึงต้องทำวิจัย แต่ว่าให้เด็กได้ลงมือทำได้เข้ากับชุมชนเห็นกระบวนการเห็นวิธีการในการทำ 

บางครั้งชุมชนบ้านนอกเอง เขาจะมองแบบประมาณว่าผู้ใหญ่ค่อนข้างที่จะมีอิทธิพลเหนือกว่าเด็ก แต่จริง ๆแล้วในบางครั้งบางที องค์ความรู้หรือว่าความรู้ที่ตัวเด็กมี เพียงแต่ว่าวัยวุฒิมันยังไปไม่ถึงกับผู้ใหญ่ ก็เลยทำให้พลังบางสิ่งบางอย่างทำให้เขาไม่กล้าที่จะไปพูดในวงกว้าง อย่างในที่ประชุม หรือว่าในที่ประชาคมอย่างนี้เป็นต้น เพราะเขาจะคำนึงคิดเพียงแต่ว่าตัวเอง คือเด็ก 

ดังนั้น เวลาเราเอาเด็กเข้าชุมชนหรือเข้าพื้นที่ทำโครงการที่เขาอยากจะเรียนรู้ แล้วทำให้มีหลักการมีเหตุผลและก็มีวิธีการที่ชัดเจน ทีนี้ผู้ใหญ่เขาจะเห็นละ ว่าเด็กก็ทำได้ เด็กมีเหตุผลในตัวของมันที่ชัดเจนที่สุดที่พวกผมทำเป็น Project Based Learning ลงไป พวกผมทำเรื่องท่องเที่ยวเก๋ไกสไตล์ เลโคะ ด้วยการมองว่าอยากจะให้ชุมชนเห็นความสำคัญของพื้นที่ในเลโคะ ว่าเรามีจุดเด่นอะไรบ้าง เราอยากจะนำเสนออะไรบ้างที่ให้คนภายนอกได้รู้ และสิ่งที่เรานำเสนอมันเป็นผลดีทั้งชุมชนเองทั้งเด็กเองและก็ภาพรวมด้วยครับ อาจจะเป็นในด้านของการเสริมสร้างอาชีพรายได้ การท่องเที่ยว และก็การนำเสนองานของเด็กด้วยการใช้สื่อเทคโนโลยี 

จริงอยู่เด็กในพื้นที่ภูธร หรือว่าเด็กบนดอย ตอนนี้นักเรียนผมเองพยายามให้ได้เรียนรู้กับทีมของนักข่าวพลเมืองและก็ได้ออกในไทยพีบีเอสหลายเทปเช่นกัน อยากจะให้เขาได้ แสดงจุดยืนหรือว่ามีพื้นที่ยืนในสังคมให้ได้ว่าถึงแม้ว่าคุณจะเป็นเด็กชาวเขา ชาวดอย กะเหรี่ยง คุณก็มีศักยภาพนะ คุณก็สามารถที่จะทำให้คนภายนอกได้รู้ได้เห็นในท้องถิ่นในชุมชนของคุณ รวมทั้งความรู้และศักยภาพที่คุณมีให้คนภายนอกได้เห็นว่า เราเองถึงแม้เราเป็นเด็กชายขอบ แต่เราก็มีศักยภาพที่เทียบเท่าเปรียบเท่าเหมือนกัน ถ้าหากเราดึงสิ่งเหล่านั้นออกมาได้ครับ

Q : แอบเห็นใจครูโอ เพราะครูตู้หรือครูเคน เขามีทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่น  แต่ว่าครูเคนกับครูตู้ก็ใช้พลังตรงนี้ในการหนุนดันชุมชนด้วย ครูโอสอนในกรุงเทพฯมันยากกว่าไหม

ปราศรัย เจตสันติ์ : ก็จะมีความแตกต่างกัน แต่ผมว่ามีจุดร่วมกันสำคัญมาก ๆ ผมเห็นตัวอย่างจากครูตู้และก็ครูเคนเนี่ย พยายามใช้ต้นทุนสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก ทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ได้ต่าง ๆ มันก็เป็นเรื่องเนื้อหาครับ และการพัฒนาความคิดและตัวตนของเขาให้เขาสามารถจะเป็นคนที่ดีกว่าเสมอเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนหรือว่าของประเทศก็ตาม 

จริง ๆ ผมว่าจุดร่วมกันมาก ๆ ก็คือผมก็ทำเหมือนกัน ของผมสอน ม.6 และไม่ได้อยู่กับชุมชนที่อยู่รอบสักเท่าไหร่นัก แต่มันเป็นเรื่องของสังคมเมือง เขาจะมีต้นทุนที่ดี คือเด็ก ๆ รับรู้ข่าวสารไวมาก และก็เกาะติดข่าวสารไวมาก ๆ จนทำให้ผมว่าต้นทุนนี้สำคัญมันจะสามารถให้เขาได้พัฒนาศักยภาพในตัวเองได้ทำเป็นวิชาพลเมืองโลก พัฒนาเรื่องของการพัฒนาโครงงานที่เป็นประเด็นทางสังคมร่วมสมัยให้เขาได้มีการสืบค้นประเด็นที่เขาสนใจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ให้เขาได้สามารถที่จะรู้สิ่งเหล่านี้มันเกิดจากอะไรมันส่งผลกระทบอะไร แล้วปัญหาถ้าเกิดมันแก้ไขให้มันดีขึ้นโลกนี้หรือสังคมของเขามันจะน่าอยู่ขึ้นยังไงบ้าง 

เพราะฉะนั้นประเด็นมันก็จะโยงไปสู่เรื่องเกี่ยวข้องกับโลกเลย เช่น เรื่องของการเหยียดสีผิว ประเด็นเรื่องของ LGBT ประเด็นเกี่ยวข้องกับการวางผังเมือง ประเด็นเรื่องของการขนส่ง ทุกคนไม่ใช่แค่บางกลุ่มเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้ใช้ หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการจัดการขยะ 

ซึ่งผมว่าทั้งสามท่านเหมือนกัน คือ เราพยายามให้เขาเป็นเจ้าของบทเรียนด้วยตัวเอง และพยายามให้เขาสามารถดึงความสนใจของเขาแล้วก็มองว่าสิ่งที่เขาอยู่ตรงหน้ามันจะพัฒนาตัวเขากับสังคมข้าง ๆ ยังไงบ้าง ซึ่งผมว่าตรงนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจะอยู่ภูธร ต่างจังหวัด หรืออยู่กรุงเทพฯ เราก็มีต้นทุนที่น่าสนใจ และทำได้เหมือนกันครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ